มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต - ราชฑูตรับใช้ตัวเอง


มงคลที่ ๑๐

มีวาจาสุภาษิต - ราชฑูตรับใช้ตัวเอง

ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่าฉะนั้น
บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา
ย่อมเร่ร่อนไปในภพน้อยภพใหญ่
เหมือนวานรอยากได้ผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น


พระรัตนตรัยเป็นหลักของชีวิต หลักของจิตใจ เราต้องทำใจของเราให้หยุด นิ่ง สงบ ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่อยู่ภายในตัวของเราให้ได้ ซึ่งใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้น จะต้องเป็นใจที่ปลอดโปร่งว่างเปล่าจากความคิดทั้งมวล เป็นประดุจภาชนะที่ว่างเปล่า และต้องทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส พร้อมที่จะให้อภัยกับทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างได้ แม้กระทั่งตัวของเราเอง ให้ใจเราประดุจแหล่งกำเนิดแห่งความปรารถนาดี ที่มีแจกจ่ายอย่างไม่มีวันที่จะสิ้นสุด สภาพใจอย่างนี้ เป็นต้นทางของการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
มีพระพุทธวจนะที่กล่าวไว้ใน คาถาธรรมบท ว่า

"มนุชสฺส ปมตฺตจาริโน ตณฺหา วฑฺฒติ มาลุวา วิย
โส ปริปฺลวติ หุราหุร ผลมิจฺฉํว วนสฺมึ วานโร

ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่าฉะนั้น บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไปในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนวานร อยากได้ผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น"

ตัณหาความทะยานอยาก เป็น สาเหตุของความทุกข์ เมื่ออยากได้ อยากมี อยากเป็น ก็ต้องแสวงหา และในการแสวงหา กว่าที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ต้องคอยแก้ไขปัญหาสารพัด บางทีจะได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง เลือดตาแทบกระเด็น บางอย่างต้องเอาชีวิตเข้าแลกจึงจะได้มา เหมือนอย่างเรื่องของบุรุษคนหนึ่ง ที่ทั้งน่าทึ่งและน่าประหลาดใจ เรื่องมีอยู่ว่า

*ในสมัยพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นบรมโพธิสัตว์ผู้มีบุญญาธิการมาก ได้สำเร็จการศึกษาจากกรุงตักสิลา เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้ว พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทนพระองค์ มีพระนามาภิไธยว่า โภชนสุทธิกราช เพราะเหตุที่พระองค์เป็นผู้พอพระทัย ในการเสวยพระกระยาหาร อันประณีต สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งนัก

พระราชาทรงเป็นสุขุมาลชาติ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในพระราชวังล้วนประณีตวิจิตรและมีค่ามหาศาล เอาแค่พระสุพรรณภาชน์สำหรับใส่เครื่องเสวยของพระองค์ มีราคาถึงแสนตำลึง เมื่อพระองค์จะเสวยพระกระยาหาร จะเสด็จออกไปเสวยที่มณฑปแก้ว อันประดับด้วยเครื่องอลังการ แม้บานประตูพระราชฐาน ล้วนสำเร็จด้วยรัตนชาตินานาชนิด ในเวลาที่เสวย จะมีกษัตรีและนางสนมกำนัลคอยปรนนิบัติรับใช้ และมีการประโคมดนตรีบรรเลงดุจชาวสวรรค์ และพระกระยาหารของพระองค์ก็มีค่าแสนตำลึงเช่นกัน

การที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร อันประกอบด้วยพระราชอิสริยยศปานนี้ เพราะจะให้มหาชนชาวพระนคร พากันอัศจรรย์ใจในบุญญาธิการที่พระองค์ได้สั่งสมมา แล้วจะได้เอาเป็นแบบอย่าง เพื่อตั้งหน้าบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันเป็นทางมาแห่งสมบัติใหญ่ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า พระองค์มิได้มีพระประสงค์จะโอ้อวดความร่ำรวยแต่อย่างใด

วันหนึ่ง มีบุรุษผู้หนึ่งเห็นวิธีการที่พระเจ้าโภชนสุทธิกราชเสวย เกิดความอยาก มีความกระวนกระวายใคร่ที่จะบริโภคพระกระยาหารของพระองค์ เมื่อไม่สามารถที่จะอดกลั้นต่อความอยากนั้นไว้ได้ จึงคิดว่า เราอย่าทนกระสับกระส่ายอยู่เลย เราควรจะคิดหาอุบายสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้บริโภคดังประสงค์ ครั้นคิดอุบายออกแล้ว จึงนุ่งห่มผ้าใหม่ให้เรียบร้อยดูดี แล้วก็ยกมือขึ้น ร้องประกาศด้วยเสียงอันดังว่า "ตัวเราเป็นราชทูต" แล้วเดินฝ่าฝูงชนเข้าไปจนถึงที่ประทับของพระเจ้าโภชนสุทธิกราช โดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งกล้าห้ามปราม เพราะเหตุว่าในสมัยนั้น เมื่อ ผู้ใดร้องประกาศว่า "ตัวเราเป็นราชทูต" ย่อมได้รับเกียรติและไม่มีใครกล้าที่จะห้ามปราม

เมื่อไปถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว รีบคว้าเอาอาหารจากพระสุพรรณภาชนะมากำหนึ่งใส่ปาก แล้วบริโภคอยู่ต่อหน้าพระราชา ราชบุรุษทั้งหลายที่ถือดาบยืนอารักขาอยู่ ชักดาบออกหมายจะประหารบุรุษนั้น แต่พระราชาได้ห้ามปรามไว้ว่า "ท่านทั้งหลายอย่าทำอันตรายแก่เขาเลย ให้เขาบริโภคตามสบายเถิด" เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงล้างพระหัตถ์ ประทับทอดพระเนตรอยู่ ครั้นบุรุษนั้นบริโภคจนอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงพระราชทานน้ำที่เป็นน้ำเสวยของพระองค์ แล้วตรัสถามว่า

"ดูก่อนบุรุษผู้อาจหาญ ถ้อยคำที่เจ้ากล่าวว่า ตัวเราเป็นราชทูตนั้น ตัวเจ้าเป็นราชทูตของใคร"
บุรุษนั้นกราบทูลว่า "ข้าพระองค์เป็นราชทูตของตัณหา ตัณหาตั้งข้าพระองค์ให้เป็น ทูต และบังคับข้าพระองค์ว่า เจ้าจงถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้แก่เรา" บุรุษนั้นกราบทูลต่อไปอีกว่า "ธรรมดาสัตว์ทั้งหลาย ล้วนตกอยู่ในอำนาจของตัณหา คือความอยาก ย่อมไปสู่ประเทศอันไกลโพ้น เพื่อให้ได้สิ่งของอันใดอันหนึ่งมาสำหรับตน แม้อาหารใส่ท้อง เพราะมีความหิวความอยากเป็นนิตย์ ส่วนข้าพระองค์เป็นทูตรับใช้ของท้อง ที่มีความหิวอยู่เป็นนิตย์ ข้าแต่พระองค์ ผู้ประเสริฐกว่านรชน ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย อีกประการหนึ่ง คนทั้งหลายย่อมตกอยู่ในอำนาจของท้อง ซึ่งมีความอยากอยู่เสมอ ไม่เลือกว่ากลางวันหรือกลางคืนฉันใด ข้าพระองค์เป็นทูตรับใช้ท้องของตัวเอง คอยรับใช้ท้องที่มีความหิวความอยากอยู่ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าพสกนิกร ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย"

เมื่อพระเจ้าโภชนสุทธิกราชได้ทรงสดับพจนารถแห่งบุรุษนั้น จึงทรงดำริว่า ถ้อยคำของบุรุษนี้ ล้วนแต่ประกอบด้วยอรรถและธรรม เป็นความจริงแท้ เพราะ ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นข้ารับใช้ความอยากของตัว ทุกคนล้วนตกอยู่ในอำนาจของความอยากความหิวกระหายด้วยกันทั้งสิ้น อันความอยากนี้ ย่อมเป็นใหญ่ใช้สอยคนและสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า ถ้อยคำของบุรุษนี้ไพเราะจับใจเรายิ่งนัก

ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า " ดูก่อนบุรุษ ผู้เป็นดุจราชทูตของตัวเอง เราจะให้โคสีแดงแก่ท่านหนึ่งพัน กับโคที่เป็นจ่าฝูงอีกหนึ่งตัว และจะให้ฐานันดรแก่ท่าน พร้อมทั้งทรัพย์ ยศและบริวาร การที่เราจะไม่ให้สิ่งของแก่ท่าน ซึ่งมีความหิวกระหายเหมือนอย่างกับเรา ย่อมเป็นการไม่สมควร"

เมื่อพระราชาตรัสดังนี้แล้ว จึงพระราชทานสิ่งของตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้ บุรุษนั้นได้ถึงความสวัสดีด้วยปัญญาของตน เพราะมาพบกับพระบรมโพธิสัตว์ ผู้มีน้ำพระทัยเปี่ยมล้นด้วยเมตตา ถ้าไปเจอคนอื่นที่จิตใจไม่กว้างขวางพอ บุรุษนี้อาจถึงตาย แม้กระนั้นบุรุษนี้พร้อมจะยอมตาย ขอเพียงให้ได้รับประทานอาหารของพระราชาแค่เพียงคำเดียว เพื่อสนองความอยากของตน

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า ความอยากทำให้คนเรากล้าจนไม่กลัวความตาย นี่เพราะอาศัยปัญญาแท้ๆ จึงรอดมาได้ ทำให้เราได้ข้อคิดว่า การรู้จักพูดอย่างถูกต้องดีงามตามเหตุผล ย่อมได้รับผลที่น่าพึงพอใจ เรื่องอันตรายเรื่องร้ายต่างๆ ก็จะกลับกลายเป็นดีและเป็นที่ประทับใจได้ แต่พึงสังวรไว้ว่า การที่จะพูดให้ถูกต้องดีงามตามเหตุผลนั้น ต้องพูดตามความเป็นจริง และมีความจริงใจไม่เสแสร้ง เมื่อคิดเห็นอย่างใดรู้สึกอย่างใด ก็พูดออกไปตามนั้น ผู้ฟังจะได้พิจารณาตามและตัดสินใจได้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

คนส่วนมากมักจะไม่ค่อยกล้าพูดความจริง เพราะเขินอายบ้าง ไม่ยอมรับความจริงบ้าง บ้างก็กลัวจะเสียหน้า จึงมักพูดเลี่ยงไปเป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำของคนส่วนมาก จึงยากจะหยั่งรู้ เพราะปากไม่ค่อยตรงกับใจ ฉะนั้นเราต้องมีความจริงใจ ทั้งจริงต่อการทำความดี จริงต่อหน้าที่ที่แท้จริง คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน แล้วเราจะได้สมหวังดังใจในชีวิตกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ฑูตชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๘๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘