มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร - สงเคราะห์บุตรให้เข้าถึงธรรม


มงคลที่ ๑๒

เลี้ยงดูบุตร - สงเคราะห์บุตรให้เข้าถึงธรรม
มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์
เป็นผู้ควรแก่การนับถือของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร


ผู้ใดได้เข้าถึงไตรสรณคมน์ เช่นพระอริยเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้นั้นนับว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พ่อแม่เป็นประดุจพระอรหันต์ในบ้าน สิ่งที่จะยังความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เป็นพ่อแม่มากที่สุด คือ การมีลูกเป็นคนดี ถ้าได้ลูกดี และมีความกตัญญูกตเวที พ่อแม่จะมีแต่ความปลื้มปีติ เป็นสุขใจ แต่การที่ลูกจะเป็นคนดีที่แท้จริงได้นั้น พ่อแม่จะต้องอบรมพร่ำสอน และปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ลูก ตลอดจนเป็นต้นแบบของลูกในการบำเพ็ญทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา

มีพระบาลีในขุททกนิกาย ชาดก สัตตตินิบาต ว่า

"พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา

มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ เป็นผู้ควรแก่การนับถือของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร"
การที่ลูกจะเป็นคนดีหรือไม่นั้น อยู่ ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ถ้าหากพ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างดี ป้องกันไม่ให้ลูกทำบาปอกุศล ให้ทำแต่ความดี ส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้มีความรู้คู่คุณธรรม จนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็หาคู่ครองที่ดีให้ และมอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร
ถ้าเลี้ยงลูกได้เช่นนี้ นอกจากลูกจะเป็นคนดีแล้ว เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาย่อมจะเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบแทน จะช่วยทำกิจการงานและเมื่อพ่อแม่จะหลับตาลาโลก ก็ไม่ต้องกังวลกับทรัพย์สมบัติและวงศ์ตระกูล เพราะมั่นใจว่า ลูกจะปกครองทรัพย์และดำรงวงศ์สกุลให้ตั้งมั่นสืบต่อไปได้เป็นอย่างดี

การเลี้ยงลูกด้วยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่จะทำให้ลูกเป็นคนดี แต่ถือว่าดีแบบทางโลก มีวิธีเลี้ยงลูกอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ลูกเป็นคนดีที่แท้จริง คือ เป็นคนดีที่มีความดีเป็นชั้นๆ เข้าไป คนดีมีถึง ๑๘ ชั้น อยู่ในกลางกายมนุษย์ ตั้งแต่คนดีในระดับกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และคนดีในระดับกายธรรมขึ้นไป จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัต จะมีการพัฒนาความดีขึ้นไปตามลำดับ โดยละสังโยชน์เครื่องผูกให้บรรเทาเบาบางไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงเป็นคนดีที่แท้จริง คือ เข้าถึงกายธรรมอรหัต ซึ่งอยู่ในกลางกายของเราและของมนุษย์ทุกคนในโลก

การที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีในระดับต่างๆ เช่นนั้นได้ จะต้องฝึกลูกให้ทำใจหยุด ใจนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความดี และคนดีที่โลกต้องการ เหมือนบัณฑิตในกาลก่อน ที่ปรารถนาจะให้ลูกเป็นคนดี จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ลูกเป็นคนดีที่แท้จริง ดังตัวอย่างในเรื่องการสอนลูกของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

*อนาถบิณฑิกเศรษฐี มีลูกชายคนหนึ่ง ชื่อ นายกาละ เขาเป็นคนไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่เคยสนใจที่จะฟังธรรม และไม่เคยบำเพ็ญบุญกุศลใดๆ แม้ท่านเศรษฐีจะตักเตือนบ่อยๆ เขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง แต่ด้วยความเป็นห่วงลูกชาย เกรงว่าเมื่อละจากโลกไป เขาจะต้องไปบังเกิดในนรก ท่านเศรษฐีจึงบอกลูกว่า "กาละ ถ้าลูกรักษาอุโบสถศีลและไปฟังธรรมที่วัด พ่อจะให้ทรัพย์วันละ ๑๐๐ กหาปณะ"

ด้วยความที่อยากได้ทรัพย์ นายกาละจึงยอมไปวัด ไปรับอุโบสถศีล แต่ก็ยังไม่ยอมฟังธรรม กลับไปแอบนอนหลับ ครั้นรุ่งเช้าก็รีบกลับบ้านเพื่อรับทรัพย์ เมื่อท่านเศรษฐีเห็นลูกชายกลับมา ก็รีบสั่งคนรับใช้ให้นำข้าวปลาอาหารมา แต่นายกาละยังไม่ยอมกินข้าว รีบทวงค่าจ้างเลยว่า "พ่อต้องให้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะก่อน จึงจะยอมกินข้าว" ท่านเศรษฐีจึงต้องเอาทรัพย์มามอบให้เขาก่อน

รุ่งขึ้น ท่านเศรษฐียังไม่ละความพยายามที่จะให้ลูกชายเป็นคนดีที่แท้จริง ท่านจึงจ้างให้ไปฟังธรรมอีกด้วยทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า โดยบอกเขาว่า "วันนี้ถ้าลูกสมาทานอุโบสถศีล และไปฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา แล้วจำธรรมะมาได้สักบทหนึ่ง พ่อจะให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ"

นายกาละฟังแล้วดีใจมาก อยากจะได้ทรัพย์มาก จึงรีบไปวัดเพื่อฟังธรรม โดยตั้งใจว่าทันทีที่จำธรรมะได้เพียงบทเดียวเท่านั้น ก็จะรีบกลับบ้านมารับทรัพย์จากบิดา
ขณะกำลังนั่งฟังธรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลของเขา จึงทรงใช้ฤทธิ์บันดาลให้เขาจำธรรมะไม่ได้ เขาเลยต้องนั่งฟังธรรมะบทต่อไป แต่ไม่ว่าจะตั้งใจฟังเพียงไร เขากลับจำไม่ได้แม้เพียงบทเดียว อย่างไรก็ตาม แม้จะจำไม่ได้ ในขณะกำลังนั่งฟังธรรมอยู่นั้น ใจของเขาได้รับการขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ใจของเขาก็สงบหยุดนิ่ง นุ่มนวลควรแก่การงาน เมื่อใจหยุด ถูกส่วน ก็เข้าถึงธรรมไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง

รุ่งขึ้น นายกาละกลับบ้าน และทูลอาราธนาพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ให้มาฉันภัตตาหารที่บ้านด้วย ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นก็ดีใจมาก รีบจัดแจงภัตตาหารมาถวาย เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว คนรับใช้ก็นำอาหารมาให้นายกาละ เขารับประทานอาหารด้วยความสงบ โดยไม่เรียกร้องขอค่าจ้างเหมือนครั้งก่อน

หลังจากพระบรมศาสดาเสร็จภัตกิจ ท่านเศรษฐีได้นำทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ มามอบให้ลูกชายต่อเบื้องพระพักตร์พระบรมศาสดา แต่เนื่องจากนายกาละเป็นโสดาบันแล้ว จึงรู้ซึ้งถึงคุณค่าของธรรมะภายในที่ได้เข้าถึง และรู้สึกละอายใจ ไม่ปรารถนาที่จะรับค่าจ้างนั้น แม้ท่านเศรษฐีจะคะยั้นคะยอให้รับ เขากลับปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงถวายบังคมพระบรมศาสดาพลางกราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์ชอบใจการแสดงออกของลูกชาย เพราะวันก่อนข้าพระองค์ได้บอกเขาว่า จะให้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ ถ้าหากเขายอมรักษาอุโบสถศีล ทันทีที่กลับจากวัด เขาก็เรียกร้องขอทรัพย์ก่อนเลย หากไม่ได้ทรัพย์ก็จะไม่ยอมรับประทานอาหาร แต่วันนี้เขากลับไม่ปรารถนาทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะที่ข้าพระองค์มอบให้"
พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า " เป็นอย่างนั้นแหละ ท่านเศรษฐี ธรรมดาของพระโสดาบันย่อมยินดีในอริยทรัพย์ภายในมากกว่าโลกิยทรัพย์ภายนอก เพราะรัตนะภายในประเสริฐยิ่งกว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐยิ่งกว่าทิพยสมบัติในเทวโลกและสมบัติในพรหมโลกเสียอีก"
เราจะเห็นว่า การสร้างคนให้เป็นคนดีที่โลกต้องการนั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐเพียงใด ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถึงกับจ้างลูกให้รักษาศีล ให้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา เพราะท่านเศรษฐี รู้ดีว่า หากลูกชายได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ย่อมมีโอกาสเป็นคนดีที่แท้จริง จะรู้แจ้งเรื่องราวชีวิตของตนเองและมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน เมื่อรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายชีวิต เขาย่อมดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างถูกต้อง ชีวิตของเขาจะปลอดภัย ทั้งจากภัยในอบายภูมิและภัยในสังสารวัฏ

ด้วยเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่ลูกจะได้รับนี้เอง ท่านเศรษฐีจึงได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับลูกชายอย่างเต็มความสามารถ และในที่สุดความตั้งใจของท่านเศรษฐีก็สำเร็จสมปรารถนา คือลูกชายของท่านได้เข้าถึงธรรม เป็นโสดาบันบุคคล มีใจมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ปิดประตูอบายภูมิอย่างถาวร และพร้อมที่จะหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในอนาคตเบื้องหน้า

ดังนั้น จงเลือกเอาว่า ต้องการให้ลูกของเราเป็นคนดีในระดับใด เรามีสิทธิ์เลือก จะให้เป็นคนดีแบบทางโลก หรือเป็นคนดีที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางธรรมก็แล้วแต่เรา เพราะพ่อแม่คือผู้เปิดโลกให้แก่ลูก แต่ถ้าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีตามแบบอย่างของบัณฑิตทั้งหลาย ต้องแนะนำให้ลูกปฏิบัติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดใจให้เข้าไปพบกับคนดีที่มีระดับความดีสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสุดยอดของคนดี คือกายธรรมอรหัต จึงจะเป็นคนดีที่โลกต้องการอย่างแท้จริง
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เล่ม ๔๒ หน้า ๒๗๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘