มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - อย่ามัวประมาทอยู่เลย



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
อย่ามัวประมาทอยู่เลย


ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม
ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น


วันคืนล่วงไปๆ สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า รถราบ้านช่อง คน สัตว์ สิ่งของ ทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เหมือนดอกไม้ แต่เดิมเราเคยเห็นมันเป็นต้นเล็กๆ ไม่นานก็เจริญเติบโตขึ้น แตกใบแผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต ครั้นไม่นานดอกไม้ที่ดูสวยสดงดงามนั้น ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามกาลเวลา ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลาย เราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร

ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้นŽ

เป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ทุกคน คือ ทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ พ้นจากกรอบอวิชชาที่เขาบังคับบัญชาไว้ แล้วมุ่งสู่อายตนนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข เป็นสุขล้วนๆ ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย และการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ จะต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ ฝึกใจให้หยุดนิ่งตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ประมาท เพราะเส้นทางสายนี้ยาวไกลเกินกว่าคนที่ใจยังไม่หยุดนิ่งจะไปถึง แต่ถ้าทำใจหยุดนิ่งได้เมื่อไร หนทางนั้นก็ใกล้เข้ามา ไม่ช้าเราย่อมไปถึงจุดหมายปลายทางได้

การจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้น ต้องมีสติปัญญา และไม่ประมาท เพราะความประมาทเป็นภัยในสังสารวัฏ เป็นเหตุให้ต้องพบกับความทุกข์ทรมานในอบายภูมิ อีกทั้งเป็นต้นทางนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ผู้ประมาทจึงเปรียบเสมือนผู้ที่ตายแล้ว คือ ตายจากความดี จากกุศลธรรมทั้งปวง ทำให้ห่างเหินจากหนทางพระนิพพาน ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสอนย้ำว่าอย่าประมาท อย่ามัวยินดีว่าเราอายุยังน้อย สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง จึงทำให้ชะล่าใจ ไม่เร่งขวนขวายในการสร้างบารมี

พระโพธิสัตว์เป็นต้นแบบของผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต
*ในอดีตท่านได้บังเกิดเป็นพระโอรสองค์เล็กที่สุดในจำนวนพระโอรสทั้งหมด ๑๐๐ พระองค์ของพระเจ้าพรหมทัต ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เสด็จมาฉันภัตตาหารที่พระบรมมหาราชวัง และตรัสบอกพระโพธิสัตว์ว่า ถ้าพระองค์ได้เดินทางไปนครตักสิลาโดยไม่ประมาท ก็จะได้เป็นกษัตริย์ แต่ถ้าประมาทก็จะไม่ได้ราชสมบัติในพระนครนี้ เพราะระยะทางจากนี้ ถึงนครตักสิลา มีพวกยักษิณีคอยหลอกฆ่ามนุษย์กินเป็นประจำ หากพระองค์มีสติไม่ประมาท รู้จักสำรวมอินทรีย์ ไม่สนใจไยดีกับนางยักษิณีเหล่านั้น ก็จะได้เป็นกษัตริย์ที่นครนั้นภายใน ๗ วันนี้แหละŽ

พระโพธิสัตว์ได้รับโอวาทจากพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็อำลาพระราชบิดา และพระราชมารดา เพื่อออกเดินทางไปยังนครตักสิลาพร้อมเหล่าอำมาตย์อีก ๕ คน ที่ตามเสด็จไปอารักขา ระหว่างทางเหล่ายักษิณีเห็นว่า มีมนุษย์ผ่านมา จึงได้เนรมิตกายเป็นหญิงสาวผู้งดงาม ตกแต่งประดับประดาประหนึ่ง นางฟ้า บางพวกก็ประดับด้วยดอกไม้ บางพวกก็แปลงเป็นแม่ค้าเปิดร้านอาหาร บางพวกก็เนรมิตที่หลับที่นอนอ่อนนุ่ม คอยต้อนรับเป็นต้น

อำมาตย์ที่ตามเสด็จล้วน เป็นผู้ชื่นชอบในรูปสวยๆ งามๆ เมื่อเห็นหญิงเหล่านั้น ก็เกิดติดอกติดใจ ถูกความกำหนัดยินดีเข้าครอบงำ พระโพธิสัตว์นึกถึงโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ได้ให้ไว้ก่อนออกเดินทาง จึงสำรวมอินทรีย์ ตัดใจไม่ให้ไปยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ท่านมองดูลูกนัยน์ตาสาวงามเหล่านั้น เห็นนัยน์ตาแดงกํ่า แข็งกระด้าง ก็รู้ว่าเป็นพวกนางยักษ์แปลงมา จึงบอกอำมาตย์ทั้งหลายว่า หญิงเหล่านี้เป็นยักษิณีที่แปลงตัวมา แต่ไม่มีใครเชื่อ ต่างละทิ้งพระกุมารไปหานางยักษิณี กันหมด ต่อมาไม่นานอำมาตย์ทั้งหมดก็ถูกยักษิณีจับกินเป็นอาหาร เหลือแต่พระโพธิสัตว์เพียงลำพังเท่านั้น

นางยักษิณีคิดว่า บุรุษนี้มีใจเข้มแข็ง เราจะต้องจับกินให้ได้ นางเดินตามหลังพระโพธิสัตว์ไปเรื่อยๆ จนถึงปากทางออกจากป่าใหญ่ พบพวกคนหาของป่า คนเหล่านั้นกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า กุมาริกาที่เดินตามหลังท่าน น่ารักน่าทะนุถนอมเหมือนพวงดอกไม้งาม ผิวพรรณก็งามเหมือนดั่งทอง เหตุใดท่านจึงปล่อยให้นางลำบาก ไม่จูงนางไปด้วยเล่าŽ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อคุณ ทั้งหลาย นั่นไม่ใช่ภรรยาของเรา แต่เป็นยักษิณี คนของเรา ๕ คน ถูกมันจับกินไปหมดแล้วŽ

ยักษิณีจึงแสร้งกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ธรรมดาผู้ชายในยามโกรธ ก็คิดว่าภรรยาของตนเป็นนางยักษ์นางเปรต ท่านอย่าได้ถือสาสามีของข้าเลยŽ พระโพธิสัตว์ไม่อยากต่อล้อต่อเถียง กับนางยักษิณี จึงมุ่งหน้าเดินทางต่อไป จนถึงนครตักสิลา

ขณะพระโพธิสัตว์กำลังประทับนั่งที่ศาลาหลังหนึ่งเพื่อพักเหนื่อย เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระราชาแห่งนครตักสิลา กำลังเสด็จชมพระนคร พระราชาทอดพระเนตรเห็นหญิงงามที่เดินตามหลังพระโพธิสัตว์ ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ จึงตรัสเรียกให้มาเข้าเฝ้า และแต่งตั้งนางเป็นอัครมเหสี คืนนั้น ขณะพระราชาบรรทมหลับสนิท นางยักษิณีได้ไปชวนพรรคพวกของตนที่เมืองยักษ์ ให้เข้ามาจับคนในวังเคี้ยวกินตายหมด เหลือเพียงกระดูกเท่านั้น

ชาวเมืองเห็นประตูวังยังไม่เปิด จึงพากันพังประตูเข้าไป พบแต่ความเงียบสงบ เมื่อเข้าไปภายในวัง พบทุกหนทุกแห่งเกลื่อนไปด้วยกระดูก ครั้นซักไซ้ถึงต้นเหตุจึงรู้ว่าเป็นเพราะนางยักษ์ที่พระราชาทรงหลงใหล แล้วแต่งตั้งให้เป็นมเหสีนั่นเอง คนในวังถึงต้องประสบกับความวิบัติในเวลาเพียงคืนเดียว

ส่วนพระโพธิสัตว์ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เพราะท่านอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมีสติสัมปชัญญะ ตักเตือนตนเองตลอดเวลาไม่ให้ประมาท ทำให้พวกยักษ์ไม่มีโอกาสทำอันตรายท่านได้ เมื่อชาวเมืองรู้ความจริงทั้งหมด ต่างพากันสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า เป็นบุคคลพิเศษที่เอาชนะนางยักษิณีได้อย่างน่าอัศจรรย์ และลงความเห็นว่า บุคคลท่านนี้แหละ ที่จะสามารถปกครองบ้านเมือง ให้รอดพ้นจากอันตรายได้ จึงพร้อมใจกันสถาปนาให้ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองนครตักสิลาต่อไป

เพราะฉะนั้น การมีสติคุ้มครองอินทรีย์ ไม่ให้ใจไปติดกับสิ่งภายนอก ที่เป็นมายาล่อหลอก จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตพึงกระทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อชีวิตจะได้ประสบกับความสวัสดีมีชัย ความสุขความเจริญรุ่งเรือง ส่วนผู้มีสติย่อหย่อน ไม่ได้คุ้มครองจิตของตน ปล่อยให้ใจไปหลงติดในอารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่างๆ ย่อมตกเป็นเหยื่อของพญามาร เพราะมารย่อมข่มเหงผู้ที่เห็นอารมณ์ว่างาม ความลุ่มหลงในสิ่งไม่ดีต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ชีวิตของเราระทมทุกข์ไปตลอด ฉะนั้น จงอย่าได้ไม่ควรประมาท หมั่นฝึกสติคุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจให้อยู่ภายในกลางตัว ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เรื่อยไป เพื่อเราจะได้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหลาย

นอกจากนี้ ให้ขยันประพฤติปฏิบัติธรรม หมั่นปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกวัน อย่าให้ขาด รักษาจิตของเรา เช่นเดียวกับคนที่ประคองถาดน้ำมันที่เต็มเปี่ยมเสมอขอบถาด มีสติประคับประคองไว้บนศีรษะไม่ให้หก การรักษาใจของเราก็เช่นเดียวกัน ประคับประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่าให้ซัดส่ายออกไปนอกตัว ถ้าเราหมั่นประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่เสมอๆ ไม่ช้าเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เตลปัตตชาดก เลˆ่ม ๕๖ หน‰้า ๓๕๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘