มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน - อดทนให้ถึงที่สุด



มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน
อดทนให้ถึงที่สุด

ความอดทน คือ ความอดกลั้น
เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยอดเยี่ยม


สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ตาม ตัวของเรา บุคคลอื่นหรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง คือ ไม่เที่ยง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกวินาที และสูญสลายในที่สุด ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น เราควรแสวงหาของจริง ที่จะนำความสุขที่แท้จริงมาให้แก่ตัวเรา คือ ธรรมกายŽ ที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างถูกวิธี โดยอาศัยความเพียรและขันติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต่างทรงสรรเสริญขันติธรรมว่า เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง สำหรับชีวิตนักสร้างบารมี ดังที่ทรงแสดงไว้ใน โอวาทปาติโมกข์ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยอดเยี่ยมŽ

ตลอดชีวิตการสร้างบารมีของพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยขันติธรรมอันเลิศ เรื่อยมาทุกภพทุกชาติ *ดังเช่นครั้งที่บังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ในวันที่พระองค์ประสูติ พระราชามีรับสั่งให้พราหมณ์มาพยากรณ์พระโอรส เมื่อพราหมณ์เห็นลักษณะอันสมบูรณ์ของพระโอรส จึงกราบทูลว่า ทั่ว พื้นปฐพีนี้จะหาบุรุษผู้เลิศอย่างนี้ ย่อมไม่มี พระโอรสทรงพระรูปโฉมงดงาม มีพระวรรณะประดุจทองคำ ทรงเปี่ยมด้วยบุญญาบารมี จะเป็นผู้นำสันติสุขมาสู่ปวงประชาในมหาทวีปทั้ง ๔Ž

พระราชาได้สดับคำพยากรณ์ของพราหมณ์ ทรงดีพระทัยยิ่งนัก และในวันนั้นฝนได้ตกทั่วทั้งพระนคร นำความชุ่มเย็นมาสู่ชาวเมือง และยังพระทัยของพระราชาให้ชุ่มชื่นเบิกบาน จึงทรงขนานนามพระโอรสว่า เตมียกุมารŽ ซึ่งแปลว่า ผู้ยังใจให้ชุ่มชื่น

เมื่อเตมียกุมารมีพระชนม์ได้เพียง ๑ เดือน ทรงทอดพระเนตรเห็นราชบุรุษ นำโจร ๔ คน มายังหน้าพระที่นั่ง และพระราชามีรับสั่งให้ลงพระอาญาโจรทั้งสี่อย่างรุนแรง พระกุมารทรงมีความสะดุ้งหวาดกลัว จึงดำริว่า พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติ และอำนาจแห่งพระราชา ประกอบกรรมหนักเช่นนี้ จะต้องไปบังเกิดในมหานรกแน่นอน

พระกุมารทรงระลึกชาติหนหลัง ก็รู้ว่าก่อนที่ตนจะมาเกิดในพระราชฐานนี้ ได้จุติมาจากเทวโลก และทรงระลึกย้อนไปอีกว่า ก่อนที่จะอยู่ในเทวโลก ได้มาจากมหานรกขุมหนึ่ง และก่อนที่จะตกนรก ได้ เคยเกิดเป็นพระราชาอยู่ในแคว้นนี้เอง จึงทรงดำริว่า ถ้าเราครองราชสมบัติอีก ก็จะต้องสร้างกรรม และต้องเสวยทุกข์ใหญ่ในมหานรกอีกอย่างแน่นอน จึงเกิดความกลัวในสิริราชสมบัติ ทอดพระเนตรเห็นพระราชวัง เหมือนกับแดนประหารมนุษย์ ต้องการหาอุบายที่จะพ้นไปจากพระราชวังนี้ จึงแสร้งทำเป็นคนง่อยเปลี้ย หูหนวก และเป็นใบ้ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งมีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา

พระราชาเข้าพระทัยว่า พระกุมารเป็นคนพิกลพิการ ก็ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพราหมณ์กราบทูลว่า พระกุมารเป็นตัวกาลกิณี จะนำภัยมาสู่พระองค์ กับพระมเหสี และจะเป็นอันตรายต่อเศวตฉัตรของพระองค์ ควรให้นำพระกุมารไปฝังในป่าช้าผีดิบเสียŽ พระราชาหลงเชื่อ จึงมีรับสั่งให้ทำตามนั้น

ฝ่ายพระเทวีได้สดับกระแสรับสั่งแล้ว ทรงเศร้าโศกมาก ประหนึ่งว่าพระทัยจะแตกสลาย ได้แต่รำพันที่จะต้องพลัดพรากจากพระโอรส แต่พระกุมารกลับมีพระทัยโสมนัส ดำริว่า ความพยายามที่เราทำมาตลอด ๑๖ ปี จะสำเร็จสมปรารถนาแล้ว

พอรุ่งเช้า สารถีก็นำเตมียกุมารประทับนั่งบนราชรถ พระกุมารทอดพระเนตรเห็นพระชนนีร่ำไห้จนกระทั่งหมดสติไป ก็ทรงข่มความรู้สึกไว้ ไม่ตรัสอะไร ทรงดำริว่า ถ้าเราพูดออกไปตอนนี้ ความพยายามที่ได้ทำมาตลอด ๑๖ ปี ก็จะไร้ผล แต่ถ้าเราไม่พูด ประโยชน์ก็จะสำเร็จแก่เรา แก่พระชนกชนนี และมหาชนทั้งหลาย จึงทรงข่มความโศกไว้

สารถีได้พาพระกุมารออกจากเมือง เมื่อออกจากพระนคร ได้ ๓ โยชน์ ก็ถึงป่าทึบแห่งหนึ่ง สารถีจึงหยุดราชรถ แล้วคว้าจอบเดินไปขุดหลุม

เตมียกุมารทรงทดลองขยับพระหัตถ์และพระบาท ก็รู้ว่ายังมีกำลังแข็งแรงอยู่ จึงทรงก้าวลงจากราชรถ และเสด็จดำเนินไปมา ๒-๓ เที่ยว แล้วทรงจับท้ายรถยกขึ้น เพื่อจะทดสอบพระกำลัง ราชรถนั้นก็ถูกยกขึ้นอย่างง่ายดาย

พระกุมารเสด็จดำเนินไปหานายสารถี ซึ่งกำลังขุดหลุมอยู่ ประทับยืนที่ปากหลุม แล้วตรัสว่า นายสารถี ท่านจะขุดหลุมฝังเราทำไม เราไม่ใช่คนง่อย ไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนใบ้ ไม่ใช่คนพิกลพิการŽ

นายสารถีเงยหน้าขึ้นมองดู เห็นพระโอรสประทับยืนอยู่ก็ตกตะลึง จึงกราบลงแทบพระยุคลบาท อ้อนวอนให้เสด็จกลับพระราชวัง แต่พระกุมารทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะบวชอยู่ในป่าแห่งนี้ ทรงอุทานว่า ความหวังของเราสำเร็จแล้วด้วยดี เพราะไม่ใจเร็วด่วนได้ ประโยชน์ที่ชอบย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจร้อน จึงได้ความอิสระในที่สุด เพราะปัญญาและการเห็นธรรม บุคคลจึงไม่ก่อเวรกับใครŽ

นายสารถีฟังแล้วคิดว่า ขนาดราชกุมารยังทรงอดทนทุกอย่าง เพื่อจะให้พ้นจากราชสมบัติ แล้วเราเป็นเพียงสามัญชน ทำไมจะสละชีวิตไม่ได้ จึงทูลขอบวชตาม แต่พระกุมารรับสั่ง ให้นำราชรถกลับไปคืนก่อน จะได้บรรพชาโดยไม่เป็นหนี้

เมื่อนายสารถีกลับถึงพระนคร ได้กราบทูลพระราชาว่า พระโอรสมีรูปสมบัติงดงาม สมบูรณ์ด้วยกำลัง พระกระแสเสียงก็ไพเราะ เป็นมหาบุรุษที่ยากจะหาบุรุษใดมาเทียบเท่าŽ พระราชาทรงดีพระทัยเป็นล้นพ้น จึงตรัสเรียกเสนาอำมาตย์มาเข้าเฝ้า และทรงมีรับสั่งให้เตรียมราชรถ ไปอัญเชิญพระโอรสเสด็จกลับพระนครทันที

ฝ่ายเตมียกุมารทรงเบิกบานพระทัยในชีวิตของนักบวชที่เป็นอิสระ มีความสุขในเพศสมณะ ได้ประทับนั่งใต้โคนไม้ บำเพ็ญภาวนาจนได้บรรลุฌานสมาบัติ ทรงอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม มีพระอินทรีย์ผ่องใส

เมื่อพระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารมาถึง เตมียดาบสก็ปฏิสันถารเป็นอย่างดี แต่เมื่อพระราชาทรงขอร้องให้กลับไปรับราชสมบัติ พระดาบสก็ปฏิเสธ และได้แสดงธรรมถวายพระชนกว่า คนหนุ่มควร ประพฤติพรหมจรรย์ การบรรพชาของคนที่ยังแข็งแรง ผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ อาตมภาพไม่มีความปรารถนาในราชสมบัติ เพราะมฤตยูย่อมรุกรานอยู่เป็นนิตย์ ชีวิตเป็นของน้อยเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อย จักทำอะไรได้ การอภิเษกจะมีประโยชน์อะไรŽ

พระราชาและพระเทวีทรงเลื่อมใส มีพระประสงค์จะผนวช นางนมและเหล่าอำมาตย์ก็ปรารถนาจะบวชตาม พระราชาจึงมีรับสั่ง ให้ป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า ผู้ใดต้องการจะบวชก็เชิญบวชได้Ž แล้วให้เปิดท้องพระคลัง สละราชสมบัติทั้งหมด บรรดาชาวเมืองต่างทิ้งบ้านเรือนพากันออกบวชหมด และได้เป็นผู้เข้าถึงฌานสมาบัติ เสวยสุขอยู่ในฌาน

เมื่อพระราชาเมืองอื่น ทรงทราบข่าวการออกผนวชของพระราชา และชาวเมืองแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงสละราชสมบัติ ออกผนวชตามเป็นจำนวนมาก และได้บรรลุอภิญญาสมาบัติกันถ้วนหน้า ละโลกไปแล้ว ก็เข้าถึงพรหมโลก และสุคติโลกสวรรค์

เพราะฉะนั้น ความอดทนเป็นสิ่งประเสริฐ ที่จะยังประโยชน์ให้สำเร็จ และนำความสุขมาให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถ้าเราเข้มแข็งและหนักแน่นในอุดมการณ์ อดทนทำความดีโดยไม่หวั่นไหว ไม่ยอมสูญเสียมโนปณิธานอันสูงส่งที่จะไปให้ถึง ที่สุดแห่งธรรม มุ่งมั่นที่จะทำโลกนี้ให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง

สักวันหนึ่งสิ่งที่บรรพบุรุษและตัวเรา รวมทั้งชาวโลก ทั้งหลาย ที่มีความปรารถนาร่วมกัน อยากจะเห็นสันติภาพของโลก ก็จะสมปรารถนาอย่างแน่นอน ขอให้เพียรพยายามต่อไป ในเส้นทางแห่งการสร้างบารมี และหมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้ทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เตมิยชาดก เล่ม ๖๓ หน้า ๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘