มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร - สงเคราะห์บุตรให้เข้าถึงธรรม


มงคลที่ ๑๒

เลี้ยงดูบุตร -เลี้ยงลูกให้เจริญทั้ืงกายและใจ

ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์มรดกให้ในสมัยอันสมควร ๑ ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์ บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้

การเจริญสมาธิภาวนาเพื่อทำใจให้หยุดนิ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของมนุษย์ทุกๆ คน เพราะจะทำให้ชีวิตสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่อยู่เหนือปัญหาในโลก ไม่วิ่งวุ่นตามกระแสโลกที่รุ่มร้อนไปด้วยไฟ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ชีวิตของผู้ที่มีใจหยุดดีแล้ว เป็นชีวิตที่มีพลัง มีความบริสุทธิ์ มีอานุภาพที่จะทำความดีเอาชนะความชั่ว ขจัดความไม่บริสุทธิ์และสิ่งที่เป็นมลทินทั้งหลาย ให้ใจหลุดพ้นไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เราเกิดมาชาตินี้ จะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ บุคคลใดหยุดใจได้สมบูรณ์ บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะโลก ชนะปัญหาทุกอย่างและสมปรารถนาในทุกสิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สิงคาลกสูตร ว่า

"ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ
๑. ห้ามจากความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยาที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์มรดกให้ในสมัยอันสมควร
ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้"

การเลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตทั้งกายและใจ เป็นลูกแก้วลูกยอดกตัญญูจนเป็นที่ยอมรับของสังคม นำชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูลนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผลงานของพ่อแม่คือการมีลูกเป็นคนดีเป็นศรีสง่าแก่ครอบครัว แม้พระบรมศาสดาจะไม่ ส่งเสริมการมีคู่ครอง ไม่สนับสนุนการครองเรือนก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงแนะนำเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีลูกก็สั่งสอนเลี้ยงดูลูกให้ถูกต้องตามหลักพุทธวิธี ดังข้อความที่ยกมาจากสิงคาลกสูตรข้างต้น

การเลี้ยงลูกตามหลักพุทธศาสนานั้น ต้อง เริ่มต้นที่พ่อแม่ คือพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก เราอยากได้ลูกที่มีคุณธรรมสูง มีความกตัญญูกตเวที พ่อแม่ก็ต้องฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้นด้วยและทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง บุญในตัวของพ่อแม่จะดึงดูดให้ได้ลูกแก้วลูกผู้มีบุญที่เป็นยอดกตัญญู

การเลี้ยงลูกมี ๒ อย่าง คือ เลี้ยงดูทางโลกและเลี้ยงดูทางธรรม ซึ่งพ่อแม่จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน นอกจากเลี้ยงทางกายให้เจริญเติบโตแล้ว ต้องอบรมใจ โดยกันลูกออกจากบาปอกุศลและสอนให้ทำแต่ความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ แนะนำลูกให้ศึกษาธรรมะ ลูกจะได้มีความรู้คู่คุณธรรมไปด้วย จะได้ใช้วิชาชีพในทางที่ถูกต้อง เมื่อเติบโตขึ้นจะได้นำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล

ประการสำคัญ พ่อ แม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จะได้ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ ลูกจะได้มีความสุขความเจริญ ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า *เหมือนในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นลูกเศรษฐีในกรุงพาราณสี เมื่อเติบโตเจริญวัยและศึกษาศิลปะต่างๆ จบแล้ว ท่านได้แต่งงานกับลูกสาวของเศรษฐี ต่อมาภรรยาให้กำเนิดลูกชาย นางมีโอกาสเลี้ยงดูลูกเพียงปีเดียว ก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรม ทำให้ลูกชายต้องกำพร้าแม่ พระโพธิสัตว์จึงทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ เลี้ยงดูลูกน้อยด้วยความรักความเมตตาตลอดมา

เมื่อลูกอายุครบ ๕ ขวบ สามารถช่วยเหลือตนเองได้พอสมควรแล้ว พ่อจึงคิดจะพาลูกชายเข้าป่า เพื่อออกบวชเป็นดาบสแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ท่านตัดสินใจขนทรัพย์สมบัติทั้งหมดออกบริจาค จากนั้นได้พาบุตรชายเข้าป่าหิมพานต์ อธิษฐานเพศบรรพชิตบวชเป็นดาบส อาศัยผลหมากรากไม้เป็นอาหาร ได้รับความสุขในเพศนักบวช ดาบสสองพ่อลูกได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเคร่งครัดติดต่อกันมาเป็นเวลา ถึง ๑๒ ปี

ครั้งนั้น มีหญิงสาวคนหนึ่ง หลบหนีการจับกุมของพวกโจรที่พากันไปปล้นทรัพย์สินเงินทองของชาวบ้าน ทั้งยังจับนางพร้อมชาวบ้านสิบกว่าคนมาเป็นตัวประกัน นางพยายามคิดหาอุบายที่จะหลบหนีเอาตัวรอด เมื่อไปถึงชายป่าหิมพานต์เป็นเวลาค่ำแล้ว หัวหน้าโจรจึงสั่งให้ทุกคนหยุดพัก นางเห็นโอกาสดี จึงแสร้งบอกกับหัวหน้าโจรว่าจะไปขับถ่าย โจรเห็นว่าเป็นหญิง จึงไม่ทันเฉลียวใจ นางรีบถือโอกาสหลบหนีเข้าป่าลึกท่ามกลาง ความมืดนั้น
รุ่งเช้า นางเห็นกระท่อมหลังหนึ่ง จึงเข้าไปเพื่อขอน้ำดื่ม บังเอิญพบดาบสหนุ่มรูปงามซึ่งเป็นลูกของพระโพธิสัตว์ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับนาง ส่วนพระโพธิสัตว์กำลังเข้าป่าไปหาผลไม้ นางเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้กลับบ้าน จึงใช้มารยาหญิงทำให้ชายหนุ่มเกิดความกระสันและตกอยู่ในอำนาจ จากนั้นนางรีบชวนดาบสหนุ่มทิ้งการบำเพ็ญพรตในป่า เพื่อไปครองเรือนในเมืองด้วยกัน

ดาบสหนุ่มหลงใหลในตัวนางมาก ตัดสินใจจะเดินทางกลับเข้าเมือง แต่ด้วยความเคารพในบิดาจึงบอกว่า จะต้องขออนุญาตดาบสผู้เป็นบิดาก่อน ฝ่ายหญิงสาวเป็นคนมีปฏิภาณ นางเชื่อว่า ถ้าดาบสผู้เป็นบิดามาพบนางต้องเกิดเรื่องไม่ดีกับนางอย่างแน่นอน จึงรีบบอกว่า "ฉันจะขอเดินทางล่วงหน้าไปก่อน หากท่านขออนุญาตบิดาแล้ว ก็ให้ตามมา ฉันจะรอท่านอยู่ที่ปากทางเข้าเมือง"

เมื่อดาบสผู้เป็นบิดากลับมาที่กระท่อม สังเกตเห็นรอยเท้าของหญิงสาวที่เดินเข้าเดินออกจากกระท่อม จึงไต่ถามลูกชายถึงต้นสายปลายเหตุทั้งหมด ลูกชายได้บอกความในใจว่า ตนได้หลงรักหญิงสาวคนหนึ่ง และปรารถนาจะไปอยู่ครองเรือนด้วยกัน พ่อเห็นลูกมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเช่นนั้น รู้ว่าจะเอาอะไรมาฉุดก็ไม่อยู่ แต่ด้วยความรักและปรารถนาดีของพ่อที่มีต่อลูกชาย จึงให้โอวาทว่า

"ผู้ใด ไม่มีกรรมชั่วทางกาย ทางวาจาและทางใจ ลูกไปจากที่นี่แล้วจงทำตนเหมือนบุตรที่เกิดแต่อก คบหาสมาคมกับผู้นั้น ผู้ใดประพฤติธรรม แม้ประพฤติอยู่ ก็ไม่เย่อหยิ่ง หากลูกไปจากที่นี่แล้ว จงคบหาผู้นั้นซึ่งมีปกติทำกรรมอันบริสุทธิ์ มีปัญญา หากว่าพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นนี้ แม้จะพึงไร้มนุษย์เช่นนี้ไซร้ เจ้าก็อย่าคบหาคนผู้มีจิตวอกแวกดุจลิง เป็นดังผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น ผู้รักง่ายหน่ายเร็วเช่นนั้นเลย เจ้าจงหลีกเสียให้ห่างไกลเหมือนคนหวาดกลัวหลีกอสรพิษตัวดุร้ายแต่ไกล เหมือนคนเกลียดคูถ หลีกหนทางใหญ่อันเปื้อนคูถ เหมือนคนขับยานเลี่ยงหนทางที่ขรุขระ

ลูกรัก ความล้มเหลวในชีวิต ย่อมบังเกิดแก่ผู้คบหาสมาคมกับคนพาล ลูกอย่าสมาคมกับคนพาลเลย เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล นำแต่ความทุกข์มาให้ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรูในกาลทุกเมื่อ ลูกเอ๋ย เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า ลูกจงทำตามคำของพ่อ อย่าได้สมาคมกับคนพาลเป็นอันขาด เพราะการสมาคมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ชั่วกาลนาน"
ดาบสหนุ่มได้ฟังคำสอนของบิดาด้วยภูมิปัญญาของตน ก็รู้ทันทีว่า บัณฑิตในโลกนี้หาไม่ง่ายนัก การไม่เจอะเจอคนพาลในโลกนี้เป็นสิ่งหายาก มีแต่บิดาของตนนี่แหละที่เป็นยอดกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้ทางสวรรค์และนิพพาน ในที่สุดจึงตัดสินใจอยู่กับบิดา ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ต่อมาไม่นานก็ได้อภิญญาสมาบัติ เป็นผู้มีสุคติภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เราจะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน ท่านจะสอนลูกไม่ให้กับคบคนพาลเป็นประการสำคัญ ชีวิตจะรุ่งโรจน์หรือดับวูบเหมือนเปลวเทียนต้องลมพายุ ขึ้นอยู่กับการคบเพื่อน และเมื่อท่านสอนลูก ท่านสอนกันชนิดข้ามภพข้ามชาติ ชีวิตจะได้ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ มีสุคติภูมิเป็นที่ไปอย่างเดียว เพราะฉะนั้นท่านใดที่มีบุตรธิดาก็ให้ตั้งใจเลี้ยงดูให้ดี ให้เจริญเติบโตทั้งกายและใจ ร่างกายก็ให้สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจก็สอนให้ห่างไกลจากอบายมุขทั้งหลาย ให้มีศีล มีธรรม ให้ลูกรู้จักทำสมาธิภาวนา ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งปัญญาและให้ได้พบที่พึ่งภายใน เป็นทางรอดในสังสารวัฏให้ลูกปลอดภัยอย่างแท้จริง หากทำได้เช่นนี้ ผู้เป็นพ่อแม่จะได้ลูกแก้ว ลูกยอดกตัญญู ได้อภิชาตบุตรผู้ยังใจบิดามารดาให้อิ่มเอิบเบิกบาน อย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. จุลลนารทกัสสปชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๒๔๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘