มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - จิตที่ตั้งไว้ชอบ

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - จิตที่ตั้งไว้ชอบ

ชนเหล่าใด รู้จักสำรวมจิตที่ไปในที่ไกล มีใจดวงเดียวแล่นไป หาสรีระมิได้ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น มีถ้ำ คือปริมณฑลภายใน เป็นที่อยู่อาศัย ชนเหล่านั้น จะพ้นเครื่องผูกแห่งมาร

การปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดทั้งต่อตัวเราและต่อโลก การสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นแก่โลก เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะมนุษย์ทุกคนมีธรรมกายอยู่ภายในตัวด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด จะมีความเชื่ออย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างถูกต้องและถูกส่วน ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของเราทุกคนนั่นเอง

ความสบาย เป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม เราจะเจริญภาวนาด้วยวิธีใดก็ตาม จะต้องอาศัยหลักของความสบาย ถ้าไม่ปรับร่างกายและจิตใจให้เบาสบายแล้ว ไม่ว่าเราจะปฏิบัติวิธีไหนก็จะไร้ผล จะเข้าไม่ถึงความสงบภายใน เพราะการปฏิบัติธรรม เป็นการแสวงหาความพอดี ความพอดีสังเกตได้จากความพอใจของเราว่า ถ้าเราขยับตัวอย่างนี้ ทำจิตใจให้เบิกบาน แช่มชื่นอย่างนี้ รู้สึกว่าเราพอใจถูกใจ เราอยากจะอยู่ในอารมณ์นี้ไปอีกนาน นั่นแหละคือความพอดี เพราะฉะนั้นความสบายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ อย่าดูเบา ให้เราหมั่นรักษาอารมณ์สบายให้ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

"ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา

ชนเหล่าใด รู้จักสำรวมจิตที่ไปในที่ไกล มีใจดวงเดียว แล่นไป หาสรีระมิได้ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น มีถ้ำ คือปริมณฑล ภายใน เป็นที่อยู่อาศัย ชนเหล่านั้น จะพ้นเครื่องผูกแห่งมาร"

พระมหากัจจายนะ เป็นอรหันตสาวกที่ได้รับยกย่องว่า เป็นเลิศด้านการแสดงธรรมโดยย่อให้วิจิตรพิสดาร คือ แม้ได้ฟังธรรมมาเพียงหัวข้อสั้นๆ ท่านก็สามารถนำมาแจกแจงอธิบายขยายความโดยละเอียด ให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้แจ่มแจ้ง นอกจากนี้ ท่านยังได้ลักษณะมหาบุรุษหลายประการ เพราะในอดีตชาติเคยปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกัน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจมาเป็นพระสาวก ดังนั้นมหาชนมักจะนึกว่า ท่านเป็นพระบรมศาสดา เพราะแลเห็นอากัปกิริยา ผิวพรรณวรรณะ ของท่านเปล่งปลั่งผ่องใสมาก ประดุจพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอท่านเดินมาใกล้ๆ จึงรู้ว่าไม่ใช่

ภายหลัง ท่านไม่อยากให้มหาชนเข้าใจผิดว่า ท่านเป็นพระบรมศาสดา เพราะใจของพระอรหันต์นั้น ความคิดที่จะตีเสมอครูบาอาจารย์ หรืออยากเด่นอยากดังนั้นย่อมไม่มี ท่านจึงอธิษฐานจิตให้เป็นผู้มีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันชาวจีนเป็นจำนวนมากจะเคารพสักการะท่าน เพราะถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ซึ่งเราจะรู้จักกันในนามของ "พระสังกัจจายน์" นั่นเอง ท่านมีประวัติที่น่าสนใจดังนี้

*ในอดีต ณ เมืองโสไรยะ ขณะที่บุตรของท่านโสไรยเศรษฐี นั่งบนยานน้อยกับเพื่อนอย่างมีความสุข เพื่อไปอาบน้ำพร้อมบริวารจำนวนมากอยู่นั้น ได้เห็นพระเถระซึ่งกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านมีผิวพรรณผ่องใส เขาจึงคิดเล่นๆ ด้วยความคะนองว่า "พระเถระรูปนี้ผิวงามจริง ท่านควรจะเป็นภรรยาของเรา หรือภรรยาของเราน่าจะมีผิวพรรณงามเหมือนพระเถระรูปนี้" ทันทีที่คิดเช่นนี้ เพศชายของบุตรเศรษฐีก็หายไปในทันที กลับมีเพศหญิงปรากฏขึ้นมาแทน เพราะกรรมที่คิดล่วงเกินต่อพระอรหันตเถระผู้มีคุณอันยิ่งใหญ่ จึงส่งผลทันตาเห็นในทันที เพราะฉะนั้นความคิดที่ไม่ดีทั้งหลาย อย่าเผลอไปคิดกัน ด้วยความละอาย เขาจึงหลบหนีจากพวกเพื่อนๆ ไป เมื่อถึงเวลากลับบ้าน เพื่อนและบริวารไม่เห็นลูกท่านเศรษฐี ต่างพากันเที่ยวค้นหา แต่ก็ไม่พบ

สำหรับเรื่องการกลับเพศนั้น ในพระพุทธศาสนา ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เป็นไปได้ ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ผู้ชายที่ไม่เคยเป็นผู้หญิงมาก่อน หรือผู้หญิงที่ไม่เคยเป็นผู้ชายมาก่อนนั้นไม่มี และยังได้มีบันทึกว่า ภิกษุณีบางรูปกลับเพศเป็นชายก็มี บางครั้งผู้ชายที่ประพฤติผิดไปล่วงประเวณี ละโลกไปแล้วต้องถูกทรมานอยู่ในนรก เป็นเวลายาวนานมาก พอได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ต้องมาเป็นหญิงถึง ๑๐๐ ชาติก็มี

แม้พระอานนทเถระ ผู้เป็นยอดอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในระหว่างที่ท่านกำลังสร้างบารมีอยู่นั้น มีอยู่ชาติหนึ่ง ท่านได้เกิดเป็นลูกของนายช่างทอง และได้ลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น เมื่อละโลกแล้ว ท่านต้องไปตกนรกเป็นเวลายาวนาน เมื่อพ้นจากนรก วิบากกรรมยังไม่หมด เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนั้นยังส่งผลให้ท่านไปเป็นหญิงโสเภณีถึง ๑๔ ชาติ และเป็นหมันถึง ๗ ชาติ นี่เป็นวิบากกรรมของท่านโดยย่อ ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังอย่าไปหลงทำผิดพลาดกัน

เมื่อลูกชายเศรษฐีกลายเป็นหญิงแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะไป ทำมาหากินที่เมืองตักสิลา เวลามีใครมาถามถึงประวัติส่วนตัว ท่านจะปกปิดไว้ตลอด เพราะความละอายที่ตัวเองคิดอกุศลกับพระเถระ แต่บุญเก่าท่านทำไว้ดี แม้เป็นหญิงก็เป็นหญิงที่มีความงดงาม จึงได้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีประจำเมืองตักสิลา

เมื่อนางอาศัยอยู่กินกับบุตรชายของท่านเศรษฐีเมืองตักสิลา ไม่นานได้ให้กำเนิดบุตร ๒ คน ซึ่งก่อนหน้านั้น สมัยที่เป็นลูกชายเศรษฐีเมืองโสไรยะ นางมีลูกชายอยู่แล้ว ๒ คน เช่นกัน เป็นอันว่ามีลูกรวมกันเป็น ๔ คน ต่อมานางรู้ว่าเพื่อนชาย ที่เคยเล่นด้วยกัน สมัยที่อยู่เมืองโสไรยะเดินทางมาที่เมืองนี้ จึงออกไปต้อนรับ พร้อมกับเชื้อเชิญให้ขึ้นไปบนปราสาท นางได้เล่าความเป็นไปในอดีตทั้งหมดให้เพื่อนชายฟัง เพื่อนได้แนะนำว่าควรจะขอขมาต่อพระเถระ

วันหนึ่ง เมื่อรู้ว่าพระมหากัจจายนะมาบิณฑบาตในเมืองนี้ นางรีบส่งคนไปนิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตตาหารที่ปราสาท พระเถระ ท่านก็รับนิมนต์ และฉันภัตตาหารที่นั่น หลังจากนั้น นางได้กราบเรียนว่า " ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันคือลูกชายของท่านเศรษฐีในเมืองโสไรยะ ได้เคยคิดไม่ดีต่อท่าน เพราะอกุศลเข้าครอบงำจิต จึงได้กลับเพศเป็นสตรีเช่นนี้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดอโหสิกรรม ยกโทษให้แก่ดิฉันด้วยเถิด" จากนั้นนางได้หมอบลงกราบแทบเท้าของพระเถระ

พระเถระมีจิตเปี่ยมด้วยเมตตา ได้รับขอขมาโทษว่า "อาตมายกโทษให้แล้ว ขอให้โยมจงมีความสุขเถิด" เท่านั้นเอง นางได้กลายร่างเป็นชายดังเดิมทันที ด้วยความที่ลูกชายท่านเศรษฐีเคยเป็นทั้งชายและหญิงในชาติเดียวกัน ทำให้เห็นทุกข์ เห็นโทษในสังสารวัฏ เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตการครองเรือน จึงตัดสินใจขอบวชในสำนักของพระเถระ เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ตั้งใจทำสมาธิเจริญภาวนา สำรวมจิตไว้ในปริมณฑลแห่งใจที่ แท้จริง ในที่สุดก็สามารถทำใจหยุดใจนิ่ง เข้าถึงกายภายในเป็นลำดับ จนเข้าถึงกายธรรมอรหัต บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า " มารดาบิดา หรือว่าหมู่ญาติ อันเป็นที่รัก ไม่สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แต่จิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว สามารถทำให้เขาเป็นผู้ประเสริฐได้"
การที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ หมายความว่า การจะบรรลุธรรม หรือเข้าถึงพระธรรมกายนั้น เราต้องพึ่งตัวเอง จะคอยให้บิดามารดาหรือญาติพี่น้องมาช่วยนั้นไม่ได้ แม้ท่านจะเลี้ยงดูเรามา ให้ทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นสิ่งภายนอกมากมายเพียงใดก็ตาม แต่การบรรลุธรรมกายภายในนั้น เราจะต้องช่วยเหลือตัวเอง หมั่นหยุดใจให้ถูกวิธี คือหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบาย และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ จึงจะเข้าถึงได้
เพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง หนทางไปสู่สวรรค์นิพพานนั้นมีอยู่แล้ว เราจะต้องเป็นผู้เดินไปเอง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พระโสไรยเถระ เล่ม ๔๐ หน้า ๔๔๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘