มงคลที่ ๑๒ เลี้ยงดูบุตร - รักลูกให้ถูกทางนิพพาน


มงคลที่ ๑๒

เลี้ยงดูบุตร - รักลูกให้ถูกทางนิพพาน

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุลเลย บุตรทั้งหลายเหล่านี้แล มีอยู่พร้อมในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้นย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากหมู่เมฆ ย่อมไพโรจน์อยู่ ฉะนั้น

ร่างกายของคนเรานั้น จะต้องคอยหมั่นทำความสะอาด ชำระล้างสิ่งสกปรกอยู่เป็นประจำทุกๆ วัน ฉันใด จิตใจของคนเราก็ ฉันนั้น จะต้องคอยหมั่นทำความสะอาด ด้วยการหมั่นสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นวิธีที่จะชำระล้างจิตใจของเรา ให้ปราศจากกิเลสอันเป็นมลทินของใจให้หลุดร่อนออกไป ทำให้ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ทั้งมวล ซึ่งการทำอย่างนี้เป็นภารกิจหลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และทำควบคู่กับภารกิจในชีวิตประจำวัน ธุรกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน ฝึกฝนอบรมใจกันไปจนกระทั่งติดเป็นนิสัย ให้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เหมือนลมหายใจที่เราขาดไม่ได้ หากทำได้เช่นนี้ เราจะต้องเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ว่า

"บัณฑิต ทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุลเลย บุตรทั้งหลายเหล่านี้แล มีอยู่พร้อมในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้นย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากหมู่เมฆ ย่อมไพโรจน์อยู่ ฉะนั้น"

ต้นไม้ที่ออกผลไม่ดี ย่อมมีแต่จะถูกโค่นทิ้ง ตรงกันข้ามหากมีผลดกมีรสหวานมันอร่อย เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมให้คงอยู่ได้นานๆ ดังนั้นต้นไม้จะได้รับการบำรุงนานเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับผลของต้นไม้นั้น คนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าลูกทำดี เป็นคนดี คนทั้งหลายต่างย่อมชื่นชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดี ทำให้ท่านได้รับความชื่นอกชื่นใจ ความสุขกายสบายใจก็จะติดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลูกไปทำความดีสั่งสมบุญกุศลที่ไหน พ่อแม่ย่อมพลอยได้รับบุญตามไปด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อแม่นั้นอยู่ที่ลูก และในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ลูกเป็นคนดี เป็นลูกแก้วแล้ว อัปมงคลจะมาถึงพ่อแม่เช่นกัน

พระพุทธองค์ทรงแบ่งประเภทของบุตรไว้ ๓ จำพวกได้แก่ ประเภทแรก อภิชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณธรรมความดีสูงกว่ามารดาบิดา เป็นบุตรชั้นสูงที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วงศ์ตระกูล ประเภทที่สอง อนุชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณธรรม เสมอด้วยมารดาบิดา เป็นบุตรชั้นกลางพอที่จะรักษาวงศ์ตระกูล ไว้ได้ ส่วนประเภทสุดท้าย อวชาตบุตร หมายถึง บุตรที่มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นล่างที่มักนำความเสื่อมเสีย มาสู่วงศ์ตระกูล
สำหรับวันนี้เรามารับฟังเรื่องราวของพระเถรีรูปหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า พระวัฑฒมาตาเถรี ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่บุตรของตนด้วยการยกตนให้พ้นจาก กองกิเลสแล้ว ท่านยังเป็นกัลยาณมิตรให้กับบุตรอีกด้วย เรียกว่าเป็นที่พึ่งทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และบุตรของท่านก็ได้ชื่อว่า เป็นอนุชาตบุตร เป็นบุตรผู้เสมอกับมารดา คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเสมอด้วยมารดา ดังนั้นพระเถรีรูปนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นแบบฉบับของแม่ ผู้ให้อย่างแท้จริง เรื่องของท่านมีอยู่ว่า
*พระเถรีได้บำเพ็ญบารมีมากับพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ด้วยกัน จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา บารมีท่านก็เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ท่านได้เกิดในครอบครัวตระกูลหนึ่งในเมืองภารุกัจฉะ เมื่อเจริญเติบโตได้แต่งงานและ มีบุตรหนึ่งคนชื่อ วัฑฒะ แปลว่า ความเจริญ และนับตั้งแต่นาง มีบุตร ชาวบ้านต่างพากันเรียกนางว่า วัฑฒมาตา หมายถึง มารดาของวัฑฒกุมาร

วันหนึ่ง นางได้ไปฟังธรรมในสำนักของภิกษุณี เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และรู้สึกสลดสังเวชในการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อกลับบ้าน จึงมอบบุตรให้พวกญาติดูแล และตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี เมื่อบวชแล้วท่านตั้งใจบำเพ็ญเพียร จนได้บรรลุอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์เถรีรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา

เมื่อวัฑฒกุมารเติบใหญ่รู้เดียงสาแล้ว ได้ออกบวชในสำนักของพระเวทันตเถระ ครั้นบวชแล้วท่านได้ร่ำเรียนพระพุทธวจนะจนเป็นพหูสูต เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้นำด้านคันถธุระ วันหนึ่ง ท่านคิดจะไปเยี่ยมพระมารดาเถรี จึงออกเดินทางไปยังสำนักของภิกษุณีผู้เป็นมารดา ฝ่ายพระเถรีเห็นพระลูกชายมาเยี่ยม ปรารถนาจะถวายคำแนะนำพระลูกชาย จึงกล่าวว่า "พระคุณเจ้าวัฑฒะ ตัณหาความทะยานอยากในโลก อย่าได้มีแก่ท่านไม่ว่าจะในกาลไหนๆ ท่านอย่าเป็นผู้มีส่วนแห่งทุกข์บ่อยๆ เลย พระคุณเจ้าวัฑฒะพระมุนีทั้งหลายไม่มีตัณหา ตัดความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้เยือกเย็น ถึงความฝึกฝนอยู่ ไม่มีกิเลสอาสวะ ย่อมอยู่เป็นสุข ขอพระคุณเจ้าจงพอกพูนมรรคผล ตามทางที่ท่านผู้แสวงคุณ คือ พระขีณาสพทั้งหลายได้ประพฤติกันมาแล้ว เพื่อบรรลุญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด"

พระเถระรู้ทันทีว่า ภิกษุณีมารดาตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล แล้ว จึงตอบพระเถรีว่า " ดูก่อนพระมารดาเถรีผู้บังเกิดเกล้า การที่ท่านกล้ากล่าวความเช่นนี้กับอาตมา อาตมาย่อมเข้าใจว่า ตัณหา คือ ความทะยานอยากของท่านนั้น สิ้นแล้วเป็นแน่แท้"

พระเถรีกล่าวย้ำว่า "กิเลสแม้เพียงเล็กน้อยในอารมณ์ไหนๆ ของเรา ย่อมไม่มีเหลืออยู่เลย พระคุณท่าน" และเมื่อพระเถรีจะประกาศความที่ตนหมดกิเลสแล้ว จึงกล่าวคาถาว่า " พระคุณเจ้าวัฑฒะ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทั้งอย่างต่ำ อย่างกลางและอย่างสูง ตัณหาของเราในสังขารเหล่านั้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ดี หรือเพียงอณูหนึ่งก็ดี มิได้มีเลย เราเป็นผู้ไม่ประมาท เพ่งฌานอยู่ สิ้นกิเลสอาสวะแล้ว ได้สำเร็จวิชชา ๓ วิชชา ๘ และได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาเสร็จสิ้นแล้ว"
พระเถระได้ทำโอวาทที่พระมารดาเถรีกล่าวนั้นให้เป็นประดุจขอช้างไว้คอยเตือน สติตนเองให้เกิดกำลังใจ มิให้ประมาทในการประพฤติธรรม เมื่อกลับถึงพระวิหาร ท่านตั้งใจนั่งเจริญภาวนาในที่พักกลางวัน และตั้งจิตแน่วแน่ หยุดนิ่งเข้าไปสู่ภายในไปตามลำดับ ในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตตผล เมื่อบรรลุแล้ว ท่านนึกย้อนถึงการปฏิบัติของตน ก็เกิดปีติโสมนัส รีบไปยังสำนักของภิกษุณีผู้เป็นมารดา และเมื่อจะพยากรณ์ พระอรหัตตผลจึงกล่าวว่า
"พระมารดาเถรี ได้มอบอมตธรรมอันโอฬารให้แก่อาตมาแล้วหนอ พระคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานได้แจ่มแจ้งแล้ว เหมือนบุคคลผู้หวังดีพึงอนุเคราะห์ แก่กันและกัน อาตมาฟังคำสอนของท่านแล้ว ก็ถึงความสลดสังเวช ได้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันเกษม อันปลอดภัยจากโยคะกิเลส อาตมาผู้ถูกตักเตือนแล้ว มีจิตเด็ดเดี่ยวไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ได้บรรลุถึงความสงบอันสูงสุดแล้ว"

เราจะเห็นว่า พระเถรีเป็นต้นแบบของมารดาผู้ให้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะเป็นต้นแบบทางกายแล้ว ท่านยังเป็นต้นแบบทางใจอีกด้วย คือ นอกจากจะให้กำเนิดกายเนื้อแล้ว ยังให้กำเนิดกายธรรมแก่บุตรอันเป็นที่รัก โดยได้เป็นยอดกัลยาณมิตรให้แก่บุตร ได้มอบอริยทรัพย์ภายใน คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน นับว่าเป็นการให้ที่ประเสริฐที่สุดที่มารดาบิดาจะพึงให้แก่บุตรธิดา เพราะการให้ทรัพย์สินภายนอก ก็แค่หล่อเลี้ยงสังขารไปได้ภพชาติหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถทำให้พ้นจากภพทั้งสามไปได้ แต่การให้อริยทรัพย์ภายในนั้น จะทำให้บุตรธิดาเอาตัวรอดปลอดภัยจากสังสารวัฏนี้ได้ ดังนั้นให้ดู พระเถรีเป็นแบบอย่าง ซึ่งนอกจากจะเอาธรรมะเป็นที่พึ่งแก่ตนแล้ว ยังให้ธรรมทานเป็นที่พึ่งแก่หมู่ญาติและชาวโลกอีกด้วย ฉะนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ให้ได้ทุกๆ คน จะได้มีธรรมะเป็นที่พึ่งทั้งแก่ตนและชาวโลกสืบไป
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พระวัฑฒมาตาเถรี เล่ม ๕๔ หน้า ๒๙๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘