มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - ไม่มีความเห็นผิด ชีวิตปลอดภัย

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - ไม่มีความเห็นผิด ชีวิตปลอดภัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๒ อย่างนี้คือ
  • การโฆษณาแต่บุคคลอื่น ๑
  • อโยนิโสมนสิการ ๑
ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนี้แล เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฏฐิ

สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ "บุญ" ซึ่งจะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราได้บรรลุจุดประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มีโอกาสทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระบรมศาสดา จนกระทั่งมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งหมดนี้จะได้มาต้องอาศัยบุญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นบุญจึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ทุกกนิบาต ว่า

"เทฺว เม ภิกฺขเว ปจฺจยา มิจฺฉาทิฏฺฐิยา อุปฺปาทาย กตเม เทฺว ปรโต จ โฆโส อโยนิโส จ มนสิกาโร อิเม โข ภิกฺขเว เทฺว ปจฺจยา มิจฺฉาทิฏฺฐิยา อุปฺปาทาย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๒ อย่างนี้คือ การโฆษณาแต่บุคคลอื่น ๑ อโยนิโสมนสิการ ๑ ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนี้แล เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฏฐิ"

ปัจจุบันนี้ เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน ยุคที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า โลกาภิวัตน์ แม้จะอยู่ไกลกันคนละซีกโลก ก็สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ในความเป็นจริงแล้วเรายังตกอยู่ในกระแสโลกที่เรียกว่า โลกานุวัตร หมายความว่า เป็นไปตามโลก ยัง คล้อยตามคนส่วนใหญ่ที่เขาเชื่อกันอยู่ ซึ่งยังมีความรู้ไม่สมบูรณ์ น้อยคนนักที่จะใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ให้รู้เห็นถูกต้องไปตามความเป็นจริง

ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถถึงกันได้ในเวลารวดเร็ว ถ้าหากมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้รับ ดังนั้น ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารจึงมีส่วนสำคัญที่จะให้ผู้บริโภคมี ความเชื่อ และความเข้าใจไปในทิศทางใด ถ้าหากนำเสนอในเรื่องที่มีประโยชน์สร้างสรรค์ ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์จากสื่อนั้นเต็มที่ แต่ถ้าข้อมูลไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่เป็นอันตราย น่าเป็นห่วง

*ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกนางมาคันทิยา จ้างคนให้ตามด่าพระองค์และพระภิกษุสงฆ์ แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงมีขันติธรรมเป็นเลิศ จนพระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากทนไม่ไหว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จย้ายไปประทับที่เมืองอื่น พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า "อานนท์ หากตถาคตเสด็จไปเมืองอื่น แล้วชาวเมืองยังตามด่าอยู่อีก จะให้ตถาคตทำอย่างไร" พระอานนท์ทูลตอบว่า "พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับที่เมืองอื่นอีก พระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดาทรงให้ข้อคิดแก่พระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธออย่าปรารถนาให้ตถาคตทำเช่นนั้นเลย อธิกรณ์เมื่อเกิดขึ้นในที่ใดให้จบลงในที่นั้นแหละ การไปสู่ที่อื่นจึงจะควร" ตรัสดังนั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงอดทน ไม่โต้ตอบผู้ตามด่าบริภาษพระองค์ ทรงใช้เวลาอยู่หลายวัน ในที่สุดเรื่องก็จบไปเอง

ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงเล่าเรื่องในอดีต ถึงผลกรรมของพระพุทธองค์ว่า **ในสมัยก่อน พระองค์ทรงเกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ "สุตวา" เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เชี่ยวชาญ ในศิลปศาสตร์ทุกแขนง แตกฉานในไตรเพท ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่สำคัญมากของพราหมณ์ จนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ท่านได้รับการเคารพบูชากราบไหว้จากมหาชน เป็นคณาจารย์ใหญ่สอนมนต์ให้กับลูกศิษย์มากมาย

วันหนึ่ง ท่านได้พาลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เข้าไปเรียนมนต์อยู่ในป่า ได้เห็นฤๅษีตนหนึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพัง ทำภาวนา จนได้อภิญญาสมาบัติ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นฤๅษีที่มีฤทธิ์มีเดชมาก แต่ผิวดำ มองแล้วไม่น่าเลื่อมใส ท่านจึงบอกกับลูกศิษย์ทั้งหมดว่า ฤๅษีตนนี้เป็นผู้มักมากในเบญจกามคุณ

ลูกศิษย์ทั้งหมดหลงเชื่อตามคำบอกของอาจารย์ จึงเกิดการดูหมิ่นดูแคลน นอกจากตัวเองจะไม่ศรัทธาในฤๅษีแล้ว ยังเที่ยวป่าวประกาศไปทั่วเมืองให้ผู้คนเลิกนับถือฤๅษี มหาชนฟังแล้วคล้อยตามและหลงเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ด้วยผลกรรมที่ท่านได้ทำไว้ในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้ท่านต้องตกนรกเป็นเวลายาว นานทีเดียว พอพ้นจากการได้รับความทุกข์ทรมานในนรก มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ถูกคนตามด่าอีกหลายภพหลายชาติ

จนกระทั่งมาในภพชาติสุดท้าย แม้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แต่ผลกรรมนั้นยังตามส่งผลให้พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกอีก ๕๐๐ องค์ ต้องถูกคนตามด่าบริภาษ กว่าเรื่องราวจะยุติลงได้ ก็ใช้เวลาอยู่หลายวัน เมื่อผลกรรมสิ้นสุด ผู้ที่มาด่าพระพุทธองค์ก็เลิกด่าไปเอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรระวังจากการรับฟังข่าวสาร คือ เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องใดแล้ว ควรใช้โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณา ให้ละเอียดรอบคอบ ใช้สติและปัญญาพิจารณาเหตุผล พิสูจน์เรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ดีเสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจเชื่อ ไม่ควรใจเร็วรีบด่วนสรุป เพราะการเชื่อโดยขาดวิจารณญาณ จะเป็นทางมาแห่งความเสื่อม นำไปสู่อบายภูมิได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญในเรื่องสัมมาทิฏฐิมาก พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความงอกงามไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐิเลย"

พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ชาวโลกเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกต้อง เห็นว่าบุญบาปมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำทานให้ผลดีจริง พ่อแม่มีพระคุณจริง การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ดีจริงควรทำ ซึ่งเราจะมีความซาบซึ้งในสิ่งเหล่านี้ได้ จะต้องปฏิบัติธรรมให้ใจหยุดนิ่ง เบื้องต้นต้องเข้าถึงดวงใส ที่เรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงนี้มาพร้อมกับความสุขความเบิกบาน มาพร้อมกับความเกลี้ยงเกลาความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ และมาพร้อมกับความรู้แจ้ง เราจะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัมมาทิฏฐิว่าเป็นอย่างไร

ที่ว่ามีความเห็นชอบนั้น ความเห็นแรกที่เกิดขึ้น คือ เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว ทางนี้จะไปสู่พระนิพพานแน่นอน จะเกิดความรู้สึกมั่นใจอย่างนั้นเลย เดี๋ยวความคิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ สิ่งที่ดีทั้งหมดก็จะตามมา การประกอบสัมมาอาชีวะการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ กระทั่งถึงสมาธิชอบ เกิดขึ้นพร้อมกันเลย มีความมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ถูกต้องแล้ว

นอกจากสมาธิชอบแล้ว จำเป็นต้องชอบทำสมาธิด้วย เพราะทำแล้วมีความสุข เราจะรู้สึกหวงแหนประสบการณ์ภายในที่เข้าถึง อยากจะอยู่กับธรรมะตลอดทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลา มีความรู้สึกว่า ถ้าใจหยุดนิ่งถูกที่ตั้ง ถูกส่วนแล้ว อะไรๆ ก็ไม่อยากได้ เราจะรู้สึกพึงพอใจ และไม่มีความรู้สึกว่าขาดแคลนหรือยากจนเลย สมบัติมีเท่าไรก็อยากจะแบ่งปันให้ผู้อื่น เพราะให้แล้วมีความสุข ความสุขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าถึงกายในกาย ถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนกระทั่งถึงกายธรรม เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้ สัมมาทิฏฐิจึงจะบริบูรณ์

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิต้องอาศัยการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสตลอดเวลา และพยายามทำให้สม่ำเสมอ เพราะความสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงธรรม ไม่ว่าเราจะมีภารกิจการงานอะไร ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งควบคู่ไปด้วย ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน จะต้องเข้าถึงธรรมกันอย่างแน่นอน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. นาควรรควรรณา เล่ม ๔๓ หน้า ๒๒๖
**มก. อรรถกถาสุนทรีสูตร เล่ม ๔๔ หน้า ๔๖๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘