มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๑)

มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๑)
แสงสว่าง ๔ ประการ คือ
แสงสว่างแห่งพระจันทร์
แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์
แสงสว่างแห่งไฟ และแสงสว่างแห่งปัญญา
ในบรรดาแสงสว่างทั้ง ๔ ประการนี้ แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ

วันเวลาที่ผ่านไปไม่อาจจะเรียกกลับคืนมาได้ เราจะต้องใช้วันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในโลกมนุษย์นี้ สร้างบารมีกันอย่างเต็มที่ เพราะว่าเราเหลือเวลาไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะหมดเวลาไปกับเรื่องปลีกย่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องหลักของชีวิต ฉะนั้น เราต้องสงวนเวลา และบริหารเวลาให้เป็นว่า จะเอาเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้สร้างความดีอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุดของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี เราก็ต้องสร้างบารมีให้มากๆ ใช้วันเวลาให้คุ้มค่า อย่าให้ความประมาทเกิดขึ้นกับตัวของเรา เพราะเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอาจจะกลับตัวไม่ทัน เนื่องจากหมดโอกาสแล้ว ทันทีที่เปลี่ยนภพเปลี่ยนรูปกายใหม่ก็หมดโอกาสแล้ว โอกาสมีเฉพาะในกายมนุษย์หยาบนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อวันเวลามีแต่คืบหน้าไป เราจึงจำเป็นต้องคิดนำมาใช้สร้างบารมีอย่างแท้จริง ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา โดยตั้งใจทำให้ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งสามอย่าง

มีวาระพระพุทธภาษิตใน อาภาวรรค ว่า

"จตสฺโส อิมา ภิกฺขเว อาภา กตมา จตสฺโส จนฺทาภา สุริยาภา อคฺคาภา ปญฺญาภา อิมา โข ภิกฺขเว จตสฺโส อาภา เอตทคฺคํ ภิกฺขเว อิมาสํ จตสฺสนฺนํ อาภานํ ยทิทํ ปญฺญาภา

แสงสว่าง ๔ ประการ คือ แสงสว่างแห่งพระจันทร์ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ แสงสว่างแห่งไฟ และแสงสว่างแห่งปัญญา ในบรรดาแสงสว่างทั้ง ๔ ประการนี้ แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ"

แสงสว่างภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแสงจันทร์ แสงอาทิตย์ หรือแสงไฟที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น แม้จะมีความสว่างขนาดไหน ก็ไม่อาจที่จะขจัดความมืดมิดในจิตใจของมวลมนุษยชาติได้ เว้นเสียจากแสงสว่างแห่งปัญญา เพราะเป็นแสงสว่างภายในที่มาจากแหล่งอันบริสุทธิ์ สามารถขจัดต้นเหตุของปัญหา และความทุกข์ทรมานทั้งหลายได้ แสงแห่งปัญญาเครื่องนำออกจากทุกข์นี้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อใจเราหยุดนิ่งเป็นสมาธิดีแล้วเท่านั้น

เมื่อเรามองผ่านแสงสว่างภายใน เราจะเห็นโลก เห็นภพ และสรรพสิ่งไปตามความเป็นจริง เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ยิ่งกว่าการมองผ่านแสงสว่างภายนอก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาพลวงตาได้ แต่แสงสว่างภายในที่เกิดเมื่อใจบริสุทธิ์หยุดนิ่ง จะทำให้เรารู้เห็นไปตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เพราะว่าเป็นความสว่างที่เกิดจากความบริสุทธิ์ของดวงจิต ที่ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากอุปกิเลส เป็นความสว่างของดวงปัญญาบริสุทธิ์ จึงทำให้เรารู้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่ง ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง
ความเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้ง เห็นแจ้งไปตามความเป็นจริงนี้ นับว่าเป็นความประเสริฐอย่างยิ่งของมนุษย์ ผู้ที่มีปัญญามากแสดงว่าจิตใจของผู้นั้นมีความสว่างไสวมาก จิตเป็นประภัสสร และต้องมีพื้นฐานของการฝึกสมาธิมาดีข้ามชาติ เหมือนอย่างพระบรมโพธิสัตว์ของเรา ไม่ว่าจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม ได้ตั้งใจสั่งสมบุญบารมีอย่างเต็มที่ และสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ จะฝึกฝนอบรมใจด้วยการเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอ

แม้บางชาติที่เกิดมาไม่พบพระพุทธศาสนา ก็ยังคงบำเพ็ญตบะประพฤติพรหมจรรย์ และแสวงหาที่วิเวกเพื่อเจริญสมาธิภาวนา ด้วยเหตุนี้ทำให้พระองค์มีพระปัญญามาก แม้ บางชาติจะอยู่ในวัยเยาว์ พระบรมโพธิสัตว์ก็เป็นผู้มีปรีชาญาณ เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องในทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องความเป็นผู้มีปัญญามากนี้ ทรงปรารภเหตุที่พระภิกษุหมู่ใหญ่ได้สรรเสริญพระปัญญาธิคุณของพระบรมศาสดาที่ เชตวนาราม เรื่องมีอยู่ว่า
วันหนึ่งพระภิกษุได้สนทนากัน ถึงความเป็นผู้มีพระปรีชาญาณอย่างหาที่เปรียบมิได้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ได้สดับคำของภิกษุเหล่านั้น ทรงตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราหาได้มีปรีชาญาณเฉียบแหลมเฉพาะแต่ในชาตินี้เท่านั้นไม่ แม้ครั้งที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ เราอายุได้เพียง ๗ ขวบ ก็เป็นผู้มีปรีชาญาณมากเหมือนกัน" แล้วพระองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังว่า
*ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า ชนสันธะ เสวย สิริราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า อาทาสมุขกุมาร เหตุที่ทรงได้พระนามนี้ เพราะพระราชกุมารมีพระพักตร์ผ่องใส บริสุทธิ์ประดุจคันฉ่องที่ส่องเงาหน้า เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง ๗ ชันษา พระราชบิดา เสด็จสวรรคต หลังจากที่บรรดามหาอำมาตย์ราชบริพารช่วยกันถวายพระเพลิงพระราชาแล้ว ครั้นถึงวันที่ ๗ ต่างประชุมปรึกษาหารือกันว่า ก่อนที่จะสถาปนาพระราชกุมารเป็นบรมกษัตริย์ พวกเราควรทดสอบพระปรีชาญาณของพระองค์ก่อน

ครั้นตกลงกันแล้ว ต่างพากันตกแต่งราชบัลลังก์สำหรับวินิจฉัย และทูลอัญเชิญพระราชกุมารซึ่งมีวัยเพียง ๗ ชันษา ขึ้นประทับนั่งบนบัลลังก์ หมู่อำมาตย์ได้ออกอุบายในการทดสอบ โดยเอาลิงตัวหนึ่งมาแต่งตัวให้เหมือนมนุษย์ และให้เดินสองเท้ามาเข้าเฝ้าพระราชกุมาร อำมาตย์ท่านหนึ่งได้กราบทูลว่า " บุรุษผู้มาเข้าเฝ้านี้ เป็นอาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ ตั้งแต่ครั้งพระชนกของพระโอรส ขอพระองค์ทรงแต่งตั้งบุรุษนี้ ให้มีฐานันดรอย่างใด อย่างหนึ่งเถิดพระเจ้าข้า"

พระกุมารทอดพระเนตรเห็นผู้มาเข้าเฝ้า ทรงรู้ว่า นี่คือชาติวานร อีกทั้งหยั่งรู้ถึงจิตใจของเหล่าอำมาตย์ทั้งหลายว่า ต้องการจะทดสอบพระองค์ เพราะความไม่มั่นใจในวัยที่ทรงพระเยาว์ และความไม่ไว้วางใจในพระปรีชาสามารถ จึงทรงรับสั่งด้วยความรอบรู้ว่า " ท่านทั้งหลายเอาสัตว์ชาติวานรมาแต่งกายเลียนแบบมนุษย์ สัตว์จำพวกนี้มีใจโลเล ไม่ฉลาด ได้แต่วิ่งเล่นสนุกสนาน ไม่เหมาะแก่การงานของบ้านเมือง เพราะมีแต่จะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น ไฉนเลยจะสามารถทำบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้"

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ต่างมีใจชื่นชมโสมนัสเปรมปรีดิ์ และกราบทูลรับรองว่า "ที่พระองค์ตรัสมานั้น เป็นความจริงพระเจ้าข้า พระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอกราบถวายความจงรักภักดีเหนือเศียรเกล้า"

กาลเวลาล่วงมาอีกไม่นาน เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายต่างประชุมกันว่า จะทดสอบพระกุมารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจ จึงให้พวกสนมฝ่ายในจัดการตกแต่งวานรตัวหนึ่งให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด และนำตัวมาเข้าเฝ้าพระกุมารอีกครั้งหนึ่ง มหาอำมาตย์กราบทูลว่า " บุรุษนี้เป็นผู้ตัดสินคดีความ เป็นผู้มีความกตัญญู สมควรที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้วินิจฉัยคดีความของบ้านเมืองต่อไป พระเจ้าข้า"

พระกุมารทอดพระเนตรเห็นกิริยามารยาท และอาการของผู้มาเข้าเฝ้าแล้ว ทรงรู้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นวานรที่ตกแต่งมาอย่างแนบเนียน จึงตรัสด้วยพระปัญญาอันสุขุมว่า " ผู้ที่แต่งกายเป็นมนุษย์นี้มิอาจปกปิดตนได้ว่าเป็นสัตว์หน้าขน ธรรมดาสัตว์ชนิดนี้ ย่อมไม่ฉลาดในการวินิจฉัย ไฉนเลยจะแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ถ้าในเมืองของเรามีบุคคลเยี่ยงนี้เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม เห็นทีบ้านเมืองเราจะล่มสลาย และสัตว์ชาติวานรพวกนี้ ก็หามีความกตัญญูมั่นคงไม่ ไฉนเลยจะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้มีพระคุณได้ เพราะไม่อาจตระหนักถึงความดี และพระคุณของผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นเราจึงมิอาจแต่งตั้งท่าน ผู้นี้ให้เป็นอะไรทั้งสิ้น นอกเสียจากเลี้ยงไว้ดูเล่น"

บรรดามหาอำมาตย์ทั้งหลายที่ได้ฟังพระดำรัส ต่างปลื้มปีติปราโมทย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความเฉลียวฉลาดทันคน และรอบรู้ของพระกุมารตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และได้ประชุมพร้อมใจกันอภิเษกพระกุมาร ให้เป็นบรมกษัตริย์ตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง ๗ ชันษา โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ข่าวความเฉลียวฉลาด มีพระปัญญามากของพระกุมารได้แพร่ สะพัดไปทั่วชมพูทวีป พสกนิกรที่มีข้อข้องใจหรือมีปัญหาใดๆ ต่างปรารถนาจะมาเข้าเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหากับพระองค์
ครั้งนั้นมีบุรุษผู้เป็นอำมาตย์ท่านหนึ่ง ชื่อว่าคามณิจันท์ มีความคิดว่า เราเป็นผู้แก่เฒ่าแล้ว ไม่เหมาะที่จะเป็นข้าหลวงของกษัตริย์ผู้ยังทรงพระเยาว์ เพราะคิดว่าความคิดของผู้ที่มีอายุมากกับผู้ที่มีอายุน้อย ต่างกันมาก ย่อมไปด้วยกันไม่ได้ พระโอรสควรจะมีข้าเฝ้าที่เยาว์วัยเหมือนกัน คิดดังนี้แล้ว จึงปลีกตัวออกจากราชสำนัก ไปดำรงชีพตามประสาชาวบ้าน โดยไปทำนาในที่ห่างจากตัวเมืองไป ๓ โยชน์

ครั้นถึงเวลาทำนา เขาได้ไปยืมโคคู่หนึ่งของสหายไปไถนา เมื่อถึงเวลาเย็นก็เอากลับมาส่งคืน วันหนึ่ง ขณะที่นายคามณิจันท์ เอาโคมาส่งคืน เห็นเจ้าของบ้านสองสามีภรรยากำลังกินข้าว ก็เกรงใจ ไม่ได้ตะโกนบอกว่าเอาโคมาคืนแล้วเหมือนดังที่เคยทำทุกครั้ง ก็รีบกลับบ้านไป เผอิญคืนวันนั้น มีขโมยมาลักเอาโคคู่นั้นไป รุ่งเช้าเจ้าของไม่เห็นโค แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าถูกพวกโจรลักไปแล้ว ก็ยังไปทวงเอากับนายคามณิจันท์ เพราะหวังจะปรับสินไหม แต่เขาก็ยืนยันว่า "เมื่อวานเอาไปคืนแล้วเพียงแต่ไม่ได้บอก เพราะเห็นว่าไม่สะดวก" เจ้าของโคก็โวยวายว่าตนไม่รู้เรื่องเลย เมื่อตกลงกันไม่ได้ เจ้าของโคจึงบอกว่า "เรื่องนี้จะต้องให้พระกุมารเป็นผู้ตัดสิน ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน"

ธรรมเนียมของคนในสมัยนั้น ถ้าใครกล่าวคำว่า "ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน" แสดงว่าบุคคลคู่กรณีจะต้องตกเป็นจำเลยทันที ไม่อาจขัดขืนได้ และต้องรอคอยการพิพากษาตัดสินจากพระราชา หรือผู้วินิจฉัยคดีความของหลวงต่อไป ด้วยเหตุนี้นายคามณิจันท์จึงต้องตกเป็นจำเลย และต้องยอมไปโรงวินิจฉัย กับเจ้าของโคแต่โดยดี แต่ในระหว่างทางที่ไปสู่เมืองหลวง ได้มีเรื่องราวต่างๆ และมีคู่กรณีเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งเหตุการณ์ ที่น่าติดตามจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เราคงต้องมาติดตามกัน ในตอนต่อไป

ขอให้ทุกท่านหมั่นปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา เพื่อเราจะได้เกิดปัญญาความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ในสรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะตราบใดที่เรายังมีความสงสัยอยู่ในใจ แสดงว่าเรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอด ยังมีความเคลือบแคลงอยู่ ตราบนั้นเราต้องแสวงหาความรู้ และศึกษาค้นคว้ากันต่อไป โดยเฉพาะสิ่งที่น่าศึกษามาก คือ ควรศึกษาว่าทำอย่างไรกิเลสอาสวะในใจของเราจึงจะหมดสิ้นไปได้ บัณฑิตควรคิดที่จะศึกษาอย่างนี้ และ มุ่งหน้าปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ให้ไปถึงจุดแห่งความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพศาสตร์กันให้ได้
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. คามณิจันทชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘