มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต - ความสัตย์ขจัดอันตราย


มงคลที่ ๑๐

มีวาจาสุภาษิต - ความสัตย์ขจัดอันตราย

คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย นั่นเป็นธรรมเก่า
สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งมั่นในความสัตย์ ที่เป็นอรรถเป็นธรรม
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ พุทธศาสนิกชนที่ดี จึงควรศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อเราตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างถูกวิธี ก็จะเห็นผลของการปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่ต้องไปรอคอยในภพชาติหน้า หากเราพบอุปสรรคในขณะที่กำลังทำความเพียร หรือสร้างความดี อย่าท้อแท้หรือสิ้นหวัง เพราะอุปสรรคเป็นเพียงเครื่องทดสอบกำลังใจของเราเท่านั้น กำลังใจจะมีไม่สิ้นสุด เมื่อนำใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะที่ตรงนี้เป็นต้นแหล่งของพลังแห่งความดี ที่ทำให้ใจของเรามีพลัง ไม่ท้อแท้ท้อถอย ดังนั้นเราต้องน้อมนำใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา

มีพระอรหันตเถระรูปหนึ่ง กล่าวธรรมภาษิตไว้ว่า

"สจฺจํ เว อมตา วาจา เอส ธมฺโม สนนฺตโน
สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อาหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา

คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย นั่นเป็นธรรมเก่า สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งมั่นในความสัตย์ ที่เป็นอรรถเป็นธรรม"

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อมตวาจา คือ วาจาที่ไม่ตาย เป็นจริงตลอดกาล บุคคลใดยึดความจริงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ต้องไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ บุคคลนั้นจะพบแต่ความสำเร็จ เป็นที่เชื่อถือ ผังของความเป็นคนจริง คนซื่อสัตย์ มีสัจจวาจาเป็นเยี่ยม จะติดตัวบุคคลนั้นไปตลอดทุกภพทุกชาติ เมื่อรับคำว่าจะทำอะไร ก็ไม่เคยให้คนอื่นผิดหวัง ทำการคบค้าสมาคม ก็ไม่เคยคดโกง ไม่โกหกหลอกลวง พลังแห่งความสัตย์จะก่อให้เกิดเป็นบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช มีอานุภาพ พูดอะไรก็จะเป็นไปตามนั้น เปล่งวาจาอะไรก็จะสำเร็จหมดทุกประการ
เมื่อถึงคราวแนะนำสั่งสอนให้คนอื่นทำความดี ก็มีวาจาเป็นสุภาษิต พูดโน้มน้าวให้คนอื่นอยากปฏิบัติตาม เป็นที่น่าเลื่อมใสของผู้ได้ยินได้ฟัง มีถ้อยคำอันเป็นสิริมงคล เหมือนเป็นแหล่งแห่งถ้อยคำ
*ดังเรื่องของสามเณรอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ผู้มีวาจาสัตย์ทำให้เอาชนะใจมหาโจร และรอดพ้นจากความตายมาได้ ทั้งยังทำให้บิดามารดารอดพ้นจากความตายด้วย

ท่านชื่อ อธิมุตตกสามเณร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสังกิจจเถระ ท่านตั้งใจออกบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ครั้นอายุใกล้ครบ ๒๐ ปี พระเถระได้ให้สามเณรกลับบ้านเพื่อไปสอบถามวัน เดือน ปีเกิด จากโยมพ่อโยมแม่ให้แน่นอนก่อน แล้วจึงกลับมาอุปสมบท ในระหว่างทางมีโจร ๕๐๐ กำลังซุ่มดักจับคนที่เดินทางไปมาในป่านั้น เพื่อนำไปฆ่าบูชายัญเทพเจ้าที่ได้บวงสรวงไว้ เมื่อสามเณรเดินเข้าไปในป่า พวกโจรพากันล้อมจับท่านไว้

ถึงกระนั้น สามเณรไม่มีความตกใจ หรือหวั่นไหวในมรณภัยแต่อย่างใด ท่านกลับนึกสงสารพวกโจร ที่ประพฤติตัวเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงตั้งเมตตาจิตแผ่กระแสเมตตาธรรมไปยังพวกโจร พร้อมกับแสดงธรรมด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ทำให้หัวหน้าโจรเกิดความรักความเอ็นดูในสามเณร ต่างปรึกษากันว่าจะปล่อยสามเณรกลับไป เพียงแต่ขอให้สามเณร อย่าได้บอกที่อยู่ของพวกตนให้ใครรู้เป็นเด็ดขาด เมื่อสามเณรรับปากจะไม่บอกใครอย่างแน่นอน พวกโจรจึงได้ปล่อยท่านไป

เมื่อสามเณรรอดพ้นจากมรณภัย จึงเดินทางต่อไป และได้พบบิดามารดาในระหว่างทาง ซึ่งท่านทั้งสองกำลังจะไปทำธุระยังต่างเมือง สามเณรได้รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับโจร จึงไม่ได้บอกโยมพ่อโยมแม่ว่า มีโจรดักซุ่มรออยู่ข้างหน้า ได้แต่ไต่ถามเพียงเรื่องวัน เดือน ปีเกิด ที่พระอาจารย์ให้มาถามเท่านั้น โยมพ่อโยมแม่ได้นิมนต์ให้ท่านไปรออยู่ที่บ้านก่อน หลังจากเสร็จภารกิจจึงจะกลับมาบอก ท่านทั้งสองจึงเดินทางต่อไป และถูกพวกโจรจับตัวไปในที่สุด

โยมพ่อโยมแม่ของสามเณร เห็นพวกโจรกำลังเตรียมมีดเตรียมหลาวต่อหน้าต่อตา ทั้งหวาดกลัวต่อมรณภัย ทั้งโกรธเคืองตัดพ้อสามเณรที่ไม่ยอมบอก ว่า ในป่ามีโจรคอยดักทำร้าย ปล่อยให้พ่อแม่มาหาที่ตายแท้ๆ สงสัยสามเณรคงเป็นพวกเดียวกับโจร ๕๐๐ เหล่านี้ พวกโจรได้ยินเสียงพร่ำบ่นของคนทั้งสอง จึงรู้ว่าสามเณรเป็นคนรักษาคำพูด แม้เป็นโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ยอมบอก เพราะกลัวจะเสียสัจจะที่ให้ไว้กับโจร

พวกโจรเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น ซึ่ง หาได้ยากในหมู่มนุษย์ ก็ยิ่งเพิ่มพูนความศรัทธาเลื่อมใสในสามเณรมากขึ้นไปอีก อยากกลับตัวกลับใจเป็นคนดี จึงตัดสินใจปล่อยโยมพ่อโยมแม่ของท่าน พากันเลิกอาชีพโจรอย่างเด็ดขาด อีกทั้งชวนกันเดินทางไปขอบวช และขอเป็นลูกศิษย์ศึกษาธรรมะกับสามเณรด้วย

เมื่อสามเณรเห็นว่า มหาโจรทั้ง ๕๐๐ มีความตั้งใจจริงที่จะกลับตัวกลับใจ มีจิตอนุโมทนาจึงให้ทุกคนโกนผมบวชเป็นสามเณร จากนั้นได้พาสามเณรใหม่ไปพบพระอาจารย์ พระอาจารย์บอกให้สามเณรพาไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อทุกรูป เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต่างกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด ในที่สุดหลังจากที่ทุกรูปฟังธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด

เรื่องของสามเณรนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า สัจจะเป็นวาจาไม่ตาย แม้ ว่าเราจะพบกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต ก็ให้มีใจตั้งมั่นอยู่ในความดี ให้รักษาสัจจะยิ่งชีวิต รักษาไว้เหมือนกับเกลือรักษาความเค็ม เมื่อเราประพฤติธรรม ธรรมะย่อมปกป้อง คุ้มครองรักษาเรา เพราะธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเสมอ

การกระทำของเราทุกอย่าง เราย่อมรู้อยู่แก่ใจดี ความลับไม่มีในโลก คนที่พูดโกหกอาจจะปิดบังคนอื่นได้ แต่ปิดบังตนเองไม่ได้ ต้อง หลอกตนเองเรื่อยไป ตั้งแต่คิดเรื่องที่ไม่จริง ก็หลอกตนเองไปขั้นหนึ่งแล้ว ครั้นพูดให้คนอื่นฟัง ตนเองก็ต้องรับฟังเรื่องไม่จริงนั้นด้วย จากนั้นก็ต้องตามจำเรื่องที่ไม่จริง เมื่อในใจมีแต่เรื่องไม่จริง บาปอกุศลจึงเพิ่มมากขึ้น เมื่อคุ้นกับเรื่องไม่จริง ชีวิตจึงพบแต่ของไม่จริง และไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ

ดังนั้น เราควรพูดแต่วาจาสุภาษิต พูดแต่เรื่องจริงที่มีประโยชน์ พูดแต่เรื่องที่ทำให้ใจสบาย ใครที่อยู่ใกล้ก็ชวนเขามาสร้างบารมี มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แนะนำให้ ทุกคนในโลกดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องดีงาม เมื่อเราพูดอย่างนี้บ่อยๆ ถ้อยคำของเราจะสะอาดบริสุทธิ์และมีพลัง เป็นวาจาที่เป็นสิริมงคล สามารถสร้างความศรัทธา เป็นวาจาที่เป็นที่รัก

นอกจากนี้ คำพูดควรเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ที่จะบั่นทอนกำลังใจคนได้มากที่สุด ไม่มีอะไรเกินกว่าคำพูด และสิ่งที่ให้กำลังใจคนได้มากที่สุด ก็ไม่มีอะไรเกินกว่าคำพูด ฉะนั้น เราต้องพูดแต่สิ่งที่ดี ค่อยๆ แนะนำตักเตือนกันไป โดยเฉพาะลูกหลานเยาวชนของชาติ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักแนะนำ ด้วยวาจาที่ให้ความรักความอบอุ่น ลูกหลานก็จะเกิดกำลังใจ อยากประพฤติปฏิบัติตาม

การทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนเพื่อนร่วมโลกให้หันมาประพฤติธรรม ชวนกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตร เป็นหน้าที่ของพวกเรานักสร้างบารมี เป็นภารกิจหน้าที่ ที่มีประโยชน์ต่อโลก งานสร้างสันติสุข ปลูกฝังคุณธรรมให้แก่มวลมนุษยชาติ มีความสมัครสมานสามัคคีปรองดองกันนั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ คน เป็นหน้าที่อันทรงเกียรติยิ่งกว่าหน้าที่ใดๆ ในโลก และยังเป็นทางมาแห่งบุญกุศล

ถ้าหากเราสถาปนาบ้านกัลยาณมิตรได้อย่างแท้จริง ทุกครอบครัวจะเป็นครอบครัวที่ผาสุก สังคมจะเกิดความสงบสุข ทำให้เกิดความสว่างไสวไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ธรรมะจะคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม อำนวยความสุขความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นแก่คนทั้งโลก
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อธิมุตตกสามเณร เล่ม ๔๑ หน้า ๔๗๘

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘