มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย - ทางมาแห่งคุณธรรม

ภิกษุ ผู้มีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเคารพในการศึกษา มีความเคารพในความไม่ประมาท มีความเคารพในการปฏิสันถาร เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้พระนิพพาน
ความบริสุทธิ์เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความสุขเกิดจากการฝึกใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเราเจริญภาวนาทุกวัน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อันเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตปรารถนา และต่างก็กำลังแสวงหากันอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการเจริญภาวนา เพื่อให้ชีวิตของเราเข้าถึงความสุข และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน อัปปมาทสูตร ว่า…
ภิกษุ ผู้มีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระศาสดา มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ มีความเคารพในสมาธิ มีความเคารพในการศึกษา มีความเคารพในความไม่ประมาท มีความเคารพในการปฏิสันถาร เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ย่อมมีในที่ใกล้พระนิพพาน
แม่น้ำทุกสาย แม้จะมีแหล่งกำเนิดอยู่แสนไกลถึงยอดเขา สุดท้ายก็ต้องไหลลงมารวมกันที่มหาสมุทร มหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย ฉันใด ผู้มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน ก็เป็นที่มารวมแห่งคุณธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น ความเคารพ เป็น คุณธรรมของบัณฑิตที่ทุกคนควรตระหนักและยึดมั่นไว้ในจิตใจ เพราะเป็นทางมาแห่งความรู้และคุณธรรม เป็นเหตุให้จิตใจของเราสูงส่งขึ้น
พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนพุทธศาสนิกชน ให้เป็นผู้มากด้วยความเคารพ ผู้ที่หวังความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหรือปรารถนาบรมสุข คือ พระนิพพาน จะต้องมีความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย คือ เคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หมั่นทำสมาธิภาวนา เอาใจหยุดนิ่งในกลางพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพที่แท้จริง ถูกตัวพระรัตนตรัย จะเป็นเหตุให้บรรลุธรรมาภิสมัยในปัจจุบันชาติ
นอกจากนี้ เราจะต้องไม่ประมาทในชีวิต หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ให้เผลอจากศูนย์กลางกาย เพื่อจะได้เข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิต คือ เข้าถึงพระธรรมกายภายใน ประการสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีความเคารพในการปฏิสันถาร คือ เมื่อเข้าถึงกายธรรมแล้ว ก็ให้มีใจผูกสมัครรักใคร่ในกายธรรมนั้น ด้วยการทำความบริสุทธิ์หยุดนิ่งเพิ่มมากขึ้น จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมทุกๆองค์ ที่ผุดเกิดขึ้นมาจากกลางภายในนั้น
ผู้ที่มีความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน จะเป็นที่รักของทุกคน ถ้าเป็นลูกก็จะเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าเป็นลูกศิษย์ ครูบาอาจารย์...ท่านก็อยากถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ หรือแม้ที่สุดจะเป็นคนชรา หากมีความเคารพเชื่อฟัง ไม่มีทิฐิมานะถือตัว ย่อมสามารถรองรับคุณธรรมความรู้ต่างๆได้ และยังเป็นเหตุให้ได้บรรลุธรรมอันสูงสุด คือ เป็นพระอรหันต์
*ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์ตกยากคนหนึ่งชื่อ ราธะ มาขออาศัยอยู่กับพระสงฆ์ในวัดพระเชตวันมหาวิหาร เหล่าพระภิกษุเห็นว่า พราหมณ์คนนี้เป็นคนดี จึงให้พักอาศัยอยู่ด้วย เขาได้ช่วยปัดกวาดเช็ดถูเสนาสนะ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ต่อมาพราหมณ์อยากจะบวช แต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดอนุญาตให้เขาบวชเลย เพราะคิดว่าส่วนใหญ่คนที่บวชตอนแก่ มักจะเป็นผู้ว่ายาก ดื้อ มีทิฐิมานะ เนื่องจากผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก เมื่อพราหมณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้บวช จึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับร่างกายซูบผอมลง
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์เข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงเห็นด้วยอนาคตังสญาณว่า ราธพราหมณ์นี้ มีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผล ถ้าได้อุปสมบทแล้ว แม้จะบวชตอนแก่ ก็จักสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปยังที่อยู่ของพราหมณ์ แล้วตรัสถามว่า...
“พราหมณ์...ท่านมาทำอะไรในวัดนี้”
เขากราบทูลว่า “ข้าพระองค์ปฏิบัติดูแลภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า”
“แล้วเธอได้รับการสงเคราะห์จากหมู่ภิกษุบ้างไหม”
พราหมณ์กราบทูล ว่า “ได้พระเจ้าข้า ในแต่ละวันข้าพระองค์จะได้อาหารจากภิกษุ แต่เมื่อข้าพระองค์ขอบวช ไม่มีภิกษุรูปใดอนุญาตให้ข้าพระองค์บวช พระเจ้าข้า”
เมื่อราธพราหมณ์ทูลเรื่องทั้งหมด ให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสถามว่า...
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ระลึกถึงคุณของพราหมณ์ผู้นี้ได้ มีอยู่บ้างไหม”
พระสารีบุตร เถระกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ระลึกได้ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้คนถวายข้าวทัพพีหนึ่งแก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “สารีบุตร การที่เธอสงเคราะห์พราหมณ์ผู้ได้ทำอุปการคุณอย่างนี้ ให้พ้นจากทุกข์ ไม่ควรหรือ”
พระสารีบุตรเพียงได้ฟังนัยที่พระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้ ก็ทราบถึงพุทธประสงค์ ท่านจึงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ราธพราหมณ์ บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
เมื่อราธพราหมณ์ได้บวชแล้ว ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เป็นพระหลวงตาที่ว่าง่าย มีความเคารพต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ หรือกระทั่งภิกษุหนุ่ม สามเณร ท่านก็ให้ความเคารพยำเกรง ไม่ถือตัวว่าเป็นพระอายุมาก มีประสบการณ์ทางโลกมามาก เพราะท่านตั้งใจบวช เพื่อมุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง เนื่องจากว่าท่านเป็นพระแก่และเพิ่งบวชใหม่ จึงไม่ค่อยได้รับความสะดวกในเรื่องภัตตาหาร และต้องลำบากในเรื่องเสนาสนะพอสมควร
พระสารีบุตรทราบว่า พระราธะไม่ได้อาหารและเสนาสนะเป็นที่สัปปายะ จึงพาท่านออกเที่ยวจาริกเดินธุดงค์ไปตามชนบท ในระหว่างทาง ท่านได้แนะนำพร่ำสอนพระราธะ ถึงข้อวัตรปฏิบัติต่างๆที่พระภิกษุควรประพฤติปฏิบัติ บอกให้ทำอย่างไร พระราธะก็ปฏิบัติตามด้วยความเคารพ เมื่อพระสารีบุตรเห็นว่า พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย มีจิตใจที่ละเอียด พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมภายใน คือ พระรัตนตรัยที่ละเอียดลึกซึ้ง จึงได้แนะนำกัมมัฏฐานที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป ในที่สุด...พระราธะก็สามารถดำเนินจิตเข้าสู่ภายในจนเข้าถึงกายธรรมอรหัต ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
จากนั้น พระสารีบุตรจึงได้พาพระราธะไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลว่า “พระราธะเป็นพระแก่ที่ว่าง่ายมากพระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์จะกล่าวสอนอย่างไร ก็ไม่เคยโกรธเคือง แต่กลับน้อมรับด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า “ดูก่อนสารีบุตร ถ้าเธอมีศิษย์อย่างนี้ จะรับได้อีกประมาณกี่รูปล่ะ”
พระเถระตอบว่า ”ข้าพระองค์สามารถรับได้มาก พระเจ้าข้า”
จากนั้นพระพุทธองค์ จึงทรงสรรเสริญพระราธะต่อหน้าเหล่าภิกษุสงฆ์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์กล่าวชี้โทษ พร่ำสอนอยู่ ก็ไม่ควรโกรธ อนึ่งควรเห็นบุคคลผู้คอยชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น” แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า…
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย
เมื่อบุคคลเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวข่ม คอยชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิตเพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เป็นเช่นนั้น
ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษเลย
เพราะฉะนั้น เวลามีใครมาชี้โทษตักเตือนเรา ก็อย่าได้ขุ่นมัว ถ้าเราพิจารณาดูแล้วพบว่า เราผิดจริงก็แก้ไขปรับปรุงเสีย ถ้าไม่ผิดก็รับฟังด้วยความเคารพ แล้วค่อยๆปรับความเข้าใจในภายหลัง ให้คิดว่าผู้ที่คอยชี้โทษหรือบอกข้อบกพร่องให้เรานั้น เป็นผู้มาชี้บอกขุมทรัพย์ให้แก่เรา เราจะได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆขึ้นไป
เมื่อเราฝึกคุณธรรมภายนอกได้ดีแล้ว ถึงเวลาฝึกคุณธรรมภายใน คือ ฝึกทำใจให้หยุดนิ่ง ทำให้ประคองใจให้หยุดที่ศูนย์กลางกายได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น ซึ่งศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์ทั้งมวล ให้หมั่นฝึกฝนใจจนกระทั่งสามารถเข้าถึงพระธรรมกายกันได้ เพราะฉะนั้นอย่าได้ละเลยการฝึกฝนคุณธรรมความเคารพ และหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เรื่องพระราธเถระ เล่ม ๔๑ หน้า ๒๘๖

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘