มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ยิ่งให้สมบัติใหญ่ยิ่งไหลมา


มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
ยิ่งให้สมบัติใหญ่ยิ่งไหลมา

นรชนผู้ไม่ตระหนี่ ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของคนเป็นอันมาก คนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศเจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชน เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้หวังสุข พึงขจัดมลทิน คือความตระหนี่ แล้วให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมได้รับการอัญเชิญ ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน

มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข
แต่ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นเมื่อใจหยุดนิ่ง แต่ในการฝึกใจให้หยุดนิ่งนั้น หยุดแรกของใจอาจจะยากสักนิด เพราะว่าเราไม่คุ้นเคยกับการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เราคุ้นกับการปล่อยใจให้คิดในเรื่องราวต่างๆ เช่นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือครอบครัว เป็นต้น ที่เราคุ้นเคยเช่นนี้เพราะโลกหล่อหลอมให้เรามีชีวิตอย่างนี้ ต้องเจอปัญหา เจอแรงกดดัน ต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาของชีวิตด้วยสติด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นใจจึงไม่ค่อยหยุดนิ่ง เมื่อใจไม่คุ้นเคย กับการหยุดนิ่ง จึงอาจจะยากในการที่จะหยุดใจในหยุดแรกให้ได้ แต่ถ้าเราค่อยๆ ฝึกฝนไปก็จะไม่ยาก เมื่อหยุดแรกได้ก็จะมีหยุดต่อๆ ไป หากทำได้เช่นนี้ เราย่อมจะเป็นเจ้าของความสุข และความสำเร็จทั้งมวล

มีวาระแห่งพระธรรมภาษิตที่มาใน สีหสูตร ว่า

"นรชนผู้ไม่ตระหนี่ ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของคนเป็นอันมาก คนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศเจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชน เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้หวังสุข พึงขจัดมลทิน คือความตระหนี่ แล้วให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมได้รับการ อัญเชิญไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน"

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก และย่อมได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั้งหลาย จะทำให้เป็นผู้มีมิตร มีลาภ มียศ มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการให้นั้น ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ที่ให้แล้วจะไม่ได้นั้นเป็นไม่มี หลายคนยังมีความคิดว่า เมื่อให้แล้วทรัพย์จะสิ้นเปลือง จึงหวงแหนทรัพย์ไว้ ไม่ยอมให้ทาน ไม่นำทรัพย์นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทรัพย์ที่ตนมีอยู่จึงเป็นเหมือน ทรัพย์ทุพพลภาพ

อันที่จริง เมื่อให้ทาน สละทรัพย์ออกจากใจ ความตระหนี่ซึ่งเป็นวิบัติก็หลุดร่อนออกไปด้วย เมื่อวิบัติหลุดออกไป สิริสมบัติก็หลั่งไหลเข้ามาแทน บุญที่เกิดจากการให้ทานและเอาชนะความตระหนี่ในใจได้นี้ ไปดึงดูดสมบัติใหญ่มา ทำให้ได้สมปรารถนาในสิ่งที่ต้องการ ได้ทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ ดังเรื่องของหญิงชราท่านหนึ่ง ที่ตัดใจให้ทานเอาชนะใจตนเองได้ โดยสละทรัพย์ที่หามาด้วยความยากลำบากออกให้ทาน

*ในสมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เพื่อโปรดสัตวโลกผู้มีธุลีกิเลสเบาบาง ควรแก่การตรัสรู้ธรรม เมื่อเสร็จสิ้นศาสนกิจ พระองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุก็เสด็จกลับมาสู่กรุงสาวัตถี

ชาวกรุงสาวัตถีรู้ข่าวการกลับมาของพระศาสดาและพระสาวก จึงชักชวนกันถวายอาคันตุกทาน คือ การรับบุญเลี้ยงภัตตาหารพระตามกำลังของตน สาธุชนบางท่านที่มีกำลังมากก็รับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระหลายรูป บางท่านมีกำลังน้อย ก็รับไปคนละรูปสองรูป เพื่อฉลองต้อนรับการกลับมาของสมเด็จพระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์

ในครั้งนั้น มีหญิงชรายากจนคนหนึ่ง เห็นผู้มีบุญทั้งหลาย ต่างมีความปีติเบิกบานในการรับเลี้ยงพระ จึงเกิดความศรัทธาขึ้นมา อยากจะทำบุญเลี้ยงพระกับเขาบ้าง แต่ตนเป็นมหาทุคคตะ หาเช้ากินค่ำ แม้อยากจะทำบุญแต่ก็ไม่กล้ารับปาก เพราะกลัวตนจะทำไม่ได้ ไทยธรรมที่มีอยู่ก็ไม่ประณีต มีแต่อาหารหยาบๆ ไม่มีรสไม่มีชาติใดๆ อีกทั้งถ้าตนตัดสินใจที่จะ ทำทาน นั่นหมายถึงตนจะต้องอดอาหารมื้อนั้นไปด้วย

หญิงชราตัดสินใจอยู่นาน ความคิด ๒ อย่าง ต่างชิงช่วง และช่วงชิงตลอดเวลา คือจะให้หรือไม่ให้ดี จนผู้มีบุญทั้งหลายรับนิมนต์พระไปจวนจะหมดแล้ว ในวินาทีสุดท้ายนั้นหญิงชรา ได้ตัดสินใจสละอาหารมื้อนั้นให้ทาน นางรีบไปบอกพระที่เป็นเจ้าหน้าที่จัดพระให้แก่ทายกทายิกาผู้มานิมนต์

ครั้งนั้น นับเป็นบุญของแม่เฒ่าจริงๆ ที่ยังเหลือพระอีกรูปหนึ่งพอดี คือพระสารีบุตรเถรเจ้า นอกนั้นทายกทายิกาได้นิมนต์ไปหมดแล้ว เรื่องนี้ร้อนถึงพระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี คฤหบดี เพราะพระอัครสาวกจะรับทานของคนจนเข็ญใจ ท่านเหล่านั้นเกรงว่า ภัตตาหารหรือไทยธรรมที่แม่เฒ่าถวายพระสารีบุตรจะไม่เหมาะสม แต่ใจหนึ่งก็นึกอนุโมทนาสาธุการกับ แม่เฒ่ามหาทุคคตะ ที่ตัดใจทำบุญโดยยอมอดอาหารมื้อนั้น เรียกว่า ให้ทานโดยยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรู้ว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จะไปฉันที่บ้านของหญิงชราเข็ญใจนั้น จึงสั่งให้ราชบุตรนำภาชนะอันเต็มไปด้วยภัตตาหารรสเลิศกับผ้าสาฎกเนื้อดีคู่ หนึ่ง และทรัพย์ ๑,๐๐๐ ตำลึง ไปพระราชทานให้หญิงชรานั้น โดยมีพระราชบัญชาว่า เมื่อหญิงชราเข็ญใจจะถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสารีบุตร ควรนุ่งห่มผ้าสาฎกผืนนี้เพื่อเป็นการเคารพ ในทานที่จะถวาย และอนุญาตให้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์ ๑,๐๐๐ ตำลึง ที่ให้ไปตามใจปรารถนา

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและจูฬอนาถเศรษฐี กับมหาอุบาสิกาวิสาขา ต่างส่งโภชนาหารอันประณีตกับผ้าสาฎกเนื้อละเอียด และทรัพย์ ๑,๐๐๐ ตำลึง ไปให้แม่เฒ่าผู้เข็ญใจนั้นเหมือนกัน และยังมีคฤหบดีเศรษฐีในตระกูลอื่นที่มีศรัทธา ต่างมาร่วมสมทบ พากันส่งทรัพย์ไปให้คนละ ๑๐๐ ตำลึงบ้าง ๒๐๐ ตำลึงบ้าง รวมทรัพย์ที่หญิงชราได้รับในวันเดียว ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตำลึง

ในที่สุดแม่เฒ่าผู้ใจบุญได้ถวายข้าวต้ม ข้าวสวย ภัตตาหาร หวานคาวอันประณีต รวมทั้งของเคี้ยวของฉันแด่พระสารีบุตรด้วยความปลื้มปีติ มีความเลื่อมใสศรัทธาปลาบปลื้มปรีดาในมหาทานบารมีครั้งนั้นอย่างหาประมาณมิ ได้

หลังจากพระสารีบุตรเถรเจ้าฉันภัตตาหารแล้ว ได้อนุโมทนาทานให้แก่หญิงชรานั้น เพียงธรรมิกถาสั้นๆ แม่เฒ่า ผู้ใจบุญก็สามารถบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันบุคคล การตัดใจถวายทานในครั้งนั้น ทำให้แม่เฒ่าได้สมหวังในทุกสิ่ง ได้ทั้งโลกิยทรัพย์นับแสนตำลึง และได้ทั้งอริยทรัพย์ภายใน คือ ได้บรรลุธรรมกายพระโสดาบัน เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะกลับมาเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะมีนิพพานเป็นที่ไป

เราจะเห็นว่า ผู้ให้ไม่มีคำว่าอดอยากยากจน คนตระหนี่ที่ไม่ให้ทานต่างหาก ที่ยังต้องยากจนอยู่
ยัง ไม่มีคนให้ทานคนใดในโลกที่ยากจน จนกระทั่งอดตาย คนดีคนใจบุญพระท่านจะคุ้มครองรักษา บุญก็หล่อเลี้ยงรักษา ท่านไม่ปล่อยให้อดตายหรอก มีแต่คนตระหนี่เท่านั้นที่กลัวทรัพย์จะหมดเปลืองไปจึงไม่กล้าให้ เพราะความกลัวจน เสียดายทรัพย์ จึงไม่ให้แก่ใครๆ เมื่อไม่ให้ ก็ยิ่งจน เพราะกิเลสคือความโลภและความตระหนี่มาปิดกั้นสายสมบัติ เอาวิบัติมาตัดรอน ช่วงชิงเอาสมบัติไป

ดังนั้น เกิดเป็นคนถือว่าได้โอกาสดีที่จะสร้างความดี เมื่ออยู่ในภาวะที่พอจะหยิบยื่นอะไรให้แก่ใครได้บ้าง ควรที่จะแบ่งปันให้ทาน การไม่ให้นั้นไม่ควรเลย ผิดหลักของบัณฑิต นักปราชญ์ ผิดประเพณีหรือวงศ์ของพระอริยเจ้า เราสามารถให้กันได้ตั้งแต่ให้รอยยิ้ม ให้ความจริงใจ ให้ความปรารถนาดี ให้ความช่วยเหลือกันในยามประสบทุกข์ภัย ให้โอกาสในการทำความดี ให้กำลังใจ ให้ได้ตั้งหลายอย่างแล้วแต่เราจะเอาบุญอะไร บุญนี้จะได้เป็นเสบียงติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงชาติสุดท้าย ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะฉะนั้นอย่าประมาทและอย่าตระหนี่ เพราะคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ ถ้าเราปรารถนาความพรั่งพร้อมด้วยมหาสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง มหาสมบัติอจินไตยตามใจปรารถนา พึงให้ทานเถิด และพึงให้อย่างสุดกำลังโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เช่นนี้เราย่อมจะสมหวังกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. กุณฑกกุจฉิสินธชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๓๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘