มงคลที่ ๑๖ ประพฤติธรรม - พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง


มงคลที่ ๑๖

ประพฤติธรรม
พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง

การเกิดมาในภพชาติหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะผ่านด่านแห่งอันตรายในสังสารวัฏ จะต้องมีบุญบารมีมากทีเดียว ต้องไม่มีผลแห่งอกุศลกรรมใดๆ มาขัดขวาง จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งการเกิดเป็นมนุษย์นี้ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า เป็นการยากยิ่ง เมื่อเกิดมาแล้ว จึงควรตระหนักและเห็นคุณค่า ควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสั่งสมบุญบารมีให้เพิ่มขึ้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามาก คือ การปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว หากพยายามน้อมนำใจของเราให้อยู่ที่กลางกาย ซึ่งเป็นจุดแห่งความบริสุทธิ์ของชีวิต เวลาที่ผ่านไปก็จะไม่สูญเปล่า ความบริสุทธิ์บริบูรณ์มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ทุกวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธัมมัทธชชาดก ว่า

“ธมฺมํ จรถ ญาตโย ธมฺมํ จรถ ภทฺทํ โว
ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ

ดูก่อนญาติทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงพากันประพฤติธรรม
ความเจริญจะมีแก่ท่านทั้งหลาย เพราะว่าผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
บัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ล้วนเห็นคุณค่าของการประพฤติธรรม คำว่า ประพฤติธรรม หมายถึง การเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นในคุณธรรมทั้งหลาย มีข้อวัตรปฏิบัติที่มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ อีกทั้งตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ แม้ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ก็ติเตียนไม่ได้เช่นกัน โดยปกติวิสัยของผู้ประพฤติธรรมจนเข้าไปในจิตสำนึกแล้ว ท่านจะเป็นคนตรง พูดอย่างไรจะทำอย่างนั้น ไม่ใช่พูดอย่างแต่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นนิสัยของคนพาล คนที่มีนิสัยไม่ประพฤติธรรม ไม่ตั้งอยู่ในธรรม อุปนิสัยเนื้อแท้แล้ว จะเป็นคนที่เหลาะแหละ พูดคำไม่จริง พูดอย่างหนึ่ง แต่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง เชื่อถือไม่ได้

คนที่มักโกหกหลอกลวงอยู่ ทั้ง ชีวิตจะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง เพราะต้องเสกสรรปั้นแต่งคำพูดตลอดเวลา ต่อหน้าอย่างหนึ่ง หลับหลังก็วางตัวอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตในบั้นปลายย่อมไม่พ้นความทุกข์ทรมานจากการกระทำนั้น แม้ละโลกนี้แล้ว ยังต้องทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ผู้ที่ทำผิดเช่นนี้ หากได้ครูบาอาจารย์ที่เปี่ยมด้วยมหากรุณาช่วยแก้ไข ก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ ยิ่งถ้าได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรให้ พระองค์เมตตาอบรมพร่ำสอนจนทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ หากบุคคลใดได้บรมครูเช่นนี้ นับว่าเป็นบุญของบุคคลนั้น

ในวันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่องในสมัยพุทธกาลมาเล่าเป็นตัวอย่างการสร้างบารมี เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพูดอย่างทำอีกอย่าง หรือการพูดโกหกนั่นเอง *คือเมื่อคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระภิกษุทั้งหลายกำลังนั่งสนทนาธรรมถึงเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่งที่มักพูด โกหกเสมอ ทั้งที่พูดไปด้วยความตั้งใจบ้าง บางครั้งเผลอพูดออกไปด้วยความไม่ตั้งใจบ้าง

พระศาสดาเสด็จผ่านมาทรงได้ยินเข้า ทรงย้อนอดีตของภิกษุนั้น เพื่อตรวจดูว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด ทรงพบว่า อดีตชาติภิกษุนั้นก็เคยเป็นเช่นนี้ ทรงปรารถนาที่จะยกเรื่องราวให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจภิกษุสงฆ์ และตระหนักถึงผลของการโกหก พูดอย่างทำอย่าง ว่ามีแต่ผลเสียเท่านั้น พร้อมทั้งจะได้แสดงพระธรรมเทศนาเป็นการประทานโอวาทแก่ภิกษุหมู่ใหญ่ด้วย จึงตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้ เธอไม่ใช่เพิ่งมาพูดโกหกในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็มีอุปนิสัยพูดโกหกจนเป็นที่ติเตียนของผู้รู้มาแล้ว ในที่สุดชีวิตในบั้นปลายของเธอก็ประสบกับความวิบัติ”
เมื่อพระภิกษุสงฆ์กล่าวอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้นำเรื่องราวในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นพญานก พวกเราสังเกตไหมว่าทุกๆ ชาติที่พระโพธิสัตว์บังเกิดขึ้น ท่านจะเป็นผู้นำตลอด นี้เป็นธรรมดาของผู้มีบุญ ที่เกิดมาเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ แม้จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม จะมีบุญตรงนี้ และนำหมู่คณะของท่านผ่านภัยไปได้ทุกๆ ชาติ ในพระชาตินี้ก็เช่นกัน ครั้นเติบโตขึ้น ท่านมีเหล่าฝูงนกทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่เกาะกลางมหาสมุทรแห่งนั้น

ครั้งนั้น พ่อค้าชาวกาสิกรัฐกลุ่มหนึ่ง พากันแล่นเรือไปยังกลางมหาสมุทร และได้นำกาแสนรู้คอยบอกทิศทางไปด้วย สมัยนั้นยังไม่มีเข็มทิศนำทางเช่นในสมัยนี้ จึงต้องเลี้ยงกาให้ทำหน้าที่แทนเข็มทิศ การเดินทางครั้งนั้นไม่สะดวกราบรื่นดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพายุใหญ่พัดโหมกระหน่ำ จนเรืออับปางกลางมหาสมุทร ทุกคนต่างประสบกับภัยพิบัติ กาตัวนั้นรีบบินหนีภัยจนไปถึงเกาะแห่งนั้น

เมื่อไปถึง จึงบินตรวจดูทำเล พบว่าเกาะกลางมหาสมุทรนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของนกหมู่ใหญ่ คิดว่าตนไม่อดตายแน่นอน มันพยายามนึกหาวิธีที่จะทำให้ตนเองอยู่รอด ได้ใคร่ครวญดูว่า นกฝูงนี้เป็นฝูงนกที่ใหญ่มาก เอาเถิด เราควรโกหก เพื่อกินไข่และลูกอ่อนของมันให้ได้

คิดดังนี้แล้ว มันรีบบินลงไปท่ามกลางฝูงนกทั้งหลาย และทำทียืนขาเดียว อ้าปากค้างอยู่ที่พื้นดิน เนื่องจากฝูงนกยังไม่เคยเห็นอาการอย่างนี้มาก่อนในชีวิต จึงพากันประหลาดใจว่า นกตัวนี้คงมีข้อวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนนกตัวใดในโลก จึงส่งตัวแทนเข้าไปถามว่า “ท่านเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงทำท่าประหลาดยืนขาเดียวอยู่เช่นนี้”

กาเจ้าเล่ห์วางท่าสงบนิ่งอย่างน่าเชื่อถือพลางกล่าวว่า “ฉันเป็นผู้ประพฤติธรรม ทำเช่นนี้มานานทีเดียว หากฉันเหยียบแผ่นดินทั้งสองขา แผ่นดินจะไม่สามารถต้านทานไว้ได้ จะถล่มทรุดลงไป”
นกทั้งหลายฟังดังนั้นยังไม่สิ้นสงสัยจึงถามต่อไปว่า “แล้วทำไมท่านต้องยืนอ้าปาก”
กาเจ้าเล่ห์ตอบทันทีว่า “ที่ฉันทำแบบนี้ เพราะตัวฉันเองไม่กินอาหารอื่น นอกจากลมเท่านั้น”
จากนั้นมันยังเรียกนกทั้งหลายมาให้โอวาทด้วยว่า “ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ควรตั้งใจประพฤติธรรมให้ดี ความสุข ความเจริญจะได้มีแก่ท่าน เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น จึงจะมีความสุขทุกเมื่อ”
พลางแสดงอากัปกิริยาว่า ตนเองเป็นผู้มีความสุข ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทั้งยืนเดินนั่งนอน ทำทีเหมือนมีความสุขเหลือเกิน

คำพูดของกาตัวนั้นเป็นความจริง เพียงแต่มันทำไม่ได้อย่างที่พูดเท่านั้นเอง มันจึงต้องพบกับความหายนะในที่สุด

เมื่อนกเหล่านั้นสังเกตอิริยาบถที่ดูแล้วเหมือนมีความสุขเช่นนั้น ต่างพากันหลงเชื่อและสรรเสริญว่า “น่าสรรเสริญกาตัวนี้จริงหนอ นอกจากจะประพฤติธรรมแล้วยังสั่งสอนธรรมอีกด้วย”
เมื่อพวกนกหลงเชื่อ เวลาจะออกหากิน จึงฝากฝังว่า “ท่านครับ ตัวท่านเองก็กินแต่ลมอย่างเดียว ถ้ากระนั้น ขอให้ท่านช่วยอนุเคราะห์พวกกระผมด้วย ช่วยดูแลไข่และลูกอ่อนของพวกเราด้วยเถิด” จากนั้น ฝูงนกต่างพากันออกไปหาเหยื่อตามปกติ

เมื่อไม่มีใครอยู่ กาเจ้าเล่ห์ก็จิกกินไข่และลูกอ่อนจนอิ่ม แล้วยืนหลับตานิ่งอยู่ในอิริยาบถเดิม ครั้นนกทั้งหลายกลับมา ไม่พบไข่กับลูกอ่อน ต่างพากันส่งเสียงลั่นว่า “ลูกและไข่ของเราหายไปไหน” แต่ไม่มีใครสงสัยกาเลย เพราะต่างคิดว่าเป็นกาประพฤติธรรม

เมื่อเกิดเหตุบ่อยขึ้น นกพระโพธิสัตว์จึงฉุกใจคิดว่า “ตั้งแต่กาตัวนี้มา ก็เกิดเหตุร้ายขึ้น เราจะจับพิรุธกาตัวนี้เอง” จึงทำทีเหมือนออกไปหาเหยื่อพร้อมกับนกบริวาร แล้วแอบบินกลับมา ซุ่มดูอยู่เงียบๆ เห็นกิริยาอาการทั้งหมดของกานั้น นกพระโพธิสัตว์จึงเรียกประชุมฝูงนกทั้งหมด และเล่าเรื่องราวทั้งหมดว่า
“สหายทั้งหลาย กาตัวนั้นไม่มีศีลเลย พูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตั้งอยู่ในธรรมที่ตนเองสั่งสอนผู้อื่น วาจาอ่อนหวาน แต่จิตใจร้ายกาจนัก ได้แอบกินไข่และลูกน้อยของพวกเรา กาตัวนี้ไม่ควรอยู่ร่วมด้วย เพราะมันอยู่ที่ใด ย่อมจะนำความวิบัติมาสู่ที่นั้น”
นกพระโพธิสัตว์ได้บินไปจิกกาตัวนั้น นกที่เหลือพากันรุมจิกจนกาสิ้นชีวิต เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบ จึงทรงสรุปชาดกว่า กาในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นภิกษุที่มักโกหก พญานกผู้จับเท็จกาได้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การพูดอย่างหนึ่ง และทำอีกอย่างหนึ่งนั้น ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต โดยเนื้อแท้ของตนเองก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรม นอกจากหลอกลวงตนเองแล้ว ยังเป็นการหลอกลวงชาวโลกอีกด้วย ไม่เป็นผลดีต่อตนเอง มีแต่จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมาอีก ทั้งทำให้ไม่เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย คำพูดเท็จนี้มีแต่โทษ ไม่ก่อประโยชน์อันใดแม้เพียงน้อยนิด ดังนั้น ให้พวกเราเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ พูดอย่างไร ให้ทำอย่างนั้น และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง ความดีงามจึงจะอำนวยผลเป็นความสุขความเจริญได้อย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
(มก.ธัมมัทธชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๙๗)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘