มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต - ปัญญาเพิ่มพูนเกียรติคุณ

มงคลที่ ๗

เป็นพหูสูต - ปัญญาเพิ่มพูนเกียรติคุณ

ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง นรชนในโลกนี้ ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหาความสุขได้ ในท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น

เวลาธรรมกายเป็นเวลาที่ทรงคุณค่ายิ่ง เราจะได้มา ร่วมกันหยุดนิ่ง หยุดใจไว้ที่แห่งเดียวกัน คือ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แม้อยู่คนละสถานที่ แต่เราสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้กระแสแห่งความสุข และความบริสุทธิ์ของธรรมกาย แผ่ขยายไปทั่วโลก การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลกนั้น ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ หากทำใจหยุดนิ่งถูกส่วนย่อมเข้าถึงได้ทุกคน

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย เตสกุณชาดก ว่า

"ปญฺญา สุตวินิจฺฉินี ปญฺญา สิโลกวฑฺฒน
ปญฺญาสหิโต นโร อิธ ทุกฺเข สุขานิ วินฺทติ

ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง นรชนในโลกนี้ ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหาความสุขได้ ในท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น"
ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังสับสน เราต่างรอว่า ใครจะเป็นผู้มีสติปัญญาเข้ามาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ นำพาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง รวมทั้งช่วยโอบอุ้มคุ้มครองโลกให้สงบสุขร่มเย็น

ในยามที่มีเหตุการณ์คับขัน ผู้มีปัญญาเท่านั้น ที่จะนำพาตนและผู้อื่น ให้พ้นจากความทุกข์ไปได้ ถึงแม้จะมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ผู้มีปัญญาย่อมสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นดี ด้วยจิตใจที่สุขุมเยือกเย็น เป็นสมาธิ มีสติมั่นคง ผู้ที่ทำอย่างนี้ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนใจ จนกระทั่งมีใจสงบ หนักแน่นดีแล้ว

*ดังเช่นในสมัยพุทธกาล เหล่าพระสนมของพระเจ้าปเสนทิโกศล นั่งสนทนากันว่า การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แม้พวกเรามีความถึงพร้อมด้วยสมบัติต่างๆ ทว่าไม่มีโอกาสได้ไปวัดฟังธรรมเหมือนกับบุคคลทั่วไป เพราะต้องคอยปรนนิบัติรับใช้พระราชา ทั้งยังต้องดูแลความเรียบร้อยภายในพระราชวังด้วย จึงพากันไปกราบทูล ขอให้พระราชาทรงนิมนต์พระภิกษุ มาแสดงธรรมภายในพระราชวัง ด้วยเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังธรรม เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้ยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงอนุโมทนาในกุศลเจตนาของพวกนาง แล้วทรงถามว่าอยากฟังธรรมจากภิกษุรูปใด

พวกนางได้ปรึกษากัน แล้วกราบทูลขอฟังธรรมจากท่านพระอานนทเถระ เนื่องจากท่านเป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต ทรงจำคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างยอดเยี่ยม พระราชาจึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทรงนิมนต์พระอานนท์ให้มาแสดงธรรม พระอานนท์ท่านเคยเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาก่อน รู้ธรรมเนียมของคนในวังเป็นอย่างดี สามารถประคองศรัทธาของพระราชาและคนในวังได้ พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาต

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระอานนท์ได้ไปแสดงธรรมให้กับเหล่าสนมกำนัลของพระราชา ท่านสามารถวางตัวได้อย่างเหมาะสม และแสดงธรรมได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่มีที่ติ จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาววัง

วันหนึ่ง ดวงแก้วมณีของพระราชาหายไป พระราชาจึงรับสั่งกับพวกอำมาตย์ให้สืบสวนหาคนขโมย พวกอำมาตย์เที่ยวค้นหาจนทั่วพระราชวังก็ไม่พบ จึงคาดคั้นเอาความจากข้าราชบริพาร ตั้งแต่สนมกำนัลเป็นต้นไป ทำให้เดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นผู้ขโมยไป แม้พระราชาจะมีที่ปรึกษาข้าราชการแผ่นดิน ผู้มีฝีมือเยี่ยมมากมายมาช่วยกัน ก็ไม่สามารถนำแก้วมณีกลับคืนมาได้

ในวันนั้น พระอานนทเถระเข้าสู่พระราชวัง เพื่อแสดงธรรมตามปกติ ท่านสังเกตเห็นว่า ทุกคนไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนมีเรื่องกังวล และไม่ค่อยตั้งใจฟังธรรมเหมือนเช่นเคย จึงไต่ถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อทราบเรื่อง ก็ปลอบใจทุกคนว่า "อย่าได้วิตกไปเลย อีกไม่นานจะได้แก้วมณีกลับคืนมา"

พระอานนท์สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับพระราชาว่า "มหาบพิตรจริงหรือที่แก้วมณีของพระองค์หายไป"
พระราชารับสั่งว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ แก้วมณีได้หายไปจริงๆ โยมสั่งให้สอบสวนทุกคนที่เข้ามาภายในพระราชวัง แต่ก็ไม่มีใครยอมรับสารภาพ แม้เราสั่งให้จับคนข้างในทุกคน ถึงจะทำให้ลำบากขนาดไหน จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีใครเอาแก้วมณีมาคืนเลย"
พระเถระจึงแนะนำวิธีการว่า "อุบายที่จะได้แก้วมณีคืนมา โดยไม่ต้องให้มหาชนลำบากนั้นพอมีอยู่ ถ้าพระราชาทรงสงสัยใคร ก็ให้นำคนเหล่านั้นมา แล้วให้ฟ่อนฟางไปคนละฟ่อน บอกพวกเขาว่า ในเวลาใกล้รุ่งให้นำฟ่อนฟางมาโยนไว้ที่หน้าประตูวัง ถ้าผู้ใดเป็นคนเอาไป เขาจะซุกแก้วมณีไว้ในฟ่อนฟาง ด้วยวิธีการนี้ ก็จะได้แก้วมณีกลับคืนมา"

พระราชารับสั่งให้ทำตามที่พระเถระแนะนำไว้ทุกประการ แต่ก็ยังไม่มีใครนำแก้วมณีมาคืน พระเถระจึงแนะวิธีต่อไปว่า ให้ตั้งตุ่มใหญ่ไว้ในที่กำบังในท้องพระโรง ตักน้ำใส่ให้เต็มแล้วกั้นม่านบังไว้ จากนั้นให้คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยเข้าไปในม่านทีละคน ให้ล้างมือในตุ่มน้ำแล้วเดินออกมา พระราชาก็รับสั่งให้ทำตามกุศโลบายของพระเถระ

ต่อมา คนที่ขโมยแก้วมณีไปได้คิดว่า "พระเถระเป็นผู้มีเมตตา และฉลาดในการสืบสวนด้วยสันติวิธี ไม่ปรารถนาประทุษร้ายใคร ให้ได้รับความเดือดร้อน หากเราไม่รีบนำแก้วมณีมาคืน ไม่ช้าก็ต้องถูกพระราชาจับได้แน่" เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว จึงได้นำแก้วมณีหย่อนลงในตุ่ม ในขณะที่กำลังล้างมือ

เมื่อทุกคนเดินออกจากม่านหมดแล้ว พวกราชบุรุษได้นำน้ำในตุ่มไปเททิ้ง ได้พบแก้วมณี จึงนำมาถวายแด่พระราชา พระราชาทรงชื่นชมพระเถระว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ฉลาดทั้งทางโลกและทางธรรม สามารถนำแก้วมณีกลับคืนมาได้ โดยไม่ต้องให้มหาชนลำบาก แม้ผู้ถูกกล่าวหาก็พากันยินดีว่า ได้พ้นจากคำครหาเพราะพระเถระ

เกียรติคุณของพระเถระได้ฟุ้งขจรไปทั่วพระนคร มหาชนต่างพากันเลื่อมใสและยกย่องท่านว่า เป็นผู้ที่ฉลาดในการตัดสินคดีความด้วยสันติวิธี ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความกระทบกระเทือนเดือดร้อน นับเป็นสุดยอดวิธีในการแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา แม้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญพระอานนท์ว่าเป็นยอดพหูสูต ผู้มีปัญญาลึกล้ำ นอกจากทรงจำคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ยังมีปฏิภาณไหวพริบในการนำคำสอนนั้นมาใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนดังคำที่กลˆาวในคาถาบทหนึ่งว่า

"ยามคับขันย่อมต้องการคนกล้า ยามประชุมปรึกษาย่อมต้องการคนหนักแน่น ยามมีข้าวน้ำบริบูรณ์ย่อมปรารถนาผู้เป็นที่รัก ยามมีปัญหาย่อมปรารถนาบัณฑิตผู้มีปัญญา"

เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา ดวงปัญญาจะเกิดเมื่อทำใจให้หยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน จะเข้าถึงดวงธรรมสุกใสสว่างอยู่ในกลางตัว เข้าถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ไปตามลำดับ ดวงปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งใจใสละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจ ถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด

ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็นผู้รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นการ ฝึกใจให้หยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ ให้หมั่นฝึกใจกันทุกๆ วัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มหาสารชาดก เล่ม ๕๖ หน้า ๓๒๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘