มงคลที่ ๑๙ งดเ้ว้นจากบาป - ผู้ก่อบาปกรรม ย่อมแพ้สงครามแห่งชีวิต



มงคลที่ ๑๙
งดเ้ว้นจากบาป
ผู้ก่อบาปกรรม ย่อมแพ้สงครามแห่งชีวิต

ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ครั้นละโลกไปแล้วย่อมเศร้าโศก
เขาย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เมื่อเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้วย่อมเดือดร้อน


มีคำกล่าวไว้ว่า ซ้อมรบกันร้อยวัน รบกันจริงแค่เพียงวันเดียว จะแพ้ชนะก็รู้กันวันนั้น เหมือนนักกีฬาที่ฟิตซ้อมกันมาหลายเดือน หรือบางทีก็เก็บตัวกันเป็นปีๆ แต่เมื่อถึงเวลาแข่งขัน ก็รู้แพ้รู้ชนะกันในวันเดียวนั่นเอง
สงครามแห่งชีวิต ก็เช่นเดียวกัน จะแพ้ชนะก็อยู่ที่วินาทีสุดท้ายตอนใกล้จะละจากโลก แต่จะมีสักกี่คนที่ชนะสงครามของชีวิต คือ แม้ถึงคราวที่ใกล้จะละโลก ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส มีใจเบิกบานอยู่ในบุญ และภาคภูมิใจในผลงานแห่งการสร้างบารมีของตนว่า ตลอดชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ได้สั่งสมความดีไว้มากพอ แล้วจากไปอย่างผู้ชนะ เราจะเป็นนักรบที่เข้มแข็ง เอาชนะในสงครามของชีวิตได้ เมื่อฝึกฝนใจให้คุ้นเคยกับความดี บุญหรือความดีที่ทำนั่นแหละ จะส่งเสริมสนับสนุนให้เราเอาชนะศึกในวันสุดท้ายของชีวิต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

อิธ โสจติ เปจฺจ โสจต ปาปการี อุภยตฺถ โสจต
โส โสจติ โส วิหญฺติ ทิสฺวา กมฺมกิลิฏฺŸมตฺตโน

ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ครั้นละโลกไปแล้วย่อมเศร้าโศก เขาย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง เมื่อเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้วย่อมเดือดร้อนŽ

เมื่อคนเราละโลกแล้ว จะไปสู่สุคติหรือทุคติ ขึ้นอยู่กับจิตในวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ก็มีสุคติเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตมัวหมองไม่ผ่องใส จะมีทุคติเป็นที่ไป ขณะใกล้จะละโลก สิ่งที่เราได้ทำมาตลอดชีวิต ทั้งด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้าย จะมาปรากฏให้เห็นเป็นภาพ ที่เรียกว่า กรรมนิมิต ซึ่งตนเองจะเห็นสิ่งที่ตนได้กระทำไว้ จะเห็นอยู่คนเดียว คนอื่นไม่เห็น เห็นเหมือนกรอวีดีโอกลับ ฉันใดฉันนั้น

ถ้าหากภาพที่มาปรากฏเป็นภาพที่ไม่ดี เป็นภาพของบาปอกุศลที่เคยทำไว้ เช่น เคยไปดื่มสุรา ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดให้เขาทะเลาะกัน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือมีความคิดเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม มีความผูกโกรธ ผูกพยาบาท มีจิตเพ่งเล็งอยากจะได้ของคนอื่น เป็นต้น ภาพเหล่านี้จะปรากฏชัดขึ้นมาในตอนนั้น เหมือนอย่างกับดูภาพยนตร์ของชีวิต โดยที่ตัวเราเป็นผู้แสดงเอง จะเห็นเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ถ้าไปทำบาปมา เห็นแล้วใจก็เศร้าหมองไม่ผ่องใส ถ้าละโลกไปในตอนนั้น เมื่อถอดกายออกไป ภพภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ที่พอเหมาะกับจิตดวงนั้น ก็จะดึงดูดไปทันที

*ดังเช่นนายจุนทะ ผู้เลี้ยงชีพด้วยการขายเนื้อสุกร เขามีชีวิตอยู่กับการฆ่าสุกรมาตลอด ๕๕ ปี ทุกวันหลังจากที่ฆ่าสุกรแล้ว เขาจะแบ่งเนื้อไว้กินกันเองในครอบครัว และนำเนื้อส่วนที่เหลือไปขายเลี้ยงชีพ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาไม่เคยประกอบกุศลกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา แม้พระบรมศาสดาจะประทับอยู่ในวัดเวฬุวัน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน เขาก็ไม่เคยไปวัด ไม่เคยถวายอาหารแม้เพียงข้าวทัพพีเดียว มีแต่ทำบาปกรรมมาตลอด

ครั้นถึงคราวใกล้จะละโลก อกุศลกรรมที่เขาทำไว้ก็ส่งผล ทำให้มีอาการเร่าร้อน เหมือนถูกไฟในอเวจีมหานรกแผดเผา ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนา เขาส่งเสียงร้องเหมือนสุกร และคลานไปมาในบ้าน ทุกคนในบ้านพยายามจับเขาปิดปากไว้ เพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้อง แต่ไม่มีใครสามารถห้ามเขาได้ จึงได้แต่ปิดประตู ป้องกันไม่ให้เขาคลานออกไปนอกบ้าน เสียงร้องของนายจุนทะที่ดังอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงเข้าใจว่า นายจุนทะฆ่าสุกรครั้งใหญ่ เขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นถึง ๗ วัน ก็ละจากโลก และไปเสวยผลแห่งกรรมชั่วต่อในอเวจีมหานรก

นายจุนทะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อละจากโลกไปแล้ว เพราะกระแสบาปที่ทำไว้ เขาฆ่าสุกรมามากมายตลอดชีวิต เมื่อใกล้จะละโลก ภาพแห่งการฆ่ากรอกลับมาฉายให้เห็น มาบังคับใจ บังคับกายให้ร้องออกมาเป็นเสียงสุกร เพื่อที่จะประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงสิ่งที่ตนเคยทำไว้ว่า ขณะนี้สิ่งที่เคยทำได้มาปรากฏให้เห็นแล้ว

เมื่อเห็นเช่นนี้ จิตใจก็เศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองอายตนะของอบายภูมิก็ดึงดูดไป แม้ก่อนตายจะตั้งจิตปรารถนาว่าจะไปสวรรค์ แต่กระแสบาปก็ฉุดไปนรก เพราะเมื่อภาพแห่งการทำบาปในอดีตย้อนมาฉายให้เห็น จะเห็นคตินิมิต คือ เห็นหนทางของตนที่จะไป และในที่สุด เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ทันทีที่จิตดับลง อายตนะของอบายภูมิที่พอเหมาะกับกระแสบาป ก็จะดึงดูดไปสู่ภพภูมินั้น เพราะฉะนั้น การทำบาปไม่ดีเลย เพราะบาปจะส่งผลให้เราเกิดความทุกข์ทรมานทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

สาเหตุที่เราทำบาปอกุศล เพราะไม่สำรวมระวังจิต ปล่อยให้ใจท่องเที่ยวออกไปนอกตัว ถ้าเราสำรวมระวัง เราจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร ใจของคนเรานั้น ปกติไม่ชอบอยู่นิ่ง มักจะหลงเวียนวนอยู่ในความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่วนอยู่ เพราะกิเลสมารเข้าไปบังคับบัญชาไว้ ดึงใจของเราให้หลุดออกจากศูนย์กลางกาย ออกห่างจากธรรมะ จากความถูกต้องดีงาม ออกจากเหตุ และผลที่เที่ยงแท้เที่ยงธรรม แล้วเอาไปแช่อิ่มหมักดองไว้ในกิเลสอาสวะ ในกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ในกาม ในภพ ในความเห็นผิด ในความไม่รู้จริง ทั้งหลาย ในสิ่งที่ไม่ดี มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกำหนัดยินดี ความทะยานอยาก เขาเอาเราไปแช่อิ่มอยู่ในกัณหธรรม คือ ธรรมดำ

ในที่สุดเราก็เคยชิน คิดวนเวียนอยู่แต่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ วนอยู่เช่นนี้ จึงทำให้สูญเสียคุณงามความดีที่มีอยู่ในใจ ความชั่วก็ได้ช่องเข้ามาแทนที่ ในที่สุดกายเรา ใจเรา เลือดเนื้อเชื้อไขของเรา ก็เป็นของอกุศลธรรม ความคิด คำพูด การกระทำ ถูกพญามารครอบงำไปหมด เขาถึงได้เรียกว่า คน คือ ผู้ที่ยังวนอยู่ในบ่วงของมาร

ถ้าหากเราสำรวมระวังจิต ด้วยการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว จะพ้นจากภาวะของความเป็นคน จิตจะหลุดพ้น เข้าถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์ แปลว่า ผู้ที่มีใจสูง คือ เข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดที่อยู่ภายในตัวของเรา ถ้าเราเข้าถึงได้ ใจเราจะสูงขึ้น ใจสูงเพราะว่ามนุษยธรรมเกิดขึ้น มีดวงธรรมปรากฏขึ้นมา ศีล ๕ ก็ครบถ้วนบริบูรณ์

เราจะเข้าถึงกายที่ละเอียดกว่านั้นอีก ซึ่งอยู่ภายในกายมนุษย์ละเอียด คือเข้าถึงกายทิพย์ เทวธรรมก็ปรากฏขึ้นมาในใจ เราจะมีหิริโอตตัปปะ มีความละอายต่อการทำบาป มีความเกรงกลัวผลของบาป จะไม่ทำบาปทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ที่ไหนก็ไม่ทำทั้งนั้น เพราะละอายแก่ใจตนเอง และเกรงกลัวผลของบาป เพราะเห็นว่า ถ้าผิดพลาดทำบาปกรรมแม้เพียงนิดเดียว ผลของบาปนั้นจะส่งผลให้มีความทุกข์ทรมาน ทั้งในปัจจุบัน และในภพเบื้องหน้า ถ้าเข้าถึงกายทิพย์ได้ จะเข้าถึงความเป็นเทวดา ตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ จะปิดประตูอบายภูมิ เพราะหิริโอตตัปปะเป็นธรรมะที่คุ้มครองเรา ไม่ให้ตกไปในที่ต่ำ ไม่ให้ทำความชั่ว

ในกลางกายทิพย์ ยังมีกายที่ละเอียดประณีตเป็นชั้นๆ เข้าไปอีก คือ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม กายสุดท้าย คือ กายธรรมอรหัต ถ้าเข้าถึงกายธรรมอรหัตได้ ใจจะหยุดนิ่งไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ใจจะไม่ติดกับอะไรทั้งสิ้นในภพทั้งสาม จะอยู่แต่ในพระนิพพาน เป็นผู้ห่างไกลแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย พ้นจากบ่วงของมารอย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น หยุดกับนิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ของทุกๆ คน และเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราเอาชนะสงครามของชีวิตได้ ถ้าเราฝึกหยุดฝึกนิ่งทุกๆวัน เท่ากับเราเตรียมหนทางไปสู่สุคติภูมิ ตั้งแต่ยังมีชีวิต ดังนั้น ในระหว่างที่เรายังมีชีวิต ร่างกายยังแข็งแรง เราจะต้องพยายามปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย ถ้าเข้าถึงธรรมกายได้ ชีวิตก็จะปลอดภัย เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นนั่งสมาธิกันทุกๆ วัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. นายจุนทสูกริก เลˆ่ม ๔๐ หน้‰า ๑๗๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘