มงคลที่ ๑๓ สงเคราะห์ภรรยา(สามี) - ถนอมน้ำใจกันไว้


มงคลที่ ๑๓

สงเคราะห์ภรรยา(สามี)
ถนอมน้ำใจกันไว้

หญิงใด เมื่อสามีขัดสน ก็ขัดสนด้วย
เมื่อสามีมั่งคั่ง ก็พลอยเป็นผู้มั่งคั่ง
มีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ
นับว่าเป็นยอดแห่งภรรยา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป รอยเท้าสัตว์ใดจะใหญ่เกินกว่ารอยเท้าช้างนั้นเป็นไม่มี รอยเท้าทั้งหลายเหล่าอื่น ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง ฉันใด ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น ความไม่ประมาทนี้ได้ชื่อว่า ครอบคลุมไว้ซึ่งความดีทุกอย่างในพระพุทธศาสนา หากเรามีความไม่ประมาทเป็นพื้นฐาน ตระหนัก แน่นอยู่ในใจแล้ว เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้อย่างแท้จริง แต่การที่เราจะอยู่ในแหล่งแห่งความไม่ประมาท เราต้องมีสติอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา อยู่ในกลางพระธรรมกายเป็นปกติ หากทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทอย่างแท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน สุจจชาดก ว่า

"ยา ทลิทฺที ทลิทฺทสฺส อฑฺฒา อฑฺฒสฺส กิตฺติมา
สา หิสฺส ปรมา ภริยา สหิรญฺญสฺส อิตฺถิโย

หญิงใด เมื่อสามีขัดสน ก็ขัดสนด้วย เมื่อสามีมั่งคั่ง ก็พลอยเป็นผู้มั่งคั่ง มีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ นับว่าเป็นยอดแห่งภรรยา"

การใช้ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทุกๆ คนย่อมปรารถนาจะได้คู่ครองที่ดี มีคุณธรรม หากเป็นผู้หญิงก็ย่อมปรารถนาสามีที่ดี เป็นผู้นำของครอบครัวที่เข้มแข็ง เป็นพ่อที่ดีของลูก ฝ่ายชายก็มาดหมายที่จะได้ศรีภรรยาเป็นแม่ศรีเรือน เป็นแม่ผู้เป็นต้นแบบที่ดีของลูก นี่คือความปรารถนาของชาวโลกทั้งหลายที่ยังใช้ชีวิตครองเรือน จึงต้องทำครอบครัวให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย จะได้เป็นครอบครัวตัวอย่างของโลก

ดังนั้น จึงต้องศึกษาหน้าที่ของสามีหรือภรรยาที่ดีว่าเป็นอย่างไร ศรีภรรยานั้นเป็นผู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรธิดาและคอยเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ลูกลืมตามาดูโลก แม่จึงเป็นบุคคลสำคัญต่อลูกเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ภรรยาที่ดีจึงเป็นต้นแบบที่ดีของลูกและครอบครัว ภรรยาที่ดีนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้มีหลายประเภทด้วยกัน และที่สำคัญคือ ครอบครัวจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานแห่งความเข้าอกเข้าใจ แม้เป็นสามีก็เป็นสามีที่เปรียบเสมือนเทพบุตร เป็นภรรยาก็เป็นภรรยาที่เปรียบเสมือนเทพธิดา หมายความว่า ต่างฝ่ายต่างมีศีล มีทิฏฐิเสมอกัน

ประการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องรู้จักใช้คำพูดที่เป็นที่รัก อย่าใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความน้อยอกน้อยใจแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอันขาด เพราะคำพูดที่ทิ่มแทงจิตใจกันจะทำให้ครอบครัวแตกร้าว ถ้อยคำของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้น มีผลมากกว่าคำพูดของบุคคลอื่น ดังนั้นต้องรู้จักพูดถนอมน้ำใจกัน และอีกประการที่สำคัญคือ ต้องรู้จักมองข้อดี มองความดีของกันและกัน ถ้ารู้จักมองกันด้วยความรักความปรารถนาดีเช่นนี้ยามมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสาชีวิตคู่ ย่อมจะให้อภัยกันได้ง่าย ไม่ผูกโกรธ ชีวิตครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ครอบครัวไม่มีปัญหา เป็นครอบครัวตัวอย่างที่โลกต้องการ
เรื่องความน้อยอกน้อยใจนี้เป็นอันตรายมาก บาง ครั้งการแสดงความหวังดีกับผู้ที่เรารัก กลับไม่ได้รับความเข้าใจเท่าที่ควร เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายยุคหลายสมัย แม้ในสมัยพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้น
*เมื่อคราวที่พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร วันหนึ่งมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีเป็นกุฎุมพี กุฎุมพีในสมัยพุทธกาลหากจะเปรียบเทียบในสมัยนี้ คือ เป็นผู้มีอันจะกิน มีฐานะดี ได้รับการยอมรับจากสังคม กุฎุมพีท่านนี้ได้เดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อต้องการจะชำระหนี้ และซื้อของอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อไปทำธุรกิจต่อ ครั้นชำระสะสางและได้ฝากของไว้ในตระกูลที่รู้จักกัน จากนั้นก็เดินทางเข้าไปยังเมืองสาวัตถี ระหว่างทางภรรยาเห็นภูเขาลูกหนึ่งจึงเอ่ยถามสามีว่า "พี่ ถ้าสมมติว่า ภูเขาลูกนี้เป็นทองหมดทั้งลูกและเป็นสมบัติของพี่ พี่คิดว่าจะให้อะไรฉันบ้าง"

การที่ภรรยาถามเช่นนี้ เพื่อต้องการทดลองใจสามีว่า รักตนมากขนาดไหน ฝ่ายสามีไม่ทันฉุกคิด อีกทั้งกำลังเหน็ดเหนื่อย กับการเดินทาง จึงตอบโดยไม่ได้ไตร่ตรองว่า "ถ้าภูเขานี้เป็นทองคำอย่างที่เธอว่าจริงๆ ละก็ ฉันจะรักษาไว้ไม่ให้ใครเลย"
ภรรยาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจมาก คิดว่าสามีไม่รักตน ช่างใจจืดใจดำแข็งกระด้างราวกับหิน พูดเหมือนกับเราไม่ใช่ภรรยาอย่างนั้นแหละ ในหัวอกตอนนั้นเอ่อล้นด้วยน้ำตาตกใน เกิดความน้อยใจแต่ก็ไม่พูดอะไร

ดังนั้น ต้องระวังคำพูดที่ออกมาจากปากโดยไม่ใคร่ครวญ ให้ดี จะมีผลกระทบกับจิตใจของคนที่เรารัก หากเป็นคำพูดที่ดี ก็หอมชื่นใจเหมือนดอกมะลิ ยังจิตใจให้เบิกบาน หากเป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ ก็เหมือนใบมีดที่คมกริบกรีดลงตรงกลางใจ วาจานี่มันคมกว่าหอกกว่าดาบ จะพูดจะจาอะไรก็ให้ระมัดระวัง

สามีภรรยาคู่นั้นเดินทางจนถึงใกล้ๆ พระเชตวัน เนื่องจากเดินทางมาเหนื่อย รู้สึกกระหายน้ำ ทั้งสองจึงเข้าไปยังวิหารเพื่อหาน้ำดื่ม ขณะนั้นเอง พระบรมศาสดาได้ตรวจดูสัตวโลก เห็นสองสามีภรรยามีอุปนิสัยแห่งโสดาบัน จึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีสว่างไสวงดงามมาก ประทับนั่งคอยอยู่ที่พระคันธกุฎี

หลังจากสองสามีภรรยาดื่มน้ำแล้ว ทั้งสองมองเห็น พระรัศมี ๖ ประการของพระบรมศาสดา จึงเข้ามาถวายบังคม พระองค์ตรัสถามว่า "ท่านทั้งสองไปไหนมา"

สามีภรรยากราบทูลว่า "ข้าพระองค์ทั้งสองเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อชำระสะสางหนี้สิน และจะลงทุนทำธุรกิจต่อ พระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดาปรารถนาจะปรารภเหตุเพื่อแสดงธรรม จึงตรัสถามฝ่ายภรรยาว่า "อุบาสิกา สามีของเธอหวังประโยชน์เกื้อกูลและดูแลเธอดีหรือเปล่า"

อุบาสิกากราบทูลว่า " หม่อมฉันรักสามีมาก แต่สามีไม่รักหม่อมฉันเลย แม้วันนี้ หม่อมฉันถามว่า ถ้าภูเขาทองเป็นสมบัติ สามีจะให้อะไรหม่อมฉันบ้าง สามีก็ตอบว่าไม่ให้ หม่อมฉันรู้สึกน้อยใจมากพระเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสว่า "อุบาสิกา กุฎุมพีนี้กล่าวไปอย่างนั้นเอง แต่เมื่อไรที่คิดถึงความดีของเธอแล้ว เขาก็พร้อมที่จะมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอได้" พระศาสดาทรงนำเรื่องราวในอดีตมาตรัสว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นมหาอำมาตย์ในราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งครองราชย์อยู่ที่กรุงพาราณสี พระราชาพระองค์นี้เป็นผู้มากไปด้วยความระแวง

วันหนึ่ง พระราชาเห็นพระราชโอรสเสด็จมาเข้าเฝ้า เกิดความคิดว่า "ลูกของเราอาจจะก่อกบฏคิดทรยศกับเราเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม" จึงรับสั่งแกมบังคับพระราชโอรสว่า "ลูกรัก ตอนที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ ลูกไปอยู่ที่อื่นก่อนเถิด หลังจากที่พ่อตายแล้ว ลูกค่อยมาครองราชสมบัติ"

พระโอรสและพระชายาได้ออกไปสร้างบรรณศาลาอยู่ในป่า เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้ หลังจากที่พระบิดาสวรรคต พระโอรส ได้เสด็จกลับมาครองราชสมบัติแทน ในระหว่างเดินทางกลับนั้น ทั้งสองเห็นภูเขาลูกหนึ่ง พระชายาถามขึ้นว่า "หากภูเขานี้เป็นทองคำ เสด็จพี่จะประทานอะไรให้หม่อมฉันบ้าง"

พระราชโอรสพูดเล่นๆ ไม่ได้จริงจังว่า "ถ้าเป็นทองคำจริงๆ ละก็ ไม่ให้ใครหรอก" พระชายาได้สดับเช่นนั้นก็ทรงน้อยพระทัย คิดว่า " เรารักพระสวามี แต่ทำไมพระองค์ไม่รักเราเลย อุตส่าห์ลำบากตรากตรำมาด้วยกัน แต่พระองค์ยังพูดอย่างนี้ได้ หัวใจพระองค์ทำด้วยอะไร ทำไมจึงแข็งกระด้างนัก"

จนกระทั่งกลับมาถึงเมือง ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระราชาทรงประทานตำแหน่งมเหสีให้ แต่ไม่ได้ยกย่องใดๆ แม้ความเป็นอยู่ของมเหสี พระองค์ก็ไม่ได้สนพระทัย พระโพธิสัตว์ เห็นเหตุการณ์นั้นก็คิดว่า "พระเทวีมีอุปการะมากกับพระราชา เราต้องหาวิธีทำให้พระองค์ได้ระลึกนึกถึงคุณของพระเทวี"

พระโพธิสัตว์เริ่มหากุศโลบาย วันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสอง พระองค์อยู่พร้อมหน้ากัน พระโพธิสัตว์ได้เอ่ยถามขึ้นว่า "พระแม่เจ้า ท่านสุขสบายดีหรือ" ทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้าพระราชา พระ-เทวีก็ตรัสเล่าด้วยความน้อยพระทัยถึงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น

พระโพธิสัตว์ปรารถนาจะช่วยพระเทวีจึงทูลตักเตือนสติพระราชาว่า " ข้าแต่มหาราช พระเทวีทรงลำบากกับพระองค์มายาวนาน มีทุกข์ร่วมทุกข์ ไม่เคยทอดทิ้ง พระเทวีเป็นศรีภรรยา ที่หาได้ยาก พระองค์ควรจะระลึกถึงคุณงามความดีของพระเทวี พระเจ้าข้า"

ธรรมดาของบัณฑิต แม้เคยบกพร่องผิดพลาด หากได้รับคำตักเตือนชี้แนะจากยอดกัลยาณมิตรย่อมจะได้คิดทันที พระราชาก็เช่นกัน ทันทีที่ได้ยินเช่นนั้นก็มิรอช้า ทรงแต่งตั้งพระเทวีให้มีอิสริยยศที่ยิ่งใหญ่ และกล่าวถึงคุณงามความดีของพระเทวีต่อมหาชนทั้งหลาย ทำให้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า "พระราชานั้น คือกุฎุมพีนี่เอง และพระเทวีก็คืออุบาสิกาผู้เป็นภรรยาของกุฎุมพี" เมื่อทั้งสองสามีภรรยาได้ฟังพระธรรมเทศนาจบ ทั้งคู่ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

เพราะฉะนั้น ชีวิตการอยู่ร่วมกันจะต้องรู้จักทะนุถนอมน้ำใจกัน ให้เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกันในยามทุกข์ยาก มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีภัยร่วมต้าน ประคับประคองกันไว้ให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการใช้วาจาพึงระมัดระวัง อย่าพูดอะไรที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเด็ดขาด แม้ บางครั้งจะเป็นความจริง แต่ไม่เกิดประโยชน์ก็อย่าพูด ให้ดู กาลเทศะด้วย โดยยึดหลักการกล่าววาจาสุภาษิตของพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทำได้เช่นนี้ ชีวิตครอบครัวจะมีความสุข จะเป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวตัวอย่างที่โลกต้องการ
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. สุจจชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๑๓

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘