มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน - พระทัพพมัลลบุตร (๔)



มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
พระทัพพมัลลบุตร (๔)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กอ่อนอาจพึงเอาชิ้นไม้ หรือชิ้นกระเบื้องใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้น แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว พี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์ มุ่งความสุข พึงกระทำอย่างนั้น ด้วยความอนุเคราะห์ แต่ว่าเมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มีปัญญาสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้นได้ว่า เด็กนี้มีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว

หัวใจของครูบาอาจารย์นั้น มีแต่ความห่วงใยในตัวของลูกศิษย์ ปรารถนาให้ลูกศิษย์มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับพระบรมศาสดา ที่ทรงมีหัวใจอันเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา มีความปรารถนาที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากความทุกข์ ทรงประคับประคอง แนะนำแต่สิ่งที่ดีที่จะนำพาทุกชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ผู้ใดก็ตาม ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ บุคคลนั้นย่อมจะมีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏใน กามสูตร ความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กอ่อนอาจพึงเอาชิ้นไม้ หรือชิ้นกระเบื้องใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้น แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว พี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์ มุ่งความสุข พึงกระทำอย่างนั้น ด้วยความอนุเคราะห์ แต่ว่าเมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มีปัญญาสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้นได้ว่า เด็กนี้มีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ที่เราต้องรักษา ตลอดเวลาที่เธอยังไม่กระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยหิริ ด้วยโอตตัปปะ ด้วยวิริยะ และด้วยปัญญาในกุศลธรรม แต่เมื่อใด ภิกษุกระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม กระทำด้วยหิริ ด้วยโอตตัปปะ ด้วยวิริยะ และด้วยปัญญาในกุศลธรรม เมื่อนั้น เราย่อมวางใจในเธอได้ว่า ภิกษุมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้วŽ

พระบรมศาสดา เปรียบเสมือนบิดาของพระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ความรักของพระองค์ที่มีต่อพุทธบริษัททั้งสี่นี้ เป็นรักที่บริสุทธิ์ เพราะพระองค์ทรงปรารถนาจะให้ทุกๆ คนมีชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ หมดสิ้นอาสวกิเลส เข้าถึงพระนิพพาน จึงพยายามอบรม ชี้แนะเส้นทางแห่งอริยมรรค อีกทั้งประคับประคองให้อยู่บนเส้นทางอันถูกต้อง แม้จะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น พระองค์จะทรงแก้ไขด้วยพุทธวิธี

*หลังจากที่นางเมตติยาภิกษุณี กล่าวโทษพระทัพพมัลลบุตรเถระว่า ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ทรงรู้ความจริงด้วยพระสัพพัญญุตญาณ แต่ทรงปล่อยให้มีการสอบสวนสืบสวน เพื่อความกระจ่างแจ้งแก่บุคคลทั้งหลาย เมื่อสอบสวนแล้วพบว่า นางภิกษุณีใส่ร้ายพระอรหันต์ ทางคณะสงฆ์จึงปรับอาบัติหนักแก่นางภิกษุณี

ครั้นพระเมตติยะและพระภุมมชกะรู้ว่า นางเมตติยาภิกษุณีจะต้องถูกลงโทษ โดยให้พ้นจากความเป็นภิกษุณี ทั้งสองเกิดความละอายใจ และสงสารนางภิกษุณี จึงสารภาพต่อพระภิกษุที่ทำหน้าที่สืบสวนว่า ท่านทั้งหลาย ขออย่าให้นางเมตติยาภิกษุณีต้องสึกจากเพศพรหมจรรย์เลย เพราะนางไม่ได้กระทำผิดอะไร ความผิดที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้ต้นคิด ทำไปด้วยความโกรธ และความเสียใจ อยากจะให้พระ ทัพพมัลลบุตรมัวหมองŽ

พระภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียน และรีบกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติอมูลกสิกขาบทว่า ภิกษุโกรธแค้นแกล้งโจทก์ภิกษุด้วยอาบัติปาราชิกอันไม่มีมูล โดยหมายจะให้ผู้ถูกกล่าวโทษเคลื่อนจากพรหมจรรย์ ต่อมาจะมีใครซักถามก็ตาม ไม่มีใครซักถามก็ตาม อธิกรณ์นั้นไม่มีมูล และภิกษุผู้โจทก์นั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

ผลการกระทำของท่านทั้งสองนั้นก็ถูกติเตียนจากพุทธบริษัท ๔ การกล่าวหาด้วยเรื่องอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลนั้น เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่พิจารณาไต่สวนให้ดี อาจจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ อันที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นกรรมในอดีตของท่าน คือ มีอยู่ชาติหนึ่ง พระทัพพมัลลบุตรเคยผิดพลาดกล่าวโทษพระอรหันต์รูปหนึ่ง ด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลความจริง บาปกรรมนั้นส่งผลให้ท่านต้องตกนรกอยู่หลายแสนปี มาในชาติปัจจุบันนี้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงกล่าวโทษท่านด้วยอาบัติปาราชิกที่ปราศจากความ จริง

แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ **ต่อมาวันหนึ่ง เจ้าวัฑฒลิจฉวี ผู้เป็นสหายเก่าได้เข้าไปหาท่านทั้งสองรูป แล้วกล่าวนมัสการทักทาย แต่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กลับไม่ทักทายปราศรัยด้วย เจ้าวัฑฒลิจฉวีจึงถามว่า กระผมทำผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าหรือŽ ภิกษุทั้งสองรูปตอบว่า ท่านทำผิดต่อพวกอาตมา เพราะพวกอาตมาถูกพระทัพพมัลลบุตรกลั่นแกล้ง แต่ท่านกลับเพิกเฉยดูดายŽ เจ้าวัฑฒลิจฉวีจึงถามว่า แล้วจะให้ผมช่วยอย่างไรŽ

ภิกษุทั้งสองบอกว่า ถ้าหากท่านเต็มใจช่วย ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นชู้กับภรรยาของท่านŽ แทนที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าละอาย กลับรับคำของภิกษุทั้งสอง และรีบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทันที

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงสอบถาม พระทัพพมัลลบุตรเถระว่า ทัพพะ เธอได้ทำอย่างที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวหาจริงหรือŽ
พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบว่า ข้าพระองค์เป็นอย่างไร พระเจ้าข้าŽ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามอีกเป็นครั้งที่ ๒ และที่ ๓ พระเถระก็กราบทูลเหมือนครั้งแรก พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ทัพพะ ถ้าหากเธอกระทำ จงบอกว่ากระทำ ถ้าหากเธอไม่ได้กระทำ ก็บอกว่าไม่ได้กระทำŽ
พระทัพพมัลลบุตรเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่ข้าพระองค์เกิดมา ไม่เคยฝันว่า ได้เสพเมถุนธรรม อย่าได้พูดถึงขณะที่ยังตื่นอยู่เลย พระเจ้าข้าŽ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงควํ่าบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวีเสียŽ

ผู้ที่จะถูกควํ่าบาตรนี้ จะต้องครบองค์แห่งการควํ่าบาตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสองค์ของผู้ที่จะต้องถูกสงฆ์ควํ่าบาตรมีถึง ๘ ประการ คือ
๑.ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเสื่อมลาภ
๒.ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเสียหาย
๓.ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้
๔.ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
๕.ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖.กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗.กล่าว ติเตียนพระธรรม
๘.กล่าวติเตียนพระสงฆ์ทั้งหลาย

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้สงฆ์ควํ่าบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ภิกษุสงฆ์ก็ได้ดำเนินการในทันที เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลทั้งหลาย โดยสมมติพระภิกษุที่ฉลาดรอบรู้ ให้ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวี โจทก์ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงควํ่าบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ นี้เป็นญัตติการควํ่าบาตร คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงนิ่งเฉย ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น เมื่อไม่มีใครแย้ง ก็เป็นอันว่าสงฆ์ควํ่าบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวีŽ เมื่อพระภิกษุได้สวดประกาศเช่นแล้ว และไม่มีผู้ใดทักท้วง คณะสงฆ์ทั้งหมดจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ควํ่าบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี

แม้ท่านเป็นพระอรหันต์ ก็ยังถูกฆราวาสกล่าวหา นับประสาอะไรกับพวกเรา ซึ่งเป็นคนเดินดินธรรมดา มีหรือที่จะพ้นคนครหานินทา แต่หน้าที่ของเรา จะต้องตั้งสติทำใจให้หนักแน่น และสร้างความดีกันต่อไป และอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราควรตระหนักคือ เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรไปกล่าวร้ายพระสงฆ์ผู้ทรงศีล มันจะเป็นบาปติดตัวไป สนุกปากแต่ลำบากเรา อย่างนี้ไม่คุ้ม ฉะนั้น ให้เราหมั่นทำภาวนาให้ดี เพราะเมื่อใจเราใสสว่าง เราจะมีสติคอยกำกับ จะสำรวมกาย วาจา ใจได้ตลอดเวลา
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เลˆ่ม ๓ หน้า ๔๕๐
**มก.เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี เลˆ่ม ๙ หน้า ๓๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘