มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู - กตัญญู คุณค่าของความเป็นคน



มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู
กตัญญู คุณค่าของความเป็นคน

ผู้ใดอันบุคคลอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อนแล้ว สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการแล้ว ย่อมรู้สึกประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

เวลาแห่งการปฏิบัติธรรมเป็นเวลาที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะเราจะได้ทำใจหยุดใจนิ่ง แสวงหาอริยมรรค เส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นทางเอกสายเดียวที่จะนำพาเราให้เข้าถึงธรรมกายภายใน เข้าถึงแหล่งแห่งความสุข อันจะทำให้หลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งปวง ปัจจุบันนี้มวลมนุษยชาติส่วนใหญ่ ยังไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า เกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่ชีวิตต้องแสวงหา เมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ชีวิตจึงต้องตกอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความทุกข์ เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ แต่เมื่อไรก็ตามที่ได้ปฏิบัติธรรม ก็จะเข้าใจ และซาบซึ้งมุ่งทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น

มีวาระพระบาลีใน ทัฬหธัมมชาดก ความว่า

โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา

ผู้ใดอันบุคคลอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อนแล้ว สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการแล้ว ย่อมรู้สึกประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นŽ

ความกตัญญูกตเวทีเป็นสัญลักษณ์ของคนดี แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสถึงบุคคลที่กตัญญูกตเวทีว่า เป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในโลก เพราะผู้ที่มีความกตัญญูจะเป็นที่รัก ที่เคารพของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเหยียบย่างไปแห่งหนตำบลใด ก็จะเป็นที่รักที่เกรงใจ และประการสำคัญ ความปรารถนาอะไรก็ตามที่บุคคลนั้นต้องการ มีแต่จะยิ่งเพิ่มพูนงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยประโยชน์ของตน และประโยชน์ผู้อื่น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อม

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้ความสำคัญกับผู้ที่มี ความกตัญญูอย่างมาก หากสาวกผู้มีศรัทธาในศาสนาของพระองค์ ลืมเลือนพลั้งเผลอในการตอบแทนผู้มีพระคุณแล้ว ถ้าพระพุทธองค์รับรู้รับทราบก็จะไปแสดงธรรมโปรดให้ฉุกคิดขึ้นได้ เหมือนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง

*ตอนนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี วันหนึ่งพระบรมศาสดาโดยมีหมู่พระอริยเจ้าทั้งหลายห้อมล้อม ได้เสด็จเข้าไปในพระนครเพื่อบิณฑบาต ตอนเช้าตามพุทธประเพณีอยู่นั้น ได้มีช้างพังต้นของพระเจ้าอุเทนชื่อว่า ภัททวดี เดินเข้ามาหมอบลงแทบพระบาทของ พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเปี่ยมด้วยมหากรุณา เมื่อก่อนตอนที่ข้าพระองค์แข็งแรงอยู่นั้น พระเจ้าอุเทนทรงโปรดปรานข้าพระองค์มาก เพราะข้าพระองค์สนองงานได้ทุกอย่าง ในเวลาที่พระองค์ยังรุ่นอยู่ ทรงได้ราชสมบัติพร้อมกับพระเทวีมาก็เพราะข้าพระองค์ จึงได้พระราชทานการเลี้ยงดูอย่างดี ทรงตกแต่งที่อยู่อาศัย ประพรมด้วยของหอม ให้ตามประทีปด้วยน้ำมันเจือของหอม พระราชทานอาหารรสเลิศนานาชนิด มาบัดนี้ข้าพระองค์ชราภาพ ไม่สามารถสนองงานได้ พระเจ้าอุเทนจึงรับสั่งให้งดการบำรุงนั้นทุกอย่าง บัดนี้ข้าพระองค์ได้รับความลำบากเหลือเกิน ไม่มีที่พึ่งอื่นนอกจากพระองค์เท่านั้นŽ

พระบรมศาสดาสดับเรื่องราวที่ช้างพังต้นทูลทั้งหมดแล้ว ด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์ จึงตรัสว่า เจ้าจงไปเถิด เราตถาคตจะทูลพระราชาให้แต่งตั้งเจ้าให้กลับมามียศดังเดิมŽ แล้วเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ พระราชาทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้เข้า ไปในพระราชฐาน ทรงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข หลังจากที่ถวายทานแล้ว พระทัยของพระเจ้าอุเทน ก็เบิกบานผ่องใส เหมาะที่จะเป็นภาชนะรองรับพระธรรมเทศนา เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงทำอนุโมทนา จึงตรัสถามว่า ดูก่อนมหาบพิตร พังต้นภัททวดีไปอยู่ที่ไหนเสียเล่าŽ
เมื่อพระราชากราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ทราบเลยพระเจ้าข้าŽ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสให้พระราชาระลึกถึงความดีของภัททวดีช้างต้นว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นถึงจอมคนแห่งพระนคร การพระราชทานยศกับผู้มีพระคุณเป็นสิ่งที่ทำถูกต้อง แต่การที่ทอดทิ้งในเวลาแก่ชรานั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควร พังต้นภัททวดีตอนนี้กลายเป็นสัตว์อนาถา ร่างกายก็ทรุดโทรม หากินต้นลำเจียกประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น การทำอย่างนี้ไม่เหมาะกับพระองค์เลย ควรที่พระองค์จะเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวที มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะได้สรรเสริญ จงพระราชทานให้สัตว์ผู้มีคุณนั้นได้ยศเหมือนเดิมเถิดŽ เมื่อตรัสจบแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปสู่โฆสิตาราม พระเจ้าอุเทนราชาแห่งเมืองโกสัมพีได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้วก็ทรงได้คิด จึงได้พระราชทานยศให้กับพังต้นภัททวดีเหมือนเดิม

เรื่องที่พระบรมศาสดาได้ให้พระเจ้าอุเทนกลับพระทัยได้ ก็ได้เป็นเรื่องที่โจษขานกันไปทั่วทุกแห่งหนว่า พระบรมศาสดาทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในหมู่ของภิกษุทั้งหลายก็ยังหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา ธรรมว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระบรมศาสดาของเราได้ตรัสถึงคุณงามความดีของพังต้น ทำให้พระราชาระลึกได้ และทรงได้แต่งตั้งให้มียศดังเดิม พระบรมศาสดาผู้มีมหากรุณาธิคุณของเราทั้งหลายนั้นทรงให้ความสำคัญ ต่อผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่งŽ เมื่อพระศาสดาเสด็จมาถึงแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เพียงบัดนี้เท่านั้น ที่เรากล่าวถึงคุณงามความดีของสัตว์ผู้มีคุณ แม้ในกาลก่อน เราก็ทำอย่างนี้เหมือนกันŽ แล้วพระองค์ทรงนำเรื่องราวอดีตมาตรัสเล่าว่า

มีอยู่ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลอำมาตย์ เมื่อเติบโหญ่ขึ้นแล้วได้รับราชการเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ ขณะนั้นพระราชาที่ทรงครองราชย์มีพระนามว่า ทัฬหธรรม พระโพธิสัตว์ได้สนองงานด้วยความขยันขันแข็ง จึงได้เลื่อนขั้นไปตามลำดับ ได้ยศสูงดำรงอยู่ในตำแหน่งรัตนบัณฑิตประจำราชสำนัก ในกาลนั้นพระราชาได้มีช้างพังต้นเชือกหนึ่ง ชื่อ โอฏฐิพยาธิ เป็นสัตว์ที่มีพลกำลังมาก ในวันหนึ่งเดินทางได้ถึง ร้อยโยชน์ ทำหน้าที่สื่อสาร สนองงานด้วยการนำสิ่งของมาถวายพระราชา แม้ในยามสงครามก็ได้ร่วมออกรบทำยุทธหัตถีย่ำยีศัตรู ได้นำชัยชนะมาให้แก่ราชาเรื่อยมา

พระราชาทรงดำริว่า ช้างพังนี้มีอุปการะแก่เรามาก จึงพระราชทานเครื่องคชาภรณ์ทุกอย่าง ได้บำรุงอย่างดีเหมือน กับที่พระเจ้าอุเทนทำกับภัททวดีช้างพังฉะนั้น แต่ต่อมาภายหลัง เมื่อช้างพังต้นโอฏฐิพยาธิชราภาพลง พระราชารับสั่งให้ริบทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนทำนองที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลนั่นเอง แต่ในกรณีนี้พระราชาไม่ได้ฆ่าช้าง แต่เท่ากับว่าฆ่าทั้งเป็นนั่นแหละ ตั้งแต่นั้นมา ช้างที่เคยอยู่แนวหน้าแห่งกองทัพ กลับเป็นช้างแก่ตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างอนาถา หาใบไม้ใบหญ้าตามป่าตามเขากินประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้กินอาหารที่ดีๆเหมือนแต่ก่อน อยู่มาวันหนึ่งหม้อในราชตระกูล ไม่พอใช้ พระราชาจึงตรัสเรียกช่างหม้อมาถามว่า ทำไมหม้อจึงไม่พอใช้Ž เมื่อรู้ว่าที่ไม่พอใช้ก็เพราะหาโคเทียมเกวียนไม่ได้ พระราชาจึงพระราชทานช้างโอฏฐิพยาธิให้ไปเทียมเกวียนแทนโค ช่างหม้อก็ปฏิบัติตามพระราชประสงค์

วันหนึ่งขณะที่ช้างพังเดินออกจากพระนคร เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าจึงเดินเข้าไปหา แล้วก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองให้กับพระโพธิสัตว์ฟัง พร้อมกับขอร้องท่านให้ช่วยเหลือ พระโพธิสัตว์เจ้าได้ฟังอย่างนั้นก็ปลอบโยนว่า เจ้าอย่าโศกเศร้าไปเลย เราจะทำให้พระราชาทรงได้คิดเองŽ แล้วก็เดินเข้าไปเฝ้าพระราชาพร้อมกับทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงมีช้างพังตัวหนึ่งชื่อ โอฏฐิพยาธิมิใช่หรือ ช้างตัวนั้นเป็นสัตว์ที่องอาจสง่างามท่ามกลางสมรภูมิรบ ได้ช่วยให้พระองค์กระทำราชกิจนานัปการได้สำเร็จ มิหนำซ้ำยังสามารถเดินทางได้ถึงวันละ ๑๐๐โยชน์ พระองค์เองก็เคยพระราชทานยศมากมายแก่ช้างนั้น มาบัดนี้ ช้างพังตัวนั้นไปอยู่ที่ไหนเล่ามหาบพิตรŽ

พระราชาเมื่อได้สดับคำถามของมหาอำมาตย์ทรงตอบแบบไม่เต็มปากเต็มคำว่า เราได้ให้ช้างแก่ช่างหม้อ เพื่อใช้ในการเข็นโคมัยแล้วŽ เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลให้ข้อคิดว่า ข้าแต่มหาราช คุณค่าของความเป็นคนนั้นก็คือเป็นผู้ที่กตัญญูกตเวที การที่พระองค์ใช้ขุนศึกไปเทียมเกวียนอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยŽ

เมื่อกล่าวอย่างนี้ในฐานะของรัตนอำมาตย์ผู้ถวายโอวาท พระโพธิสัตว์เจ้าก็กล่าวประทานโอวาทแก่พระราชาว่า คนที่มีความหวังอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังคบหากันอยู่ เมื่อผู้ที่เขาคบทำประโยชน์ไม่ได้ คนโง่ทั้งหลายก็ทอดทิ้งเขาไป เหมือนจอมทัพทิ้งช้างพัง ผู้ใดที่คนอื่นทำความดีให้เขาก่อน สำเร็จตามความต้องการ แล้วทอดทิ้งผู้มีพระคุณ ไม่รู้คุณคน ประโยชน์ ทั้งหลายของผู้นั้น ก็จะเสื่อมสิ้นไป ส่วนใครที่รู้คุณคน ประโยชน์ก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้นข้าพระองค์ขอกล่าวคำของปราชญ์ทั้งหลายว่า ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้รู้คุณที่ผู้อื่นกระทำแก่ตนเถิด แล้วท่านจักสถิตอยู่ในสวรรค์ ตลอดกาลนานŽ พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทกับพระราชาและมหาชนพร้อมๆ กันอย่างนี้ ทำให้พระราชาทรงได้คิด และแต่งตั้งยศให้ช้างพังผู้มีพระคุณดังเดิม และก็ดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ละจากโลกนี้ก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความกตัญญูรู้คุณผู้ที่มีอุปการคุณ และหาโอกาสกตเวที คือตอบแทนพระคุณนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการกระทำอย่างนี้ บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ ความกตัญญูกตเวทีนั้น ถือว่าเป็นเครื่องวัดคุณค่าของความเป็นคนอย่างแท้จริง

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านตระหนักในเรื่องความกตัญญูกตเวทีนี้ให้มาก อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ต้องตอบแทนผู้มีพระคุณของเราทุกๆ คน ด้วยการชักชวนให้ท่านเหล่านั้น รู้จักหนทางแห่งความหลุดพ้นให้ได้ เมื่อทำได้อย่างนี้ คุณค่าแห่งความเป็นคนของเรา ก็จะบริบูรณ์อย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ทัฬหธัมมชาดก เล่ม ๕๙ หน‰้า ๓๖๔

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘