มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - พฤติกรรมที่ชักนําให้เสื่อม

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - พฤติกรรมที่ชักนําให้เสื่อม
คนพาลเมื่อทำความชั่วย่อมเหิมเกริม ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลจึงเห็นว่าเป็นบาป เพราะได้ประสบทุกข์อันใหญ่หลวง บุคคลใดเมื่อสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ บาปย่อมเพิ่มพูน และย่อมกระทำบุคคลนั้นให้เป็นคนพาลได้ ส่วนบัณฑิตพึงละจากบาป แล้วมุ่งกระทำที่สุดแห่งทุกข์

โลกมนุษย์เป็นโลกแห่งการสร้างบารมี เมื่อเรามีโอกาสได้กายมนุษย์ ต้องใช้ให้คุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้สมกับความยากที่ได้อัตภาพร่างกายนี้มาครอบครอง ด้วยการทำความดีให้ถึงพร้อมและละเว้นจากความชั่วทั้งหลาย เหมือนกองคาราวานของพ่อค้ามีทรัพย์มาก ที่ละเว้นหนทางเปลี่ยวอันน่าสะพรึงกลัว เพราะภัยบนหนทางชีวิตในสังสารวัฏนี้ มีอันตรายทุกย่างก้าว หากทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย อาจไปอบายได้ ถ้าจะให้ปลอดภัย ต้องงดเว้นจากบาปอกุศลทั้งมวล และตั้งใจประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือโดยย่อ คือ หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญภาวนา ถือเป็นหัวใจทีเดียว ให้ขยันฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่งไปทุกๆ วัน เราย่อมจะสมปรารถนาในชีวิตกันทุกคน

มีพระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

"คนพาล เมื่อทำความชั่วย่อมเหิมเกริม ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลจึงเห็นว่าเป็นบาป เพราะได้ประสบทุกข์อันใหญ่หลวง บุคคลใดเมื่อสั่งสมบาปแม้ ทีละน้อยๆ บาปย่อมเพิ่มพูน และย่อมกระทำบุคคลนั้นให้เป็นคนพาลได้ ส่วนบัณฑิตพึงละจากบาป แล้วมุ่งกระทำที่สุดแห่งทุกข์"
บุคคลใดแม้ยังไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นคนดีที่สมบูรณ์ เพียงไม่ได้ทำความชั่วเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ทำความดีที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่น ต่อเมื่อได้ลงมือทำความดีแล้วเท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนดี เพราะได้ละเว้นจากการทำชั่ว และตั้งใจทำความดีให้ถึงพร้อม แต่ถ้าจะให้ดีพร้อม ดียิ่งขึ้น ก็ต้องทำความดีด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส การเป็นคนดีที่สมบูรณ์จึงจะเกิดขึ้น คือ ต้องทำให้ครบหลักวิชชา ทั้งละชั่ว ทำดี และทำใจให้ใสๆ

ในชีวิตประจำวันของเรา หากได้นำหลักนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิต ในทุกเรื่องทุกขั้นตอน คือ ไม่ว่าจะทำอะไร พยายามใคร่ครวญพิจารณา ชีวิตเราย่อมมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง แต่แม้เราจะได้ชื่อว่าเป็นคนดีคนหนึ่งในสังคม ถ้าพลาดไปทำในสิ่งที่ไม่ดีแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำไปเพราะความประมาทชะล่าใจ คิดว่าเป็นเพียงบาปเล็กๆ น้อยๆ จึงทำสิ่งนั้นบ่อยๆ จนคุ้นเคยเป็นอาจิณ เช่นนี้ย่อมทำให้ใจหมอง เป็นมลทินของใจ ซึ่งจะมีผลต่อคติที่ไปเมื่อยามละโลก

เหมือนผ้า ขาวที่มีจุดด่างกระจายไปทั่ว ซึ่งดูเหมือน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่า น้ำทีละหยดที่ตกลงมาในตุ่ม ยังเติมตุ่มให้เต็มได้ ฉันใด บาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้น มันพอกพูนได้ และสามารถพลิกชีวิตจากคนที่ดี ให้กลายเป็นคนไม่ดีได้ จากที่เคยเป็นบัณฑิตก็อาจกลายเป็นคนพาล บาปมันมีฤทธิ์มาก สามารถพลิกดีให้กลับกลายเป็นชั่วได้ ฉะนั้นต้องคอย ระวังบาปอย่าให้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย

พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ ครั้งที่ทรงตักเตือนพระภิกษุ ๖ รูป ที่เรียกว่าพระฉัพพัคคีย์ อันได้แก่ พระเมตติยะ ภุมมชกะ อัสสชิ ปุนัพพสุกะ ปัณฑุกะ และโลหิตกะ ที่มักจะทำผิดพระวินัยเสมอ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรทำ ท่านก็ทำ เพราะดูเบา และไม่สำรวมในความเป็นบรรพชิต พระภิกษุสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิกต่างตักเตือนท่าน แต่ท่านก็ดื้อ เอาแต่ใจตัว ทั้งยังสร้างปัญหาอันเป็นพฤติกรรมที่ชักนำไปสู่ความเสื่อม ที่ล่อแหลมต่ออบายภูมิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเมตตาจึงเรียกมากล่าวตักเตือนว่า
"พฤติกรรมที่นำมาซึ่งความเสื่อมของพวกเธอนี้ เหมือนกับพฤติกรรมของนกกระไน"
จากนั้นพระพุทธองค์ตรัสเล่าสตปัตตชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีตชาติให้พระฉัพพัคคีย์และพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้รับฟังว่า
*ในกรุงพาราณสี มีกุฎุมพีผู้มั่งคั่งท่านหนึ่ง ได้ให้ชาวชนบทคนหนึ่งยืมทรัพย์ไป ๑,๐๐๐ กหาปณะ เพื่อไปประกอบ ธุรกิจการค้า ต่อมา กุฎุมพีท่านนี้เสียชีวิต ภรรยาได้ดูแลกิจการแทน และคอยติดตามทวงหนี้ที่ถูกยืมไป

รายของลูกหนี้ชาวชนบทนี้ เธอได้ให้ลูกชายซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มไปตามทวงหนี้ เพราะเธอไม่ค่อยสบาย และลูกหนี้ชนบทก็อยู่ห่างไกลมาก ต้องใช้เวลานานในการเดินทาง ระหว่างการเดินทางของลูกชาย เธอเริ่มป่วยหนัก ก่อนตายเธอยังห่วงทรัพย์ที่ให้ลูกชายไปทวง อีกทั้งห่วงลูกชายด้วย ทำให้ใจของเธอหมองก่อนสิ้นใจ จึงไปเกิดเป็นสุนัขจิ้งจอก

เมื่อลูกชายไปตามทวงทรัพย์ได้ ขากลับเขาต้องเดินทางลัดป่าใหญ่ ซึ่งตนไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในดงนี้เป็นที่อยู่ของโจร ๕๐๐ ขณะที่กำลังจะเข้าสู่หนทางเปลี่ยว สุนัขจิ้งจอกที่เป็นอดีตมารดาของตัว ได้มาดักรออยู่ โดยยืนขวางทางไว้ เอาเท้าตะกุยดิน เห่าเหมือนจะบอกให้ระวังอันตรายข้างหน้า แต่ลูกชายกลับไม่เข้าใจ และไม่ได้เฉลียวใจ ซ้ำยังคิดว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้เป็นอัปมงคลมาขวางทางเรา จึงเอาก้อนดินขว้างใส่ เพื่อขับไล่ไป สุนัขจิ้งจอกจำต้องหลบหนีไป แต่ก็ยังห่วงใยลูกชาย

มาณพหนุ่มเดินทางต่อไป เขาเห็นนกกระไนตัวหนึ่งบินตรงมาและร้องเสียงดัง เขาเข้าใจว่า นกตัวนี้ร้องเสียงไพเราะ เป็นมงคลแก่เรา จึงหยุดยืนยกมือไหว้ แล้วเดินต่อไป อันที่จริง นกตัวนี้เป็นสายให้กับพวกโจร มันบินไปบอกพวกโจร พวกโจรจึงพากันรุมจับตัวเขาและพามาพบหัวหน้าโจร ซึ่งในชาตินั้น พระโพธิสัตว์เสวยวิบากกรรมเป็นหัวหน้าโจร พระโพธิสัตวŒถามถึงเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะถูกจับมา และเมื่อฟังเรื่องราวทั้งหมดโดยตลอด พระโพธิสัตว์ก็รู้ทันที ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมลึกซึ้ง ยากที่จะหาใครเทียบได้

พระโพธิสัตว์ได้กล่าวกับมาณพว่า "เจ้าช่างไม่รู้อะไรเลย นกกระไนตัวนี้เป็นสายให้โจร เป็นตัวอันตรายสำหรับเจ้า เพราะจะนำเจ้ามาสู่ความหายนะ แต่เจ้ากลับไปยกมือไหว้มัน ส่วนสุนัขจิ้งจอกตัวที่เจ้าขับไล่ไปนั้น คือ อดีตมารดาของเจ้านั่นเอง นางมาเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นกับเจ้า เพราะความห่วงใย ตอนนี้นางได้เสียชีวิตไปแล้วและมาเกิดเป็นสุนัขจิ้งจอกตัวนั้น เจ้าจงนำทรัพย์ก้อนนี้กลับไป และรีบจัดการงานศพมารดาของเจ้า เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านเป็นครั้งสุดท้าย" จากนั้นได้ปล่อยมาณพหนุ่มนี้ไป

เรื่องนี้มีข้อคิดหลายอย่าง ทั้ง เรื่องกฎแห่งกรรม ความสำคัญของใจในช่วงสุดท้ายตอนศึกชิงภพ และเรื่องความฉลาดในการสอบสวน จนสามารถรู้ถึงเหตุที่แท้จริงจากผลที่เกิดขึ้น เรื่องการเป็นคนช่างสังเกต รู้ว่าใครเป็นพาล เป็นบัณฑิต เป็นมิตรหรือศัตรู นี่ถ้าไม่ใช่พระโพธิสัตว์ มาณพหนุ่มอาจจะถูกชิงทรัพย์หรือถูกฆ่าตายไปแล้ว

ข้อที่น่าสังเกต คือ ตอนที่มาณพหนุ่มกำลังมีภัย ขณะนกกระไนส่งเสียงร้องไพเราะ เขากลับดูไม่ออก ตรงนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้เราพึงสังวรว่า อย่าได้หลงเคลิบเคลิ้มไปกับคนที่มีวาทศิลป์ ฉลาดในการพูดเอาอกเอาใจ ประจบสอพลอ ช่างพูดช่างคุยยกยอปอปั้น ยกย่องสรรเสริญ ให้ระวังให้ดี เพราะอาจชักนำเราไปในทางเสื่อมเสียได้ ต้องตั้งสติ ใช้ปัญญา มิฉะนั้นเราจะต้องช้ำใจในภายหลัง หรือสุนัขจิ้งจอกที่เห่ามาณพนั้น ซึ่งอาจจะดูเหมือนหยาบคาย รุนแรง แต่ว่าจริงใจ ปรารถนาดี ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ออก การที่เราจะมีปัญญาลึกซึ้ง แยกแยะถึงขั้นนั้นได้ ต้องมีสมาธิดี มีใจละเอียด ซึ่งต้องฝึกสมาธิให้มากๆ เพราะสมาธิเป็นบ่อเกิดของปัญญาและความรู้แจ้ง เราจะรู้เห็นทุกสิ่งไปตามความเป็นจริง ต่อเมื่อได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเท่านั้น
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. สตป’ตตชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๒๒๖

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘