มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - ศิลปะำในการดำรงชีวิต

มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - ศิลปะำในการดำรงชีวิต
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อย จำต้องไปสู่ปรโลก
มนุษย์ทั้งหลายจำต้องประสบความตาย ตามที่รู้กันอยู่แล้ว
ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

ความตายเป็นบทสรุปสุดท้ายของชีวิต เป็นประสบการณ์ ที่มนุษย์ทุกๆ คน หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับการเกิด การเจริญเติบโต จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งถึงวัยชรา ความตายนั้นอาจมองได้หลายลักษณะ อาจมองเหมือนการระเหยของน้ำกลายเป็นไอ เหมือนการหลับฝันไปแล้วตื่นขึ้นมา หรือเหมือนการโยกย้ายที่อยู่อาศัย แต่ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการตาย คือชีวิตหลังความตาย เนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปสู่สุคติหรือทุคติ ฉะนั้นการดำรงชีวิตจึงต้องมีศิลปะ ต้องศึกษาให้รอบคอบ เพื่อความสุขและความปลอดภัยในชีวิต
มีวาระแห่งพุทธสุภาษิตใน อัฏฐกวรรค คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อย จำต้องไปสู่ปรโลก มนุษย์ทั้งหลายจำต้องประสบความตาย ตามที่รู้กันอยู่แล้ว ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดย่อมเป็นอยู่นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือที่เกินกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีน้อย

อายุของพวกมนุษย์น้อย บุรุษผู้ใคร่ความดี พึงดูหมิ่น อายุที่น้อยนี้ พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึง มิได้มี วันคืนย่อมล่วงเลยไป ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไป ฉะนั้น"

คนเราเกิดมาต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า เนื่องจากเรามีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นานนัก วัยของเราต่างค่อยๆ เสื่อมร่วงโรยไปตามลำดับ ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป เมื่อถึงวันนั้นเราจะเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ นอกจากบุญและบาป ที่ได้กระทำไว้ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น กายมนุษย์นี้จึงสำคัญที่สุด ที่จะทำความดีได้เต็มที่ เพื่อสร้างบุญบารมีติดตัวเราไปในภพเบื้องหน้า กายอื่น สร้างบุญบารมีไม่ได้ เป็นกายที่มีไว้เสวยผลของบุญและบาป ส่วนกายมนุษย์นี้มีไว้สร้างบุญ ไม่ใช่มีไว้เสวยบุญ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้กายนี้มาแล้ว ต้องรู้จักใช้ รู้จักฉลาดในการดำรงชีวิตบนเส้นทางแห่งความดี หมั่นบำเพ็ญบุญเกื้อหนุนหน้าที่การงาน ประกอบสัมมาอาชีวะควบคู่กับการมีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งที่ระลึก ชีวิตจึงจะปลอดภัยและมีคุณค่า จะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม หากเราดำเนินชีวิตผิดพลาด แม้ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็อาจมีสิทธิ์ไปอบายได้ ในทางตรงกันข้าม แม้ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราทำความดีอย่างเต็มที่เพียงแค่ ๓ เดือน ก็จะได้เพื่อนแท้ไปสวรรค์ ปิดกั้นอบายจวบจนถึงภพชาติสุดท้าย

*เหมือนดังเรื่องของเทพบุตรองค์หนึ่ง แม้จะจุติมาเกิดในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อระหว่างศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในปัจจุบัน เป็นช่วงที่โลกค่อนข้างเลือนรางจากคำสอน ทว่าเมื่อท่านเกิดมาแล้ว ก็ได้พยายามทำชีวิตให้มีคุณค่า ใช้สติปัญญาสอนตนเองว่า ชีวิตเรามีความไม่แน่นอน สักวันหนึ่งเราจะต้องตาย เหมือนกับบรรพบุรุษของเรา

ท่านหมั่นนึกคิดถึงสัจธรรมข้อนี้ และปรารถนาที่จะมีโอกาสได้สร้างบุญกับเนื้อนาบุญ ท่านนึกในใจอย่างนี้เรื่อยๆ ว่า อยากทำบุญ อยากทำบุญ จนกระทั่งความปรารถนาอันแรงกล้า ของท่าน เข้าไปปรากฏอยู่ในญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

เป็นธรรมดาว่า ในยุคสมัยที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่จะมาตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณได้ อย่างน้อยต้องเคยสร้างบารมีมา ๒ อสงไขย กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป การตรัสรู้ธรรมของท่านน่าอัศจรรย์มาก เพียงแค่อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อย ก็สามารถบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ เช่น บางพระองค์เพียงแค่เห็นใบไม้สีเหลืองหล่นจากขั้ว ทรงพิจารณาถึงชีวิตที่ต้องร่วงโรยไป ฉับพลันทันใดก็ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าล่วงรู้ถึงความคิดของผู้มีบุญท่านนี้ จึงรอคอยโอกาสมาโปรด จนกระทั่งถึงวันก่อนเข้าพรรษา วันนั้นเป็นเวลาเย็น บุรุษผู้มีบุญท่านนี้กำลังอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำคงคา พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะจากภูเขาคันธมาทน์ มาลงที่ริมฝั่งแม่น้ำ เสด็จดำเนินเลียบชายฝั่ง บุรุษผู้นี้มองตามด้วยความตะลึงงัน โดยไม่ละสายตา ก็เกิดความปีติซาบซ่าน ขนลุกขนพอง ที่ได้เห็นท่านผู้วิเศษเหาะมา จึงรีบขึ้นฝั่ง เดินเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ก้มลงหมอบกราบแทบเท้า พลางถามว่า "ข้าแต่ท่าน ผู้วิเศษ ท่านเป็นใครกัน เพราะเหตุใดจึงมายังสถานที่แห่งนี้"

พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า "ตั้งแต่วันที่เราสำเร็จกรณียกิจ เราได้นามว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า และที่มายังสถานที่นี้ก็เพื่อแสวงหาผ้าจีวร ใช้แทนผ้าผืนเก่าที่คร่ำคร่า"
บุรุษผู้มีบุญฟังดังนั้น เกิดมหาปีติดีใจที่จะทำบุญใหญ่ เพราะได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า อยากทำบุญกับเนื้อนาบุญ บัดนี้จะได้สมความปรารถนาแล้ว จึงกล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า "กระผมขอรับบุญนี้เอง และกระผมใคร่จะถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นด้วย ขออาราธนาพระองค์โปรดสงเคราะห์กระผมด้วยเถิด" พระปัจเจกพุทธเจ้า รับนิมนต์ด้วยอาการนิ่งๆ จากนั้นก็เหาะกลับไปยังเขาคันธมาทน์

ชายหนุ่มนี้ยิ่งเกิดมหาปีติ บังเกิดความเลื่อมใสอย่างไม่มีประมาณ รีบกลับไปบอกหมู่ญาติพี่น้องด้วยความดีอกดีใจ ให้ช่วยกันตระเตรียมอาหารหวานคาว และผ้าไตรจีวร อีกทั้งจัดแจงสร้างบรรณศาลา ในที่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำคงคาในค่ำคืนนั้น ครั้นใกล้รุ่งอรุณ ก็จัดแจงแต่งเครื่องสักการบูชาและภัตตาหารไว้ รอคอยการเสด็จมาของพระปัจเจกพุทธเจ้าอย่างใจจดใจจ่อ

รุ่งเช้าของวันใหม่ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงคุณใหญ่ เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็เหาะไปเพียงลัดนิ้วมือเดียว ไปปรากฏตรงหน้าของบุรุษหนุ่ม ท่ามกลางสายตาของผู้มีบุญอีกหลายคน ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ยื่นบาตรให้ ชายหนุ่มรีบรับไปตักขาทนียโภชนียาหารรสเลิศ และน้อมถวายผ้าไตรจีวรใหม่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำภัตกิจ หลังจากนั้นได้ให้พร และกล่าวคำอำลาเพื่อกลับไปยังภูเขาคันธมาทน์ หนุ่มผู้มีปัญญาจึงขออาราธนาท่านว่า "ชีวิตของกระผมไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไร ขอพระคุณเจ้าโปรดอยู่เป็นเนื้อนาบุญจำพรรษาที่นี่เถิด" พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงรับ และหวังจะอนุเคราะห์

ชายหนุ่มผู้มีศรัทธาดำริด้วยปัญญาว่า พื้นทางเดินเข้าไปสู่บรรณศาลามีเปือกตมที่ฉาบด้วยของเขียวสด ดังนั้น ขณะพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าสู่บรรณศาลา พระบาททั้งสองจะแปดเปื้อน จึงปูผ้ากัมพลสีแดงซึ่งเป็นผ้าห่มของตนมีค่าถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ เป็นที่รองเท้า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าครองผ้าไตรจีวรใหม่ และเดินไปบนผ้ากัมพลสีแดงงาม ชายหนุ่มยิ่งเกิด มหาปีติรำพึงว่า

"จำเดิมแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าย่างเหยียบลงบนผ้ากัมพลสีแดงนี้ รัศมีแห่งผ้ากัมพลระคนกับรัศมีกายแห่งพระคุณเจ้า ช่างงามรุ่งเรืองไพโรจน์สุดจะพรรณนา ด้วยอานิสงส์นี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีฝ่ามือ และฝ่าเท้างดงาม ดุจสีดอกหงอนไก่ทุกชาติเทอญ"
เขาตั้งใจอุปัฏฐากบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอดครบถ้วนไตรมาส บุญใหญ่ตลอด ๓ เดือน ที่ได้ทำอย่างเต็มที่นั้น เมื่อหมดอายุขัยทำให้เขาได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสุดโสภา สถิต ณ มหาทิพยวิมานในสุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาถึงยุคสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาบังเกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีวรรณะผ่องใส มีฝ่ามือฝ่าเท้าแดงงามเหมือนสีดอกหงอนไก่ ต่อมาได้ออกบวชประพฤติธรรม ในที่สุดก็บรรลุอรหัตตผลอันเลิศ

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้มีศิลปะในการดำรงชีวิต ย่อมบรรลุถึงพระนิพพาน เราทั้งหลายโชคดีที่ได้มาฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีโอกาสสร้างบุญใหญ่ ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้หมั่นสั่งสมบุญไว้มากๆ ธุรกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน เพื่อเราจะได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกกัน ทุกๆ คน

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พระโสณโกฬวิสเถระ เล่ม ๓๒ หน้า ๓๖๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘