มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - การให้ที่มีผลมาก (๑)


มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
การให้ที่มีผลมาก (๑)

เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว
ทักษิณาทานในพระตถาคตผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า
และในสาวกของพระองค์ ชื่อว่า มีผลน้อย ย่อมไม่มี

ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก คนส่วนใหญ่จึงมีความเชื่อว่า การจะประกอบกิจการ หรือทำงานใดให้ประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับดวง ถ้าใครดวงดี จะประกอบงานใด ก็เจริญรุ่งเรือง แต่ในทางกลับกัน ถ้าดวงไม่ดี จะจับหรือทำ สิ่งใดก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นก่อนตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง บางคนจึงต้องวิ่งไปหาหมอดูให้ผูกดวง ซึ่งถือว่าเป็นเคล็ดอย่างยิ่ง แท้ที่จริงแล้ว ดวงที่เราควรดูและเอาใจใส่ มิใช่ดวงโหราศาสตร์ หรือดวงดาว แต่เป็นดวงธรรมภายในตัวของเราต่างหาก ฉะนั้น อย่าเสียเวลา เสียทรัพย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ใช่สรณะ ควรหันกลับมาดูดวงใสภายในตัวของเราดีกว่า ธรรมดวงนี้สถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นฐานแห่งความสำเร็จของชีวิต ถ้าได้ดวงใส ชีวิตจะมีความสุขและความสำเร็จสมปรารถนา ฉะนั้นให้นำใจ มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า

"เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทานในพระตถาคต ผู้สัมมาสัมพุทธเจ้าและในสาวกของพระองค์ ชื่อว่า มีผลน้อย ย่อมไม่มี"
อานิสงส์ในการให้ทาน ที่จะส่งผลต่อตัวผู้ให้ยิ่งใหญ่ไพศาลเพียงไร เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก แต่ถึงอย่างไร พระบรมศาสดาทรงมีพระมหากรุณา แจกแจงเรื่องการให้ทานที่ถูกหลักวิชชาและไม่ถูกหลักวิชชาไว้อย่างละเอียดลออ เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะศึกษาให้ดี เพราะเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้ไม่นาน เดี๋ยวก็ต้องละจากโลกนี้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์ เมื่อมีเวลาเหลืออยู่น้อย จึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีที่ทำบุญน้อยแต่ให้ได้ผลมาก ทำบุญมากก็ให้ได้ผลมากทับทวี ให้ช่วงชีวิตอันแสนสั้นในโลกนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับพวกเราทุกๆ คน

*ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ทุกๆ เย็น ท่านเศรษฐีจะหาโอกาสไปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อฟังพระธรรมเทศนา แต่มีเรื่องที่แปลกอย่างหนึ่ง คือ หลังจากที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านได้เป็นกองเสบียง ทุ่มเทสนับสนุนงานพระศาสนาอย่างเต็มที่ แต่ท่านไม่เคยทูลถามปัญหากับพระบรมศาสดาเลย เพราะท่านมีความเกรงใจและคิดแทนพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน ถ้าพระองค์จะแสดงธรรม เพราะดำริว่า คฤหบดีมีอุปการะมากแก่เรา หากพระองค์จะแสดงธรรม ก็จะทรงลำบากเปล่าๆ

ฝ่ายพระบรมศาสดาทรงดำริว่า เศรษฐีนี้รักษาเราในฐานะที่ไม่ควรรักษา เพราะเหตุว่า เราได้ตัดศีรษะของเราที่ประดับประดาแล้ว ควักดวงตาของเราออก ชำแหละเนื้อหัวใจให้เป็นทาน สละลูกเมียผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิต บำเพ็ญบารมีนานอยู่ถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัป เราบำเพ็ญมหาทานบารมีทั้งหมดนี้ ก็เพื่อแสดงธรรมแก่ผู้มีบุญ แต่ท่านเศรษฐีนี้รักษาเราในฐานะที่ไม่ควรรักษา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ให้พุทธบริษัทได้รับฟังกัน

หลังจากแสดงธรรม พระพุทธองค์ได้ตรัสถามท่านเศรษฐีว่า "ดูก่อนคฤหบดี ในตระกูลของท่านยังให้ทานดีอยู่หรือ"

บังเอิญในช่วงนั้น เศรษฐกิจการเงินของท่านเศรษฐีฝืดเคืองมาก แต่แม้เงินทองจะร่อยหรอลงไปทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังมีศรัทธาที่จะถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์ตามปกติ ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานตามปกติอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง มีเพียงข้าวปลายเกรียนกับน้ำผักดองเท่านั้น"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของการให้ทาน คราใด เมื่อทานเผล็ดผลในตระกูลของเขา จิตของเขานั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อนุ่งห่มผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อใช้สอยยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนรับใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปในที่อื่นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพนั่นเอง
ดูก่อนคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของการให้ทาน คราใดเมื่อทานเผล็ดผลในตระกูลของเขา จิตของเขาผู้ให้ทานในตระกูลนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี น้อมไปเพื่อนุ่งห่มผ้าอย่างดี น้อมไปเพื่อใช้สอยยานอย่างดี น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนรับใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเป็นเพราะผลของกรรมที่ตนทำโดยเคารพ

ดูก่อนคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อ เวลามะ พราหมณ์ นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก และของที่ประณีตชนิดต่างๆ อีกเป็นอันมาก ถวายทานตัดขาดออกจากใจ

ดูก่อนคฤหบดี สมัยนั้นเราคือเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิไณยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด ถึงกระนั้นเราก็ยังทำทานจนตลอดชีวิต ทานที่ท่านเชื้อเชิญ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิหนึ่งท่าน บริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยองค์บริโภค...

เมื่อพระบรมศาสดาทรงชี้แจงการถวายทานที่ถูกหลักวิชชาแก่ท่านเศรษฐีโดยพิสดาร แล้ว ทรงให้กำลังใจท่านเศรษฐีให้เป็นผู้รักในการให้ทานต่อไปว่า
"นตฺถิ จิตฺเต ปสนฺนมฺหิ อปฺปกา นาม ทกฺขิณา
เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ถวายทานในทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ทานที่ถวายแล้ว ไม่ชื่อว่ามีผลเล็กน้อยเลย"

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านเศรษฐีก็ทุ่มเทถวายทานด้วยจิตเลื่อมใสตามปกติ และเมื่อช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฝืดเคืองผ่านไป ท่านก็กลับมารวยรอบสอง และสามารถถวายภัตตาหาร อันประณีตแด่ภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากได้ดังเดิม

เราจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้ทานที่ถูกหลักวิชา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การให้ที่มุ่งถึงปฏิคาหก ถ้าทักขิไณยบุคคลมีความละเอียดของภูมิธรรมสูงขึ้นไป ก็จะยิ่งมีอานิสงส์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันพวกเราทั้งหลายนับว่ายังโชคดีอยู่ เพราะเรายังมีภิกษุสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญให้ได้ทำทานอยู่ ก็ให้ดีใจไว้เถิดว่า เรายังโชคดีกว่าเวลามพราหมณ์มากมายนัก ที่ยังได้มีโอกาสทำบุญกับทักขิไณยบุคคล ขอให้พวกเราทุกคนหมั่นสั่งสมบุญให้เต็มที่ และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไป จนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. เวลามสูตร เล่ม ๓๗ หน้า ๗๗๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘