มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - วันสุดท้ายของชีวิต


มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
วันสุดท้ายของชีวิต

สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต่างอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกวินาที และสูญสลายในที่สุด ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เราควรแสวงหาสิ่งที่เป็นความสุขที่แท้จริง นั่นคือ “พระธรรมกาย” ซึ่งมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงที่เราเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย สุตตนิบาตว่า

“ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนโง่เขลาหรือคนฉลาด
ทั้งหมดล้วนต้องบ่ายหน้าไปสู่อำนาจแห่งความตาย ทุกๆ คนมีความตายเป็นที่สุด”

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้เรื่อยไป ความตายจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มาพร้อมกับความเกิด ความแก่เกิดขึ้นกับทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมราชัน ผู้พรั่งพร้อมด้วยรัตนะทั้งเจ็ด มีเสนาที่เกรียงไกร ครอบครองทวีปทั้งสี่ หรือเหล่าทวยเทพบนสวรรค์ชั้นฟ้า รวมไปถึงรูปพรหม อรูปพรหม เมื่อถึงเวลา ต่างไม่พ้นอำนาจมฤตยูนี้ไปได้ ล้วนต้องสละสรีระไปสู่ภพภูมิใหม่ตามกระแสบุญและบาปที่ได้ทำไว้

ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือ การที่เกิดมาแล้ว ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้สั่งสมบุญบารมี หรือสร้างสิ่งดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและต่อโลก เราควรให้ความสำคัญกับมรณสัญญา ซึ่งเหมือนระเบิดเวลาที่มีผู้กำหนดไว้ว่า ถึงเวลาเราต้องละโลกนี้ไป แต่ก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ให้ถามตนเองดูซิว่า เราได้เตรียมพร้อมที่จะเดินทางไกลในสัมปรายภพแล้วหรือยัง บุญบารมีที่เป็นเสบียงในการเดินทาง มีพร้อมแล้วหรือยัง ฉะนั้น แทนที่จะกลัวตายจนไม่เป็นอันทำอะไร เราควรหันมาใส่ใจกับวันเวลาที่ผ่านไป โดยต้องเร่งรีบทำความดีให้มากที่สุด

*ในสมัยก่อน มีบ้านของผู้มีบุญครอบครัวหนึ่ง ชื่อ บ้านธรรมบาล หมายถึง บ้านที่ทุกคนในครอบครัวประพฤติธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก ที่สำคัญทุกคนในบ้านต่างรักษากุศลธรรม ๑๐ ประการได้อย่างบริสุทธิ์ จนชาวบ้านยกย่องสรรเสริญให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งเรียกครอบครัวนี้ว่า “ครอบครัวธรรมบาล” ทำนองเดียวกับ “บ้านกัลยาณมิตร” บ้าน แห่งแสงสว่างของโลกอย่างพวกเราที่ทุกคนในบ้านมุ่งมั่นสร้างบารมี ชักชวนชาวโลกให้มาทำความดี ชักชวนนั่งสมาธิมิได้ขาด จนเป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ครอบครัวตัวอย่างของโลก

เมื่อทุกคนในบ้านประพฤติธรรม ผู้มีบุญ คือ พระบรมโพธิสัตว์ ก็ลงมาเกิด พ่อแม่ตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ได้ส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองตักสิลา ธรรมบาลกุมารเป็นลูกศิษย์ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ จึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้า วันหนึ่ง ลูกชายคนโตของอาจารย์เสียชีวิตกะทันหัน ท่านอาจารย์และบรรดาลูกศิษย์ต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญ แม้ฌาปนกิจศพลูกชายอาจารย์แล้ว ก็ยังเฝ้าร้องไห้รำพึงรำพันที่เชิงตะกอน มีเพียงธรรมบาลคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ร้องไห้

ธรรมบาลถามเพื่อนๆ ว่า ทำไมลูกชายท่านอาจารย์ต้องตายในวัยที่ไม่สมควร เพื่อนๆ ตอบว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ พวกเราห้ามความตายของลูกชายท่านอาจารย์ไม่ได้”
แต่ธรรมบาลสงสัยว่า “มันก็จริง ที่ว่าสังขารไม่เที่ยง แต่ก็ควรตายตอนแก่มิใช่หรือ” เพื่อนๆ จึงถามว่า “แล้วที่บ้านของท่าน ไม่มีคนตายขณะที่ยังหนุ่มเลยหรือ” ทุก คนต่างอัศจรรย์ไปตามๆ กัน ที่ได้คำตอบว่า บ้านของธรรมบาลไม่มีใครตายตั้งแต่ยังเด็กหรือเป็นหนุ่ม และยังเป็นประเพณีสืบต่อกันมายาวนานของบ้านนี้อีกด้วย

ท่านอาจารย์ซึ่งกำลังเศร้าซึมถึงลูกชาย ได้ยินเรื่องอัศจรรย์นี้ เกิดความประหลาดใจ คิดว่า ลูกศิษย์คนนี้พูดเรื่องเหลือเชื่อเกินไป จึงอยากทดสอบว่า ลูกศิษย์พูดจริงแค่ไหน ถ้าเป็นจริงตนจะได้เรียนวิชานี้ เพื่อมาเป็นความรู้สอนลูกศิษย์ต่อไป หลังจากฌาปนกิจลูกชายแล้ว ท่านอาจารย์จึงสั่งธรรมบาลว่า ตนจะไปธุระนอกเมืองหลายวัน ให้ธรรมบาลช่วยสอนศิลปวิทยาให้ลูกศิษย์ที่มาใหม่แทนอาจารย์ด้วย

จากนั้น อาจารย์ได้เก็บกระดูกแพะตัวหนึ่งใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ถือตาม และออกเดินทางไปบ้านของธรรมบาล เมื่อไปถึง อาจารย์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทุกคนในบ้านหาอาหารมาเลี้ยง จัดที่อยู่ที่หลับนอนให้อาจารย์พักผ่อนอย่างสบาย และนั่งสนทนาธรรมด้วย อาจารย์แสร้งกล่าวกับพ่อของธรรมบาลว่า " ท่านพราหมณ์ ลูกชายของท่านเป็นคนฉลาดหลักแหลม เรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการ เป็นผู้นำของลูกศิษย์ทั้งหมด แต่น่าเสียดายที่ลูกชายของท่านเสียชีวิตแล้ว”

ทันทีที่พราหมณ์ฟังจบ เขาตบเข่าหัวเราะลั่น สร้างความงุนงงให้กับอาจารย์มาก อาจารย์จึงถามขึ้นว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องตลกเลย ท่านหัวเราะทำไม”
พราหมณ์ตอบว่า “ก็หัวเราะเรื่องที่ท่านพูดนะสิ ที่ตายคงจะเป็นคนอื่นกระมัง” อาจารย์เห็นว่าทุกคนในบ้านไม่เชื่อ จึงหยิบกระดูกออกมาให้ดูเป็นหลักฐาน ทุกคนต่างยืนยันว่าไม่ใช่ “สงสัย จะเป็นกระดูกสัตว์กระมัง เรามั่นใจว่า ลูกชายเรายังไม่ตายหรอก เพราะในตระกูลนี้ตลอด ๗ ชั่วคน ยังไม่เคยมีใครตายตอนเป็นหนุ่มเลย”

อาจารย์รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงได้ถามถึงเหตุผลว่า “การที่คนหนุ่มไม่ตายนี้ เป็นเพราะกรรมอะไร ทำไมตระกูลของท่านจึงไม่มีใครตายตอนยังหนุ่ม”
พราหมณ์ได้เล่าให้ฟังว่า “พวก เราประพฤติธรรมกัน ไม่พูดเท็จ งดเว้นกรรมชั่วทั้งหมด ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็มีใจศรัทธา ครั้นให้แล้วก็ตามนึกถึงตลอดเวลา จิตเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายในทานนั้นเลย ฉะนั้น คนในบ้านของเราจึงไม่ตายในวัยที่ยังหนุ่ม

พวกเรางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยของคนอื่น ไม่นอกใจสามีภรรยา เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดจาเพ้อเจ้อ ทุกคนพูดแต่เรื่องที่เป็นอรรถเป็นธรรม พูดยกใจกันให้สูงขึ้น ไม่โลภอยากได้ของใครและไม่คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น ใจของทุกคนมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างเดียว เพราะฉะนั้น คนในบ้านจึงมีอายุยืน”


หลังจากนั้นพราหมณ์ได้กล่าวเป็นธรรมภาษิตว่า “ธรรม ที่ประพฤติแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นฝนในฤดูฝน หรือกันแดดในฤดูร้อน เพราะฉะนั้น ธรรมบาลย่อมได้รับการคุ้มครองโดยธรรม เราจึงเชื่อว่าเขาต้องไม่ตายแน่นอน”
ท่านอาจารย์ได้ฟังคำพูดที่เป็นสิริมงคลเช่นนั้น เกิดมหาปีติว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า ได้รู้วิธีที่จะทำให้มีอายุยืน และไม่ต้องตายเมื่อยังไม่ถึงกาล จึงได้ขอโทษทุกคนในบ้าน และเล่าความจริงว่า “ที่มาก็เพื่อจะทดสอบดูเท่านั้น ขณะนี้ลูกของท่านสุขสบายดี” จากนั้นอาจารย์ได้จำหัวข้อธรรมที่ครอบครัวของธรรมบาลประพฤติ เพื่อนำไปสั่งสอนและเผยแผ่ให้ลูกศิษย์ได้ประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าคนเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ทำความดีเต็มที่ รักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมทำให้มีความมั่นใจในชีวิต ไม่หวั่นไหวแม้ในเรื่องที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องน่ากลัว คือ ความตายที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ผู้มีบุญกลับเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเรื่องของการสร้างบุญบารมี อันจะเป็นเครื่องยืนยันการเดินทางไปสู่สัมปรายภพอย่างผู้มีชัยชนะ

เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตเช่นนี้แล้ว อย่าได้ประมาท ให้รีบสั่งสมบุญบารมีให้มากๆ เกิดมาภพชาตินี้นับว่า คุ้มค่าที่สุดที่เราได้ทุ่มสุดใจ สั่งสมบารมีแข่งกับเวลาที่ผ่านพ้นไป ต้องให้เป็นนาทีทองของชีวิต เป็นนาทีแห่งบุญกุศลที่จะหนุนนำเราให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ภาพการสร้างบารมีด้วยความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวของเรา จะมาปรากฏให้เห็น มหาปีติก็จะบังเกิดขึ้น พร้อมที่จะเดินทางต่อไปโดยไม่ห่วงหาอาลัยกับโลกนี้ ดังนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ดี หมั่นปฏิบัติธรรมทุกวัน ทำภาวนาให้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*
(มก.มหาธรรมปาลชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๘๗๙)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘