มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - ชีวิตเหลือน้อยนิด อย่าคิดเรื่องไร้สาระ


มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
ชีวิตเหลือน้อยนิด อย่าคิดเรื่องไร้สาระ

บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ปุถุชน จนกระทั่งถึงพระอริยเจ้า ทุกครั้งที่เราสร้างความดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา บุญจะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นกระแสที่ใสสว่างสะอาดบริสุทธิ์ คล้ายกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว เมื่อกระแสบุญหลั่งไหลเข้าสู่ศูนย์กลางกาย จะรวมเป็นดวงเรียกว่า “ดวงบุญ” ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของพวกเราทุกคน
ดวงบุญนี้เป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จ เมื่อเราปรารถนาสิ่งใด ให้อธิษฐานจิตในกลางดวงบุญนั้น ซึ่งเป็นทางมาแห่งมหาสมบัติทั้งหลาย ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน ซ้อนอยู่ในกลางดวงบุญนั้น บางคนสายสมบัติโต บางคนเล็ก บางคนก็ริบหรี่ ตามแต่กำลังบุญที่ได้สั่งสมมา ดวงบุญนี้จะดึงดูดสมบัติหยาบในเมืองมนุษย์ ให้เราได้ใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น เมื่อปรารถนาในสิ่งที่ดี ย่อมจะสมปรารถนาได้ ดังนั้น เราจึงต้องสั่งสมบุญกันให้มากๆ อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว เพราะบุญเป็นดั่งแก้วสารพัดนึกที่เนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเราได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย ความว่า

“อปฺปมายุ มนุสฺสานํ หิเฬยฺย นํ สุโปริโส
จเรยฺยาทิตฺตสีโสว นตฺถิ มจฺจุสฺส นาคโม


อายุของมนุษย์มีน้อย คนดีพึงดูถูกอายุนั้นเสีย
พึงประพฤติตนดุจคนมีศีรษะถูกไฟไหม้ มฤตยูที่จะไม่มาถึงนั้น ย่อมไม่มี”

โลกใบนี้เป็นโลกแห่งการสร้างบารมี เป็นโลกแห่งการสั่งสมบุญกุศลความดีงาม แต่เนื่องจากเรามีเวลาอยู่บนโลกใบนี้ไม่นาน มีเวลาอยู่อย่างจำกัด เราจึงควรใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดนี้ สร้างบารมีให้เต็มที่ ให้คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในแต่ละวัน ต้องทำชีวิตให้มีคุณค่า ด้วยการสร้างบุญบารมีให้เพิ่มขึ้น ให้สมกับที่ได้เกิดมาสร้างบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

ชีวิตของเราทุกคนต่างถูกไฟ คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย แผดเผาทุกอนุวินาที ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราทำแต่ความดี ทำใจให้ใสๆ ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

นอกจากนี้ยังทรงสอนให้เราหมั่นเจริญมรณานุสติเนืองๆ ให้พิจารณาใคร่ครวญถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสังขารร่างกาย เมื่อเราหมั่นพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ จะทำให้จิตของเราสงบ ละคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในโลกามิส ซึ่งเป็นเหยื่อล่อที่ทำให้เราติดอยู่ในโลกนี้ เป็นเหตุทำให้ใจเหินห่างจากกระแสของพระนิพพาน

พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราพิจารณาว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ถูกความชรารุกรานอยู่เงียบๆ รุกรานนำไปสู่ความตาย เมื่อพิจารณาเห็นโทษของความตาย ปล่อยวางจากความยินดีในสิ่งที่ไม่เป็นสาระทั้งหลาย ให้ละความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส โดยมีใจมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน

*เหมือนในสมัยพุทธกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า
ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณานุสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มรณานุสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมา ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงถึงความตาย อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมในร่างกายของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้

เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันใดที่เรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ถึงความตายในกลางคืนมีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว รู้ว่าธรรมอันเป็นอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ถึงความตายในกลางคืนมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ตั้งสติและมีสัมปชัญญะให้ยิ่งขึ้น เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำความพยายาม ไม่ท้อถอย ตั้งสติและมีสัมปชัญญะให้ยิ่งขึ้น เพื่อดับไฟไหม้ศีรษะนั้นดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว รู้ว่าธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ถึงความตายในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนสิ้นไป กลางวันเวียนมาถึง ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ ทั้งอันตรายที่เกิดจากสัตว์ร้าย อันตรายที่เกิดจากตัวเอง เช่น อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อย ลมในร่างกายของเราพึงกำเริบ เป็นต้น และมนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราพึงถึงความตาย อันตรายนั้นพึงมีแก่เราอย่างแน่นอน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ถึงความตายในกลางวันมีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว รู้ว่าธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ ที่จะพึงทำอันตรายแก่เราผู้ถึงความตายในกลางวันมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย มีสติและสัมปชัญญะให้ยิ่งขึ้น เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าถูกไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย ตั้งสติและมีสัมปชัญญะให้ยิ่งขึ้น เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ถึงความตายในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณานุสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด”

จากพระดำรัสนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราให้หมั่นพิจารณาถึงความตายบ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน การเจริญมรณานุสตินี้ มิได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม จะต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ เพื่อให้ใจคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ และให้มีใจยินดีในพระนิพพาน

ดังนั้น อย่าได้ประมาท อย่าชะล่าใจในมรณภัยที่เรามองไม่เห็น ความตายไม่มีนิมิตหมาย ให้หมั่นเจริญมรณานุสติไว้เสมอๆ และให้เร่งรีบขวนขวายในการสร้างบุญบารมี หมั่นทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้ เราจะได้ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย จะได้มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

(มก.จตุตถปฏิปทาสูตร เล่ม ๓๗ หน้า ๖๔๑)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘