มงคลที่ ๗ เป็นพหูสูต - พระปัญญาบริสุทธิ์

มงคลที่ ๗

เป็นพหูสูต - พระปัญญาบริสุทธิ์


การที่พระตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิ สัมโพธิญาณ อันสามารถ ทำลายถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายได้ แนะนำชนทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้นได้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าพระตถาคต แม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในกาลก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญามาก สามารถแนะนำชนผู้รู้ทั้งหลายได้

ปัจจุบันนี้ ทุกชีวิตต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ที่ทำงาน หรือเพื่อนร่วมงาน ปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น เรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ที่นับวันปัญหาต่างๆ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากใครไม่รู้จักวิธีการรักษาใจ มัวไปกลัดกลุ้มอยู่กับปัญหาเหล่านี้ ก็จะสูญเสียดุลยภาพของชีวิตไป เมื่อชีวิตขาดสมดุล การดำเนินชีวิตก็มีอุปสรรคมาก ยากที่จะพบกับความสุขและความสำเร็จ สมดุลของชีวิตจะกลับคืนมา ต่อเมื่อนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ณ ที่ตรงนี้ กาย วาจา ใจ จะถูกปรับปรุง ให้สะอาดบริสุทธิ์ และเข้าสู่สภาวะสมดุลได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

มีพระพุทธวจนะใน วิธุรชาดก ว่า

"การที่พระตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณ อันสามารถทำลายถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายได้ แนะนำชนทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้นได้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าพระตถาคต แม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในกาลก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญามาก สามารถแนะนำชนผู้รู้ ทั้งหลายได้"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงมีประวัติศาสตร์การสร้างบารมีที่ยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระพุทธองค์เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตมาทุกระดับชั้น ทรงรู้แจ้งโลกสาม ทั้งกามภพ รูปภพและอรูปภพ เพราะทรงเคยผ่านชีวิตในภพทั้งสาม มาหมดแล้ว ทรงรู้ดีว่าเป็นอย่างไร การที่พระพุทธองค์จะทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า ให้พระสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย ได้รับฟังในแต่ละครั้งนั้น ต้องปรารภเหตุก่อน จากนั้นจึงตัดตอน มาเล่าเฉพาะในเรื่องที่เห็นว่าเกิดประโยชน์ใหญ่แก่หมู่สงฆ์และพุทธบริษัท ทั้งหลาย ในการที่จะใช้เป็นคติสอนใจ และเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป

การที่พระองค์จะเล่าเรื่องทั้งหมดทุกๆ ภพชาติให้ฟัง ต้องใช้เวลายาวนานมาก เพียงเรื่องในอดีตชาติ ที่พระองค์ได้ตรัสเล่าให้ฟังเป็นชาดกนั้น มีจำนวนมากมายแล้ว ทว่าเรื่องที่ยังไม่ได้นำมาเล่านั้นกลับมีมากยิ่งกว่า

แม้ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ก็มีมากมายไม่ซ้ำกัน อุปมาเหมือนใบไม้ในป่าใหญ่ แต่ที่ทรงนำมาตรัสสอนพุทธบริษัทนั้น เสมือนเฉพาะใบไม้ในกำมือเท่านั้น แค่ว่าพอที่จะเอื้ออำนวยต่อการบรรลุธรรมของพระสาวก ที่เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตามแล้ว สามารถหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เอาตัวรอดในสังสารวัฏนี้ได้ ส่วนความรู้อันบริสุทธิ์ที่อยู่นอกเหนือใบไม้ในกำมือ นอกเหนือจากพระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มีมากกว่าและลึกซึ้งยิ่งกว่า เป็นความรู้ที่จะไปขจัดต้นเหตุของกิเลสอาสวะของพญามาร พระปัญญาของพระพุทธองค์ลึกซึ้ง ละเอียด กว้างไกลไม่มีประมาณ วันนี้ก็เช่นกันเราจะได้มาศึกษาพระปัญญา ของพระพุทธองค์ ครั้งที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์กันต่อ

วันหนึ่ง พระภิกษุสนทนาธรรมกันในโรงธรรมสภาว่า "โอ อัศจรรย์จริงหนอ พระบรมศาสดาทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแจ่มใส มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาปรุโปร่ง ทรงไขปัญหาอันละเอียดลึกซึ้ง ด้วยพระปัญญาอันบริสุทธิ์ ทรงสั่งสอนกษัตริย์ และบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายได้ ทรงทรมานผู้ทะนงตนว่าเป็นผู้รู้ให้หมดพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานรักษาศีล ประพฤติธรรม ทรงให้สรรพสัตว์ดำเนินไปตามทางของพระนิพพานŽ"

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึง ได้ตรัสถามเรื่องราวที่พระภิกษุสนทนากัน เมื่อทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า "เรื่องที่เราตถาคตสามารถแนะนำกษัตริย์ทั้งหลายได้ ไม่น่าอัศจรรย์ แม้ในอดีตเมื่อครั้งเป็นพระบรมโพธิสัตว์ เราก็สามารถแนะนำพระอินทร์ พญานาค และพญาครุฑได้" จากนั้นทรงตรัสเล่าให้ฟังว่า

*ในอดีตกาล ณ กรุงกาลจัมปากะ มีสหาย ๔ คน มีความเลื่อมใสในพระดาบส ได้อาราธนานิมนต์พระดาบส ๔ ตน ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน หลังจากฉันแล้ว ดาบสท่านหนึ่งได้กล่าวอนุโมทนา และพรรณนาถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ตนมักจะไปพักกลางวัน อีกท่านหนึ่ง พรรณนาถึงสมบัติในนาคพิภพ ส่วนอีกท่านหนึ่งพรรณนาถึงสมบัติของพญาครุฑ และอีกท่านหนึ่งพรรณนาถึงสิริราชสมบัติของพระราชา

ในสหายทั้งสี่ แต่ละคนได้ทำบุญ และตั้งความปรารถนาตามที่ดาบสแต่ละตนพรรณนาไว้ ต่างชอบใจในสมบัติที่ตนได้ฟังครั้นละโลกไป คนหนึ่งไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช คนหนึ่งไปเกิดเป็นพญานาคในนาคพิภพ คนหนึ่งไปเกิดเป็นพญาครุฑในฉิมพลีรุกขพิมาน คนหนึ่งไปเกิดเป็นพระราชา ส่วนดาบสทั้งสี่ทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในพรหมโลก

ในวันอุโบสถ พระราชาทรงสมาทานอุโบสถ และเจริญธรรมอยู่ในพระราชอุทยาน ในเวลาเดียวกัน พระอินทร์ก็ทรงสมาทานอุโบสถ และละเบญจกามคุณในเทวโลก มาเจริญธรรมในราชอุทยานของพระราชา พญาวรุณนาคราช ก็สมาทานอุโบสถ แล้วละความโกรธ มาเจริญธรรมอยู่ในราชอุทยานเช่นกัน และพญาครุฑ เมื่อสมาทานอุโบสถแล้วก็ละการทำบาปทั้งปวงมาเจริญธรรมเช่นกัน

ในเวลาเย็น ทั้งสี่ท่านได้ออกจากที่บำเพ็ญเพียรของตน และมาพบกันโดยบุญบันดาลที่สระโบกขรณี ทันทีที่เห็นกันต่างรู้สึกมีความคุ้นเคยกัน และชื่นชมยินดีซึ่งกันและกันเป็นพิเศษ เพราะบุญเก่าที่เคยทำร่วมกันมา และอำนาจแห่งความรักความปรารถนาดี ซึ่งเคยมีต่อกันในสมัยที่เป็นมนุษย์ พระอินทร์ตรัสว่า "พวกเราทั้งหมดล้วนเป็นพระราชา และได้สมาทานอุโบสถเหมือนกัน ในพวกเราทั้งสี่นี้ ใครจะมีศีลมากกว่ากัน"
พญานาคราชพูดขึ้นก่อนว่า "ศีลของข้าพเจ้ามากกว่า เพราะพญาครุฑแม้เป็นศัตรูของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ามิได้มีความโกรธตอบŽ"
พญาครุฑได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า "พญานาค เป็นอาหารอันโอชะของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าแม้เห็นแล้วก็ไม่ยอมทำความชั่ว เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมีมากกว่า"
ส่วนพระอินทร์ก็ไม่ยอมแพ้ ทรงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าละทิพยสมบัติในเทวโลก ละเบญจกามคุณ เป็นผู้สงบในโลก ฉะนั้นศีลของข้าพเจ้ามีมากกว่า"
พระราชาก็ตรัสว่า "วันนี้ ข้าพเจ้าละสิริราชสมบัติ และหญิงนักฟ้อน ๖๐,๐๐๐ นาง มาบำเพ็ญธรรม ฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมีมากกว่า"
ต่างคนต่างก็ว่าศีลของตนเองมีมากกว่า เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระราชา

พระโพธิสัตว์ทูลชื่นชมว่า "พระดำรัสของทุกพระองค์ล้วนเป็นวาจาสุภาษิต คุณธรรมทั้งสี่ คือ ความไม่ยินดีในเบญจกามคุณ ความไม่โกรธ การไม่ทำความชั่วทั้งปวงและการไม่มีความกังวลใจ ถือเป็นคุณธรรมของผู้สงบในโลก ดังนั้น ศีลของพระองค์ทั้งหมดจึงเสมอทัดเทียมกัน"
พระราชาทั้งสี่สดับแล้ว ต่างมีพระทัยร่าเริงยินดี ทรงชื่นชมพระโพธิสัตว์ว่า เป็นผู้มีปัญญาสูงสุด เป็นผู้รู้จริงที่สามารถตัดความสงสัยในใจได้ เหมือนช่างทำงา ตัดงาช้างให้ขาดด้วยเลื่อยอันคมฉะนั้น

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ ผู้มีปัญญา ต้องดำรงตนเป็นทูตสันติภาพได้ด้วย นอกจากจะมีปฏิภาณที่ยอดเยี่ยมแล้ว ต้องไม่มีอคติความลำเอียง และต้องรู้จักแสวงจุดร่วมสมานจุดต่าง คอยประสานรอยร้าวเหมือนเป็นกาวใจ

นี้เป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระบรมโพธิสัตว์ ที่พวกเราควรจะศึกษาไว้ เราเป็นนักสร้างบารมี จำเป็นจะต้องใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น ยิ่งงานของเราใหญ่ขึ้น ปัญหาและอุปสรรคก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การใช้สติ ปัญญา ปฏิภาณ จะช่วยทำให้งานสร้างบารมีของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี บ่อเกิดของปัญญานั้นคือสมาธิ ดังนั้นเราจะต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆ วัน
*มก. วิธุรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๓๕๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘