มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๑ ( สนองราชกิจ )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๑
( สนองราชกิจ )
ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา
ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณ และชื่อเสียง
นรชนในโลกนี้ ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหาความสุขได้
แม้ในท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น

การปฏิบัติธรรมเป็นหัวใจในการสร้างบารมี ใคร อยากจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม ก็อย่าดูเบาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่านั่ง การหลับตา หรือการทำใจให้สบายๆ ให้ปลอดโปร่ง ปลดปล่อยวางจากภารกิจการงานต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องปลิโพธความกังวลใจในชีวิตประจำวัน เรื่องการทำมาหากิน ครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย การศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่การเดินทาง ปลิโพธ แปลว่า เครื่องกังวลใจ ใครที่มัววิตกกังวลกับเรื่องเหล่านี้ในเวลาปฏิบัติธรรม ใจจะหาความสงบได้ยาก ให้พวกเราทุกคนปรับปรุงพื้นฐานเหล่านี้ให้ถูกวิธี แล้วทำให้ชำนาญ การปฏิบัติธรรมนับเป็นกรณียกิจอันสูงสุด เป็นสาระสำคัญของชีวิตเรา เราต้องฝึกฝนอบรมให้ดี หมั่นพัฒนาแก้ไขไปเรื่อยๆ การปฏิบัติธรรมของเราย่อมจะก้าวหน้า จะประสบความสำเร็จ ได้เข้าถึงธรรมกายกัน ทุกๆ คน

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย เตสกุณชาดกว่า

" ปญฺญา สุตวินิจฺฉินี ปญฺญา สิโลกวฑฺฒนี
ปญฺญาสหิโต นโร อิธ ทุกฺเข สุขานิ วินฺทติ

ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณ และชื่อเสียง นรชนในโลกนี้ ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหาความสุขได้ แม้ในท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น "

การจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ต้องเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน คนฉลาดมากจะปกครองคนฉลาดน้อย ถ้าหากไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมคนอื่น หรือไม่มีปัญญาความสามารถ จะประกอบอาชีพธุรกิจการงานใดก็จะหาความสำเร็จได้ยาก ยิ่งในภาวะปัจจุบันนี้ ถือกันว่า ปัญญา เป็นเครื่องวัดคุณภาพของประชากร ประเทศชาติใดที่หวังความเจริญรุ่งเรือง จำเป็นต้องมีบุคลากรผู้มีสติปัญญา ที่รู้จักศึกษาหาความรู้ใส่ตัว ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน เป็นสิ่งที่จะช่วยอำนวยประโยชน์สุขมาสู่ตนและเพื่อนมนุษย์

*ครั้งนี้ มีตัวอย่างเกี่ยวกับความเป็นผู้มีปัญญาของมโหสถ มาให้พวกเราได้ศึกษากันอีกเช่นเคย มโหสถบัณฑิตเป็นผู้มีดวงปัญญาเป็นเลิศยิ่งกว่าใครในยุคสมัยนั้น ท่านได้อาศัยความมีปัญญามาก เข้ารับตำแหน่งบัณฑิต ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าวิเทหราช ยิ่งเมื่อท่านได้เข้ารับตำแหน่งบัณฑิตในราชสำนักแล้ว ก็ยิ่งได้ฉายแววแห่งความเป็นปราชญ์มากขึ้น ดังเช่นวันหนึ่ง มหาชนเห็นเงาของแก้วมณีเปล่งแสงสว่างไสวอยู่ในสระโบกขรณี จนเป็นที่อัศจรรย์ของมหาชนที่ลงไปอาบน้ำ

เมื่อทุกคนมั่นใจว่า ในบริเวณนั้นต้องมีแก้วมณีอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน จึงกราบทูลพระราชาว่า มีแก้วมณีอยู่ในสระโบกขรณี พระราชาทรงเรียกเสนกะมาตรัสถามว่า " ท่านอาจารย์ ได้ยินว่ามีมณีรัตนะอยู่ในสระโบกขรณี ทำอย่างไรจึงจะนำแก้วมณีนั้นขึ้นมาได้ "
เสนกะทูลว่า " ไม่ยากเลยพระเจ้าข้า ควรให้ทหารช่วยกันวิดน้ำออกจากสระโบกขรณีจนหมด จะได้แก้วมณีตามพระราชประสงค์อย่างแน่นอน พระเจ้าข้า "

พระราชาทรงสดับแล้ว รับสั่งให้เสนกะเป็นหัวหน้าในการวิดน้ำออกจากสระให้หมด แต่ถึงแม้จะวิดน้ำจนหมดถึงพื้นแล้ว ก็ยังไม่พบแก้วมณี จึงให้เติมน้ำเข้าสระจนเต็ม เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี ความแวววาวของแก้วมณีก็ปรากฏอีก เสนกะอุตส่าห์ให้วิดน้ำออกอีก ขุดลงไปจนถึงดินดาน ทำเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็ยังไม่พบแก้วมณี ทำให้เหนื่อยอ่อนไปตามๆ กัน หมดหวังในแก้วมณีดวงนั้น

พระราชาทรงเห็นไม่เป็นผล จึงตรัสเรียกมโหสถ บัณฑิตมาเข้าเฝ้า และทรงเล่าเรื่องแก้วมณีพลางตรัสถามว่า จะนำแก้วมณีขึ้นมาได้หรือไม่ มโหสถกราบทูลว่า " ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท เรื่องนี้หาเป็นการหนักหนาอะไรไม่ ข้าพระองค์จักนำแก้วมณีมาถวายตามราชประสงค์เองพระเจ้าข้า "
พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้น ทรงเบาพระทัยคิดว่า วันนี้เราจักเห็นกำลังปัญญาของมโหสถบัณฑิต จึงเสด็จไปสู่สระโบกขรณีพร้อมด้วยข้าราชบริพาร

มโหสถบัณฑิตยืนอยู่ที่ฝั่ง มองดูแสงของแก้วมณีก็รู้ว่า แก้วมณีนี้ไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี เพราะเห็นเพียงประกายวูบวาบเท่านั้น ครั้นตรวจตราดูรอบๆ เห็นต้นตาลตั้งอยู่โดดเดี่ยว ใกล้ๆ สระ จึงมีความมั่นใจว่าดวงแก้วมณีนี้จะต้องอยู่บนต้นตาล จึงกราบทูลว่า " แก้วมณีไม่มีในสระโบกขรณี พระเจ้าข้า "

พระราชาทรงสดับเช่นนั้น ยังไม่ทรงเชื่อนัก เพราะความเห็นของมโหสถกับของท่านอาจารย์เสนกะดูต่างกันเหลือเกิน มโหสถจึงให้นำภาชนะสำหรับขังน้ำมาใส่น้ำจนเต็ม แล้วกราบทูล ว่า " ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทอดพระเนตรดูเถิด แสงของแก้วมณีไม่ได้ปรากฏเฉพาะในสระโบกขรณีเพียงแห่งเดียว แม้ในภาชนะนี้ก็ปรากฏเช่นกัน แสดงว่าแก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่อยู่ในรังกาบนต้นตาล โปรดให้ราชบุรุษขึ้นไปนำลงมาเถิด พระเจ้าข้า "

เมื่อราชบุรุษขึ้นไปบนต้นไม้ ได้พบดวงแก้วมณีอยู่ในรังกา ตามที่มโหสถบัณฑิตบอกไว้จริงๆ พระราชาทรงชื่นชมโสมนัสมาก ถึงกับพระราชทานสร้อยมุกดาหาร เครื่องประดับพระศอของพระองค์ให้มโหสถ พร้อมทั้งพระราชทานสร้อยมุกดามากมายให้กับเด็กผู้เป็นบริวารของมโหสถ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ชื่อเสียงของมโหสถเริ่มเป็นที่ประจักษ์ต่อมหาชนกันถ้วนหน้า ว่า เป็นผู้มีปัญญาเลิศกว่าท่านอาจารย์เสนกะมากมายนัก

วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานพร้อมด้วยมโหสถบัณฑิต มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอยู่ที่ต้นไม้ มันเห็นพระราชาเสด็จมา ก็ลงจากต้นไม้หมอบอยู่ที่พื้นดิน พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของกิ้งก่าแล้วอดสงสัยไม่ได้ จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิต ครั้นทรงทราบว่า กิ้งก่าตัวนี้ลงมาถวายความนอบน้อม จงรักภักดีต่อพระองค์ จึงมีพระเมตตาอยากมอบของที่ระลึกให้มัน มโหสถกราบทูลแนะนำว่า ควรจะให้มันได้กินเนื้อเป็นประจำทุกวัน สมกับที่มันมีความเคารพนอบน้อม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิ้งก่าจึงได้กินเนื้ออย่างดีมีราคาถึงครึ่งมาสก เมื่อถึงวันอุโบสถซึ่งชาวเมืองไม่ฆ่าสัตว์ ราชบุรุษหาเนื้อไม่ได้ จึงเจาะเหรียญครึ่งมาสก เอาด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับที่คอมัน

เมื่อกิ้งก่าได้เหรียญแค่ครึ่งมาสกเท่านั้น ก็ทำตัวประหนึ่ง ว่ามีสมบัติมากมาย เกิดอาการเย่อหยิ่งพองตัว ครั้นพระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน กิ้งก่าก็ทำตนเสมอพระราชา ไม่ลงจากต้นไม้มาแสดงคารวะเช่นเคย แต่ยกหัวร่อนไปร่อนมาอยู่บนต้นไม้ พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมัน จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า ทำไม เจ้ากิ้งก่าจึงมีกิริยาแตกต่างจากวันที่ผ่านมา มโหสถรู้ว่า ในวันอุโบสถคนจะไม่ฆ่าสัตว์ ราชบุรุษได้ให้ทรัพย์ครึ่งมาสกแก่เจ้ากิ้งก่า ด้วยทรัพย์เพียงแค่ครึ่งมาสกที่ราชบุรุษผูกไว้ที่คอ มันจึงถือตัวและแสดงอาการดังกล่าว

เมื่อพระราชาตรัสเรียกราชบุรุษมาตรัสถามว่า เป็นอย่างที่มโหสถกล่าวหรือไม่ ก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นจริงตามนั้น ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใสในมโหสถมากยิ่งขึ้น จึงพระราชทานส่วยที่ประตูทั้งสี่แก่มโหสถ แต่ก็ทรงกริ้วกิ้งก่ามากที่บังอาจมาทำตนเสมอพระองค์ ทรงปรารภจะให้ฆ่าเสีย อาศัยมโหสถทูลทัดทานไว้ว่า " ธรรมดาสัตว์เดรัจฉานหาปัญญามิได้ ขอพระองค์โปรดยกโทษให้มันเถิด เพราะความเมตตาเป็นคุณธรรม ที่พระองค์ควรจะธำรงไว้แม้ในสัตว์เดรัจฉาน " พระราชาสดับแล้ว ทรงมีพระทัยอ่อนโยน จึงไม่สั่งฆ่าตามคำทูลแนะนำของมโหสถ

นี่เป็นอีกตอนหนึ่งของการแสดงปัญญาอันเฉียบแหลมของมโหสถบัณฑิต เราจะเห็นได้ว่า นอกจากท่านจะเป็นคนมีปัญญาแล้ว ยังมีปฏิภาณเป็นยอด ช่างสังเกตเป็นเยี่ยม ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินความรู้ และความสามารถที่ได้เล่าเรียนมา พวกเราทุกคนต้องหมั่นแสวงหาปัญญา ให้รู้จักนำความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาทั้งในและนอกห้องเรียนมาใช้ประโยชน์ ให้ได้อย่างเต็มที่ จะได้ชื่อว่ามีทั้งศาสตร์และศิลป์ ปัญญายังช่วยเพิ่มพูนเกียรติยศชื่อเสียง ทำให้เป็นที่ยอมรับอีกด้วย การเจริญสมาธิภาวนา จะช่วยให้ปัญญาเราบริบูรณ์ขึ้น ฉะนั้น ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้ได้ทุกๆ วัน
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๕๖
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘