มงคลที่ ๑๔ ทำงานไม่คั่งค้าง - ผลของความเพียรพยายาม


มงคลที่ ๑๔

ทำ่งานไม่คั่งค้าง
ผลของความเพียรพยายาม

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่หล่นให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของที่ลอยมาได้เอง

ความขยันหมั่นเพียร เป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จทุกประการ บุคคลผู้มีความเพียรไม่เบื่อหน่ายในการงานที่ตนกระทำ หมั่นฝึกฝนอบรมคุณธรรม สั่งสมความดี ประกอบบุญกุศลอยู่เป็นนิตย์ ย่อมได้รับความสุขและความสำเร็จ บุญกุศลที่ทำไว้จะเป็นเสบียงติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ข้ามห้วงวัฏสงสารอันยาวไกล ความเพียรในการทำความดีของเรานั้นจะเป็นที่สรรเสริญอนุโมทนาสาธุการของ มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

มีธรรมภาษิตบทหนึ่งใน อัมพชาดก ว่า

"วายเมเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
วายามสฺส ผลํ ปสฺส ภุตฺตา อมฺพา อนีติหํ

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่หล่นให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของที่ลอยมาได้เอง"

พระบรมศาสดาของเรา กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ต้องบำเพ็ญบารมียาวนาน อย่างน้อย ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ปานกลาง ๔๐ อสงไขยแสนมหากัป อย่างมาก ๘๐ อสงไขยแสนมหากัป ทรงมีความเพียรพยายามและมีขันติธรรมเป็นเลิศ สร้างบารมีโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนตัว ในใจปรารถนาจะทำตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ตลอดเวลา และยังมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะให้สรรพสัตว์หลุดพ้นตามอีกด้วย จึงทรงสั่งสมบารมีอย่างยิ่งยวด ยอมสละทุกอย่างตั้งแต่อวัยวะ เลือดเนื้อและชีวิต เพื่อให้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในภพชาติสุดท้ายพระบารมีเต็มเปี่ยม พระองค์ต้องทรงอาศัยพลังใจที่ยิ่งใหญ่ สลัดตนออกจากกามสุขัลลิกานุโยคในพระราชวัง ซึ่งยากที่ปุถุชนธรรมดาจะทำได้ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แสวงหาทางพ้นทุกข์ ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทั้งกลางวัน และกลางคืนยาวนานถึง ๖ ปี กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือ ทรงทรมานพระวรกายให้ลำบาก จนซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดายากจะทำได้

ในที่สุด เมื่อบารมีแก่กล้า พระองค์ทรงหันมาปฏิบัติตามเส้นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ดำเนิน จิตเข้าสู่กลางของกลางภายในตัว จนเห็นกายในกายไปตามลำดับ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นโลกวิทูผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวงด้วยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ และพระองค์ยังทรงเป็น ผู้ฝึกบุคคลให้ดำเนินไปสู่หนทางพระนิพพานได้เป็นอย่างดี ทรงตรวจดูบารมีของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ทรงรู้ถึงอัธยาศัยของเหล่าเวไนยสัตว์ที่จะโปรด หากบุคคลใดมีความตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองอย่างแท้จริง มีบารมีแก่รอบ พระองค์จะแนะนำบุคคลนั้น ให้ได้บรรลุธรรมาภิสมัยสมความปรารถนาในชีวิต

ดังนั้น ความเพียรพยายามมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคต่างๆ ที่มาขัดขวาง ย่อมยังผลสำเร็จให้บังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องมีทั้งในงานทางโลกและทางธรรม ความเพียรพยายามไม่เพียงก่อให้เกิดผลดีเฉพาะตัวของเราเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นอีกมากมาย ดังเช่นพระบรมโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ ท่านมีความเพียรพยายามมุ่งมั่นในการสร้างบารมี จนกระทั่งบารมี ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว ยังทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดื่มน้ำอมฤตธรรม ได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันมากมาย ฉะนั้นพระองค์จึงทรงสรรเสริญความเพียรพยายาม เหมือนดังเรื่องในสมัยพุทธกาล
*มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี ได้ออกบวชถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้สมบูรณ์ด้วยสีลาจารวัตร กระทำกิจวัตรต่างๆ มิให้ขาดตกบกพร่อง ชาวบ้านเห็นข้อวัตรปฏิบัติเช่นนั้น ต่างเกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาจริยาวัตรของท่าน จึงพากันมาถวายปัจจัยไทยธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่าน ตั้งแต่นั้นมาลาภและสักการะจำนวนมากมายก็เกิดขึ้นกับท่าน

ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงยกเรื่องของท่านขึ้นสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า " ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนั้นยังลาภและสักการะมากมายให้เกิดแก่ตนเอง เพราะอาศัยความขยันหมั่นเพียรถึงพร้อมด้วยวัตรปฏิบัติ ความผาสุกจึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุเป็นอันมาก"
ในขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้วก็ตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรอยู่"

เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลพระพุทธองค์แล้ว พระองค์จึงตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ในปางก่อน ภิกษุนี้ก็เคยเป็นผู้มีความเพียรพยายามและถึงพร้อมด้วยสีลาจารวัตร เพราะอาศัยเธอรูปเดียว ฤๅษี ๕๐๐ ตน ไม่ต้องเข้าไปในป่าหาผลไม้มาเป็นอาหาร แต่เลี้ยงชีพด้วยผลไม้ที่ภิกษุนี้นำมาเท่านั้น" ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เมื่อเจริญวัย ได้ออกบวชเป็นฤๅษี มีฤๅษี ๕๐๐ ตน เป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่เชิงเขาในป่าหิมพานต์ ในสมัยนั้นเกิดความแห้งแล้งมาก น้ำในแม่น้ำก็เหือดแห้ง เมื่อพวกสัตว์ทั้งหลายไม่ได้น้ำดื่ม ต่างพากันเดือดร้อน

ในหมู่ดาบสเหล่านั้น มีดาบสรูปหนึ่งเห็นความลำบากของเหล่าสัตว์ เกิดความสงสาร จึงตัดต้นไม้มาทำเป็นรางแล้วขังน้ำให้เป็นที่ดื่มกินของพวกสัตว์ เมื่อสัตว์ทั้งหลายมากินน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ดาบสจึงไม่มีโอกาสไปหาผลไม้มาเป็นอาหาร แม้ดาบสเองก็ซูบผอมเพราะอดอาหาร แต่ยังคงมีน้ำใจที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาให้น้ำอยู่นั่นเอง

ฝูงเนื้อเห็นความตั้งใจของท่าน พากันคิดว่า ดาบสนี้ให้น้ำดื่มแก่เรา จึงไม่มีโอกาสไปหาผลไม้ ต่างทำกติกากันว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้ที่มาดื่มน้ำจงคาบผลไม้มาตามสมควรแก่กำลังของตนด้วย

ตั้งแต่นั้นมา เหล่าสัตว์ทั้งหลายต่างคาบผลไม้มีผลมะม่วง และขนุน เป็นต้น มาให้ดาบส ผลไม้ที่สัตว์ต่างๆ เหล่านั้นนำมาให้ รวมกันแล้วได้วันละประมาณ ๒ เล่มเกวียน ทำให้ดาบสทั้ง ๕๐๐ พลอยได้ฉันผลไม้นั้นไปด้วย แม้ฤดูแล้งจะผ่านไปแล้วก็ตาม สัตว์ทั้งหลายก็ยังคงคาบผลไม้มาให้ทุกวัน เพราะระลึกถึงความดีของดาบสรูปนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวสรรเสริญดาบสว่า เพราะอาศัยท่านผู้มีความเพียรถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร ดาบสทั้งหลายจึงเป็นอยู่อย่างไม่ลำบาก ขึ้นชื่อว่าความเพียรพยายาม เป็นกิจที่ควรกระทำโดยแท้

เราจะเห็นได้ว่า ความเพียรเป็นสิ่งประเสริฐ ที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญ เราเกิดมามีเป้าหมายที่จะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม มีมโนปณิธานอันสูงส่ง มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ตราบใดที่สรรพสัตว์ทั้งหลายยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลทุกข์ มองไม่เห็นฝั่งแห่งพระนิพพาน เราจะต้องเพียรพยายามทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรผู้เป็นแสงสว่างของโลก แนะนำให้ชาวโลกเข้ามาสู่เส้นทางธรรม ซึ่งเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้า

ความเพียรเป็นปัจจัยสำคัญ อันเป็นเหตุแห่งความสำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง แม้กระทั่งความเพียรพยายามในการละบาปอกุศลสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง ย่อมต้องอาศัยความเพียรพยายามในการทำความดี หมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ จะได้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะเข้าสู่อายตนนิพพาน ความเพียรพยายามเช่นนี้ ย่อมเป็นที่น่าอนุโมทนาสรรเสริญของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย กิตติศัพท์อันดีงามย่อมฟุ้งขจายไปทั่วทุกสารทิศ
ดังนั้น พวกเราทั้งหลายจงเพียรพยายามในการทำความดีต่อไป อย่ายอมพ่ายแพ้ อย่าท้อแท้ เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นอย่างเอาจริงเอาจัง ทุกอย่างจะสำเร็จหมด พระบรมศาสดาของเราทรงเป็นแบบอย่าง ก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ทรงมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ที่เรียกว่า "จาตุรังควิริยะ" ท่านกล่าวไว้ว่า " แม้เนื้อเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที เมื่อยังไม่สำเร็จประโยชน์ที่บุคคลจะพึงได้ด้วยกำลังแห่งความเพียร และด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว ที่จะหยุดละความเพียรนั้น เป็นไม่มี"

หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ของเราก็เช่นเดียวกัน เคยกล่าวไว้ว่า "ของ จริงคู่กับคนจริง ธรรมะเป็นของจริง จะเข้าถึงได้ต้องเอาจริง ถ้าทำจริงละก็ ได้ทุกคน จริงแค่ไหน แค่ชีวิตซิ ฉันเองสองคราว ไม่ได้ตายเถอะ...นิ่ง พอถึงกำหนดเข้ามันก็ได้ ไม่ตายสักที" นี่ต้องจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท ให้ตั้งใจปรารภ ความเพียร เอาจริงเอาจัง อย่าขี้เกียจนั่งธรรมะ เราจะสมปรารถนากันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อัมพชาดก เล่ม ๕๖ หน้า ๔๘๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘