มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - ทางแห่งความเสื่อม



มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
ทางแห่งความเสื่อม


ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัด ข้อนี้เถิดว่า เป็นความเสื่อมประการที่หนึ่ง

ทุกชีวิตที่เกิดมา ล้วนปรารถนาความเจริญรุ่งเรือง ในธุรกิจการงาน และสิ่งที่พึงปรารถนา ต้องการจะมีความสุขทุกๆ เวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกชีวิตล้วนปรารถนาจะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นครอบครัวก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่ชีวิตทางโลกนั้นโอกาสทองเช่นนี้ พวกเราทุกคนต้องแสวงหาและรักษาไว้ แม้สิ่งแวดล้อมในบางครั้งยังเป็นสิ่งที่เราไม่ปรารถนา แต่เราสามารถทำใจเสมือนเข้าไปสู่จุดเย็นกลางเตาหลอมได้ ด้วยการหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่ง ทำทุกๆ วันเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่นนี้แล้ว เราย่อมสมปรารถนาในทุกสิ่ง

มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปราภวสูตร ว่า

สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว
ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว
อิติ เหตํ วิชานาม ปŸโม โส ปราภโว

ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็น ผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงรู้ชัดข้อนี้เถิดว่า เป็นความเสื่อมประการที่ ๑Ž

การดำรงตนให้หนักแน่น มั่นคงอยู่บนความเป็นมงคลนั้น ย่อมนำสิ่งที่ดีมาให้กับชีวิตของเรา มงคล แปลว่า เหตุแห่งความเจริญ หากรู้เช่นนี้แล้ว เราจะเป็นผู้ที่ห่างไกลจากเหตุแห่งความเสื่อม ทางแห่งความเสื่อมนี้ เคยมีคนสงสัยเหมือนกันว่า ผู้ที่เสื่อมกับผู้ที่เจริญนั้น พวกเขาดำรงตนอยู่บนเส้นทางเช่นไร

*ในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่นั้น ได้มีเทวดาตนหนึ่งยังพระเชตวันให้สว่างไสว เข้ามากราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ที่ถึงความเสื่อม และผู้ที่เจริญนั้นเป็นเพราะสาเหตุอะไรŽ พระบรมศาสดาจึงแสดงทางแห่งความเสื่อมไว้ ถึง ๑๒ ประการ ซึ่งเป็นธรรมะที่น่าสนใจ เมื่อเรารู้แล้ว จะได้ระมัดระวัง และดำรงตนอยู่ในทางแห่งความเป็นผู้เจริญเพียงอย่างเดียว

พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้ถึงความเสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดชังธรรมเป็น ผู้เสื่อม ท่านหมายถึงว่า รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดีงาม และยังเป็นผู้รักการประพฤติในสิ่งที่ดีงามนั้นด้วย รู้ธรรม คือ รู้ตั้งแต่ข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นความดีงาม จนกระทั่งใจบริสุทธิ์หยุดนิ่ง รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมนั้นตลอดเวลา ทำให้เป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ผู้เกลียดชังธรรมมักจะประสบเหตุตรงกันข้าม คือ พบแต่ความเสื่อมเสียเสมอๆ เพราะไม่ประพฤติธรรมของพระอริยเจ้านั่นเอง นี่เป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑

ส่วนทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๒ นั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าคนที่รักอสัตบุรุษ ไม่รักสัตบุรุษ และชอบใจธรรมคำสอน ของอสัตบุรุษนั้น เป็นความเสื่อม ความหมายตรงนี้ หมายถึงการคบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ พูดง่ายๆ อสัตบุรุษ ก็คือ คนพาล ใครคบคนพาล เชื่อคำสอน และทำตามคำสอนของคนพาล ก็มีแต่ความเสื่อมถ่ายเดียว

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๓ คือ คนที่ชอบนอน ชอบคุย ไม่ขยัน เป็นคนเกียจคร้าน โกรธง่าย คนชอบนอนนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เป็นอยู่ก็สักแต่ว่ามีชีวิต เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเข้าออก ไม่ได้สงวนเวลาไว้เพื่อฝึกฝนตนเอง ไม่ได้สร้างบุญบารมี มักขุ่นมัวอยู่เสมอ เมื่อใจไม่มีคุณภาพ ก็ผลักดันสิ่งดีออกไป

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๔ คือ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สนใจเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า มีความรู้แต่ไม่มีคุณธรรม ไม่ระลึกถึงแม้ผู้มีพระคุณ ไม่มีความกตัญญูกตเวที ผู้ที่ไม่มีความกตัญญูกตเวที ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมหรือให้การสนับสนุน เพราะเหตุว่า พึงให้แผ่นดินหมดทั้งโลก ก็ไม่ทำให้คนอกตัญญูพอใจได้เลย คนอกตัญญู คือ ผู้มีใจคับแคบ ลืมบุญคุณคน แม้มีผู้ทำคุณประโยชน์มากมายเพียงใดให้ เหมือน ทิ้งก้อนกรวดลงทะเล ไม่มีผลอะไรเลย เมื่อเทียบกับความสูงแห่งคลื่น ใครที่ไม่สนใจบำรุงมารดาบิดาผู้มีพระคุณ ก็จัดเป็นทางแห่งความเสื่อม

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๕ คือ คนที่ชอบหลอกลวงหรือโกหกสม ณพราหมณ์ผู้ทรงศีล หรือโกหกหลอกลวงคนอื่น มีวาจาเป็นสอง เป็นผู้ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังทำอีกอย่าง จิตใจไม่มั่นคง ทำให้เป็นผู้มีวาจาเชื่อถือไม่ได้ หากประพฤติตัวเช่นนี้กับผู้ทรงศีลผู้เป็นเนื้อนาบุญ ก็ยิ่งเป็นการสั่งสมบาปอกุศลให้กับตนเองเพิ่มขึ้น

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๖ นั้นคือ เป็นคนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่เป็นคนตระหนี่ มี ของกินก็กินคนเดียว มีของใช้ก็ใช้คนเดียว ไม่รู้จักการเสียสละ ดวงตระหนี่ครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่รู้จักการให้แบ่งปัน ก็ย่อมจะไม่เป็นที่รักของใครๆ ไม่มีรั้วรอบๆ กายเลย เป็นเหมือนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ยามเมื่อมีลมพัดกระหน่ำ ย่อมจะประสบกับความหายนะได้ง่าย เพราะรอบข้างไม่มีต้นไม้บริวารที่จะช่วยกันต้านแรงลม อยู่อย่างโดดเดี่ยว ย่อมจะอยู่ได้ไม่นาน นี่เป็นความเสื่อมเหมือนกัน

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๗ คือ เป็นคนที่เย่อหยิ่ง เพราะชาติตระกูล และทรัพย์สมบัติ ทั้งดูหมิ่นญาติของตนเอง ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้ แสดงว่า เป็นคนที่หลงตนเอง จนทำให้เป็นผู้ที่ขาดความเคารพ ไม่รู้จักควรไม่ควร จะทำให้ชีวิตผิดพลาดตกลงไปในหนทางแห่งความเสื่อมได้ง่าย

ประการที่ ๘ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้คือ คนเป็นนักเที่ยวผู้หญิง นักดื่มสุรา นักเล่นการพนัน ผลาญทรัพย์สมบัติให้หมดสิ้นไปถ่ายเดียว การทำเช่นนี้ทำให้เป็นผู้ที่ไม่รู้จักการใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ต่อ ตนเองทั้งในภพนี้ และภพหน้า การใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์นั้น เมื่อใช้ไปแล้ว จะต้องเกิดเป็นบุญกุศลเป็นการเปลี่ยนโลกียทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ ทำได้อย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์เป็น ส่วนใครที่นำทรัพย์ตนเองไปทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดบาปอกุศล การทำเช่นนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สุขใดๆ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม

ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๙ คือ คนไม่พอใจเฉพาะภรรยาของตนเอง ชอบคบชู้ภรรยาของคนอื่น หรือฝ่ายหญิง ก็ไม่เคารพสามีเสมือนเทวดา เป็นคนไม่รู้จักพอ ก่อให้เกิดภัย ทั้งทางร่างกาย และสังคมรอบด้าน ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ระหองระแหง ระหว่างครอบครัวและสังคม นี่เป็นทางแห่งความเสื่อมของชีวิตอีกทางหนึ่ง

ประการที่ ๑๐ คือ การที่ชายแก่ได้หญิงสาวเป็นภรรยา ต้องเสียเวลาติดตามดูความประพฤติของนาง ห่วงภรรยาจนนอนไม่หลับ เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้สุขภาพทรุดโทรมเพราะกังวลมากเกินไป ก็เป็นทางแห่งความเสื่อม

ประการที่ ๑๑ คือการแต่งตั้งชายหรือหญิงผู้เป็นนักเลงโต ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เมื่อได้ตำแหน่งที่สำคัญๆ ในการบริหาร ก็เอาอำนาจมาข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา นี่เป็นประการที่สำคัญ เมื่อคนดีมีอำนาจ คนพาลจะถูกข่ม เมื่อคนพาลมีอำนาจ คนดีก็จะถูกข่ม ไม่ กล้าสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้สังคม อำนาจถ้าอยู่ในมือของคนพาล ก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่สังคม และประเทศชาติได้ ดังนั้นขอให้ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ให้ดี

ทางแห่งความเสื่อมประการสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ ผู้เกิดในสกุลกษัตริย์มีโภคสมบัติน้อย แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะเป็นพระราชา ก็เป็นทางแห่งความเสื่อมได้เช่นกัน เพราะความเป็นพระราชานั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ แต่เกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของบุญที่สั่งสมไว้ดีแล้วเท่านั้น

ทาง แห่งความเสื่อมทั้ง ๑๒ อย่าง ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนนี้ ผู้เจริญย่อมไม่ประพฤติ หรือดำเนินชีวิตบนหนทางอย่างนั้น แต่จะทำแต่สิ่งที่เป็นบุญบารมี เป็นคุณงามความดี อันจะเป็นประโยชน์สุขต่อตนเองทั้งในภพนี้ และภพหน้า

บนเส้นทางชีวิตของพวกเราทั้งหลาย ทุกคนต่างปรารถนา ความสุขความสมหวัง และต้องการยืนอยู่บนหนทางแห่งความเจริญตลอดกาล ดังนั้น ขอให้ทุกคนดำรงตนอยู่ในพุทธโอวาทอย่างไม่ประมาท โดยไม่เดินไปบนทางแห่งความเสื่อม หมั่นประพฤติสิ่งที่ดีงาม สิ่งใดที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นความเสื่อม เราก็ไม่ประพฤติ หากทำเช่นนี้ ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ ตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้ตลอดไปทุกภพทุกชาติ เราจะได้ดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางการสร้างบารมี จนถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. ปราภวสูตร เล่ˆม ๔๖ หน้‰า ๓๐๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘