มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - ทำอย่างไรถึงมีความสุข


มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
ทำอย่างไรถึงมีความสุข

สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข มวลมนุษยชาติปรารถนาให้โลกมีสันติสุข มีการเรียกร้องหาสันติภาพกันทั่วโลก แต่น้อยคนนักที่รู้ว่า สันติภาพภายนอกต้องเริ่มมาจากสันติสุขภายใน และสันติสุขภายในต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เว้นจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดที่จะทำให้เราได้พบกับสันติสุขที่แท้จริง ต่อเมื่อทุกคนในโลกตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน เมื่อนั้นทุกคนจะซาบซึ้งว่า พระธรรมกายเป็นแหล่งกำเนิดแห่งสันติสุขที่แท้จริง และคนทั้งโลกจะหันมาแสวงหาสันติภาพอย่างถูกวิธี ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่งพร้อมๆ กัน เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่เป็นความปรารถนาร่วมกัน คือ สันติภาพโลกย่อมจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อุทานคาถาว่า

“สเจ ภายถ ทุกฺขสฺส สเจ โว ทุกฺขมปฺปิยํ
มา กตฺถ ปาปกํ กมฺมํ อาวี วา ยทิ วา รโห


ถ้าท่านกลัวทุกข์ ถ้าท่านไม่รักทุกข์
ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ”
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างเกลียดชังความทุกข์ ปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น คนเราอยากอยู่ห่างไกลจากทุกข์ เมื่อเห็นคนอื่นประสบความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์เพราะพลัดพรากจากของที่รัก หรือต้องอยู่กับคนผู้ไม่เป็นที่รัก ทุกข์เพราะความอดอยากยากแค้น ยากจนเข็ญใจต่างๆ เหล่านั้น ต่างเกิดความรู้สึกทั้งเกลียด ทั้งกลัวว่า ความทุกข์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นกับตนเอง จึงพยายามดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านั้น แต่จะหนีอย่างไร ก็หนีไม่พ้น เหมือนล้อเกวียนที่หมุนไปตามรอยเท้าโคทุกหนทุกแห่ง เพราะทุกคนที่เกิดมาล้วนต้องพบกับความทุกข์ ซึ่งเป็นของคู่โลกโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิธีการง่ายๆ ที่จะทำให้ทุกข์ทั้งหลายมากล้ำกรายเราไม่ได้ คือ การปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระบรมศาสดาทรงประทานไว้แก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ องค์ในวันมาฆบูชาว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะผลของบาปคือความทุกข์ ตั้งแต่งดเว้นจากกรรมกิเลส ๔ ประการ คือ
เว้นจารการฆ่าสัตว์ ทำลายชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วงไป เพราะชีวิตของใคร ใครก็รัก เรารักชีวิตของเรามากเพียงใด สัตว์อื่นก็มีความรักและหวงแหนชีวิตตนเองมากเพียงนั้น เมื่อรักตนเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น

กรรมกิเลสประการที่ ๒ คือ งดเว้นจากการลักขโมยทรัพย์ สมบัติของคนอื่น ให้ยินดีเฉพาะในสมบัติที่ตนเองหามาได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทำมาค้าขาย หรือทำธุรกิจที่หวังผลกำไรเกินควร ไม่เป็นคนคดโกง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ทรัพย์สมบัติที่ได้มา ควรได้มาด้วยความสุจริต ไม่ไปเบียดเบียนหรือขโมยใครมา สมบัตินี้ก็จะเป็นทรัพย์ถาวร ไม่ถูกน้ำท่วม ไฟไหม้หรือขโมยมาลักมาปล้นไปได้

กรรมกิเลสประการที่ ๓ คือ งดเว้นจากการประพฤติผิดลูกเมียของคนอื่น ต้องมีความละอาย รักในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิของคนอื่น บุคคลใดที่ประพฤติล่วงเกินลูก ภรรยา สามี หรือคนที่เขารัก ทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ อับอายขายหน้า ผลบาปย่อมส่งผลให้บุคคลนั้นเป็นคนมีศัตรูรอบด้าน มีโรคร้ายตามมา ทั้งยังส่งให้ไปตกในอบายภูมิ เพราะอำนาจกิเลสเพียงชั่ววูบนั้น กรรมกิเลสประการสุดท้าย คือ งดเว้นจากมุสาวาท ต้องมีความจริงใจต่อทุกคน ไม่หน้าไหว้หลังหลอก มีวจีสุจริต ไม่โกหกมดเท็จใคร เพราะจะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญาฟั่นเฟือน ได้หน้าลืมหลัง เป็นต้น

นี่คือ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง ทั้งในที่ลับและเปิดเผย เมื่อละความชั่วได้แล้ว พระองค์ทรงสอนให้ทำความดีให้ถึงพร้อม ที่เรียกว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นบุญกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรมองผ่าน ให้เก็บเกี่ยวบุญไปเรื่อยๆ อย่าดูถูกบุญว่าเล็กน้อย เพราะบุญจะส่งผลให้เราประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิต บุญที่พระพุทธองค์ตรัสสอนให้เราขวนขวายทำกันให้มากๆ มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่

*๑. ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ทาน ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ได้ทั้งเพื่อนพ้องบริวาร บุญกุศล เมื่อได้สละความตระหนี่ออกจากใจ บุญในตัวจะดึงดูดสายสมบัติเข้ามาหาเรา ให้ได้ใช้อย่างสะดวกสบาย บุญที่เกิดจากการให้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำอย่าให้ขาด

๒. สีลมัย คือ บุญที่เกิดจากการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ท่านที่ตั้งใจสมาทานศีล ๕ ขอให้รักษาไว้อย่าให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม เมื่อสมาทานแล้ว ต้องรักษายิ่งชีวิต ศีลจะได้รักษาเราให้ปลอดจากอุปัทวันตรายทั้งปวง และคอยเกื้อหนุนให้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงพระธรรมกายได้อย่างง่ายดาย

๓. ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา กลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ ปลอดจากกิเลสที่เป็นมลทิน ยิ่งใจเราใสสะอาดบริสุทธิ์มากเพียงใด จะทำทานก็เป็นมหาทานบารมี จะรักษาศีล ก็เป็นอธิศีลสิกขา เป็นดวงศีลที่ใสสว่างกลางกายของเรา

๔. อปจายนามัย คือ บุญที่เกิดจากความอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้เราเกิดในตระกูลสูง เป็นที่เคารพรักของมนุษย์และเทวดา ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี พวกเราทุกคนควรฝึกตนให้มีความอ่อนน้อมต่อทุกคน ลดตัวของเราลงต่ำ เพื่อที่จะยกจิตใจให้สูงขึ้น ไปไหนให้เป็นแบบนิวาโต เอาลมออก อย่าพองลมหมือนอึ่งอ่าง เดี๋ยวตัวจะแตก ความนอบน้อมนี้เป็นบันไดที่จะนำเราก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ของชีวิตอย่าง สง่างาม มั่นคงและปลอดภัยเสมอ

๕. ไวยยาวัจจมัย คือ บุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ที่เป็นกุศล บางครั้งเราอาจไม่มีเงินทอง ก็อาศัยร่างกายที่แข็งแรงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสั่งสมบุญได้

๖. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญที่เกิดจากการแผ่ส่วนบุญกุศลให้กับหมู่ญาติ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ได้มีส่วนในบุญที่เราทำ อาจมีบางท่านสงสัยว่า เมื่อเราให้ส่วนบุญนี้กับคนอื่นแล้ว บุญของเราจะไม่หมดไปหรือ อันที่จริงแล้ว บุญไม่ได้สูญหายไป เหมือนเวลาที่เราจุดโคมประทีปเอกเพียงดวงเดียว และเอาประทีปดวงอื่นอีกนับพันดวงมาจุดต่อกันให้สว่างไสวทั่วลานธรรม ประทีปเอกไม่ได้หรี่แสงลงไปแม้แต่น้อย ยังคงโชติช่วงสว่างไสวเช่นเดิม และสว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณลานธรรมด้วย บุญที่เราอุทิศให้หมู่ญาติก็เป็นเช่นนั้น ไม่ได้หมดไปไหน มีแต่เจริญเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป

๗. อนุโมทนามัย คือ บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาในการทำความดีของคนอื่น เมื่อเรารู้ว่าใครทำบุญกุศล ให้รีบกล่าวคำอนุโมทนาด้วยความจริงใจ จะได้มีส่วนในบุญนั้นด้วย

๘. เทสนามัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม แนะนำให้คนอื่นรู้จักเส้นทางบุญ บอกทางสวรรค์นิพพานให้กับทุกๆ คน บุญนี้จะส่งผลให้เราเป็นผู้ไม่ตกต่ำ ช่วยให้ดำรงตนอยู่บนเส้นทางการสร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่ง

๙. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม ฟังแล้วนำไปไตร่ตรอง และประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ถูกต้อง เห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผลจริง การบูชามีผลดีจริง วิบากของกรรมที่ทำดีและชั่วมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง มารดาบิดามีคุณจริง สัตว์ที่ผุดเกิดเองมีจริง สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์มีจริง ถ้ามีความเห็นถูกต้องเช่นนี้แล้ว ชีวิตการเดินทางไกลในสังสารวัฏจะปลอดภัย แม้ละโลกไปแล้ว จะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปอย่างแน่นอน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ควรสั่งสมไว้ให้มากๆ จะได้เป็นผู้มีความสุขความเจริญ และประการสุดท้ายในการปฏิบัติตามหลักพุทธโอวาทคือ สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ด้วยการลงมือปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนากลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ หยุดใจเข้าไปในกลางของกลางเรื่อยไป ยิ่งจรดใจนิ่งเข้าไปในกลางกายได้มากเพียงไร ความทุกข์ทรมานจะห่างออกไปเพียงนั้น จนทุกข์จางหายไป ความสุขความสบายเข้ามาแทนที่ เป็นความสุขที่ไม่มีประมาณ เป็นเอกันตบรมสุข ไม่มีทุกข์เจือปนเลยการจะสลัดออกจากความทุกข์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ประจำหรือทุกข์จร ทุกข์เพราะชาติ ชรา มรณะ ทุกข์จากปัญหารุมเร้าที่ยังแก้ไขไม่ได้ ท่านสอนให้เรานำใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายนี้เท่านั้น
ศูนย์กลางกายเป็นหลุมหลบภัยที่ดีที่สุด ถ้าหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งเข้ากลางไปเรื่อยๆ จนเข้าไปพบกายต่างๆ ภายใน ไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กิเลสอาสวะซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะหลุดล่อนออกไปเรื่อยๆ เมื่อหยุดนิ่งหนักเข้าไปอีกจนถึงกายธรรม กายธรรมในกายธรรม จนเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงหลุดหมด เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ต้องละชั่ว ทำความดี และทำใจให้ผ่องใสเป็นประจำทุกๆ วัน ทำสิ่งนี้ให้คุ้นจนเป็นเรื่องปกติ หากทำได้เช่นนี้เราจะเป็นผู้มีแต่ความสุขสมปรารถนากันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*(มก.สังคีติสูตร เล่ม ๑๖ หน้า ๒๕๙)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘