มงคลที่ ๑๑ บำรุงบิดามารดา - พญาช้างโพธิสัตว์


มงคลที่ ๑๑

บำรุงบิดามารดา - พญาช้างโพธิสัตว์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก

เราควรตักเตือนตนเองตลอดเวลาว่า เกิดมาเพื่อแสวงหา หนทางหลุดพ้นจากทุกข์ ไปสู่อายตนนิพพาน ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส จำต้องทนเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในกองทุกข์ของสังสารวัฏเรื่อยไป ต้องอาศัยธรรมกายภายในจึงจะขจัดกิเลส อาสวะให้หลุดร่อนออกจากใจ ความทุกข์ทั้งหลายจึงจะหมดไป เพราะธรรมกายเป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นเป้าหมายชีวิตของทุกๆ คนในโลก จะปฏิบัติให้เข้าถึงได้ ต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เป็นประจำ ในไม่ช้าจะเข้าถึงธรรมกาย แล้วชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น มีความมั่นคงและปลอดภัย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุจริตวรรค ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ความเป็นคน อกตัญญูอกตเวที ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ประกอบด้วย ธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนฉลาด เป็นสัปบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกขจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ ความเป็นคนกตัญญูกตเวที ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนฉลาด เป็นสัปบุรุษ ย่อมบริหารตน ไม่ให้ถูกขจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีโทษวิญญูชนไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก"

มนุษย์เราเกิดมาเหมือนกัน คือ เกิดมาจากครรภ์มารดา แต่การตายไม่เหมือนกัน บางคนอาจตายเพราะหมดอายุขัย สังขารร่วงโรย โรคาพาธเข้ารุมเร้าบ้าง บางคนตายเพราะประสบอุบัติเหตุร้ายแรง บางคนฆ่าตัวตาย หรือคนอื่นทำให้ตายบ้าง แล้วยังมีการตายชนิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความตายทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีนิมิตหมายว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เวลาใด จะเลือกตายอย่างไรก็ไม่ได้ ไม่มีใครบอกได้ว่า ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร ชีวิตหลังความตายของแต่ละคนมีคติไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่สั่งสมไว้ ใครสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ ย่อมมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ส่วนผู้ทำบาปอกุศลไว้ ย่อมมีอบายภูมิมารองรับ

ใครทำบาปอกุศลไว้มาก ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และเป็นคนอกตัญญู มีจิตใจมืดบอดไม่เห็นคุณความดีของผู้อื่น ใครทำดีด้วยก็ไม่รับรู้ ทั้งยังประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณ เป็นคนเนรคุณ แผ่นดินที่หนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่อาจจะรองรับกรรมหนักเช่นนี้ได้ ธรณีจึงสูบไปสู่อเวจีมหานรกทันที
ปัจจุบัน เรามักจะได้ยินภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว และเกิดแผ่นดินแยกแตกออกจากกัน ทำให้ผู้คนตกลงไปข้างล่าง ถูกแผ่นดินทับถมให้ตายทั้งเป็น บางทีตายพร้อมๆ กันเป็นร้อยเป็นพัน สมัยก่อนก็มีคนที่ถูกแผ่นดินสูบคล้ายๆ กันอย่างนี้ แต่ว่า สูบลงไปในส่วนที่ลึกมาก ถึงอเวจีมหานรก เหตุการณ์นี้จะเกิดกับบุคคลผู้ทำบาปอกุศลไว้มากๆ

*ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นช้าง อยู่ในหิมวันตประเทศ เป็นพญาช้างเผือก นัยน์ตาทั้งคู่สวยงามราวกับแก้วมณี มีกายสง่างามมาก พระโพธิสัตว์ปกครองช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือก ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ จึงหลีกออกจากหมู่ ปลีกวิเวกไปรักษาศีลอยู่ตามลำพัง

สมัยนั้น มีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง เข้าไปเสาะแสวงหาของป่ามาเลี้ยงชีพ ได้เกิดพลัดหลงจำทางออกไม่ได้ หลงทางอยู่หลายวัน คิดว่าต้องอดตายอยู่ในป่านี้แน่ จึงร้องไห้คร่ำครวญให้เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยชี้แนะทางออกจากป่า พญาช้างได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญของนายพราน บังเกิดความสงสาร จึงเดินเข้าไปหาใกล้ๆ พลางเปล่งด้วยสำเนียงของมนุษย์ว่า "เหตุไรท่านจึงเที่ยวร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในป่าเช่นนี้"
นายพรานบอกว่า "เราหลงทางอยู่ในป่าแห่งนี้มาหลายวันแล้ว ขอท่านได้โปรดชี้ทางออกด้วยเถิด"

พระโพธิสัตว์ได้ปลอบใจว่า "ท่านอย่ากลัวไปเลย ข้าพเจ้า จะช่วยเหลือท่านเอง" พญาช้างให้นายพรานขึ้นนั่งบนหลัง พาไปหาผลไม้กินจนอิ่มหนำสำราญ จากนั้นพาออกเดินทางไปสู่ถิ่นมนุษย์ ก่อนจากกัน พญาช้างได้ขอร้องนายพรานว่า ถ้ามีใครถามถึงที่อยู่ของตน ขออย่าได้บอกเป็นอันขาด

เนื่องจากนายพรานเป็นคนอกตัญญู ตลอดทางคิดแต่จะกลับมาตัดงาของพญาช้างเชือกนี้เท่านั้น จึงพยายามจดจำหนทาง เมื่อนายพรานไปถึงเมืองพาราณสีเห็นรูปแกะสลักต่างๆ ที่ทำจากงาช้าง จึงถามพวกพ่อค้าว่า "ถ้าได้งาช้างที่ยังเป็นๆ ท่านทั้งหลายจะซื้อไหม"
พวกช่างสลักงาตอบว่า "ธรรมดางาช้างเป็น มีค่ามากกว่างาช้างที่ตายแล้วหลายเท่านัก"
นายพรานได้ฟังดังนั้นจึงบอกพวกพ่อค้าว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าจะนำงาช้างเป็น มาขายให้พวกท่าน" จากนั้นเขารีบไปหาเลื่อยขนาดใหญ่แบกเข้าป่าหิมพานต์ ไปยังที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ทันที

พญาช้างเห็นนายพรานกลับเข้ามา รู้ทันทีว่า ภัยมาถึงตัวแล้ว แต่ก็ทักทายปฏิสันถารกับนายพรานด้วยความเอื้อเฟื้อ นายพรานพูดขึ้นว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนกำพร้า มาขอตัดงาของท่าน ถ้าท่านจักให้ก็จะถืองานั้นไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ"
พระโพธิสัตว์รู้ว่านายพรานคนนี้เป็นคนใจบาป ไม่รู้จักบุญคุณของผู้อื่น แต่ตัวท่านนั้นหวังเพื่อจะสั่งสมอุปบารมีให้แก่รอบยิ่งๆ ขึ้น จึงยอมให้นายพรานตัดงาไป พลางคุกเข่าหมอบลงให้นายพรานเอาเลื่อยตัดปลายงาทั้งคู่ พญาช้างได้ตั้งมโนปณิธานเพื่อการบรรลุสัพพัญญุตญาณว่า " ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ใช่ว่าเราจะให้ งาคู่นี้ด้วยคิดว่า งาเหล่านี้ไม่เป็นที่รักของเรา แต่ว่าสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ เป็นที่รักยิ่งกว่า ขอการสละงาครั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยเถิด" จากนั้นท่านก็ให้นายพรานตัดงาในส่วนปลายทั้งคู่ไป

นายพรานใจบาปถืองาคู่นั้น เดินออกจากป่าไปขายให้พวกพ่อค้า และตนก็นำเงินไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดื่มเหล้าเมายา เมื่อเงินหมดก็เดินทางกลับเข้าไปในป่าใหม่ เพื่อขอตัดงาของพญาช้างอีก นายพรานได้หลอกพญาช้างว่า "งาที่ขายได้ ก็เอาเงินไปใช้หนี้หมดแล้ว ที่มานี่จะมาของาส่วนที่เหลือไปทำทุนต่อ"

พระโพธิสัตว์ยินยอมให้นายพรานตัดงา พลางตั้งจิตอธิษฐานเพื่อที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนเดิม ส่วนนายพรานเมื่อขายงาเหล่านั้นแล้ว ก็ย้อนกลับมา ขอตัดงาอีกเป็นครั้งที่สาม พระโพธิสัตว์จึงหมอบลงให้นายพรานตัดตามชอบใจ พรานใจบาปปีนขึ้นไปเหยียบงวงช้าง เอาส้นเท้ากระทืบปลายงาทั้งสอง ฉีกเนื้อตรงสนับงาลงมาจากกระพอง เอาเลื่อยตัดโคนงาโดยไม่มีความปรานีต่อพญาช้างเลย เมื่อได้โคนงาแล้ว เขารีบออกเดินทางทันที
เมื่อพรานใจบาปเดิน พ้นจากคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แผ่นดินอันหนาทึบ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ แม้จะสามารถรองรับของหนักแสนหนักไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นขุนเขาสิเนรุ หรือเขายุคนธร แต่ไม่อาจรองรับบาปกรรมของนายพรานไว้ได้ แผ่นดินแยกออกเป็นช่อง

ทันใดนั้นเอง เปลวไฟแลบออกมาจากอเวจีมหานรก ห่อหุ้มคนเนรคุณผู้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ดูดวูบลงไปสู่อเวจี มหานรกทันที รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ราวป่านั้น เห็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถึงกับเปล่งอุทานขึ้นว่า แม้จะให้มหาสมบัติจักรพรรดิแก่อสัตบุรุษ ก็ไม่อาจทำให้เกิดความพอใจได้ ถึงแม้จะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ก็ไม่อาจทำให้เขาพอใจได้เช่นกัน

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ความมืดมิดที่ปกคลุมดวงจิตของคนอกตัญญู มืดยิ่งกว่ากลางคืนที่ไร้แสงจันทร์ เพราะ ยามราตรีแม้ไม่มีแสงจันทร์ ก็ยังมีแสงจากดวงดาว แสงหิ่งห้อย แต่ถ้าเป็นคนอกตัญญูจิตใจมืดบอดแล้ว แม้แสงสว่างแห่งความดีทั้งหลายก็ไม่อาจส่องเข้าไปในจิตใจเขาได้ เขาจะมองไม่เห็นคุณความดีของใครเลย เหมือนตุ่มน้ำที่ปิดฝา ถึงแม้ฝนจะตกหนักลงมามากมายเพียงใด ก็ไม่อาจเข้าไปในตุ่มได้แม้เพียงหยดเดียว

ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่ควรทำให้เกิดขึ้นและให้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจ แม้คนอื่นจะทำความดีเพียงเล็กน้อยกับเราก็ตาม เราต้องจดจำไว้ และหาโอกาสที่จะตอบแทนคุณ ให้มีจิตสำนึกที่ดีอยู่ในใจตลอดเวลา แล้วเราจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพราะความกตัญญูเป็นสัญลักษณ์ของคนดี เทวดาทั้งหลายจะลงปกปักรักษา คุณธรรมทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นมาในจิตใจ เหมือนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่เป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสายที่ไหลมาจากทั่วสารทิศ ชีวิตเราจะก้าวไปสู่ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นให้รักษาคุณธรรมความดี ความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทีของเราไว้ และหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งทุกๆ วัน เพื่อเพิ่มเติมคุณธรรมในจิตใจ ใจของเราจะได้สว่างไสวกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. สีลวนาคชาดก เล่ม ๕๖ หน้า ๑๘๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘