มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ - ญาติธรรมและธรรมทายาท


ดูก่อนวาเสฏฐะ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ฝังรากลงแล้ว ดำรงอยู่ได้มั่นคง ไม่สามารถชักนำไปในทางอื่นได้ ผู้นั้นควรกล่าวอย่างนี้ว่า เราเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นโอรสเกิดแล้วจากพระโอษฐ์ เป็นบุตรเกิดแล้วโดยธรรม อันธรรมเนรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท
ธรรมกายเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ คือ ผู้รู้ความเป็นจริงของชีวิตทั้งหลายทั้งมวล เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง การรู้อย่างนี้เรียกว่า ตรัสรู้ คือ ความรู้ที่เกิดจากการเห็นแจ้งด้วยตาธรรมกาย และหยั่งรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของธรรมกาย ธรรมกายนั้นจะรู้เห็นตลอดหมดในภพทั้งสามตามความเป็นจริง

มนุษย์ในโลกนี้ยังหลับอยู่ในโลกของความฝัน อยู่ ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ยังเพลิดเพลินอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นมายาของชีวิต ต่อเมื่อเข้าถึงธรรมกาย จึงจะอยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นผู้ตื่นแล้วจากการหลับ คือ กิเลส และยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่เบิกบานแล้ว สภาวธรรมที่ได้เสวยความเบิกบานนั้น มนุษย์ยังไม่รู้จัก เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ความเบิกบาน ที่หลั่งไหลออกมาจากศูนย์กลางกายของธรรมกาย จะขยายจิตให้กว้างขวางออกไป ทำให้เกิดความสดชื่น เบิกบาน อิ่มเต็มอยู่ภายในตัว อยากจะยิ้มแย้มและมีความปรารถนาดีกับทุกๆคนในโลก ดังนั้น เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธศาสนาเริ่มต้นตรงที่เข้าถึงธรรมกายนี้เอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธรรมทายาทสูตร ว่า

"ดูก่อนวา เสฏฐะ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ฝังรากลงแล้ว ดำรงอยู่ได้มั่นคง ไม่สามารถชักนำไปในทางอื่นได้ ผู้นั้นควรกล่าวอย่างนี้ว่า เราเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นโอรสเกิดแล้วจากพระโอษฐ์ เป็นบุตรเกิดแล้วโดยธรรม อันธรรมเนรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท"

สังคมที่ประกอบด้วยครอบครัว มีการสืบทอดทายาทกันเป็นปกติ ใครมีสติปัญญาความสามารถ ก็จะดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณของวงศ์ตระกูลได้ ส่วนการสืบทอดทายาททางธรรมนั้น ต้องอาศัยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักสำคัญว่า หากบุคคลใดมีศรัทธาหนักแน่นมั่นคงในพระรัตนตรัย ฝังรากแห่งศรัทธาหยั่งลงลึก จนกระทั่งดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็น อจลศรัทธา ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระรัตนตรัย แม้ใครจะชักจูงโน้มน้าวให้ไปศรัทธาในสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่ไปทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะบุคคลนั้นได้รู้ชัดแจ้งในธรรมที่ได้เข้าถึงแล้ว

บุคคลใดที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ พระบรมศาสดาตรัสว่า "บุคคลนั้นควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวว่า เป็นบุตรของพระตถาคตเจ้า เป็นโอรสเกิดแล้วจากพระโอษฐ์ เป็นบุตรเกิดแล้วโดยธรรม อันธรรมเนรมิตแล้วเป็นธรรมทายาท" ผู้ที่นับถือพระรัตนตรัยนั้น บางคนเป็นได้เพียงแค่ผู้สักการะนับถือ บางคนมีโอกาสได้บวชเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย บางคนได้บรรลุธรรม เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในไปตามลำดับ บุคคลที่ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นธรรมทายาทอย่างสมบูรณ์

*ดังเรื่องของ พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖โกฏิเพื่อสร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐หลัง ในวันฉลองพระวิหาร พระองค์ได้ประทับยืนอยู่ที่ อโศการาม ทรงเหลียวดูตลอดทั้งสี่ทิศ ได้ทอดพระเนตรเห็นชมพูทวีป ซึ่งมีมหาสมุทรเป็นที่สุดโดยรอบ และพระวิหาร ๘๔,๐๐๐หลัง ที่รุ่งโรจน์อยู่ด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่ ทรงเกิดปีติปราโมทย์ใจอย่างท่วมท้น ดำริว่า "ความปีติปราโมทย์เห็นปานนี้ เคยเกิดขึ้นแก่ใครบ้างไหม" พระองค์ ตรัสถามพระภิกษุสงฆ์ว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ...ในพระศาสนาของพระทศพลโลกนาถเจ้าของเราทั้งหลาย มีใครบ้างได้สละทรัพย์บริจาคอย่างมากมาย การบริจาคของใครเล่ายิ่งใหญ่เช่นนี้บ้าง"
พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ถวายพระพรว่า "มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าผู้ถวายปัจจัยในพระศาสนาของพระทศพล เช่นกับพระองค์ แม้พระตถาคตเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ ก็ไม่มีใครเลยที่จะทรงบริจาคได้ยิ่งใหญ่เท่ากับพระองค์"

พระราชาสดับคำของพระเถระแล้ว ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่มีผู้ใดถวายพระวิหารได้ยิ่งกว่าพระองค์ ทรงดำริว่า "เราได้ยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะได้ชื่อว่าเป็นทายาทแห่งพระศาสนาหรือยังหนอ" จึงตรัสถามอีกว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมได้ชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธศาสนา แล้วหรือยัง"

พระเถระได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว มองเห็นอุปนิสัยของพระราชโอรสของพระองค์ว่า ถ้าออกบวชแล้ว พระพุทธศาสนาจักแผ่ขยายตั้งมั่นสถิตสถาพรสืบต่อไป จึงตอบกับพระราชาว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร ผู้ที่จะเป็นทายาทแห่งพระพุทธศาสนา หาใช่เป็นด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ อีกอย่างผู้ที่ได้ถวายปัจจัยไทยธรรม ได้ชื่อว่าเป็นทายกทายิกาหรือเป็นอุปัฏฐากเท่านั้น ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนา"

พระราชาตรัสถามว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ทายาทแห่งพระพุทธศาสนาจะมีได้อย่างไรเล่า" พระเถระถวายพระพรว่า "มหาบพิตร บุคคลใดเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ได้ถวายบุตรธิดาผู้เป็นที่รักของตนบวชในพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนา"

เมื่อพระเถระถวายพระพรดังนั้นแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงดำริว่า "เราแม้บริจาคทานถึงเพียงนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทแห่งพระพุทธศาสนาเลย" ทรงปรารถนาความเป็นทายาท จึงทอดพระเนตรเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระมหินทกุมาร ซึ่งประทับยืนอยู่ในที่ไม่ไกล ทรงรำพึงว่า "เราประสงค์จะสถาปนาพระกุมารนี้ไว้ในตำแหน่งอุปราช แต่ตำแหน่งนั้นก็ไม่ประเสริฐกว่าการเป็นสมณะ เพราะการบรรพชาเป็นสิ่งประเสริฐกว่าตำแหน่งอุปราชอย่างเทียบกันไม่ได้" พระราชาจึงรับสั่งกับพระกุมารว่า "ลูกเอ๋ย ลูกสามารถบวชให้พ่อได้ไหม"

นับตั้งแต่ พระติสสกุมาร พระอนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าอโศกทรงผนวชแล้ว พระมหินทกุมาร ก็มีพระประสงค์อยากจะออกผนวชด้วยเช่นกัน เมื่อพระกุมารได้สดับพระราชประสงค์ของพระบิดาเช่นนั้น เกิดความปีติปราโมทย์ใจเป็นอย่างยิ่ง รีบกราบทูลว่า "หม่อมฉันมีความปรารถนาจะบวชอยู่แล้ว ถ้าทูลกระหม่อมทรงอนุญาต หม่อมฉันก็จะบวช"

ขณะเดียวกันนั้นเอง พระราชธิดาชื่อ สังฆมิตตา ประทับยืนอยู่ข้างๆ ทรงมีความประสงค์จะผนวชเช่นกัน จึงได้ทูลขออนุญาตพระราชา พระราชาทรงอนุโมทนาต่อพระโอรสและพระราชธิดา ด้วยพระทัยที่เบิกบาน ทรงตรัสกับพระภิกษุสงฆ์ว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย จงให้โอรสและธิดาทั้งสองบวช แล้วกระทำโยมให้เป็นทายาทในพระพุทธศาสนาเถิด"

พระสงฆ์รับพระราชดำรัสแล้ว ก็ให้พระกุมารบรรพชา โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาเทวเถระเป็นอาจารย์ พระมัชฌันติกเถระเป็นอาจารย์

พระราชกุมารบังเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย มีใจที่ผ่องใสหยุดนิ่งดีแล้ว ในวันอุปสมบทนั้นเองก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ส่วนพระอาจารย์ของพระนางสังฆมิตตาราชธิดาชื่อว่า อายุปาลิตเถรี พระอุปัชฌาย์ชื่อว่า ธัมมปาลิตเถรี เมื่อพระนางสังฆมิตตาผนวชแล้ว ได้ตั้งใจ ประพฤติธรรมไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตเถรีเช่นกัน

พระราชกุมารและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อผนวชแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป โดยเฉพาะพระมหินทเถระ ได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังประเทศลังกา นำพาหมู่ชนในที่นั้นให้ได้พบแสงสว่างแห่งพระสัทธรรม ทำให้ผู้มีบุญทั้งหลายได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมากมาย อย่างน้อยก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

จะเห็นได้ว่า แม้พระเจ้า อโศกมหาราช ทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖โกฏิ สร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐หลัง ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงเป็นได้เพียงแค่โยมอุปัฏฐากเท่านั้น ครั้นทรงถวายพระกุมารและพระราชธิดา ผู้เป็นประดุจแก้วตาดวงใจไว้ในพระพุทธศาสนา จึงได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
พระมหินทเถระและสังฆมิตตาเถรี เมื่อบวชแล้วทำให้พระราชบิดาได้เป็นทายาทกับพระพุทธศาสนา และทั้งสองพระองค์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้ชื่อว่าเป็นทั้งศาสนทายาทและธรรมทายาท ตามพุทธประสงค์อย่างภาคภูมิใจ และยังได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเกิดมาเป็นมนุษย์อีกด้วย

พวกเราทุกคน หากใครอยากจะเป็นทายาทกับพระพุทธศาสนา ก็ให้ส่งกุลบุตรเข้ามาบวชในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา จะบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนตามวัดวาอารามต่างๆ ที่มีการจัดอบรมกัน หรือถ้าใครมีกุลธิดาก็ให้มาอบรมธรรมทายาทหญิงก็ได้เช่นกัน เมื่อเราทำได้ดังนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นทายาทกับพระพุทธศาสนา ได้เป็นทั้งโยมอุปัฏฐากและเป็นธรรมทายาท คือ ญาติทางพระพุทธศาสนาด้วย และยิ่งถ้าใครได้เข้าถึงธรรมกาย ก็จะได้ชื่อว่าเป็นธรรมทายาทอย่างแท้จริง
ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ จะได้เข้าถึงธรรมกายภายในกันทุกๆคน แล้วเราก็จะสมปรารถนา มีแต่ความสุขความภาคภูมิใจในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และสมหวังดังเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้ดีแล้ว
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. พาหิรนิทาน เล่ม ๑ หน้า ๘๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘