มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - สังฆทานเป็นทานอันเลิศ


มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
สังฆทานเป็นทานอันเลิศ

พระราชาเป็นประมุขของพสกนิกร
สมุทรสาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย
ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวทั้งหลาย
ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน
พระสงฆ์เป็นประมุขของผู้หวังบุญ และบูชาอยู่

พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้เข้าถึงพระรัตนตรัย และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมดสิ้นกิเลสอาสวะ มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ จึงเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผลบุญอันเลิศย่อมบังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น และบุญนั้นยังตามส่งผลข้ามภพข้ามชาติไปจนถึงที่สุดแห่งธรรมอีกด้วย การทำสมาธิภาวนาด้วยการเจริญพุทธานุสติ และมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์จึงมีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ สมควรที่พวกเรา ทั้งหลายจะต้องฝึกให้เป็นอุปนิสัย บุญใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร ว่า

"ราชา มุขํ มนุสฺสานํ นทีนํ สาคโร มุข
นกฺขตฺตานํ มุขํ จนฺโท อาทิจฺโจ ตปตํ มุข
ปุญฺญมากงฺขมานานํ สงฺโฆ เว ยชตํ มุขํ

พระราชาเป็นประมุขของพสกนิกร สมุทรสาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวทั้งหลาย ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน พระสงฆ์เป็นประมุขของผู้หวังบุญ และบูชาอยู่"
การถวายทานในพระพุทธศาสนามี ๒ ประการด้วยกัน คือ ปาฏิปุคคลิกทาน และสังฆทาน
ปาฏิปุคคลิกทาน หมายถึง การถวายทานจำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง อาจจะเกิดจาก ความรู้จักคุ้นเคยสนิทสนมเป็นการส่วนตัวบ้าง มีความเลื่อมใสศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของท่านบ้าง จึงปรารภจะถวายให้กับภิกษุรูปนั้นเพียงรูปเดียว
ส่วนการถวายสังฆทาน หมายถึง การปรารภที่จะถวายแด่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ แม้บางครั้งอาจจะมีพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะสงฆ์มารับเพียงรูปเดียว หรือไม่กี่รูปก็ตาม แต่ใจนั้นปรารถนาจะถวายทุกรูป

การถวายภัตตาหารหรือไทยธรรมเป็นสังฆทานนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นบุญใหญ่ ได้อานิสงส์มากกว่าการถวายจำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ที่เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน เพราะฉะนั้นตั้งแต่โบราณเมื่อจะทำบุญ พระท่านจึงสอนว่าให้ถวายเป็นสังฆทาน เพราะพระสงฆ์เป็นประมุขของ ผู้หวังบุญ หมู่สงฆ์นี่แหละเป็นประมุขของผู้บูชา ใครอยากได้บุญใหญ่ก็ให้ทำบุญปรารภหมู่สงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์นั้นหมายรวมถึงสมมติสงฆ์และพระอริยสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แม้พระองค์จะเสด็จปรินิพพานนานแล้ว เมื่อกล่าวถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานก็จะระลึกรวมไปถึงพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วย หากปรารภหมู่สงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทำบุญด้วยจิตที่เลื่อมใสกันจริงๆ แล้ว มหัคคตกุศลจะบังเกิดขึ้นกับตัวเรา และจะส่งผลให้ได้สมบัติทั้งสามไปตลอดทุกภพทุกชาติ

*ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงปรารถนาจะถวายผ้าคู่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งใจทอผ้าด้วยมือของตนเอง โดยให้สร้างโรงทอผ้าภายในพระราชวัง ทรงเรียกช่างศิลป์มาเป็นที่ปรึกษา อีกทั้งทรงทอผ้าเนื้อละเอียด ใช้ด้ายที่มีราคาแพงที่สุด ทรงตัดเย็บย้อมเป็นจีวรที่มีราคามากที่สุด เมื่องานเย็บจีวรสำเร็จ ทรงมอบค่าตอบแทนให้กับพวกช่างศิลป์ทุกคน ทรงอบผ้าไว้ในหีบที่มีกลิ่นหอม และได้เสด็จไปพระวิหารเพื่อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อเสด็จไปถึง พระนางได้กราบทูลว่า "หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าใหม่คู่นี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงรับผ้าใหม่คู่นี้ของหม่อมฉันด้วยเถิด"
แต่พระนางกลับได้รับคำปฏิเสธว่า "ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายแด่หมู่สงฆ์เถิด เมื่อถวายแล้ว จักเป็นอันได้บูชาทั้งเราและหมู่สงฆ์"
พระนางได้ทูลอ้อนวอนว่า " หม่อมฉันจะถวายผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าแด่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง แต่ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นี้ของหม่อมฉันเถิด" พระนางกราบทูลเช่นนี้ ถึง ๓ ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทั้ง ๓ ครั้ง

พระอานนท์เห็นความตั้งใจมั่นของพระน้านาง จึงช่วยกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงรับผ้านั้นว่า "ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดรับผ้าทั้งคู่ของพระนางมหาปชาบดีเถิด พระนางมีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้โปรดให้พระองค์ทรงดื่มน้ำนมจากพระนาง แม้พระนางทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ขอพระองค์ทรงรับเครื่องบรรณาการของพระนางด้วยเถิด"
พระบรมศาสดาตรัสว่า "ถูกแล้วอานนท์ จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เราไม่กล่าวการตอบแทนด้วยดีนี้ เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรมด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ให้ทานในพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ให้ทานแก่พระอนาคามี ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ให้ทานแก่พระสกทาคามี ให้ทานในท่าน ผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ให้ทานในพระโสดาบัน ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ให้ทานปุถุชนผู้มีศีล ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน

ดูก่อนอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจะนับจะประมาณไม่ได้ จะกล่าวไปใยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในปัจเจกสัมพุทธเจ้าและในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู ผู้มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับประมาณไม่ได้ แต่เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดย ปริยายเลย"

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแจกแจงให้เข้าใจถึงความบริสุทธิ์ของทักษิณาว่า มีอยู่ ๔ อย่าง ได้แก่ ทักษิณา บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก บางอย่างบริสุทธิ์เฉพาะฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บางอย่างฝ่ายทายกไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ฉะนั้นหากทักษิณาบริสุทธิ์ ทั้งสองฝ่าย ผลบุญใหญ่จะบังเกิดขึ้น ส่งผลให้ประสบความสุขความสำเร็จมากกว่าทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงสรุปเรื่องการถวายทานว่า "ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและ ผลแห่งกรรม ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิต ไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย"
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสนับสนุนให้ทายกถวายทาน กับหมู่สงฆ์แทนการถวายเฉพาะเจาะจง เพราะทรงเห็นว่า พระองค์เองจะดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนาจักตั้งอยู่ได้เพราะหมู่สงฆ์ ชนรุ่นหลังควรให้ความเคารพยำเกรงในหมู่สงฆ์ อีกทั้งการถวายผ้าเป็นสังฆทาน จะได้บุญใหญ่ที่มีอานิสงส์เป็นอสงไขยอัปปมาณัง

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการถวายสังฆทานมาก ใครปรารภจะสั่งสมบุญอะไร ก็อย่าลืมถวายเป็นสังฆทาน ดังนั้นอย่าลืมสั่งสมบุญกุศลให้เต็มที่ และหมั่นนั่งสมาธิเจริญภาวนาให้ใจใสบริสุทธิ์หยุดนิ่ง จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. ทักขิณาวิภังคสูตร เล่ม ๒๓ หน้า ๓๙๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘