มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ - ครั้งหนึ่งในชีิวิตของลูกผู้ชาย

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
ผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ต้องเป็นผู้ที่มีใจสดชื่นเบิกบาน บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะเป็นสภาพใจที่เหมาะสมจะเข้าถึงพระรัตนตรัยได้ง่าย แต่การที่จะทำใจให้มีอารมณ์เช่นนี้ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นมาได้ทันที ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมใจ ค่อยๆสั่งสมความรู้สึกชนิดนี้ทีละเล็กทีละน้อย สั่งสมอารมณ์ดีอารมณ์สบาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ถ้าทำจนกระทั่งติดเป็นนิสัย เมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติธรรม เพียงแต่วางใจเบาๆ ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างสบายๆ ต่อเนื่องไป ก็จะประสบความสำเร็จ พบความสว่าง พบความสุขภายใน พบกายภายในและพบพระธรรมกาย
การฝึกฝนอบรมใจ ให้หยุดนิ่งให้เบิกบานแช่มชื่นทุกวันทุกคืน จะเป็นเสมือนเกราะแก้วคุ้มภัย ช่วยขจัดปัดเป่าอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ทำให้เราเกิดความเครียด ความขุ่นมัว ขัดเคืองใจ ให้หมดไป นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรจะดูเบา หากรักที่จะปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ต้องฝึกเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏใน สามัญญผลสูตร ความว่า

"สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา นยิทํ สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา เอกนฺตปริปุณฺณํ เอกนฺตปริสุทฺธํ สงฺขลิขิตํ พฺรหฺมจริยํ จริตุํ ยนฺนูนาหํ เกสมสฺสุํ โอหาเรตฺวา กาสายานิ วตฺถานิ อจฺฉาเทตฺวา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพเชยฺยํ
ฆราวาส คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต"

ชีวิตฆราวาส จะหาโอกาสว่างในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมีภารกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบ โอกาสในการประกอบกุศลธรรม ก็ทำได้น้อยกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งนี้เพราะการดำรงชีวิตของฆราวาส ต้องใช้เวลาในวันหนึ่งๆ หมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ต่อสู้ดิ้นรนทั้งเพื่อตนเองและครอบครัว จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์ ไหว้พระ ในแต่ละวัน
ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้ในทางธรรม ทั้งๆที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ขาดหลักของชีวิต คือ พระรัตนตรัย เมื่อขาดสิ่งนี้แล้ว ชีวิตย่อมจะไหลไปตามกระแสกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ต้องเสียเวลาไปกับกิจกรรมในทางโลก และยากที่จะมีโอกาสทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้น ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ ผู้รู้จึงได้กล่าวว่า ฆราวาสเป็นทางคับแคบ มีแต่ความอึดอัดใจ คับแค้นใจตลอดเวลา
สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับชั้นในทุกสังคม ไม่ ว่าจะเป็นสังคมระดับสูง ระดับผู้บริหารประเทศ ไปจนกระทั่งสังคมของบุคคลระดับหาเช้ากินค่ำ ถือว่าต่างดำเนินอยู่ในทางคับแคบเช่นเดียวกันหมด นอกจากนี้การอยู่ในสังคมที่มีทั้งคนดีและคนชั่ว บางครั้งก็เลี่ยงได้ บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ จึงมีโอกาสที่จะก่อกรรมทำเข็ญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ มีการเบียดเบียนกัน แก่งแย่งชิงดีกัน ให้ร้ายป้ายสีหรือประทุษร้ายกัน จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้ สิ่งเหล่านี้ คือ ทางมาแห่งธุลีกิเลส
ตราบใดที่คนเรายังครองชีวิตอยู่ในฆราวาสวิสัย ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อขัดเกลาตนเองให้หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้ นั่นหมายความว่า ตัวเราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอีกไม่รู้จบสิ้น หากบุคคลใดพลาดพลั้งก่อกรรมทำเข็ญ บุคคลนั้นย่อมจะต้องเสวยผลกรรมอยู่ในนรก โดยไม่มีผู้ใดมาช่วยได้เลย
ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้ประพฤติธรรม ทั้งทรงชี้ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐของการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอย่างชัดเจนว่า บรรพชาหรือชีวิตนักบวชนั้น เป็นทางปลอดโปร่ง เพราะความเป็นอยู่ของพระภิกษุ ย่อมมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ง่าย เมื่อเทียบกับชีวิตของผู้ครองเรือน โดยพระวินัยแล้ว การเลี้ยงชีพของพระภิกษุต้องขึ้นอยู่กับฆราวาส พระภิกษุจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการทำมาหากินแบบฆราวาส ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาและชีวิตเพื่อการศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยสะดวก
อีกทั้งยังเป็นการเอื้ออำนวย ให้พระภิกษุห่างไกลจากกามคุณได้มาก ซึ่งจะยังผลให้การประพฤติพรหมจรรย์นั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ชีวิตนักบวชมีโอกาสสร้างบุญกุศลทั้งปวง ได้สะดวกกว่าชีวิตฆราวาส
ดังเรื่องของ พระโสณโกฏิกัณณเถระ *ครั้ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ในสมัยนั้นพระมหากัจจายนะพักอยู่ที่ปวัฏฏบรรพต มีอุบาสกชื่อว่า โสณโกฏิกัณณะ เป็นโยมอุปัฏฐาก พระเถระจะให้โอวาทแก่อุบาสกเสมอๆว่า "บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย พึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด"
อุบาสกนั้น เป็นผู้มีปัญญา ได้สั่งสมบารมีมาเต็มพร้อมบริบูรณ์ เมื่อฟังโอวาทนั้น ได้นำไปพินิจพิจารณาอยู่เนืองๆ จนโอวาทนั้นกึกก้องย้ำเตือนอยู่ในใจตลอดเวลา ทำให้ท่านเห็นโทษภัยในการครองเรือน เห็นอานิสงส์ในการออกบวช

วันหนึ่ง ท่านเข้าไปหาพระเถระ เมื่อแสดงความเคารพแล้ว ท่านได้เล่าเรื่องความตั้งใจที่จะบวชให้พระเถระฟัง เมื่อพระเถระเห็นความตั้งใจในการที่จะบวชของลูกศิษย์ และเพื่อเป็นการตอกย้ำมโนปณิธานอันแน่วแน่ของศิษย์ จึงกล่าวว่า "ดูก่อนโสณะ พรหมจรรย์มีภัตรหนเดียว ต้องนอนผู้เดียวตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือน จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์อันมีภัตรหนเดียว นอนผู้เดียว ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด" แม้พระอาจารย์จะทักเช่นนี้ แต่ด้วยมโนปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบวชให้ได้ ท่านเพียรเข้าไปขออนุญาตพระเถระถึง ๓ครั้ง

พระเถระเห็นว่า อุบาสกมีอินทรีย์แก่รอบ มีอุปนิสัยที่จะบรรลุพระอรหัต จึงอนุญาตให้บวช แต่กว่าอุบาสกจะได้บวชนั้น ต้องใช้เวลานานถึง ๓ปี เนื่องจากชายแดนสมัยนั้นหาพระให้ครบ ๒๐รูปยาก เมื่ออุปสมบทไม่นาน ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ นามว่า โสณโกฏิกัณณะ ตลอดระยะเวลาที่พระเถระอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ก็ได้ยินแต่กิตติศัพท์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่เคยได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
วันหนึ่ง ท่านได้เข้าไปกราบขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ เพื่อจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระมหากัจจายนะกล่าวว่า "ดีล่ะๆ...โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระพุทธองค์เถิด ท่านจักได้ทัสสนานุตตริยะ พระองค์เป็นผู้น่าเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระหฤทัยสงบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นพระมุนีประเสริฐ ท่านจงถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา จงทูลถามถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงมีพระกำลัง ทรงอยู่สำราญเถิด"
พระโสณะชื่นชมยินดีภาษิตของพระอุปัชฌาย์แล้ว ก็ลุกจากอาสนะ อภิวาทกระทำประทักษิณพระอุปัชฌาย์ เก็บอาสนะแล้วถือบาตรและจีวร ออกเดินทางไปยังกรุงสาวัตถี เมื่อเดินทางถึงเมืองแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระวิหารเชตวัน หลังจากพระพุทธองค์ตรัสถามความเป็นอยู่ การเดินทางของพระโสณะแล้ว ได้ตรัสสั่งให้พระอานนท์จัดที่พักในพระคันธกุฎีหลังเดียวกับพระองค์ให้กับ พระโสณะ
คืนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งในกลางแจ้งตลอดราตรี แล้วทรงล้างพระบาทเสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้พระโสณะก็ปฏิบัติตามพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นกัน
ครั้นเวลาใกล้รุ่ง ทรงรับสั่งกับพระโสณะว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมให้แจ่มแจ้งเถิด" พระโสณะทูลรับแล้ว ได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖สูตร จัดเป็น ๘วรรค ด้วยสรภัญญะ เมื่อพระเถระกล่าวจบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาว่า "ดีล่ะๆ...ภิกษุ เธอเรียนดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ดูก่อนภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร"
พระเถระกราบทูลว่า "ข้าพระองค์มีพรรษาเดียว"
"เธอได้รำพันถึงชีวิตเช่นนี้เพื่ออะไร"
"ข้าพระองค์ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายตลอดสิ้นกาลนาน ทั้งชีวิตฆราวาสก็คับแคบ มีกิจมาก พระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า "พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในกาม เพราะได้เห็นโทษในโลกและได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิกิเลส"
เราจะเห็นว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาเช่นพระโสณะ เมื่อได้ฟังโอวาทจากพระอาจารย์แล้ว ท่านไม่ให้ผ่านไปเปล่า ยังนำมาสอนตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสฝึกตนสร้างบารมีได้เต็มที่ มีแต่กำไรชีวิตอย่างเดียว ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ เมื่อรู้ว่าการบวชเป็นหนทางแห่งความ บริสุทธิ์ มุ่งตรงต่อพระนิพพาน เป็นวัตถุประสงค์หลักในการเกิดมาเป็นมนุษย์ แม้ท่านจะต้องเสียเวลาในการรอคอยถึง ๓ปี ขอเพียงให้ได้บวชเท่านั้น ท่านก็รอคอยได้เสมอ
ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ใครมีเวลาว่าง หลวงพ่อขอเชิญชวนให้เข้ามาอบรมธรรมทายาทกัน ทั้งมัชฌิมธรรมทายาท ยุวธรรมทายาท ธรรมทายาทหญิง และมัชฌิมธรรมทายาทหญิง เราจะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะ ฝึกฝนอบรมตนเองให้สมบูรณ์ จะได้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงามว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต เราได้มีโอกาสมาประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน ดังเช่นบัณฑิตในกาลก่อน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. โสณสูตร เล่ม ๔๔ หน้า ๕๔๖

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘