มงคลที่ ๑๘ ทำงานไม่มีโทษ - อามิสสุข นิรามิสสุข



มงคลที่ ๑๘
ทำงานไม่มีโทษ
อามิสสุข นิรามิสสุข

ดูก่อนคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรจะได้รับตามกาล ตามสมัย บุคคลผู้มีปัญญาดี รู้ว่า ความไม่เป็นหนี้เป็นสุข และระลึกรู้ว่าความมีทรัพย์ ก็เป็นสุข เมื่อได้จ่ายทรัพย์บริโภค ก็รู้ว่าการจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นสุข

อนึ่ง ย่อมพิจารณาเห็นสุขที่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยปัญญา เมื่อพิจารณาดูก็ทราบว่า สุขทั้ง ๓ ประการข้างต้นนั้น ไม่ถึงส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งสุขอันเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ซึ่งเป็นสุขประการที่สี่

การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจเป็นอันดับแรก เพราะใจของเรานั้น เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง บัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ก่อนจะทำสิ่งใด ท่านจะเริ่มต้นที่ใจก่อน เพราะการฝึกใจนั้นเป็นสิ่งที่ยาก โดยธรรมชาติของใจนั้นแล่นเร็ว ไม่เคยอยู่นิ่ง เหมือนลิงที่ไม่เคยอยู่เฉย ช่วงเวลาแค่นาทีเดียว ใจเราสามารถคิดไปได้หลายเรื่อง แม้ใจเป็นสิ่งที่ฝึกได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ โดยนำใจที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ไร้สาระ ให้มาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบายสม่ำเสมอ ถ้าใจตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ได้ ใจจะมีพลังและทรงอานุภาพ หากเราฝึกใจของเราได้ เราย่อมสามารถทำงาน ทุกอย่างให้สำเร็จได้โดยไม่ยาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อันนนาถสูตร ว่า

ดูก่อนคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรจะได้รับตามกาล ตามสมัย บุคคลผู้มีปัญญาดี รู้ว่า ความไม่เป็นหนี้เป็นสุข และระลึกรู้ว่าความมีทรัพย์ ก็เป็นสุข เมื่อได้จ่ายทรัพย์บริโภค ก็รู้ว่าการจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นสุข

อนึ่ง ย่อมพิจารณาเห็นสุขที่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยปัญญา เมื่อพิจารณาดูก็รู้ว่า สุขทั้ง ๓ ประการข้างต้นนั้น ไม่ถึงส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งสุขอันเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ซึ่งเป็นสุขประการที่สี่Ž

ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนปรารถนา แต่ละคนจึงมีวิธีการแสวงหาที่แตกต่างกันไป บางคนมีความสุขจากการดูรูปสวยๆ ฟังเสียงเพราะๆ ดมกลิ่นหอมๆ ลิ้มรสอร่อยๆ หรือมีความสุขกับสัมผัสที่นุ่มนวล แต่ความสุขเหล่านี้ล้วนเป็นความสุขจอมปลอม เป็นความสุขที่เจือปนไปด้วยกิเลสกามและวัตถุกาม ยิ่งชื่นชมยินดีก็ยิ่งลุ่มหลงมัวเมา ถอนตัวออกได้ยาก เหมือนกุหลาบที่มีหนามแหลม แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูสวยงาม แต่กลับซ่อนเร้นความแหลมคมไว้ภายใน

พื้นฐานของชีวิตมนุษย์นั้น คือ ความทุกข์ ทั้งทุกข์ประจำสังขาร และทุกข์จรที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันมา ดังนั้น ความสุขจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงความสุขขั้นพื้นฐานของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนไว้ ๔ ประการ คือ สุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ สุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ สุขที่เกิดจากการไม่เป็นหนี้ และสุขที่เกิดจากการประกอบการงานที่ไม่มีโทษ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาติดตามรับฟังกันต่อไป

*สมัยหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทูลถามปัญหา ที่ค้างคาใจมานานกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป การปรารถนาความสุขของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น ข้าพระองค์อยากรู้ว่า มนุษย์ส่วนมากปรารถนาความสุขอะไรกันบ้าง พระเจ้าข้าŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า คฤหบดี เมื่อคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกามได้ความสุข ๔ ประการ คือ อัตถิสุขัง สุขเกิดจากการมีทรัพย์ โภคะสุขัง สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์ อะนะณะสุขัง สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ อะนะวัชชะสุขัง สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ย่อมได้รับความสุขตามกาลสมัย

ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์ หมาย ถึง โภคทรัพย์ ทั้งหลายที่กุลบุตรต้องขยันหมั่นเพียร ใช้กำลังเรี่ยวแรงอาบเหงื่อต่างน้ำ จึงได้โภคทรัพย์มา และโภคทรัพย์ที่ได้มานี้ต้องประกอบด้วยความชอบธรรม ฉะนั้น เมื่อกุลบุตรพิจารณาเห็นว่า โภคทรัพย์ทั้งหลายที่ตนได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร ประกอบด้วยความชอบธรรมนี้ ย่อมได้รับความสุขโสมนัส ความสุขเช่นนี้เรียกว่า ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์

ความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค หมายถึง การได้ใช้สอยบ้าง ทำบุญบ้าง ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร อันประกอบด้วยความชอบธรรม เมื่อกุลบุตร นึกย้อนถึงการใช้ทรัพย์ของตน ย่อมโสมนัสยินดี ความสุขเช่นนี้เรียกว่า ความสุขที่เกิดจากการได้ใช้จ่ายทรัพย์

ความสุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ หมายถึง การที่กุลบุตรไม่ต้องไปกู้ยืมทรัพย์จากใคร ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม ฉะนั้น กุลบุตรจึงปลอดกังวล และได้รับความสุขโสมนัสจากการไม่ต้องเป็นหนี้ เช่นนี้เรียกว่า ความสุขที่เกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้

ความสุขที่เกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ คือ การเป็นผู้ประกอบการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่ไม่มีโทษ ดังนั้น เมื่อพิจารณาเห็นว่า ตนได้ประกอบการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่ไม่มีโทษเช่นนี้ ย่อมได้รับความสุขโสมนัส ความสุขเช่นนี้เรียกว่า ความสุขที่เกิดจากการประกอบการงานอันปราศจากโทษ

ดูก่อนคฤหบดี ความสุข ๔ ประการนี้ เมื่อคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกามได้กระทำ ย่อมจะได้รับความสุขตามกาล ตามสมัย ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญาดี รู้ว่าการไม่เป็นหนี้เป็นความสุข และระลึกรู้ว่าการมีทรัพย์ก็เป็นสุข เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์เพื่อนำมา บริโภค ก็รู้ว่าเป็นความสุข อนึ่ง บุคคลผู้มีปัญญาได้พิจารณาเห็นความสุขที่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยปัญญา รู้ว่าสุข ๔ อย่างนี้ เมื่อแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ความสุข ๓ ประการแรกนั้นย่อมไม่ถึงส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของความสุขที่เกิดจากการประกอบการงานอันปราศจากโทษŽ

จากพระดำรัสนี้ คำว่าการงานไม่มีโทษนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ
การทำงานที่ไม่มีโทษในภาคโลกิยะนั้น คือ การประกอบสัมมาอาชีวะ
ส่วนในภาคโลกุตระนั้น หมายเอาการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการงานที่แท้จริง ที่ทำให้กายวาจาใจสะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งหลุดพ้นจากโทษภัยและกิเลสอาสวะทั้งหลาย ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ หรือการใช้จ่ายทรัพย์นั้น จึงเทียบไม่ได้กับความสุขที่เกิดจากการได้เข้าถึงธรรม เพราะรสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

ดังนั้น ความสุขที่เกิดจากการประพฤติธรรม หรือการประกอบการงานที่ไม่มีโทษที่แท้จริงนี้ จึงเป็นเรื่องหลักที่สำคัญของชีวิต โลกและธรรมต้องไปด้วยกัน การประกอบอาชีพที่ไม่มีโทษในชีวิตประจำวันก็สำคัญเช่นกัน เราต้องศึกษาและพิจารณาให้ดี เพราะถ้าเราเลือกประกอบอาชีพที่มีโทษ นอกจากจะมีโทษต่อตัวเราแล้ว ยังเดือดร้อนถึงผู้อื่นอีกด้วย ทั้งต้องเดือดร้อนในปัจจุบันและในสัมปรายภพ เหมือนเด็กที่หยิบของใส่ปาก โดยไม่รู้จักเลือกว่า สิ่งไหนมีโทษหรือไม่มีโทษ บางอย่างกินเข้าไปก็อาจถึงตายได้
ฉะนั้น เราต้องรู้จักเลือกประกอบแต่สัมมาอาชีวะ ให้ธุรกิจกับจิตใจไปด้วยกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงมิจฉาอาชีวะ ที่ไม่ควรประกอบไว้ ๕ อย่าง คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้าสุรายาเสพติด และค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และไม่ผิดศีลผิดธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสุขทั้ง ๔ อย่างของคฤหัสถ์ยังคงเป็นเพียงแค่อามิสสุข เป็นความสุขที่อิงวัตถุ ทรัพย์สินเงินทองของนอกกายยังเป็นโลกียสุข เป็นความสุขแบบชาวโลกทั่วๆ ไป จะพึงมีพึงได้ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ความสุขจากสิ่งภายนอก แต่เป็นความสุขภายในที่เกิดจากการได้เข้าถึงพระธรรมกาย เพราะพระธรรมกายเป็นแหล่งรวมแห่งความสุขที่แท้จริง เป็นนิรามิสสุข ที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่ง เป็นความสุขที่ควบคู่กับความบริสุทธิ์ เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน เป็นเอกันตบรมสุข และเป็นความสุขที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทรงเข้าถึง และยกย่องว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้น ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. อันนนาถสูตร เลˆม ๓๕ หน‰า ๒๐๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘