มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา(สามี) - คู่บุญคู่บารมี


มงคลที่ ๑๓

สงเคราะห์ภรรยา(สามี)
คู่บุญคู่บารมี

การบำรุงบิดามารดา การสงเคราะห์บุตร
การสงเคราะห์ภรรยา และการทำงานไม่คั่งค้าง เป็นมงคลอันสูงสุด


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีน้ำพระทัย เปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณสุดที่จะประมาณได้ เมื่อทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าสัตวโลกที่มีกิเลสเบาบางพอที่จะรองรับธรรมะที่พระองค์ ตรัสรู้ได้ ยังมีอยู่ จึงทรงใช้เวลาตลอดพระชนมชีพ โปรดเวไนยสัตว์ให้เข้าถึงธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน แม้ว่าพระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพานนานแล้ว แต่พระธรรมคำสอนก็ยังคงดำรงอยู่ ให้เราได้ศึกษาและนำมาประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ พบสุขที่แท้จริงตามอย่างพระพุทธองค์ไปด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อคนในครอบครัวไว้ใน มงคลสูตร ว่า

"มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห
อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

การบำรุงบิดามารดา การสงเคราะห์บุตร การสงเคราะห์ภรรยา และการทำงานไม่คั่งค้าง เป็นมงคลอันสูงสุด"

ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญของสังคม หากสมาชิกของแต่ละครอบครัวอยู่กันอย่างสงบสุข สังคมใหญ่ คือ ประเทศชาติ ย่อมสงบสุขไปด้วย สามีภรรยาที่ก่อร่างสร้างครอบครัว ควรมีคุณธรรมประจำใจในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันและกัน ให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หน้าที่ของสามีที่ดี พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า สามีพึงสงเคราะห์ภรรยาด้วยการยกย่องให้เกียรติสมกับที่เป็นภรรยา ไม่ดูหมิ่นกล่าววาจาเหยียดหยามให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ควรพูดจาที่จะยกใจให้สูงขึ้น เหมือนดอกบัวที่ชูช่อขึ้นเหนือน้ำ ไม่ประพฤตินอกใจ ต้องฝึกเป็นสามีที่ภรรยารู้สึกเชื่อมั่นและไว้วางใจได้เสมอ อีกทั้งสามีควรมอบความเป็นใหญ่ภายในบ้านให้ภรรยา และเมื่อมีโอกาสก็ควรมอบเครื่องประดับตกแต่งบ้างตามสมควร

ในขณะเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงสอนให้ภรรยาปฏิบัติต่อสามี ด้วยการรู้จักจัดการงานบ้านให้ดี มีความเคารพนับถือญาติพี่น้องทั้งของตนเองและของสามีให้เหมือนกัน ไม่ประพฤตินอกใจ รู้จักรักษาและใช้ทรัพย์ที่สามีหามาได้ และมีความขยันไม่เกียจคร้านการงาน

นอกจากนี้ สามีภรรยาจะต้องรู้จักความเป็น "ผู้ให้" ซึ่ง กันและกัน ตั้งแต่การให้ข้าวของเครื่องใช้ ให้คำพูดที่ไพเราะจริงใจ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล รู้จักให้อภัย รวมถึงให้ความมั่นใจต่อกัน เพราะ "การให้" เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จะทำให้เป็นคู่บุญ คู่บารมี เป็นครอบครัวแก้วที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

*ในอดีตกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ถวายความรู้ทั้งอรรถและธรรมแด่พระราชา วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตทรงระแวงว่าพระโอรสจะเป็นกบฏ จึงทรงเนรเทศออกนอกราชอาณาจักร พระโอรสก็พาพระชายาไปอาศัยอยู่ตามชนบทในแคว้นกาสี พระชายาได้ทำงานบ้านเองทุกอย่าง และปรนนิบัติดูแลเจ้าชายเป็นอย่างดี เป็นศรีภรรยามาตลอด

ครั้นพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต เจ้าชายจึงได้เสด็จกลับกรุงพาราณสี เพื่อครองราชย์สมบัติ ระหว่างทางที่พระองค์เสด็จกลับนั้น มีคนถวายข้าวห่อให้ และบอกให้แบ่งกันกับภรรยา แต่ด้วยความที่ทรงหิวจัด จึงเสวยเองจนหมด ไม่ยอมแบ่งข้าวให้พระชายา

หลังจากเจ้าชายได้ครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงแต่งตั้งพระชายาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี แต่ไม่เคยพระราชทานอิสริยยศ หรือให้การยกย่องใดๆ ทรงเห็นว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว และไม่เคยมีความห่วงใยพระชายาว่า จะมีความเป็นอยู่อย่างไร

พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นอาจารย์ในราชสำนักเห็นเหตุการณ์มาโดยตลอด และรู้ดีว่า พระเทวีเป็นผู้มีอุปการคุณต่อพระราชามาก และยังมีความจงรักภักดีตลอดมา จึงคิดจะช่วยเหลือพระเทวี โดยออกอุบายไปเข้าเฝ้าพระนางและทูลว่า " ข้าแต่พระเทวี ข้าพระองค์รับราชการบำรุงพระองค์มานาน แต่พระองค์ไม่เคยพระราชทานเสื้อผ้า อาหาร แก่ข้าพระองค์ ผู้แก่เฒ่าบ้างเลย อย่างนี้จะสมควรหรือ"

พระเทวีตรัสตอบว่า " ท่านอำมาตย์ แม้แต่ตัวของเราเอง ก็ยังไม่เคยได้อะไรจากพระราชาเลย แล้วจะเอาที่ไหนมาให้ท่านล่ะ ถ้าหากเราได้รับพระราชทานบ้าง ก็คงจะให้ท่านได้เหมือนกัน เราไม่อยากจะคิดอะไรหรอก แต่มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราน้อยใจพระองค์มาจนถึงทุกวันนี้ คือในวันที่พระองค์เดินทางกลับมารับราชสมบัติ พระองค์ได้รับข้าวห่อหนึ่งในระหว่างทาง ก็เสวยองค์เดียวจนหมด ไม่เคยเหลียวแลเราเลย"

พระโพธิสัตว์ทูลถามพระเทวีว่า "พระแม่เจ้าจะกล้าทูลอย่างนี้ ต่อเบื้องพระพักตร์พระราชาหรือไม่"
พระเทวีรับว่า "กล้า"
พระโพธิสัตว์ทูลต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าพระองค์จะทำให้พระราชา ระลึกถึงคุณของพระเทวี"
พระโพธิสัตว์จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา และให้พระเทวีเสด็จตามไปภายหลัง เมื่ออยู่เบื้องพระพักตร์ของพระราชา พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลถามเหมือนเดิม พระเทวีก็ตรัสตอบตามที่ตกลงกันไว้ พระโพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า "ข้าแต่มหาราช สิ่งที่พระเทวีตรัสนั้น จริงหรือ"
เมื่อพระราชาทรงยอมรับว่าจริง พระโพธิสัตว์จึงทูลพระเทวีต่อหน้าพระราชาว่า " พระแม่เจ้า จะมีประโยชน์อะไรที่พระองค์ประทับอยู่ในที่นี้ ในเมื่อพระองค์ไม่ได้เป็นที่รักของพระราชา เพราะการอยู่ร่วมกับ ผู้ที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ในโลก บุคคลควรคบผู้ที่คบด้วย เมื่อรู้ว่าเขาไม่อยากคบเรา ก็ควรไปเสียที่อื่น เพราะโลกนี้ยังกว้างใหญ่ไพศาลนัก มีที่ให้เราไปอยู่อีกตั้งมากมาย"

พระโพธิสัตว์กล่าวเสริมอีกว่า " ควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน ควรคบคนที่คบตน ควรทำกิจตอบแทนผู้ที่ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้ปรารถนาความเสื่อมเสียแก่ตน และไม่ควรคบกับผู้ที่ไม่คบตน ควรละทิ้งผู้ที่ทิ้งตน ไม่ต้องอาลัยรักใคร่ในคนเช่นนั้น ไม่ควรสมาคมกับคนที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน เหมือนนกที่เมื่อรู้ว่าต้นไม้หมดผลแล้ว ก็ละทิ้งไปหาต้นไม้อื่น" พระเจ้าพาราณสีรู้สึกละอายพระทัย ทรงสำนึกผิด จึงได้พระราชทานอิสริยยศทั้งปวงแก่พระเทวีตั้งแต่นั้นมา

เราจะเห็นว่า "การให้" เป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่ ยึดเหนี่ยว น้ำใจกันและกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใด ขอให้ดำรงความเป็นผู้ให้ไว้เสมอ นอกจากนี้ถ้าจะสงเคราะห์กันให้อยู่อย่างมีความสุข เป็นคู่บุญคู่บารมี ทุกคนจะต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ด้วย เมื่อมีศีลเสมอกันที่เรียกว่า สีลสามัญญตา ย่อมทำให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกัน แม้อยู่ห่างไกลกันเพียงใด ก็เชื่อใจว่าไม่ประพฤตินอกใจกัน

นอกจากนี้ สามีภรรยาต้องมีความเห็นเหมือนๆ กัน ที่เรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา จะทำให้ลดความขัดแย้งในเรื่องไร้สาระลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชักชวนกันให้รู้จักนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะทำให้ความเห็น ความคิด คำพูดและการกระทำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะศูนย์กลางกายเป็นต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเหมือนกัน

ฉะนั้น การแนะนำกันให้รู้จักฝึกใจให้หยุดนิ่งจนเข้าถึงพระธรรมกาย นับเป็นสุดยอดของการสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยการปิดประตูอบายภูมิ เปิดเส้นทางไปสู่สวรรค์นิพพาน ถ้าทำได้เช่นนี้ นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ที่จะนำพาครอบครัวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยพร้อมๆ กัน
*มก. ปุฏภัตตชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๓๙๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘