มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต - รอดชีวิตเพราะพหูสูต

มงคลที่ ๗

เป็นพหูสูต - รอดชีวิตเพราะพหูสูต

นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์นั้น
นักปราชญ์นั้น ผู้อื่น กล่าวชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย
การสมาคมคบหากันกับนักปราชญ์นั้นเป็นความดี


มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการร้อยรัด กระทั่งเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงมุ่งหน้าแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เตรสนิบาต ว่า

นยํ นยติ เมธาวี อธุรายํ น ยุญฺชต
สุนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต น กุปฺปต
วินยํ โส ปชานาติ สาธุ เตน สมาคโม

นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์นั้น นักปราชญ์นั้น ผู้อื่น กล่าวชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมคบหากันกับนักปราชญ์นั้นเป็นความดีŽ

ผู้ที่หมั่นฟังธรรม ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมมามาก ตลอดทั้งทรงจำไว้ และเป็นคนช่างสังเกต เราเรียกว่า พหูสูต คุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา เป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และจะนำไปสู่การบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

*เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ปุโรหิต ชื่อว่า เสนกบัณฑิต มีปัญญามาก อยู่ ในเมืองพาราณสี เสนกบัณฑิตเป็นผู้ฟังมาก ศึกษาเล่าเรียนมาก ได้เล่าเรียนศึกษาศิลปศาสตร์ทุกอย่างจากเมืองตักสิลา ต่อมาพระราชาแหˆงเมืองพาราณสีทรงแต่งตั้งให้เป็นอำมาตย์ ประกอบ ไปด้วยยศ บริวาร เสนกบัณฑิตได้ถวายอรรถธรรมแก่พระราชาเป็นประจำ ในวันอุโบสถศีลก็แสดงธรรมสั่งสอนมหาชน โดยมีพระราชาของเมืองพาราณสีทรงเป็นประธาน

ครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์ชราขอทานคนหนึ่ง เที่ยวขอทานมานาน จนได้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผู้หนึ่ง ต่อมาพราหมณ์ที่รับฝากทรัพย์ไว้นั้น ได้นำทรัพย์ของพราหมณ์ชราไปใช้สอยจนหมด พอพราหมณ์ชรามาทวงทรัพย์คืน ก็จนใจที่หาทรัพย์คืนให้ไม่ได้ จึงยกลูกสาวของตนให้แทน พราหมณ์ชราก็พานางพราหมณี รุ่นสาวคราวลูกมาบ้านของตน อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา
ต่อมา นางพราหมณีนอกใจสามี ไปคบชายอื่น และอยากให้สามีจากไปไกลๆ จึงขอให้พราหมณ์ชราไปเที่ยวแสวงหาทรัพย์ เพื่อซื้อทาสมาช่วยทำงานบ้าน พราหมณ์ชราได้ฟังดังนั้น จึงให้นางจัดเตรียมข้าวสตุก้อนข้าวสตุผงใส่ในถุงหนังให้เต็มเพื่อเป็นเสบียง เดินทาง พราหมณŒชราเที่ยวขอทานในเมืองน้อยใหญ่ จนได้ทรัพย์มา ๗๐๐ กหาปณะ เห็นว่าน่าจะพอแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน
ระหว่างทาง ได้แวะพักในบริเวณที่มีน้ำท่าสะดวกสบาย แล้วแก้ถุงเอาห่อข้าวสตุก้อนข้าวสตุผงออกมาบริโภค เมื่อบริโภคอิ่มแล้วก็ลงไปดื่มน้ำ โดยไม่ได้ผูกปากถุง งูเห่าตัวหนึ่งได้กลิ่นข้าวสตุ จึงเลื้อยเข้าไปอยู่ในถุง ขดตัวนอนกินข้าวสตุ ครั้นพราหมณ์ดื่มน้ำแล้ว ก็ผูกปากไถ้พลางยกขึ้นใส่บ่าออกเดินทางต่อไป โดยไม่ได้สังเกตว่ามีอะไรแปลกปลอมมาในถุงนั้น

ครั้งนั้น รุกขเทวดาที่อยู่ในต้นไม้ต้นหนึ่งมีความกรุณาต่อพราหมณ์ จึงยืนอยู่ที่คาคบต้นไม้ และกล่าวว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านอยู่แรมคืนในระหว่างทาง ตัวของท่านจะต้องตายในวันนี้ แต่ถ้าท่านรีบไปถึงบ้านภายในค่ำนี้ ภรรยาของท่านก็ต้องตายในวันนี้แทนท่าน" พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็กลัวตาย แต่ห่วงภรรยาไม่อยากให้ตายเหมือนกัน จึงได้แต่เดินร้องไห้คร่ำครวญมาจนถึงเมืองพาราณส

บังเอิญวันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ มหาชนทั้งหลาย ต่างถือดอกไม้ และของหอม พากันไปฟังธรรมจากเสนกบัณฑิต พราหมณ์เห็นดังนั้น ก็เดินไปกับคนเหล่านั้น เพราะหวังจะฟังธรรมเพื่อจะได้ดับความทุกข์ ครั้นไปถึง พราหมณ์ก็ยืนแบกไถ้ร้องไห้อยู่ท้ายสุดของมหาชน
เสนกบัณฑิตเห็นพราหมณ์แล้ว ได้ไต่ถามพราหมณ์ว่า ทำไมถึงมายืนร้องไห้อยู่ตรงนี้ พราหมณ์ได้เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง พระโพธิสัตว์มองเห็นถุงอยู่บนคอของพราหมณ์ก็พิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาด รู้ถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นราวกับมีทิพยจักษุ จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า "เราเข้าใจว่า งูได้กลิ่นข้าวสตุ จึงเลื้อยเข้าไปอยู่ในถุง ถ้าท่านพักแรมคืนกลางทางในวันนี้ เวลาเย็นเมื่อท่านจะกินข้าวสตุ ท่านสอดมือลงไปในถุง งูจะกัดมือท่าน ท่านจะต้องตาย แต่ถ้าท่านรีบไปถึงบ้านภายในค่ำนี้ ภรรยาของท่านจะล้วงมือเข้าไปหยิบเอาทรัพย์ในไถ้ งูจะกัดภรรยาของท่านให้ถึงความตาย รุกขเทวดาจึงกล่าวกับท่านเช่นนั้น ท่านจงลองวางถุงลงท่ามกลางมหาชน แก้ปากไถ้และเอาไม้เคาะ งูจะเลื้อยออกมา" เมื่อพราหมณ์ทำตาม งูก็เลื้อยออกมาจากถุง มันเห็นคนมากมายจึงได้หยุดอยู่ หมองูคนหนึ่ง เห็นเช่นนั้นจึงจับไปปล่อยในป่า

มหาชนเห็นดังนั้น พากันชื่นชมสรรเสริญปัญญาของเสนกบัณฑิต เสียงแซ่ซ้องสาธุการเป็นโกลาหล ราวกับว่าพื้นแผ่นดินจะทรุด ฝนแก้ว ๗ ประการ ได้ตกลงมากระทำสักการบูชาแก่พระโพธิสัตว์ ฝ่ายพราหมณ์ชราได้ยกทรัพย์ทั้งหมดที่ตนได้มา น้อมเข้าไปบูชาแก่เสนกบัณฑิตทั้ง ๗๐๐ กหาปณะ แต่ เสนกบัณฑิตไม่ได้รับทรัพย์นั้นไว้ กลับมอบทรัพย์เพิ่มเติมให้อีก ๓๐๐ กหาปณะ ให้ครบ ๑,๐๐๐ กหาปณะ

พราหมณ์ชราได้พ้นจากความตาย ด้วยความเป็นพหูสูตของเสนกบัณฑิต ความเป็นพหูสูตนี้เอง ทำให้เสนกบัณฑิตได้บำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมีให้บริบูรณ์ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในจริยาปิฎกว่า "เราค้นหาด้วยปัญญา ปลดเปลื้องพราหมณ์จากทุกข์ ผู้เสมอเราด้วยปัญญาไม่มี นี้เป็นปัญญาบารมีของเรา" ซึ่งการสร้างบารมีของท่านในครั้งนั้นนับว่าเป็นระดับปัญญาปรมัตถบารมี

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า เสนกบัณฑิตได้สำเร็จประโยชน์ในชาตินี้ คือ ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้เป็นอำมาตย์และเป็นนักปราชญ์อันประเสริฐ อีกทั้งได้สำเร็จประโยชน์ในชาติหน้า คือ จะได้เสวยผลบุญที่ตนได้แสดงธรรมสั่งสอนมหาชนทั้งปวง ผลบุญที่ได้ปลดเปลื้องพราหมณ์ชราให้พ้นจากความตาย ตลอดทั้งได้บำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมีให้บริบูรณ์ เพราะอาศัยความเป็นพหูสูตของตนโดยแท้

อย่างไรก็ตาม พหูสูตที่ได้รับการสรรเสริญจากผู้รู้ทั้งหลายนั้น จะต้องเข้าถึงสุตะ คือ ปฏิบัติได้ตามที่ตนรู้ด้วย เพราะธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องปฏิบัติจริง จึงจะรู้แจ้งเห็นจริง และมีธรรมเครื่องดับทุกข์ในตนได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญพหูสูตผู้มีธรรมเครื่องดับทุกข์ในตนว่า "ใครจะควรติเตียนบุคคลผู้ได้สดับมาก ทั้งเป็นผู้ทรงธรรม กอปรด้วยปัญญา เป็นสาวกพระพุทธเจ้า ราวกับแท่งทองชมพูนุทนั้นเล่า แม้เหล่าเทวดาย่อมชื่นชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ"

พหูสูตที่เข้าไม่ถึงสุตะ คือ ได้ยินได้ฟังมาแล้ว ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติแต่ยังเข้าไม่ถึง ย่อมไม่สามารถทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงแท้ได้ เขาจะยังมีสิ่งที่สงสัยมากมายที่หาคำตอบไม่ได้ เกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิตว่า ชีวิตนี้คืออะไร มีจุดกำเนิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต

ธรรมกาย คือ ธรรมเครื่องดับทุกข์ในตน เมื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ทุกข์ทั้งหลายก็จะดับไป เมื่อทุกข์ดับไป จะมีแต่ความสุขเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ที่เรียกว่า เอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ธรรมกายจะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสิ่งที่เราเคยสงสัย เห็นแจ้งได้ ด้วยธรรมจักษุของพระธรรมกาย และรู้แจ้งได้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกาย ซึ่งซ้อนอยู่ในกลางกายฐานที่ ๗ ทำให้รู้แจ้งแทงตลอดทั้งในภพสาม และนอกภพ กระทั่งในอายตนนิพพาน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. เสนกชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๒๖๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘