มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน - ขันติธรรมอยู่ที่ไหน

กุลบุตรใดไม่มีความพยาบาท ไม่เบียดเบียน มีความสงบวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะ กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ ฌานอันยอดเยี่ยมภายใน เกิดขึ้นในบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมพ้นไปจากโลก โดยความแน่ใจว่ามีชัยชนะโดยแท้
สิ่งที่เป็นความปรารถนาของทุกๆคน ในการดำรงชีวิตอยู่นั้น คือ อยากจะให้ชีวิตมีความสุข ประสบแต่ความสำเร็จสมหวัง ไม่มีอุปสรรค หรือสิ่งที่จะมาบั่นทอนกำลังใจ อันจะนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจ แต่น้อยคนนักที่จะสมปรารถนาในชีวิต
ทั้งนี้ เพราะความทะยานอยาก ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนขวนขวาย เสาะแสวงหาในสิ่งที่ตนเองคิดว่า จะเพิ่มเติมความสุขหรือส่วนที่บกพร่องของชีวิตให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้ จึงแสวงหากันร่ำไป ทั้งๆที่ตนเองก็ยังไม่ทราบว่า หนทางแห่งความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร
เมื่อไม่ทราบ ทำให้ชีวิตต้องเวียนวนอยู่กับเรื่องการทำมาหากิน เพลิดเพลินในเบญจกามคุณ หลงใหลในเกียรติยศ ชื่อเสียงเงินทอง พระบรมศาสดาทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากใจที่หยุดนิ่ง เพราะสุขอื่นนอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี ใจที่สงบหยุดนิ่งจะเป็นต้นทางแห่งความสุข และความสำเร็จของชีวิต
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน พราหมณสูตร ว่า...
กุลบุตร ใดไม่มีความพยาบาท ไม่เบียดเบียน มีความสงบวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะ กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ ฌานอันยอดเยี่ยมภายใน เกิดขึ้นในบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมพ้นไปจากโลก โดยความแน่ใจว่ามีชัยชนะโดยแท้
การเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อไปสู่อายตนนิพพาน ต้องอาศัยกำลังใจที่สูงส่ง อาศัยกำลังบุญบารมีที่มากมายมหาศาล จึงจะไปถึงจุดหมายได้ เหมือนเรือจะข้ามฟากมหาสมุทร ต้องมีการตระเตรียมสัมภาระให้พร้อม เพราะภัยในมหาสมุทรมีมากมาย ทั้งภัยจากสัตว์ร้าย ภัยจากคลื่นลมมรสุม และภัยจากสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ส่วนการเดินทางข้ามทะเลทุกข์แห่งสังสารวัฏนั้น ก็ต้องอาศัยเสบียงในการเดินทาง คือ บุญกุศล ถ้ามีบุญบารมีไม่มากพอ ก็ไม่สามารถจะข้ามพ้นชาติ ชรา และมรณะไปได้ จะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ร่ำไป
บารมีที่สำคัญที่นักสร้างบารมีทั้งหลายต้องมีอยู่ในจิตใจ คือ ขันติบารมี ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง ที่ จะนำเราก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต เพราะในขณะเดินทางไกลจะต้องเจอปัญหา และอุปสรรคนานัปการ ถ้าหากว่าเรามีความอดทนแล้ว แม้มรสุมร้ายจะถาโถมเข้ามากระทบนาวาชีวิต ระลอกแล้วระลอกเล่า เราก็ยังยืนหยัดสู้ต่อไปไม่ยอมให้นาวาชีวิตลำนี้ล่มเสียกลางทะเล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นหลักเป็นประธานที่ทำให้เกิดคุณ คือ ศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติเป็นพื้นฐาน ผู้มีขันติธรรมอยู่ในใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพานโดยแท้ พระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า "ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคตสรรเสริญว่า ขันติเป็นเลิศ" เพราะฉะนั้น ขันติบารมีจึงเป็นบารมีที่เราจะต้องสั่งสมไว้ให้มาก ให้ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ
*เหมือนในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐โกฏิ ชื่อว่า กุณฑลกุมาร ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานในศิลปะทุกแขนง พอบิดามารดาละโลกไปแล้ว ท่านก็ได้มองดูกองมรดกที่บิดามารดาเก็บรักษาไว้ให้ ท่านพิจารณาเห็นว่า สมบัติที่หมู่ญาติของเราหามาได้นี้ ใช้ได้เฉพาะในภพชาตินี้เท่านั้น ไม่มีใครสามารถนำติดตัวไปได้เลย ท่านจึงตัดสินใจเปิดคลังสมบัติทั้งหมด แล้วบริจาคมหาทานบารมีตลอด ๗วัน จากนั้นก็เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อไปบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพัง
วันหนึ่ง ท่านได้ออกจากป่า เข้าไปเที่ยวภิกขาจารในกรุงพาราณสี เสนาบดีท่านหนึ่งเห็นกิริยาอาการของท่านแล้ว บังเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมถวายภัตตาหารด้วยความเคารพ และถือโอกาสอาราธนาท่านให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุ ทรงดื่มน้ำจัณฑ์จนมึนเมาในพระราชอุทยาน แล้วทรงบรรทมบนตักของสนมที่โปรดปรานนางหนึ่ง ส่วนพวกหญิงนักฟ้อนก็พากันขับร้องให้พระองค์บันเทิงใจ
พอพระเจ้ากลาปุทรงบรรทมหลับไป พวกหญิงนักฟ้อน จึงชักชวนกันไปฟังธรรม จากพระดาบสซึ่งพำนักอยู่ใกล้ๆ ในขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่นั้น พระราชาได้ตื่นจากบรรทม เมื่อมองดูรอบข้าง ไม่เห็นเหล่านางสนมกำนัล จึงทรงพิโรธมาก ได้ถือพระขรรค์เสด็จไปหาพระดาบสด้วยความโกรธ พร้อมกับถามว่า...
“ท่านดาบส ท่านมีวาทะว่ากระไร”
พระดาบสทูลว่า “มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติธรรม”
พระราชาตรัสถามต่อว่า “ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร”
พระดาบสตอบว่า “ขันติก็คือความไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท แม้มีใครจะมาประทุษร้ายก็รักษาจิตให้สงบ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ”
พระราชาได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า “ประเดี๋ยวเถอะ เราจะได้เห็นขันติของท่าน”
แล้วก็รับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมา เพชฌฆาตโพกผ้าแดงรีบเข้ามาถวายบังคมพระราชา แล้วกราบทูลว่า จะให้ทรงทำอย่างไร พระราชาตรัสว่า “เจ้าจงจับดาบสนี้ให้นอนคว่ำลงกับพื้น แล้วเอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้ง” เพชฌฆาต ก็ทำตามรับสั่ง พระดาบสแม้จะมีฤทธิ์ แต่ท่านก็ไม่ประทุษร้ายต่อเพชฌฆาต ในใจของท่านก็ไม่ขุ่นมัว เพราะท่านหวังจะเพิ่มขันติบารมี แม้ผิวหนังของท่านจะมีบาดแผลจากการเฆี่ยนตี ได้รับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส แต่ท่านก็ไม่ปริปากโอดครวญ
พระราชาตรัสถามซ้ำอีกว่า “ท่านดาบส ท่านยังมีวาทะยกย่องอะไร”
พระโพธิสัตว์ก็ ทูลตามเดิมว่า “มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติธรรม พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ผิวหนังของอาตมาอย่างนั้นหรือ ขันติไม่ได้อยู่ตรงนั้น ขันติของอาตมาอยู่ภายในใจ แม้พระองค์ก็ไม่อาจแลเห็นได้”
พระ ราชาทรงสดับด้วยความกริ้ว จึงรับสั่งให้เพชฌฆาต ตัดมือทั้งสองข้างของดาบส เพชฌฆาตก็ใช้ขวานตัดมือทั้งสองข้าง จากนั้นก็ตัดข้อเท้าทั้งสอง โลหิตได้ไหลออกจากปลายข้อมือและข้อเท้า เหมือนสายน้ำที่รั่วไหลออกจากท่อ
พระราชาก็ตรัสถามอีกว่า “ขันติของท่านอยู่ที่ไหน” พระโพธิสัตว์ก็ยังทูลเหมือนเดิมว่า อยู่ที่ใจ เนื่องจากพระราชาเป็นผู้มีอกุศลเข้าสิงจิต จึงกระทำความผิดใหญ่หลวงต่อผู้บริสุทธิ์ ได้รับสั่งให้ตัดใบหู ตัดจมูกของพระดาบส จนทั่วร่างของท่านมีแต่โลหิตไหลออกไม่หยุด แม้จะได้รับทุกข์ทรมานสาหัสขนาดนั้น แต่พระดาบสก็ไม่ยอมเอ่ยปากขอชีวิตกับพระราชา เพราะท่านปรารถนาจะเพิ่มเติมขันติบารมี จะได้เป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณต่อไปในอนาคต ฝ่ายพระราชาเมื่อไม่สมใจ จึงตรัสประชดประชันว่า “ท่านผู้เดียวจงยกย่องเชิดชูขันติไปเถิด” ว่าแล้วก็เอาพระบาทกระทืบยอดอกพระดาบสแล้วเสด็จจากไป
เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว ท่านเสนาบดีเกรงว่า พระดาบสผู้มีฤทธานุภาพมากจะโกรธ และอาจบันดาลให้เมืองทั้งเมืองพังพินาศไปได้ จึงรีบเข้ามาเช็ดโลหิตประคองร่างของพระโพธิสัตว์ เก็บรวบรวมอวัยวะต่างๆ แล้วกล่าวขอร้องให้ท่าน ได้อดโทษให้พระราชาและทุกๆคน พระโพธิสัตว์ ท่านเป็นผู้มีใจประกอบด้วยมหากรุณาอยู่แล้วจึงบอกว่า...
“พระราชา พระองค์ใด รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเรา ขอพระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยั่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญยิ่งๆขึ้นไป อาตมภาพไม่มีความโกรธเคืองในพระราชาแม้เพียงเล็กน้อย ขอพระองค์ทรงพระเจริญเถิด”
ฝ่ายพระราชา เมื่อลับคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีซึ่งหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ไม่สามารถจะรองรับโทษมหันต์ที่พระราชาได้ทำไว้ ได้แยกออกแล้วเปลวไฟจากอเวจีมหานรกก็แลบออกมาเผาไหม้พระราชา และถูกธรณีสูบพระองค์ลงไปเสวยทุกข์ในอเวจีมหานรกทันที พระโพธิสัตว์ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ในที่สุดท่านก็ทำกาละ แล้วไปสู่พรหมโลก
นี่คือเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง กับพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ครั้งสมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระบรมโพธิสัตว์สร้างบารมีอยู่ เราจะเห็นว่า กว่าที่ใครคนหนึ่งมีความปรารถนาอันสูงส่ง ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เพื่อนำตนและสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ยังต้องอาศัยกำลังบุญกำลังบารมีอย่างมาก ต้องมีขันติธรรม ซึ่งเป็นบารมีที่สำคัญ
ถ้า ขาดขันติความอดทนเสียแล้ว การจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ที่ตั้งใจไว้ก็เป็นเรื่องยาก ความเป็นผู้มีขันติธรรมเป็นขุมกำลังที่สำคัญในการสร้างบารมี ที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้ จะช่วยย่นย่อหนทางในสังสารวัฏให้สั้นลง แล้วก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ การตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐได้
แม้พวกเราเองก็เหมือนกัน เป็นยอดนักสร้างบารมี จะต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ สร้างบารมีให้เต็มที่ โดยใช้สติปัญญาความสามารถ และความอดทนต่อทุกสิ่ง สร้างบารมีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน มุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ซึ่งเส้นทางที่เรากำลังก้าวเดินอยู่นี้ เป็นเส้นทางที่ยาวไกล ต้องใช้กำลังใจที่สูงส่ง ต้องอดทนเข้มแข็งและต้องทำกันไปเป็นทีม อีกทั้งจะต้องทุ่มเทเอาจริงเอาจัง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะอุปสรรคที่เราจะต้องพบเจอนั้นมีมากมาย
แต่ถ้าหากพวกเราทุกคน เป็นผู้มีขันติธรรมอยู่ในใจ รักษากำลังใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่งเป็นประจำ เราจะเป็นผู้ที่มีกำลังใจไม่สิ้นสุด จะไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆทั้งสิ้น เมื่อรักที่จะสร้างบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ต้องมีขันติธรรมอยู่ในใจ และก็หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆวัน จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. กุณฑลกุมาร เล่ม ๕๘ หน้า ๔๕๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘