มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๓ ( ฉายแววปราชญ์ )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๓
( ฉายแววปราชญ์ )

ธรรมดาดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวบนท้องฟ้า ด้วยกำลังแห่งรัศมี ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงอุบัติ ย่อมรุ่งโรจน์กว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น ความอัศจรรย์แห่งพระสัทธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จะลบล้างความเห็นผิด และความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ของผู้ไม่รู้

ทุกคนล้วนเกิดมามีเป้าหมาย เพื่อแสวงหาความสุขความสำเร็จด้วยกันทั้งนั้น ในจิตใต้สำนึกของทุกๆ คน ล้วนปรารถนาจะพบกับความสุขที่แท้จริง แต่เพราะความไม่รู้ หรืออวิชชาเข้ามาครอบงำจิตใจ ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงบังคับบัญชา จึงทำให้ไม่อาจพบในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ เราต้องอาศัยปัญญาอันบริสุทธิ์มาขจัดความไม่รู้ โดยการนำใจกลับมาไว้ ณ ฐานที่ตั้งดั้งเดิม ทำใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้รู้ คือ พระธรรมกายภายใน เราย่อมจะได้พบความจริง และความสุขที่สมบูรณ์ของชีวิต

มีวาระธรรมภาษิตใน พุทธชัยมงคลคาถา ความว่า
"ธรรมดาดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวบนท้องฟ้า ด้วยกำลังแห่งรัศมี ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงอุบัติ ย่อมรุ่งโรจน์กว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น ความอัศจรรย์แห่งพระสัทธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จะลบล้างความเห็นผิด และความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระของผู้ไม่รู้"

การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นมหาโชคมหาลาภของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงขจัดความทุกข์ของมนุษย์ เหมือนดวงจันทร์ที่ขจัดความมืดมิดในรัตติกาล และยังความสว่างไสวให้เกิดขึ้นบนท้องนภา การได้ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ ทำให้พระองค์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เหนือมนุษย์ทั้งหลาย เป็นเทพที่ยิ่งกว่าเทพ เป็นครูทั้งของมนุษย์และเทวดา

เราได้ย้อนไปดูภพชาติในอดีต ที่พระองค์ทรงเสวย
พระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีเพื่อหวังพระโพธิญาณ แม้ยัง ไม่ได้ตรัสรู้ธรรม แต่ก็สามารถแสดงอานุภาพของปัญญาที่เกิดจากการได้สั่งสมมามาก ดังเรื่องของมโหสถบัณฑิตโพธิสัตว์ที่ได้ศึกษาจากตอนที่แล้ว

*ก่อนที่มโหสถกุมารจะออกจากครรภ์มารดา ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดูพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราควรจะทำพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในโลกพร้อมทั้งเทวโลก จึงเสด็จมาด้วยรูปที่ไม่มีใครเห็นในเวลาที่พระโพธิสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา และทรงวางแท่งโอสถทิพย์แท่งหนึ่งไว้ในมือของทารก จากนั้นก็เสด็จกลับไปยังทิพยวิมาน

นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตร จึงถามลูกน้อยว่า "พ่อได้อะไรมา" หนูน้อยก็พูดได้ทันทีอย่างอัศจรรย์ โดยตอบมารดาว่า "โอสถจ้ะแม่" พลางวางทิพยโอสถในมือมารดา และบอกว่า "ขอให้แม่จงใช้โอสถนี้รักษาคนเจ็บป่วยเถิด" นางสุมนาเทวี ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ร้องบอกสิริวัฒนเศรษฐีผู้เป็นสามี และทดลองใช้รักษาโรคปวดศีรษะของท่านเศรษฐี โรคนั้นก็หายเป็นอัศจรรย์
เมื่อท่านเศรษฐีเห็นอานุภาพของบุตร ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ ท่านคิดว่าบุตรของเราควรมีนามว่า มโหสถกุมาร เพราะถือกำเนิดมาพร้อมกับโอสถวิเศษ ท่านได้ส่งคนไปเที่ยวสืบดูด้วยความคิดว่า "ผู้มีบุญญาธิการเช่นนี้ลงมาเกิด จะต้องไม่ลงมาเกิดลำพังผู้เดียว จะต้องมีผู้ที่ลงมาเกิดพร้อมกันด้วย" ในที่สุดได้พบเด็กถึง ๑,๐๐๐ คน ที่เกิดพร้อมกันในวันนั้น ท่านสิริวัฒนเศรษฐีจึงให้ความอุปถัมภ์แก่เด็กทุกๆ คน และจัดงานมหามงคลฉลองเด็กทั้งหมดพร้อมกับลูกของตน เมื่อเติบโตขึ้น เด็กๆ เหล่านั้นต่างพากันแวดล้อมมโหสถกุมาร เป็นบริวารของบัณฑิตน้อยโดยธรรม มโหสถเป็นเลิศด้วยปัญญาและคุณธรรม เป็นมิ่งขวัญของชาวยวมัชฌคามทุกๆ คน
กล่าวถึงพระเจ้าวิเทหราช เมื่อได้รับรู้ข่าวดีจากอำมาตย์ ทรงปีติปราโมทย์พระทัยยิ่งนัก ตรัสเรียกท่านเสนกะมาเข้าเฝ้า รับสั่งว่า "เป็นอย่างไรท่านอาจารย์ มีรายงานมาอย่างนี้ เราควรจะนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง" ในตอนต้นๆ ท่านเสนกะก็ดูกระตือรือร้นในเรื่องนี้ เป็นเพราะต้องการจะทำให้ถูกพระทัยของพระราชา แต่ครั้นเห็นทรงใฝ่พระทัยมากเป็นพิเศษ จึงเกิดความอิจฉา ไม่ต้องการเห็นผู้ที่มีปัญญาหลักแหลมเป็นคนดีมีฝีมือกว่าตน เข้ามาร่วมงานด้วย แม้จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก็ตาม เพราะมีลางว่าอาจมาตัดรอน ลาภสักการะของตน และถูกลดการยอมรับนับถือ จึงหาทางขัดขวางสุดกำลัง นี่เป็นเรื่องปกติของปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งมีมากันทุกยุคทุกสมัย กระทั่งยุคปัจจุบันนี้
อาจารย์เสนกะจึงได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ สมมติเทพ เหตุเพียงเรื่องการสร้างศาลานั้นยังเล็กน้อยเกินไป ไม่สมกับที่จะเป็นเหตุให้บุคคลได้ชื่อว่า เป็นบัณฑิต เพราะใครๆ ก็สร้างได้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าอัศจรรย์เลย การเป็นราชบัณฑิตได้ด้วยเหตุเพียงสร้างศาลา ดูจะไม่หนักแน่นนัก หากข่าวนี้แพร่หลายไปทั่วชมพูทวีป จะเป็นที่ดูแคลนของบุคคลทั้งหลาย ขอได้โปรดทรงพิจารณา และสังเกตติดตามต่อไปเถิดพระเจ้าข้า"

ครั้นสดับฟังถ้อยคำของท่านเสนกะแล้ว ทรงไม่กล้าผลีผลามที่จะให้นำตัวกุมารน้อยเข้ามาอยู่ในพระราชวัง จึงรับสั่งให้ทูตไปบอกอำมาตย์ว่า ให้สังเกตดูไปก่อน เมื่อมีเหตุการณ์อันใดที่พิเศษเกิดขึ้น ให้รีบรายงานมาเป็นระยะๆ ระหว่างที่อำมาตย์ของพระเจ้าวิเทหราชประจำอยู่ ณ สำนักของมโหสถกุมารนั้น ได้ปรากฏเหตุการณ์ต่างๆ หลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนเป็นพยานแห่งปรีชาอันยอดเยี่ยมของมโหสถ ทั้งสิ้น เมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้น อำมาตย์ก็จะเขียนรายงานให้ราชทูต ถือเข้าไปกราบทูลพระราชาทันที

ดังเช่นวันหนึ่ง มโหสถกุมารกับเพื่อนเด็กๆ ทั้ง ๑,๐๐๐ คน พากันเล่นอยู่ในสนาม มีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบชิ้นเนื้อมาได้จากโรงครัว คาบบินผ่านเข้ามาในบริเวณสนามหญ้า พวกเด็กๆ เห็นเข้าต่างพากันวิ่งตามเหยี่ยว ขู่ตวาดโห่ร้องเพื่อให้เหยี่ยวตกใจจะได้ปล่อยชิ้นเนื้อลงมา ต่างรู้สึกสนุกสนานที่วิ่งไล่เหยี่ยว แต่ก็บาดเจ็บไปตามๆ กันด้วย เพราะเมื่อพากันวิ่งเป็นหมู่ แหงนดูเหยี่ยวไปพลาง ก็สะดุดตอไม้ ตกหลุม ตกบ่อ ล้มลุกคลุกคลาน สะบักสะบอมไปตามๆ กัน

มโหสถกุมารเห็นเช่นนั้น ก็ตะโกนบอกให้เพื่อนๆ หยุดไล่ ส่วนตัวเองก็วิ่งกวดไปอย่างรวดเร็ว ตาก็ดูเงาเหยี่ยวที่ปรากฏอยู่บนพื้นดิน โดยไม่แหงนดูบนท้องฟ้า วิ่งไปเหยียบเงาเหยี่ยว พลางตบมือตะโกนเสียงดังลั่น ดุจเสียงนั้นจะผ่านเข้าไปคำรามอยู่ในท้องของมัน มันตกใจมากจึงทิ้งชิ้นเนื้อลงมา มโหสถมองดูเงาของชิ้นเนื้อ ที่กำลังหลุดลอยลงมาจากปากเหยี่ยว และเอามือรับไว้ได้ทันโดยชิ้นเนื้อไม่ตกถึงพื้นดินเลย เด็กทั้ง ๑,๐๐๐ คน ต่างเปล่งเสียงโห่ร้องชื่นชมในอัจฉริยภาพของมโหสถ พร้อมกับปรบมือกันกราวเกรียว
เมื่ออำมาตย์รายงานเรื่องนี้แล้ว พระราชาทรงชื่นชมโสมนัส มีพระทัยยินดีอยากจะได้มโหสถกุมารมาชุบเลี้ยง แต่อาจารย์เสนกะยังเหนี่ยวรั้งไว้ ยิ่งเห็นความปรีชาสามารถของมโหสถ ก็ยิ่งหวั่นไหวกลัวจะตกอับ คิดว่า "หากมโหสถเข้ามาอยู่ในราชสำนักเมื่อไร เราทั้ง ๔ คนก็จะเป็นเหมือนพระอาทิตย์อัสดงหมดรัศมีกันทีเดียว พระราชาอาจจะทรงลืมพวกเราเสียก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันหมดลาภยศสรรเสริญที่เคยได้ "

อำมาตย์จึงกราบทูลทัดทานว่า "เหตุเพียงเท่านี้ ยังเล็กน้อยเกินไปพระเจ้าข้า ไม่เพียงพอที่จะให้บุคคลได้นามว่าเป็นบัณฑิต เพราะมโหสถเห็นพวกเพื่อนวิ่งไล่เหยี่ยวก่อน แล้วจึงแก้ไขภายหลังที่ได้เห็นเงาของเหยี่ยว เป็นความคิดที่เกิดในภายหลัง เรื่องนี้จึงเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น "

พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงนิ่งโดยดุษณี และรับสั่งให้อำมาตย์คอยดูพฤติกรรมของมโหสถต่อไป ส่วนมโหสถบัณฑิต จะสามารถชนะใจของพระราชาได้หรือไม่อย่างไร ไว้เรามาติดตามกันต่อในตอนต่อไป ให้พวกเราทุกคนหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ตรึกระลึกนึกถึงบุญกุศล ให้ใจอยู่ในธรรมะ อยู่ในศูนย์กลางกายให้สว่างไสวกันทุกคน
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๓๐

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘