มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล - มาฟังธรรมกันเถิด



มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตลอดกาล
มาฟังธรรมกันเถิด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ย่อมทำความเห็นให้ตรง และจิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล

การเกิดมาเป็นมนุษย์ หากไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ การเกิดมาก็เท่ากับสูญเปล่า เพราะไม่รู้จักเส้นทางชีวิตที่ถูกต้องว่า อะไรเป็นสาระเป็นแก่นสาร หรือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การที่พวกเราทั้งหลาย เกิดมาพบกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับว่าเป็นโชคอันมหาศาลยิ่งกว่าการได้สมบัติจักรพรรดิเสียอีก เพราะสมบัติภายนอกเป็นเพียงของนอกกาย ที่เราอาศัยกันอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว จะเอาติดตัวไปด้วยก็ไม่ได้ แต่พระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ที่เราได้รับฟัง แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ จะเป็นแสงส่องนำทางชีวิต ให้เราดำเนินไปในทางที่ถูกต้องและปลอดภัย

การให้โอกาสอันสำคัญกับตัวเอง ในการมาฟังธรรมวันละนิด และทำใจให้หยุดนิ่งเพิ่มเติมความบริสุทธิ์กาย ใจ ให้กับตัวเราเอง จึงเป็นกรณียกิจที่สำคัญ ซึ่งเราควรทำให้ได้เป็นประจำ สมํ่าเสมอ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธัมมัสสวนสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ย่อมทำความเห็นให้ตรง และจิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แลŽ

เวลาแห่งการฟังธรรมเป็นเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง จะช่วยยกใจของเราให้สูงขึ้น จากนิวรณธรรมทั้งหลาย เป็นการเพิ่มเติมปัญญาบารมีให้กับตัวเราเอง ไว้เป็นธรรมาวุธ คอยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

พวกเราทุกคนอาจจะเคยศึกษาความรู้ระดับต่างๆ ในทางโลกมามาก ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก เป็นดอกเตอร์ เป็นโปรเฟสเซอร์ ทั้งในและต่างประเทศ แต่ความรู้เหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงวิชาทำมาหากิน เป็นวิชาที่ช่วยเหลือตัวเองให้รู้จักหาทรัพย์สมบัติ ให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้เรามีความสุขในปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งก็ประสบความสำเร็จ บางครั้งก็พบกับความล้มเหลว

ส่วนความรู้ที่เกิดจากการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความรู้อันบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากใจที่หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ที่ท่านเรียกว่าการตรัสรู้ธรรม ยิ่งได้ยินได้ฟังและ นำไปประพฤติปฏิบัติตามมากเพียงไร ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังธรรม เป็นความรู้อันบริสุทธิ์ที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ

สิ่งที่พวกเราจะได้จากการฟังธรรม คือ อริยทรัพย์ เป็นสมบัติอันลํ้าค่า ยิ่งกว่าโลกิยทรัพย์ใดๆ ในโลกที่เราหามาได้ในปัจจุบันนี้ เพราะว่าเราจะได้เพิ่มพูนทรัพย์คือศรัทธา มีความเห็นถูกต้อง เป็นผู้มีศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ มีหิริโอตตัปปะ เกรงกลัวต่อบาปอกุศลทั้งหลาย ได้เป็นพหูสูต คือได้ยินได้ฟังแต่เรื่องดีๆ เป็นการยกใจให้สูงขึ้น ได้สละความตระหนี่ ออกจากใจด้วยจาคะ รวมไปถึงสละอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ เหลือไว้แต่อารมณ์ดี อารมณ์สบาย พร้อมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัยภายใน อารมณ์จะแจ่มใส และดวงปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์อันประเสริฐก็เพิ่มพูนมากขึ้น

ส่วนสมบัติภายนอกนั้น ใช้ได้ก็เฉพาะตอนที่เรามีชีวิตอยู่ หลังจากนั้น ก็นำไปไม่ได้ การหาโอกาสเข้าไปฟังธรรม หรือสนทนาธรรมกับนักปราชญ์บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ทุกท่านควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้เป็นผู้สมบูรณ์ ทั้งโลกิยทรัพย์ในโลกนี้ และอริยทรัพย์ซึ่งเปรียบเสมือน กุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และเป็นบันไดก้าวไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน

*ในสมัยพุทธกาล อชิตมาณพกับเพื่อนๆ ๑๖ คน ซึ่งได้รับคำสั่งจากอาจารย์ให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังธรรม และถามปัญหาที่ค้างคาใจมานานกับพระพุทธองค์ เมื่อทุกคน ไปถึงวัดพระเชตวัน ก็ได้เข้าไปฟังธรรม และได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ว่า โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร แล้วมีธรรมะหมวดไหน ที่จะพอเป็นเครื่องกั้นอาสวกิเลสเหล่านั้นได้บ้าง เหล่าบัณฑิตได้ปิดกั้นอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในใจด้วยธรรมอะไร และอะไรหนอเป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้ ทำให้มนุษย์หลงเพลิดเพลินอยู่ในโลก โดยไม่ยอมแสวงหาทางหลุดพ้น อะไรเป็นภัยใหญ่หลวงของ ชาวโลกŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอชิตะ โลกนี้ถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้ โลกนี้ไม่แจ่มแจ้งเพราะมนุษย์มีความตระหนี่ และความประมาท ดูก่อนอชิตะ แม้ว่าอาสวะทั้งหลายจะไหลไปในอารมณ์ต่างๆ ได้ แต่หากมีสติสัมปชัญญะ สติจะเป็นเครื่องกั้นอาสวกิเลสในโลกไว้ได้ บัณฑิตย่อมปิดกั้นอาสวะได้ด้วยปัญญา เราตถาคตกล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้ ทำให้มนุษย์และสรรพสัตว์ ต้องดิ้นรนแสวงหาเบญจกามคุณ โดยไม่รู้จักพอ ตัณหาพาให้มนุษย์ยุ่งเหยิง และต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในสังสารวัฏ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น และความทุกข์นี่เอง เป็นภัยใหญ่สำหรับชาวโลกŽ

ฝ่ายติสสเมตเตยยมาณพ ก็ได้ทูลถามปัญหาพระพุทธองค์ว่า ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ย่อมไม่มีแก่ใครบ้าง ใครรู้ส่วนสุดทั้งสอง แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่าเป็นมหาบุรุษ มีใครบ้างไหม ที่ล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้Ž

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนเมตเตยยะ ผู้เห็นทุกข์เห็นโทษในกามทั้งหลาย แล้วประพฤติพรหมจรรย์ ปราศจากตัณหาเครื่องร้อยรัดแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมตามความเป็นจริง สามารถขจัดกิเลสให้หลุดร่อนออกไปได้ ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้รู้ส่วนสุดทั้งสอง เรากล่าวสรรเสริญบุคคลนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ บุคคลนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกเสียได้ จึงเป็นผู้มีชีวิต ที่อยู่เหนือโลกŽ

ฝ่ายเมตตคูมาณพได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย เขาพากันข้ามห้วงน้ำคือโอฆะ มีชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะ แก่ข้าพระองค์ ด้วยเถิดŽ

พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนเมตตคู เธอจงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ขอท่านจงบรรเทาความเพลิดเพลิน และความยึดมั่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จึงจะหลุดพ้นจากภพ ๓ ไปได้ ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว ย่อมสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย นรชนผู้มีปัญญาในศาสนานี้ สละธรรมเป็นเครื่องข้องในภพน้อย และภพใหญ่ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสทำให้เกิดความกังวล ไม่มีความหวังในโลกทั้งปวง เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามชาติและชราได้แล้วŽ

เพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อกัปปมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันเป็น ที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้ที่ถูกชราและมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรด้วยเถิด ขอพระองค์จงตรัสบอก ที่พึ่งแก่ข้าพระองค์โดยอุบายที่ทุกข์นี้ จะไม่พึงมีอีกเถิดŽ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนกัปปะ ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่นนี้เป็นที่พึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่า นิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไปในทางของมาร ย่อมเป็นอิสระในตัวเองŽ

นี่ก็เป็นคำถามส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อทุกท่าน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ คำถามส่วนใหญ่ที่บัณฑิตนักปราชญ์ท่านถามกัน ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งทั้งนั้น ทุกๆ คำถามล้วนเป็นไป เพื่อขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดร่อนออกไปจากใจ เป็นคำถามที่น่าฟังทั้งนั้น เมื่ออชิตมาณพกับเพื่อนๆ ได้ฟังคำตอบแล้ว ก็น้อมนำใจ ไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในที่สุดก็ได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทุกคน

นี่เป็นอานิสงส์จากการฟังธรรม และการสนทนาธรรมกับผู้รู้แจ้งที่แท้จริง พระบรมศาสดาของเราเองก็ได้ชื่อว่า เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในภพ ๓ นี้ แม้จะเป็นปัญหาที่พ้นโลก ท่านก็สามารถตอบได้หมด พระพุทธองค์ไม่มีปัญหา มีแต่ดวงปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่ทรงหลั่งธรรมธาราให้สรรพสัตว์ได้ดื่มอมฤตธรรม ซึ่งเป็นวิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น

เพราะฉะนั้น การหาโอกาสฟังธรรมเป็นประจำ จะทำให้เกิดปัญญาญาณ มองเห็นโลกได้ตามความเป็นจริง ทำให้เรา ไม่หลงไปในกระแสโลก คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่ชาวโลกยังไม่สามารถสลัดให้หลุดออกจากใจได้ ดังนั้นทุกๆ คนจึงควรหมั่นเพิ่มเติมปัญญาบารมีให้กับตัวเอง ด้วยการหาโอกาสฟังธรรม และหมั่นฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์ หยุดนิ่ง ทำกันไปจนกว่าจะเข้าไปพบกับผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. วัตถุกถา เล่ม ๖๗ หน้า ๑

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘