มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๒ )

มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๒ )
อาตมภาพได้เห็นวัวผู้ตัวหนึ่ง ท่ามกลางฝูง
มีหนอกขึ้นเปลี่ยว ประกอบด้วยสีสวยและมีกำลังมาก
ได้เห็นมันขวิดวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกามเป็นเหตุ
ครั้นได้เห็นเหตุนั้นแล้ว อาตมาจึงได้ประพฤติธรรม

ชาวโลกทั้งหลายผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนใหญ่ต้องข้องเกี่ยวกับการทำมาหากิน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว และเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ทำให้ลืมนึกถึงเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ หลงประมาทมัวเมา ความคิดที่จะแสวงหาความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ได้จางหายไป ทำให้มนุษย์ต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่รู้จักจบสิ้น โอกาสแห่งการได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ยิ่งกว่าการได้อัตภาพอื่นใด เพราะจะเหมาะสมต่อการสร้างบารมี ทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายใน การทำใจหยุด คือ ทางหลุดพ้น เป็นทางรอดจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ดังนั้นการฝึกใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติ ควรให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

มีธรรมภาษิตใน กุมภการชาดก ว่า

"อาตมภาพได้เห็นวัวผู้ตัวหนึ่ง ท่ามกลางฝูง มีหนอกขึ้นเปลี่ยว ประกอบด้วยสีสวยและมีกำลังมาก ได้เห็นมันขวิดวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกามเป็นเหตุ ครั้นได้เห็นเหตุนั้นแล้ว อาตมาจึงได้ประพฤติธรรม"

ขอนำแรงบันดาลใจในการทำความดี มาเล่าให้ได้ศึกษากันต่อจากตอนที่แล้ว สืบเนื่องจากพระบรมศาสดาทรงแนะนำภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้มีใจยินดีในพระนิพพาน ไม่ให้กามวิตกเข้ามาครอบงำจิตใจ กิเลสที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นเหมือนสนิมในใจที่คอยขัดขวางกุศลธรรมไม่ให้บังเกิดขึ้น พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างของบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ที่อาศัยเหตุการณ์รอบตัวมาเป็นธรรมะสอนใจ จนได้บรรลุธรรมาภิสมัยในที่สุด เรื่องมีอยู่ว่า

*ในอดีตมีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า นัคคชิ เสวยราชสมบัติในนครตักสิลา แคว้นคันธาระ พระองค์เสด็จประทับยืนอยู่บนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นหญิงคนหนึ่ง ในมือแต่ละข้างสวมกำไลแก้วมณีข้างละหนึ่งอัน นั่งบดของหอมอยู่ไม่ไกล พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงดำริว่า กำไลแก้วมณีเหล่านี้ ไม่กระทบกัน ไม่มีเสียงดัง เพราะแยกกันอยู่ข้างละอัน

ต่อมาเมื่อนางนำกำไลจากข้างขวามาสวมรวมกับแขนข้างซ้าย แล้วเริ่มบดของหอมต่อ กำไลแก้วมณีที่ข้อมือซ้ายจึงกระทบกัน มีเสียงดังเกิดขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงดำริว่า กำไล แขนนี้ เมื่ออยู่ข้างละอันไม่กระทบกัน ครั้นเมื่อย้ายมาอยู่รวมกันจึงกระทบกัน สัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน หากแยกกันอยู่จะไม่ส่งเสียง ไม่ทำร้ายกัน เมื่อมี ๒ คน หรือ ๓ คนขึ้นไป จะกระทบกระทั่งกัน มีการทะเลาะวิวาททำร้ายกันเป็นต้น

เพราะฉะนั้น ตัวเราควรเป็นเหมือนกำไลแขนข้างเดียว ไม่ควรกระทบกระทั่งใคร เมื่อนั่งพิจารณาธรรมนิ่งๆ ตามลำพังอยู่ครู่หนึ่ง ทรงยึดการกระทบกันของกำไลมาเป็นอารมณ์ ในที่สุดสามารถเจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ พระองค์ ได้ประทานโอวาทแก่พสกนิกรของพระองค์ ให้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท จากนั้นได้เหาะไปพำนักอยู่ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ ตามปัจเจกพุทธประเพณี

ทางด้านมิถิลานคร ขณะที่พระเจ้านิมิราชประทับยืนทอดพระเนตรถนนทางสีหบัญชร ทรงเห็นฝูงนกกำลังรุมจิกตีเหยี่ยวตัวหนึ่ง เพื่อยื้อแย่งชิ้นเนื้อ เมื่อเหยี่ยวทนต่อการกลุ้มรุมไม่ได้ ก็ทิ้งเนื้อชิ้นนั้น นกตัวอื่นได้คาบเนื้อชิ้นนั้นไป พวกนกที่เหลือก็พากันติดตามนกตัวนั้นไป เมื่อไปถึงต่างรุมจิกตีนกตัวนั้นเพื่อแย่งชิ้นเนื้ออีก เจ้านกตัวนั้นจำต้องปล่อยชิ้นเนื้อทิ้งไป หากชิ้นเนื้อถูกนกตัวไหนคาบไปได้ นกตัวนั้นก็จะถูกรุมจิกตีอยู่กลางอากาศเช่นนี้เรื่อยไป

พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ ที่เกิดขึ้นจากการครอบครองชิ้นเนื้อ แม้กามคุณทั้ง ๕ ก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดยึดถือไว้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความทุกข์ ส่วนผู้ไม่ยึดถือเป็นผู้มีความสุข เพราะกามเหล่านี้เป็นของสาธารณะสำหรับคนจำนวนมาก เรามีหญิงถึง ๑๖,๐๐๐ นาง ดังนั้นเราควร ละกามคุณ ทั้ง ๕ แล้วอยู่เป็นสุข เหมือนเหยี่ยวตัวที่ทิ้งก้อนเนื้อดีกว่า
เพียงอาศัยชิ้นเนื้อเป็นอารมณ์ ท่านสามารถเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ เป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวัตถุกามและกิเลสกามอีกต่อไป

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงนำมาเล่าให้ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้รับฟัง เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย คือ ในแคว้นอุตตรปัญจาละ ในกบิลนคร พระราชาทรงพระนามว่า ทุมมุขะ เสวย พระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงประดับเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ห้อมล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับยืนทอดพระเนตรพระลานหลวงทางสีหบัญชรที่เปิดไว้ ขณะเดียวกันนั้นเอง พวกคนเลี้ยงวัวต่างเปิดประตูคอกวัว เพื่อให้มันออกหากิน พวกวัวตัวผู้ออกจากคอกได้ เที่ยวเดินตามวัวตัวเมียตัวหนึ่งด้วยอำนาจกิเลส โคถึกใหญ่ซึ่งเป็นจ่าฝูง เห็นเช่นนั้นเกิดความหึงหวง จึงขวิดเข้าที่ระหว่างขา ทำให้ลำไส้ใหญ่ของวัวตัวนั้น ทะลักออกมาทางปากแผล มันดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด ในที่สุดก็ถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง

พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว ทรงดำริว่า " สัตวโลก ทั้งหลาย ตั้งต้นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ต่างประสบความทุกข์ด้วยอำนาจกิเลส วัวผู้ตัวนี้อาศัยกิเลสกาม จึงถึงความสิ้นชีวิต สัตว์แม้เหล่าอื่นก็หวั่นไหว เพราะกิเลสทั้งหลายเช่นเดียวกัน เราควรประหารกิเลสที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายหวั่นไหว"
จากนั้นทรงกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ ครั้นบรรลุแล้ว ทรงมอบหมายราชกิจทุกอย่าง แล้วเสด็จเหาะไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ

วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์ เสด็จออกจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟันนาคลดาที่สระอโนดาต ทรงชำระพระวรกาย ประทับยืนบนพื้นมโนศิลา ทรงนุ่งสบง แล้วถือบาตรและจีวร เหาะไปลงที่หมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จนถึงหน้าบ้านของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์เห็นพระมาโปรดมีความยินดี ได้อาราธนาให้เข้าไปประทับนั่งในบ้าน และถวายภัตตาหารอันประณีต หลังจากนั้นได้ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ฉวีวรรณก็ผุดผ่อง พระองค์ทรงเห็นอารมณ์อะไรหนอ จึงออกบรรพชา"
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสี่รู้ว่า บุคคลนี้คือหน่อเนื้อพุทธางกูร ได้ตรัสบอกแรงบันดาลใจ ในการออกบรรพชาของแต่ละท่าน พระโพธิสัตว์สดับแล้ว สอนตัวเองว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายต่างสละราชสมบัติ ไม่ทรงยินดีในเบญจกามคุณเลย เพราะท่านได้เสวยสุขที่เกิดจากบรรพชา"
เมื่อ สอนตัวเองเช่นนี้แล้ว ท่านได้อำลาครอบครัวออกบวชเป็นดาบส บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าตามลำพัง เสวยสุขที่เกิดจากฌาน เมื่อละโลกแล้ว มีสุคติภูมิเป็นที่ไป

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องในอดีตของบัณฑิตในกาลก่อนให้ฟังแล้ว ทรงสอนภิกษุสงฆ์ให้มีใจยินดีในพระนิพพาน เมื่อกายออกจากกามแล้ว ให้ใจออกจากกามด้วย อย่าให้กามวิตกมาครอบงำจิตใจได้ ต้องทำตัวเหมือนไม้แห้งที่อยู่บนบก เมื่อนำมาสีกันก็จะติดไฟ ใจต้องสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสไร้กิเลสกาม พร้อมที่จะรองรับมรรคผลนิพพานเสมอ ครั้นภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาแล้ว ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

เราจะเห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบกายเรา สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีได้ทั้งนั้น หากเราคิดเป็นย่อมจะเห็นธรรม เหมือนพระบรมศาสดาของเรา เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเทวทูตทั้งสี่ ที่มาในรูปของคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เกิดปัญญาญาณว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อทอดพระเนตรนักบวชทรงรู้ต่อไปว่า การบวชนี่แหละคือทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ได้เสด็จออกบรรพชาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม
พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักสอนตัวเอง หมั่นเอาเหตุการณ์รอบข้างมาเป็นธรรมะสอนใจ เมื่อเรารู้จักหนทางพระนิพพานแล้ว และรู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ควรรู้ว่า เราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเข้าถึงพระธรรมกายอย่างแน่นอน ขาดเพียง อย่างเดียว คือ ความเพียรปฏิบัติให้สม่ำเสมอ วันหนึ่งเราย่อมจะสมปรารถนา เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. กุมภการชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๓๕๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘