มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๒)

มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๒)

ผู้ใดรู้แจ้งหนทางอันจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์ทั้งหลายจากพญามัจจุราช ประกาศธรรมอันเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทุกชนชั้น ผู้นั้นเป็นผู้สร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้สดับฟัง เราเรียกบุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้รู้ เป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญาฉลาดในธรรมที่ใช่ทางและมิใช่ทาง ผู้นั้นย่อมหาอาสวะมิได้ และเป็นผู้มีสรีระในภพนี้ถึงที่สุดแล้ว

ปัญญาที่แท้จริง คือ ปัญญาความรู้แจ้ง เพื่อการขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน หรือปัญญาเครื่องพ้นทุกข์ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ซึ่งปัญญาชนิดนี้เกิดขึ้นจากการเจริญสมาธิภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาความรู้แจ้งเห็นแจ้งที่เกิดจากการทำภาวนา หรือทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือตรงกึ่งกลางกาย และเมื่อใดที่ผู้มีใจหยุดใจนิ่งจนเกิดปัญญาชนิดนี้ มารวมกันทำงานที่แท้จริง มาผนึกพลังกันเพื่อค้นคว้าความรู้อันยิ่งในสรรพสิ่ง ทั้งหลาย โดยมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เมื่อนั้นสันติสุขที่แท้จริงย่อมจะบังเกิดขึ้น และจิตใจของมนุษยชาติ ก็จะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น ด้วยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มนุษย์ทุกคนจะมีใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง รวมทั้งต่อสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ทั้งหลายด้วย

มีพระพุทธวจนะใน วัสสการสูตร ว่า
"โย เวที สพฺพสตฺตานํ มจฺจุปาสา ปโมจน
หิตํ เทวมนุสฺสานํ เสยฺยธมฺมํ ปกาสยิ
ยญฺจ ทิสฺวา จ สุตฺวา จ ปสีทติ พหุชฺชโน
มคฺคามคฺคสฺส กุสโล กตกิจฺโจ อนาสโว
พุทฺโธ อนฺติมสารีโร มหาปุริโสติ วุจฺจติ

ผู้ใดรู้แจ้งหนทางอันจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์ทั้งหลาย จากพญามัจจุราช ประกาศธรรมอันเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทุกชนชั้น ผู้นั้นเป็นผู้สร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้สดับฟัง เราเรียกบุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้รู้ เป็นมหาบุรุษผู้มีปัญญาฉลาดในธรรมที่ใช่ทางและมิใช่ทาง ผู้นั้นย่อมหาอาสวะมิได้ และเป็นผู้มีสรีระในภพนี้ถึงที่สุดแล้ว"

ผู้มีปัญญาที่สามารถพาตัวเองให้หลุดพ้นจากภพทั้งสามไปได้ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และยังช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ให้หลุดพ้นตามไปด้วย ผู้นั้นถือว่าเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่เสียสละ มีความเมตตากรุณา และนำประโยชน์สุขมาให้แก่มหาชน ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะการแบ่งปันความรู้ที่เกิดจากปัญญาบริสุทธิ์นั้น เป็นการให้สิ่งที่ดีเลิศแก่เพื่อนมนุษย์ และถือเป็นธรรมทานที่เหนือกว่าการให้ทั้งปวง

การที่บุคคลใดแนะนำให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้ความจริงของชีวิต เช่น ให้รู้ว่าเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และทำอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการให้ความรู้อันประเสริฐ และให้ลู่ชีวิตที่ปลอดภัยในสังสารวัฏ เพราะเมื่อเขารู้แล้ว เขาจะได้ปรับเข็มทิศชีวิตให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน และมุ่งหน้าทำความดีเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ที่ถูกต้องสมบูรณ์ การแสวงหาปัญญาที่จะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารนี้ จึงเป็นปัญญาอันยอดเยี่ยม และเป็นปัญญาบารมีที่พวกเราทุกคนควรจะสั่งสมกันให้มาก เพื่อชีวิตที่ดีที่สุดทั้งในภพนี้และภพหน้า

เราจะมาศึกษาเรื่องของนายคามณิจันท์กันต่อ ซึ่งจากตอนที่แล้ว *เขาได้ตกเป็นจำเลย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขโมยโค จึงต้องจำยอมไปกับเจ้าของโค เพื่อไปรับการพิจารณาตัดสินคดีความ และทั้งคู่จะต้องเดินทางเข้าไปในเมืองพาราณสี ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ประมาณ ๓ โยชน์ หรือราว ๔๘ กิโลเมตร

ในระหว่างทาง เขาได้แวะพักเหนื่อยที่บ้านของสหายเก่า คนหนึ่ง เพื่อขอข้าวกิน เพราะว่าเดินทางมาหลายชั่วโมงแล้วยังไม่ได้กินข้าวเลย ขณะนั้นที่บ้านของสหายไม่มีข้าวสุก ภรรยาของสหายจึงได้ไต่บันไดปีนขึ้นไปบนยุ้งฉาง เพื่อไปตักเอาข้าวมาหุงให้บริโภค แต่เผอิญเธอพลาด พลัดตกลงมาจากยุ้งข้าว ทำให้ลูกในครรภ์ประมาณ ๗ เดือน ทะลักออกมา สามีของเธอจึงกล่าวโทษนายคามณิจันท์ว่า ไปตบตีภรรยาของตนจนแท้งลูก และกล่าวคำว่า "ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน" นายคามณิจันท์จึงต้องตกเป็นจำเลยของโจทก์รายที่สองทันที จากนั้นทั้งสามคน คือ พราหมณ์ สหายและเจ้าของโค ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองพาราณสีต่อไป

ในระหว่างทางทั้งสามพบคนเลี้ยงม้า ซึ่ง กำลังวิ่งไล่ม้าของตนอยู่ และม้าได้วิ่งผ่านมาทางคนทั้งสาม คนเลี้ยงม้าตะโกนให้นายคามณิจันท์ช่วยเอาอะไรปาม้าตัวนี้ เพื่อให้มันกลับมาเขารีบเอาก้อนหินปาใส่ม้า เผอิญไปถูกขาของม้าทำให้มันขาหัก คนเลี้ยงม้าก็เลยโทษเขาว่า เป็นคนทำร้ายม้าของตนจนขาหัก และกล่าวว่า "ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน" นายคามณิจันท์จึงต้องตกเป็นจำเลยของโจทก์คนที่สามอีก


ครั้นเดินทางมาถึงเขาลูกหนึ่ง นายคามณิจันท์รู้สึกท้อใจ ลำบากใจ คิดว่าเราควรจะตายเสียดีกว่า จึงหาโอกาสที่จะกระโดดเขาตาย คิดดังนั้นแล้ว พราหมณ์บอกกับโจทก์ผู้คุมทั้งสามคนว่า จะขอแวะไปถ่ายหนักที่พุ่มไม้ริมหน้าผา จากนั้นได้แอบกระโดดลงมาจากหน้าผา หวังจะฆ่าตัวตาย แต่เผอิญยังมีบุญอยู่ ยังไม่ถึงฆาต เขาตกลงมาผ่านใบไม้กิ่งไม้และต้นไม้ แล้วร่วงลงมาทับคนที่อยู่ข้างล่าง ซึ่งเป็นช่างทำเสื่อลำแพน ผลปรากฏว่า ช่างทำเสื่อผู้เป็นบิดา โดนทับตาย แต่ตัวเขากลับไม่เป็นอะไรมาก เพียงแค่บอบช้ำเล็กน้อย ลูกชายของช่างทำเสื่อจึงเอาเรื่องกับนายคามณิจันท์ กล่าวหาว่า นายคามณิจันท์มีเจตนาฆ่าบิดาของตน อีกทั้งกล่าวว่า "ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน" พราหมณ์ จึงต้องตกเป็นจำเลยอีก รวมแล้วตอนนี้มีโจทก์ทั้งหมด ๔ คน จากนั้นทั้งสี่พากันคุมตัวพราหมณ์ มุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังเมืองพาราณสี

เมื่อมาถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านใน ตำบลนั้น พอรู้ว่า นายคามณิจันท์จะเข้าไปยังเมืองพาราณสี และรู้ถึงกิตติศัพท์ความมีปัญญาเฉลียวฉลาดของพระราชาโพธิสัตว์ จึงได้ฝากคำถามเขา ให้ไปทูลถามพระราชาด้วยว่า เหตุไรหมู่นี้ตนจึงซูบผอม และเสื่อมจากลาภสักการะ ไม่พรั่งพร้อมบริบูรณ์เหมือนแต่ก่อน และถ้าพระราชาตรัสตอบอย่างไร ขอให้กลับมาบอกด้วย เขารับคำของผู้ใหญ่บ้าน แล้วออกเดินทางต่อไป

เมื่อมาถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง หญิงงามเมืองก็ ได้ฝากนายคามณิจันทร์ให้ช่วยทูลถามพระราชาด้วยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้จึงไม่มีผู้ไปมาหาสู่เหมือนแต่ก่อน ทั้งที่เมื่อก่อนเคยได่ค้าจ้างมากมาย

ครั้นมาถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง มีหญิงสาวคน หนึ่งขอให้ช่วยทูลถามพระราชาด้วยว่า เหตุไรเธอจึงไม่อาจอยู่ในเรือนของสามี และเรือนของมารดาบิดาของเธอได้ ถ้าพระราชาตรัสตอบอย่างไร ขอให้นำมาบอกด้วย เขารับคำของหญิงสาว และออกเดินทางต่อไป

เมื่อเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยจนถึงเนินแห่งหนึ่ง นายคามณิจันทร์และผู้คุมทั้งสี่คนพากันหาที่นั่งพัก ได้ไปนั่งใกล้ๆ จอมปลวกแห่ง หนึ่งซึ่งมีงูอาศัยอยู่ งูตัวนั้นเห็นเขาแล้วก็พูดจาด้วยภาษามนุษย์ว่า "ขอท่านจงช่วยทูลถามพระราชาด้วยว่า เหตุไรทุกครั้งที่ข้าพเจ้าจะออกจากรู ออกจากจอมปลวกนี้ จึงออกได้ยาก รู้สึกคับเนื้อคับตัวไปหมด แต่พอออกไปหาเหยื่อ ได้กินอาหารจนร่างกายอ้วนพีแล้ว ตอนกลับเข้ามาในปล่อง แทนที่จะเข้าไม่สะดวก กลับเข้าได้อย่างง่ายดาย ไม่ติดขัดอะไร เป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะฉะนั้นขอท่านได้ ช่วยถามพระราชาด้วย เมื่อพระองค์ตรัสชี้แจงอย่างไร ขอให้ท่านจงนำมาแจ้งข้าพเจ้าด้วย" เขารับคำเหมือนครั้งก่อนๆ ครั้นพักหายเหนื่อยแล้ว ต่างพากันออกเดินทางต่อไป

ในระหว่างทาง ได้พบเหตุการณ์อีกมากมาย และยังมีเรื่องราวที่จะโยงไปถึงพระราชาโพธิสัตว์อีกหลายเรื่อง วันนี้คงกล่าวได้ไม่หมด คงต้องทยอยมาเล่าให้ฟัง เรา จะได้เห็นถึงพระปัญญาอันลึกซึ้งของพระโพธิสัตว์ ที่สามารถตอบปัญหาทุกข้อได้อย่างแจ่มแจ้งยิ่งกว่าลืมตาเห็น และที่น่าทึ่งคือ ท่านยังทรงพระเยาว์อยู่ ขึ้นครองราชย์ตอนอายุเพียง ๗ ชันษาเท่านั้นและท่านจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่งต้องติดตามกันในตอนต่อไป

ขอให้เราตั้งใจสร้างบารมีกันให้เต็มที่ สั่งสมบารมีทุกๆ อย่างให้มากๆ โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นกรณียกิจที่เราจะต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้เป็นทางรอดของเราและชาวโลก เป็นสิ่งที่ดีจริง มีจริง ที่เราจะต้องเข้าไปถึงของจริงที่มีอยู่ภายในให้ได้ คือ พระรัตนตรัย เมื่อไรที่เรามีธรรมจักษุและญาณทัสสนะ เราย่อมจะรู้เห็นได้ด้วยตัวของเราเอง ตอนนี้เรากำลังฝึกฝนอยู่ ให้หมั่นปรารภความเพียรกันต่อไป ถ้าเมื่อไรเราได้เข้าถึงแล้ว เราก็จะหายสงสัย และจะได้ตั้งเข็มทิศชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน สู่เส้นทางของผู้รู้ผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ผู้มีสรีระในภพนี้ถึงที่สุดแล้ว คือ ได้เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วนั่นเอง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

ฉะนั้น เราควรจะให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนอบรมใจให้มากๆ นั่นคือ ต้องให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง ในการประพฤติ ปฏิบัติธรรม และต้องนำใจที่กระเจิดกระเจิงให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่ในกลางพระรัตนตรัย อยู่ในอู่แห่งทะเลบุญ เมื่อใจเรารวมหยุดนิ่งอยู่ภายในแล้ว ใจจึงจะมีพลังขับเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ในหนทางสายกลางของพระอริยเจ้า และปัญญาความรู้แจ้งเห็นแจ้งในสรรพธรรมทั้งหลายย่อมจะเกิดขึ้นกับเราทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. คามณิจันทชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘