มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม - ทําสิ่งแวดล้อมให้เป็นปฏิรูปเทส ( ๒ )

มงคลที่ ๔

อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม -
ทําสิ่งแวดล้อมให้เป็นปฏิรูปเทส ( ๒ )

บริษัท ๔ ย่อมเที่ยวไป บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ย่อมเป็นไป คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย

ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง บุคคลใดสามารถดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นอมตะไม่มีวันตายจากความดี แต่ถ้าใช้ชีวิตอย่างประมาทมัวเมา ชีวิตของผู้นั้นก็เปรียบเสมือนผู้ที่ตายแล้ว เกิดมาก็ไม่มีสาระ แก่นสาร ความไม่ประมาทนี้ครอบคลุมความดีไว้ทุกประการ เพราะหากเราไม่ประมาท และตระหนักแน่นอยู่ในใจ เราก็จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สมบูรณ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งต้นแหล่งแห่งความไม่ประมาท คือ การมีสติอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา มีใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางพระธรรมกาย หากทำได้เช่นนี้จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท และใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง

มีวาระพระบาลีใน มงคลทีปนี ว่า

"บริษัท ๔ ย่อมเที่ยวไป บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ย่อมเป็นไป คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย"
การได้อยู่ใน ถิ่นที่เหมาะสม นับว่าเป็นอุดมมงคลสำหรับชีวิต เพราะชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองหรือตกต่ำ สภาพแวดล้อมรอบตัวเรามีส่วนอย่างสำคัญ เหมือนต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถางถึงจะไม่ตาย ก็กลายเป็นไม้แคระแกร็น แต่ถ้านำไปปลูกในที่ดินดี มีบริเวณกว้างขวาง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็โตวันโตคืนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่ จนสามารถให้ความร่มเย็นแก่สรรพชีวิตทั้งหลายได้

สำหรับ วิสัยของผู้ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีสติปัญญาที่แท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านจะทำสถานที่นั้นให้เป็นปฏิรูปเทส แม้อยู่ทางโลกก็สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างงานขึ้นมา ทั้งยังก่อให้เกิดเป็นโอกาสที่ดีแก่คนรอบข้างได้อีกด้วย ไม่มัวรอคอยโอกาสจากผู้ใด แต่กลับจะเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้ผู้อื่นเสมอ

ดังตัวอย่างของ มหาอุบาสิกาวิสาขา นางเป็นตัวอย่างของนักสร้างบารมีฝ่ายหญิงชั้นแนวหน้า เป็นนักธุรกิจที่เป็น พระโสดาบันบุคคล รักในการให้ทานเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างบารมี แต่นางก็ใช้สติปัญญาพลิกผันชีวิตของคนรอบข้าง และสภาวะแวดล้อมให้เป็นปฏิรูปเทส ขึ้นมาได้ ทำให้สถานที่และบุคคลเหมาะสมต่อการสร้างความดีทุกชนิดได้อย่างน่าอัศจรรย์

*เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อนางได้เข้าไปเป็นสะใภ้ของมิคารเศรษฐี ผู้ป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว ในช่วงแรกนางไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญกุศล เพราะพ่อของสามีและทุกคนในครอบครัวนับถือพวกนักบวช ชีเปลือย ด้วยคิดว่าเป็นพระอรหันต์ แต่นางก็ตั้งใจทำหน้าที่ของสะใภ้ที่ดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย เครื่องบรรณาการต่างๆ ที่มีผู้นำมามอบให้ นางก็จัดสรรปันส่วน สร้างสัมพันธไมตรีกับคนรอบข้างด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน จนเป็นที่รักนับถือของ ทุกๆ คน

วันหนึ่ง มิคารเศรษฐีฉลองงานอาวาหมงคลแก่ลูกชาย ได้เชิญเหล่าชีเปลือยนั่งเต็มทั่วบริเวณบ้าน และส่งข่าวถึงลูกสะใภ้ให้มาไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย เนื่องจากนางวิสาขาเป็นอริยสาวิกาชั้นโสดาบัน ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระอรหันต์ ก็ร่าเริง ยินดี ตั้งใจจะไปนมัสการพระอรหันต์ และถวายภัตตาหารแด่เนื้อนาบุญอันเลิศ ครั้นไปถึง กลับพบแต่เหล่าชีเปลือยผู้ไม่มียางอาย จึงตำหนิคนเหล่านี้ว่าไม่ใช่พระอรหันต์ จากนั้นนางขอตัวกลับเข้าไปในห้องพักของตน

เหล่าชีเปลือยได้ฟังนางกล่าวเช่นนั้นพากันไม่พอใจ ต่างตำหนิท่านเศรษฐีว่า "ท่านคฤหบดีหาหญิงอื่นมาเป็นสะใภ้ไม่ได้แล้วหรือ ทำไมจึงนำสาวิกาของพระสมณโคดม ให้เข้ามาอยู่ในบ้านของท่าน จงรีบขับไล่นางออกไปจากบ้านหลังนี้เถอะ"

ฝ่ายเศรษฐีคิดว่า ตนไม่อาจขับไล่ลูกสะใภ้ซึ่งเป็นลูกสาวของเศรษฐีใหญ่ประจำเมืองให้ออกจากบ้าน ตามคำแนะนำของพวกชีเปลือย จึงได้แต่กล่าวแก้ตัวแทนลูกสะใภ้ว่า "ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่าคนหนุ่มสาว ยังเป็น
คนชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ทำทั้งที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ขอพวกท่านอย่าได้ถือสา หาความนางเลย"

ท่านมิคาร เศรษฐีได้แต่เก็บความไม่พอใจลูกสะใภ้ไว้ เพราะกิจการงานบ้านทุกอย่าง นางได้ทำอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย บำรุงดูแลบิดามารดาของสามีอย่างดี เพียงแต่ทิฏฐิในเรื่องการนับถือศาสนาไม่ตรงกันเท่านั้น

เมื่อเหล่านักบวชชีเปลือยกลับไปแล้ว ท่านเศรษฐีกำลังถือช้อนทอง เพื่อรับประทานข้าวมธุปายาสในถาดทอง นางวิสาขาก็คอยอุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นเคย

ขณะนั้นเอง มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินบิณฑบาตผ่านมาถึงหน้าบ้านของเศรษฐี นางวิสาขาเห็นพระเถระมารับบาตร ก็คิดจะพิสูจน์ความศรัทธาของท่านเศรษฐีว่า จะเลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้เป็นบุญเขตอันเยี่ยมบ้างหรือไม่ ทางด้านเศรษฐีแม้จะเห็น พระเถระ แต่ก็ทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้าก้มตาบริโภค
ข้าวมธุปายาส ทำเป็นไม่สนใจพระที่มายืนอยู่หน้าบ้าน นางวิสาขารู้ทันบิดาของสามี จึงกลˆ่าวเสียงดังว่า
"นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิดเจ้าข้า บิดาสามีของดิฉัน กำลังกินของเก่าอยู่"
คราวนี้ เหตุการณ์ที่จะพลิกผันวิถีชีวิตของท่านเศรษฐีกำลังจะเกิดขึ้น คือ คราวที่ถูกเหล่านิครนถ์ว่ากล่าว ท่านยังพออดกลั้นได้ แต่การที่ลูกสะใภ้กล่าวหาท่านว่า กินของเก่านั้น ท่านไม่อาจที่จะอดทนได้อีกต่อไป เกิดความรู้สึกโกรธเคืองขึ้นมาทันที ท่านวางช้อนทอง พลางตะโกนสั่งเรียกข้าทาสบริวารว่า

"พวกเจ้าจงนำข้าวมธุปายาสนี้ออกไป และจงนำหญิงนี้ออกไปจากบ้านเดี๋ยวนี้ เพราะนางกลˆาวหาว่าเราเป็นผู้กินของเก่าที่ไม่สะอาด"
ในนิเวศน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าทาสหรือกรรมกร ล้วนเป็นบริวารสมบัติของนางวิสาขา ทุกคนต่างเคารพนับถือนางมาก ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับมือจับเท้านาง แม้แต่จะว่ากล่าวห้ามปรามด้วยวาจา ก็ยังไม่มีใครกล้าเอื้อนเอ่ย ทุกคนต่างอยู่ในอาการนิ่ง มหาอุบาสิกาวิสาขาจึงกล่าวกับพ่อสามีว่า

"ดิฉันจะไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ดอก เพราะดิฉัน ไม่ได้ถูกท่านนำมาจากท่าน้ำเหมือนพวกกุมภทาสี ธรรมดาว่าเหล่าธิดาของบิดา
มารดาผู้ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยิ่งกว่านั้นในวันที่ดิฉันมา บิดาของดิฉันได้มอบดิฉันไว้ในความดูแลของกุฎุมพี ขอท่านพ่อโปรด
เรียกกุฎุมพีทั้ง ๘ มา เพื่อชำระความว่า เป็นความผิดของดิฉันหรือไม่ และหลังจากชำระเรื่องราวแล้ว ดิฉันจะขออำลากลับไปหาบิดามารดาของดิฉันแน่นอน"

มหาอุบาสิกาวิสาขาจะทำบ้านของพ่อสามี ให้เป็นสถานที่ ที่เหมาะสมต่อการสั่งสมบุญได้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะเกิดความแตกแยกและยุ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงกับมีการขับไล่ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งด่วนสรุปกันก่อน ยังมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอีกมาก การทำหน้าที่กัลยาณมิตร และการสั่งสมบุญกุศลของนาง เป็นสิ่งที่พวกเราควรเรียนรู้ไว้
มีข้อที่น่าสังเกต คือ ไม่ ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน ควรทำตัวให้เป็นที่รักของคนรอบข้าง พึงสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีกับทุกๆ คน เพราะการมีพรรคมีพวกจะทำให้เกิดความสะดวก ยามมีภัยหรือเกิดวิกฤติคับขัน จะได้มีผู้ช่วย
ปกป้องคุ้มครอง หรืออย่างน้อย ก็เอาตัวรอดได้ อย่างนี้ถือว่า เริ่มสร้างปฏิรูปเทสให้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อหันไปรอบทิศควรมีแต่มิตรรอบตัว อีกทั้งยังเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีให้แก่ชาวโลก เราจะได้บุญติดตัวไปทั้งในโลกนี้และ ในโลกหน้ากันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ประวัตินางวิสาขามิคารมารดา เล่ม ๓๓ หน้า ๙๔

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘