มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู - เครื่องหมายของคนดี



มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู
เครื่องหมายของคนดี

ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม
บัณฑิตย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้
เมื่อเขาละโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนแสวงหาความสุข จึงต้องดิ้นรนไขว่คว้า หาสิ่งที่ตนคิดว่าจะทำให้เป็นสุขได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ บุคคลอันเป็นที่รัก หรือหน้าที่การงานที่มั่นคง
เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาครอบครองสมความปรารถนาแล้ว ตอนแรกๆ อาจจะมีความรู้สึกพึงพอใจ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆ ก็เสื่อมสลายลง ความสุขที่เคยมีก็จางหาย คงเหลือไว้เพียงความทุกข์ทรมาน
เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าสิ่งภายนอกที่เราเคยแสวงหามานั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขที่แท้จริงต้องยั่งยืน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เราปรารถนาเมื่อไร ก็ให้ความสุขได้เมื่อนั้น ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายค้นพบว่า แหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง อยู่ภายในตัวของเรานี่แหละ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ‰าตรัสไว‰ใน มาตุโปสกสูตร ว่า

ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม บัณฑิตย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ เมื่อเขาละโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์Ž

บิดามารดาเป็นบุพการีชนที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และหมั่นหาโอกาสตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านให้ได้ เพราะผู้รู้อุปการคุณที่บิดามารดามอบให้ด้วยใจบริสุทธิ์แล้ว กระทำการตอบแทนพระคุณท่าน บัณฑิตเรียกว่า คนมีความกตัญญูกตเวที เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง นับว่าเป็นอภิชาตบุตร เป็นลูกแก้ว เกิดมาแล้วยังใจบิดามารดาให้แช่มชื่นเบิกบาน การที่ลูกๆ หาโอกาสตอบแทนพระคุณท่านเป็นประจำสม่ำเสมอ ถือว่าเข้าถึงความเป็นผู้ที่หาได้ยากยิ่งในโลก

อันที่จริงคุณธรรม คือ ความกตัญญูนี้ สามารถทำให้เกิดขึ้นในจิตใจของทุกๆ คนได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อยู่ในเพศภาวะใด หรือสถาพใดก็ตาม หากได้ตระหนักในคุณความดีของผู้อื่นอยู่เสมอ มองให้เห็นคุณค่าของทุกๆ คน ที่ถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามมาสู่ตัวเรา คุณธรรมนี้จะเจริญงอกงามขึ้น เช่นถ้าเป็นศิษย์ให้รู้คุณของครูอาจารย์ หากเป็นลูกก็ให้รู้คุณของบิดามารดา ถ้าใครมีคุณธรรมอย่างนี้อยู่ในใจแล้ว จะเป็นที่เคารพศรัทธา ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย

*ดังเรื่องของพระบรมโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น โสณกุมาร ในพระชาตินั้น ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ท่านมีน้องชายชื่อว่า นันทกุมารŽ เมื่อเจริญวัยขึ้น พ่อแม่ปรึกษากันว่า จะให้ลูกทั้ง ๒ ครองเรือนเพื่อสืบสกุลต่อไป แต่โสณกุมารกลับบอกกับพ่อแม่ว่า ลูกยังไม่อยากจะนึกถึงเรื่องการมีครอบครัว อยากจะอยู่ปรนนิบัติรับใช้คุณพ่อคุณแม่ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ล่วงลับไป ลูกจะออกบวชแสวงหาโมกขธรรมŽ ส่วนนันทกุมารซึ่งเป็นน้องชาย ก็มีความคิดเช่นเดียวกับพี่ชาย

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คนทั้ง ๔ จึงตัดสินใจออกบวช อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ดาบสผู้เป็นลูกทั้ง ๒ ก็ได้ช่วยกันบำรุงบิดามารดา ตั้งแต่ตื่นเช้าก็จัดเตรียมไม้ชำระฟัน และน้ำล้างหน้า ปัดกวาดเสนาสนะ ให้สะอาดร่มรื่น แล้วออกไปหาผลไม้ ที่มีรสอร่อยมาให้บิดามารดาบริโภค ถึงยามเย็นก็ต้มน้ำอุ่นให้อาบ ปรนนิบัติท่านทั้งสองอย่างดีเยี่ยมเสมอมา

วันหนึ่ง ดาบสน้องชายคิดว่า เราจะให้บิดามารดาบริโภคผลไม้ที่เราหามา จึงรีบลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ก่อนพี่ชาย ออกไปหาผลไม้ลูกใหญ่บ้างเล็กบ้าง เท่าที่พอจะเก็บหามาได้ จากที่ที่ตนเคยเก็บเมื่อวานบ้าง รีบนำมาให้บิดามารดาบริโภค ส่วนโสณดาบสโพธิสัตว์ ซึ่งได้อภิญญา ๕ พอรุ่งเช้าก็ออกไปยังที่ไกลๆ หาผลไม้ที่มีรสอร่อย ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีรสดีกว่าที่น้องชายหามา เมื่อนำไปให้ ท่านทั้ง ๒ ก็บอกว่า ได้บริโภคผลไม้ ที่น้องชายนำมาให้แล้วŽ ดังนั้นผลไม้ดีๆ ที่โสณดาบสนำมาก็เน่าเสียไป เป็นอยู่อย่างนี้หลายวัน

พระโพธิสัตว์จึงได้บอกกับน้องชายว่าเจ้า มีความปรารถนาดีต่อพ่อและแม่ แต่อย่าได้ทำอย่างนี้อีกเลย เพราะผลไม้ที่เจ้านำมานั้น มีขนาดไม่เท่ากัน สุกๆ ดิบๆ เมื่อบริโภคนานเข้า จะทำให้ท่านมีอายุสั้นŽ แต่น้องชายก็ไม่ได้ทำตาม เพราะมีแต่ความปรารถนาดีอย่างเดียว ยังขาดปัญญารอบรู้ เมื่อไม่ยอมเชื่อฟัง โสณดาบสจึงขับไล่น้องชายให้ไปอยู่ที่อื่น เพื่อให้ไปบำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มที่ จะได้เป็นที่พึ่งแก่ตน ส่วนบิดามารดานั้น ท่านจะเป็นผู้ดูแลเอง

เมื่อน้องชายได้ฟังดังนั้น ก็สำนึกผิดในความดื้อรั้นของตน ไม่สามารถจะอยู่ในที่นั้นได้ จึงหลีกเร้นไปอยู่คนเดียว ปรารภความเพียรอยู่ในป่าลึก จนสามารถทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดขึ้นได้ แล้วคิดว่า จะนำพระราชาทั่วทั้งชมพูทวีปมาขอขมาพี่ชาย เพื่อจะได้มีโอกาสมาปรนนิบัติดูแลบิดามารดาอีก

ดังนั้น นันทดาบสจึงได้เหาะไปเฝ้าพระเจ้ามโนชะ ได้ทูลว่าจะนำราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมดมาถวายแก่พระองค์ ด้วยอานุภาพของตน และจะช่วยคุ้มครองทหารในกองทัพ ไม่ให้ได้รับอันตราย พระเจ้ามโนชะตอบตกลง จึงออกทำศึกโดยการดูแลของนันทดาบส ฉะนั้นการทำศึกของพระราชาทุกๆ ครั้ง จึงได้รับชัยชนะมาตลอด และไม่มีการเสียเลือดเนื้อเลยแม้แต่น้อย

จนเวลาล่วงไป ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน นันทดาบสก็สามารถรวบรวมราชสมบัติของพระราชาทั่วทั้งชมพูทวีปได้ โดยไม่ต้องมีการเสียเลือดเนื้อแม้เพียงหยดเดียว พระเจ้ามโนชะได้ฉลองชัยร่วมกับพระราชาทั้งหลาย ที่สามารถรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น โดยที่พระราชาทั้งหมด ก็มีความสมัครสมานสามัคคี ด้วยอานุภาพของนันทดาบส

พระราชาเหล่านั้นต่างก็นึกถึงคุณของนันทดาบส จึงตั้งใจจะยกราชสมบัติให้ แต่ท่านปฏิเสธ และได้บอกความประสงค์ของท่านให้ทราบว่า อยากจะขอเชิญมหาบพิตรทั้งหมด ไปช่วยขอขมาโทษโสณดาบส ผู้เป็นพี่ชายของตน เพื่อตนเองจะได้อยู่บำรุงบิดามารดาต่อไปŽ พระเจ้ามโนชะ และพระราชาทั้งหลายก็รับคำ จากนั้นก็ได้พาพระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์ ไปยังอาศรมของโสณดาบส

วันนั้น โสณดาบสรำพึงถึงน้องชายที่หายไปถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เช่นกัน ว่าไปอยู่ที่ไหน จึงตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นว่าน้องชายกำลังพาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาเพื่อจะขอขมา จึงเหาะมาทางอากาศให้พระราชาทั้งหมดได้นมัสการ เมื่อได้เห็นอานุภาพของโสณดาบส พระราชาต่างพากันสักการบูชา โสณดาบสปฏิสันถารเป็นอย่างดี จากนั้นท่านได้เนรมิตหนทางให้ราบเรียบ สะดวกสบายสำหรับการเดินทางไปยังอาศรม แล้วทูลเชิญพระราชาทั้งหมด เสด็จไปเยี่ยมชมอาศรม

นันทดาบส พระเจ้ามโนชะ และกษัตริย์อีก ๑๐๑ พระองค์ แวดล้อมไปด้วยกองทัพอันทรงเกียรติ เข้าไปขอขมาโทษต่อพระโพธิสัตว์ ให้อดโทษต่อน้องชายที่ไม่เชื่อฟัง ซึ่งท่านก็อดโทษให้ เพราะใจจริงนั้นก็ไม่ได้โกรธเคืองเลย แต่ต้องการจะลดทิฏฐิมานะ ให้น้องชายเชื่อฟังบ้างเท่านั้นเอง

จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็กล่าวว่านันทะเอ๋ย พี่ดีใจที่น้องได้ที่พึ่งสำหรับตนแล้ว เรื่องในอดีตนั้นพี่ยกโทษให้ เธอจงดูแลมารดาบิดา อย่าได้ประมาท จงปฏิบัติต่อท่านให้ดี ให้ท่านบริโภค แต่ผลไม้ที่ดีมีรสเลิศ จงบำรุงท่านอย่างดีที่สุดในทุกเรื่องŽ นันทดาบสดีใจที่พี่ชายยกโทษให้ แล้วทั้งสองก็ได้ช่วยกันบำรุงบิดามารดาจนตลอดชีวิต ครั้นละโลกแล้ว ทั้งหมดก็ไปสู่สุคติ

จะเห็นได้ว่า บัณฑิตในการก่อน ท่านกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีถึงขนาดนี้ แม้แต่ราชสมบัติที่มีอยู่ทั่วทั้งชมพูทวีป ก็มีค่าน้อยนิด ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับบุญกุศลมหาศาลที่ได้ดูแลรับใช้บิดามารดา ท่านถือว่าการตอบแทนพระคุณเป็นหน้าที่ซึ่งจะขาดเสียมิได้ เป็นสิ่งดีเลิศ ประเสริฐกว่าการได้ครอบครองทรัพย์สมบัติทั้งหมดในโลก จึงยอมสละราชสมบัติที่มาถึง เพียงเพื่อให้ได้อุปัฏฐากบำรุงบุพการี

ฉะนั้น พวกเราทุกคน ต้องหมั่นบำรุงท่านทั้ง ๒ ให้ดี เพราะมารดาบิดา คือพระอรหันต์ของลูก ต้องตอบแทนคุณท่าน ให้สมกับที่ท่านเลี้ยงดูเรามา โดยตอบแทนแบบผู้มีปัญญา คือชักชวนให้ท่านมีศรัทธา ให้ท่านได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน คือเข้าถึงพระธรรมกาย ท่านจะได้มีที่พึ่งที่แท้จริงในชีวิต ถ้าทำได้เช่นนี้ เราจะได้ชื่อว่าเป็นลูกแก้วยอดกตัญญู
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. โสณนันทชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๒๗๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘