มงคลที่ ๘ มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๓)

มงคลที่ ๘

มีศิลปะ - แก้ปัญญาหาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง (๓)

พระอริยสาวกทั้งหลาย ย่อมเห็นขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ทั้งภายในหรือภายนอก ทั้งหยาบหรือละเอียด ทั้งเลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ใกล้หรือที่ไกล ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อบุคคล รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ความอวดดื้อถือดี และความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ ตลอดจนในนิมิตภายนอกทั้งหลายย่อมหมดไป

การแสวงหาปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งที่น่าแสวงหามากที่สุด เพราะจะทำให้เราเป็น ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยภูมิรู้ภูมิธรรม และบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ซึ่งรูปกายของกำเนิดมนุษย์นี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถแสวงหาความรู้แจ้งเห็นแจ้ง และแสวงบุญสร้างบารมีได้ดีที่สุด กายมนุษย์นี้แหละที่สามารถบำเพ็ญเพียร เจริญสมาธิภาวนาได้ดีกว่ากายอื่น เพราะการศึกษาค้นคว้าคำสอนอันลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่เหมาะกับสัตว์ที่ถือกำเนิดในอัตภาพอื่น หรือในภพภูมิอื่น ภพภูมิของมนุษย์ในโลกของเรานี้ สร้างบารมีได้ดีที่สุด เพราะโลกมนุษย์เป็นโลกแห่งการสร้างบารมี ไม่ใช่ที่เสวยบุญ ฉะนั้นเมื่อเราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบคำสอน อันล้ำค่าในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องรุดหน้าสร้างความดีให้เต็มที่ และหมั่นเจริญธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยกัน

มีพระพุทธศาสนภาษิตที่มาใน ราธสูตร ว่า

"พระอริยสาวกทั้งหลาย ย่อมเห็นขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ทั้งภายในหรือภายนอก ทั้งหยาบหรือละเอียด ทั้งเลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ใกล้หรือที่ไกล ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ ตัวตนของเรา เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล้ว ความอวดดื้อถือดี และความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ ตลอดจนในนิมิตภายนอก ทั้งหลายย่อมหมดไป"

การแสวงหาปัญญาความรู้ในโลกนี้ มีมากมายหลายแขนง แต่ส่วนมากก็มักจะเป็นปัญญาความรอบรู้เพื่อการยังชีพ เพื่อการแสวงหาทรัพย์ภายนอก ปัจจุบันนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในโลก ที่จะให้ปัญญาความรู้แจ้งเพื่อความหลุดพ้นไปจากโลก หลุดพ้นไปจากภพทั้งสาม หรือเพื่อให้ได้อริยทรัพย์ภายในเหมือนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อผู้มีบุญได้มาศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนาจนเกิดปัญญาบริสุทธิ์ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย หรือได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็จะรู้แจ้งเห็นแจ้งว่า ขันธ์ ๕ คือ ร่างกายของเรานี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ยังไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นเพียงอัตภาพร่างกายที่เราอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว เพื่อเอาไว้ใช้สร้างบารมี และทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น

ส่วนตัวตนที่แท้จริงของเรา คือ พุทธรัตนะภายใน มีตั้งแต่ระดับโคตรภูบุคคล พระโสดาบันบุคคล พระสกิทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และพระอรหัตผล ซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา และเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปให้ถึง เพราะถ้าไปถึงได้ เราก็จะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ เมื่อเรามีเป้าหมายอย่างนี้แล้ว เราจะไม่สนใจเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องปลีกย่อยที่จะทำให้เราเสียเวลา หรือห่างจากหนทางของพระนิพพาน แต่จะมุ่งแสวงหา พระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่รวมของปัญญาความรู้แจ้งเห็นแจ้งในสรรพสิ่งทั้งหลาย

การที่บุคคลเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งเห็นแจ้ง ใครๆ ก็อยากจะเข้าใกล้เพื่อขอความรู้ เพื่อไต่ถามข้อสงสัย ดังเรื่องของ พระโพธิสัตว์ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ที่ใครๆ ก็ใคร่จะถามปัญหาโดยฝากให้นายคามณิจันท์ไปถามพระองค์ ซึ่งจากความตอนที่แล้ว *นายคามณิจันท์เดินทางจนเหน็ดเหนื่อยมาถึงจอมปลวกแห่งหนึ่ง พบงูตัวหนึ่งที่สามารถพูดจาภาษามนุษย์ได้ งูตัวนั้นได้ฝากคำถาม ไปยังพระราชาโพธิสัตว์ด้วย เพราะกิตติศัพท์อันชาญฉลาดปราดเปรื่องของพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่จะรู้จักกันเฉพาะในหมู่มนุษย์ เท่านั้น แม้แต่ผู้ที่มีกายละเอียด หรือผู้ที่อยู่ในภพภูมิของสัตว์เดรัจฉานก็รู้กันไปทั่ว ดังนั้นจึงมีคำถามและเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตามมาอีกมากมาย

เมื่อนายคามณิจันท์และโจทก์ทั้งสี่คนพักจนหายเหนื่อยแล้ว ก็ออกเดินทางกันต่อไป โดยเดินลัดเลาะมาตามแนวราวป่า ในระหว่างทางนั้นพบกับเนื้อตัวหนึ่ง ที่เดินผ่านมาในหนทาง เนื้อตัวนั้นเห็นเขาแล้ว จึงได้เดินเข้ามาสนทนาด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าทึ่ง กระแสแห่งความเมตตาของเขา และความเป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม ทำให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีความหวาดระแวง หรือกลัวภัยต่อมนุษย์ และเนื้อตัวนั้นก็ได้ฝากคำถามให้ทูลถามพระราชาด้วยว่า " เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบและเล็มหญ้าอยู่เฉพาะภายใต้ร่มไม้แห่งนี้เพียงที่เดียว เท่านั้น ไม่อยากไปหากินที่อื่นเลย ท่านช่วยถามพระราชาด้วย ถ้าพระองค์ตรัสว่าอย่างไร ขอท่านจงกลับมาบอกข้าพเจ้าด้วย" เขาก็รับคำและเดินทางต่อไป

พอเดินทางมาได้สักระยะหนึ่ง มีนกกระทาตัวหนึ่ง ซึ่งจับอยู่ที่จอมปลวกสูงใหญ่แห่งหนึ่ง และได้เอ่ยด้วยวาจาภาษามนุษย์กับนายคามณิจันท์ว่า " ขอท่านจงกรุณาทูลถามพระราชาด้วยว่า เพราะเหตุไรข้าพเจ้าจึงต้องมาเฝ้าอยู่ที่ตรงนี้ ทำไมจึงไปจากจอมปลวกนี้ไม่ได้ ถ้าพระองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ขอท่าน จงกลับมาบอกข้าพเจ้าด้วย" เขารับคำแล้วก็เดินทางต่อไป ซึ่งตอนนี้เดินทางมาได้กว่าครึ่งทางแล้ว เป้าหมายข้างหน้า คือ พระราชสำนักในเมืองพาราณสี

จวบจนมาถึงต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ขึ้นสูงตระหง่านอยู่ริมทาง ซึ่งแต่ก่อนเคยมีคนมาบวงสรวงกันมาก รุกขเทวดาตนหนึ่งซึ่งมีวิมานสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นั้น ได้ออกมาปรากฏกายต่อหน้าเขาแล้วกล่าวว่า " เมื่อท่านเข้าไปในเมืองพาราณสีแล้ว ขอท่านจงกราบทูลถามพระเจ้าอยู่หัวด้วยว่า เหตุไรข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับเครื่องสักการบูชาเหมือนดังแต่ก่อนเลย ถ้าพระองค์ทรงรับสั่งว่าอย่างไร ขอท่านได้โปรดนำมาบอกแก่ข้าพเจ้าด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง" เมื่อเขารับคำของรุกขเทวดา แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

จนเดินมาถึงสระน้ำแห่งหนึ่ง ภายใต้สระน้ำนั้นเป็นที่อยู่ของพญานาค พญานาคทราบว่านายคามณิจันท์จะไปเข้าเฝ้าพระราชาในเมืองหลวง จึงได้ขึ้นมาปรากฏกายในร่างของมาณพหนุ่ม แล้วกล่าวกับเขาว่า " เราเป็นพญานาคอยู่ในสระน้ำแห่งนี้ เราใคร่ฝากคำถามไปถึงพระราชาแห่งเมืองพาราณสีว่า เพราะเหตุไรน้ำในสระของเราจึงไม่ค่อยใสเหมือนแต่ก่อน ขอท่านจงจำคำของเราไปถามพระราชาด้วย ถ้าพระองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ท่านจงช่วยนำมาบอกแก่เรา" เมื่อรับคำของพญานาค แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

จวบจนมาถึงอาณาบริเวณที่ใกล้เมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพราหมณ์มาณพทั้งหลาย พราหมณ์หนุ่มก็ได้ฝากคำถาม ให้ช่วยไปกราบทูลถามพระเจ้าอยู่หัวด้วยว่า "เหตุไรพวกเราจึงเรียนมนต์ได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ถ้าพระองค์ทรงรับสั่งว่าอย่างไร ขอท่านจงนำความมาบอกแก่พวกเราด้วย" เขาก็รับคำ แล้วก็เดินทาง เข้าไปในเมืองกับโจทก์ทั้งสี่คน จนกระทั่งเดินทางมาถึงหน้า โรงวินิจฉัยในพระราชสำนัก

ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์เสด็จออกประทับนั่งบนราชบัลลังก์ พอโจทก์นำตัวนายคามณิจันท์เข้าเฝ้า พระราชาก็ทรงจำได้ว่า เขาเคยเป็นอำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์ ที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ เมื่อครั้งพระบิดายังมีพระชนมชีพอยู่ เขาได้ช่วยสนองราชโองการ เป็นผู้มีพระคุณต่อแผ่นดิน พระองค์จึงตรัสปราศรัย กับนายคามณิจันท์ด้วยความคิดถึงว่า "ท่านคามณิจันท์ผู้เจริญ ท่านหายหน้าไปไหนเสียนาน ท่านยังอยู่สบายดีหรือ"
คามณิจันท์ กราบทูลว่า "ข้าพระบาทเป็นผู้แก่ชราแล้ว บั้นปลายชีวิตจึงได้ไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในแถบชนบท เป็นอยู่สุขสบายตามอัตภาพ ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืน นานเถิดพระเจ้าข้า"

"แล้วท่านมาที่นี่ด้วยธุระอันใดเล่า"
นายคามณิจันท์ กราบทูลว่า "ข้าพระองค์เป็นจำเลย ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขโมยโค เขาจึงนำตัวข้าพระองค์มาพิจารณาคดีความ พระเจ้าข้า"
พระโพธิสัตว์ทรงทราบดีว่า เรื่องเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นผู้มีศีล ดังนั้นย่อมจะไม่ล่วงละเมิดศีล แล้วประพฤติตนเป็นคนขโมยอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นเรื่องโคหายนี้ เขาจะต้องถูกปรักปรำอย่างแน่นอน

พระราชาจึงตรัสถามว่า "ไหนล่ะโจทก์"
นายคามณิจันท์ จึงกราบทูลว่า "คนนี้พระเจ้าข้า"
พระราชาตรัสถามว่า "เจ้าว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้ลักโคของเจ้าไปอย่างนั้นจริงหรือ"
"จริงพระเจ้าข้า" เจ้าของโคตอบ
พระราชาจึงตรัสถามนายคามณิจันท์ว่า "แล้วความจริงมันเป็นอย่างไรล่ะ ท่านจงเล่ามาซิ" เขาได้เล่าเรื่องราว ทั้งหมดไปตามความเป็นจริง ตั้งแต่ที่ยืมโคไปแล้ว จนเอามาส่งคืน แต่ยังไม่ได้บอกเจ้าของเพราะเจ้าของโคกับภรรยากำลังทานข้าวอยู่ และเจ้าของก็เห็นแล้วว่า โคเข้าบ้านไปแล้ว แต่ตอนที่โคหายไปนั้น หายไปตอนกลางคืน ซึ่งไม่รู้ว่าใครขโมยไป

พระราชาทรงดำริว่า "เราต้องคุกคามโจทก์ให้กลัวอาญา แผ่นดิน เพราะโจทก์ได้คุกคามจำเลยผู้ไม่ใช่ขโมยให้เป็นขโมย"
พระองค์จึงทรงตัดสินพิพากษาว่า " ท่านนายคามณิจันท์ผู้เจริญ เพราะท่านคืนโคโดยไม่บอกเจ้าของมีความผิดฐานไม่บอกกล่าว ให้ท่านชดใช้ค่าโคเขาไป แต่เจ้าของโคก็มีความผิดฐานกล่าวเท็จ ปรักปรำท่านให้เป็นคนผิด ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่าท่านนำเอาโคกลับมาคืนแล้ว แต่แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ฉะนั้นราชบุรุษจงควักเอาลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างของเจ้าของโคออก แล้วจงเอาทรัพย์มา ๑๒ ตำลึง มาชดใช้ค่าโคให้แก่เจ้าของโค"
เจ้าของโคได้ฟังคำพิพากษาเช่นนั้น ก็ก้มลงหมอบแทบเท้าของนายคามณิจันท์ กล่าวว่า " ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอจงกราบทูลอ้อนวอนต่อพระเจ้าอยู่หัวว่า อย่าได้ควักลูกนัยน์ตาของข้าเลย ส่วนเรื่องโคหายน่ะข้าไม่เอาโทษแล้ว และท่านไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด"
นายคามณิจันท์ รู้สึกสงสารเจ้าของโค จึงกราบทูลขอประทานอภัยโทษให้เขา ซึ่งพระราชาทรงมีเจตนาเพียงเพื่อที่จะสั่งสอนเจ้าของโคเท่านั้น ไม่ได้คิดประทุษร้ายใคร จึงทรงอนุโลมตามคำขอร้องนั้น และอีกประการหนึ่งนายคามณิจันท์ก็ยังมีตำแหน่งของอำมาตย์ในราชสำนักอยู่ เพราะพระองค์ยังไม่ได้ปลดเขาออกจากตำแหน่ง จึงยังทรงรับฟังคำทัดทานของเขา ในฐานะผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของแผ่นดิน

เมื่อเจ้าของโคออกจากห้องวินิจฉัยแล้ว ลำดับนั้นโจทก์คนที่สองก็เข้ามากราบทูลว่า "บุรุษผู้นี้แหละ ที่ตบตีภรรยาของข้าพระองค์จนแท้งลูก"
พระโพธิสัตว์ก็รับฟังคำฟ้อง ส่วนพระองค์ จะพิจารณาตัดสินคดีนี้อย่างไร เราคงต้องมาติดตามตอนต่อไป ให้ทุกท่านหมั่นเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้ใจเราบริสุทธิ์ผ่องใส จะได้เกิดปัญญาความรอบรู้ที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายในชีวิตได้

ถ้าเรานำผู้ที่มีปัญญาบริสุทธิ์ และผู้ที่มีใจหยุดมารวมกัน มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะยิ่งมีพลังอย่างมหาศาล ซึ่งปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องรีบแก้ไข คือ เกี่ยวกับเรื่องทุกข์ของมนุษย์เป็นเรื่องหลัก การแก้ปัญหาที่ใหญ่ในระดับโลกระดับภพสามอย่างนี้ จะทำตามลำพังไม่ได้ ทุกๆ คนจะต้องช่วยกันทำ ต้องช่วยกันหยุดใจ เพราะถ้าไปนำคนใจไม่หยุดมารวมกันก็แก้ปัญหาไม่ตก ยิ่งถ้าไปเอาผู้ที่มีปัญหามารวมกันแก้ มันก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ยังแต่จะเพิ่มปัญหามากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องนำคนที่ไม่มีปัญหามารวมกัน คือ นำ คนที่ใจหยุดได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในมารวมกัน จึงจะแก้ไขต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงได้ เพราะมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว มีรู้มีญาณแล้ว ปัญหาที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็ก

แต่ตอนนี้ เราต้องขจัดปัญหาส่วนตัวก่อน ด้วยการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง จนกว่าเมื่อไรที่ใจเราหยุดนิ่งได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว นั่นแหละจึงจะใช้ได้ เพราะฉะนั้นให้หมั่นฝึกหยุดฝึกนิ่งกันให้ได้ทุกๆ วัน ทำใจให้ใสๆ ให้มีใจรักที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัย รักที่จะแสวงหาความสุขที่แท้จริง รักที่จะแสวงหา ปัญญาเครื่องพ้นทุกข์ เพื่อเราจะได้มีความสุข มีที่พึ่งที่ระลึก อันเกษมกัน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. คามณิจันทชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘