มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต - วาจาอันเป็นที่รัก


มงคลที่ ๑๐

มีวาจาสุภาษิต - วาจาอันเป็นที่รัก

พึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย
การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ
คนเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน

ธรรมดาของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม แม้แต่ชีวิตของเราก็เสื่อมไปตามลำดับ จากวัยทารกไปสู่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยแก่ชรา นั่นเป็นความเสื่อมที่เรามองเห็นได้ เราถูกความเสื่อมครอบงำ แล้วนำไปสู่ความตายในที่สุดเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเราไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ควรมองให้เห็นโทษของความเสื่อมนั้น จะได้คลายจากความยึดมั่น ถือมั่นในโลกทั้งปวง แล้วมุ่งแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เอกนิบาต ชาดก ว่า
"กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิก
โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ

พึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ คนเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน"

การพูดจาให้ไพเราะน่าฟัง พูดแต่วาจาสุภาษิต ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ จะทำให้ได้รับความสุขความเจริญ มีคนยกย่องสรรเสริญและเป็นที่รักของคนทั่วไป ดังนั้นควรพูดแต่ถ้อยคำอันเป็นที่รักที่พอใจ ส่วนคำที่หยาบคายเป็นวาจาทุพภาษิต ย่อมทำให้เดือดร้อนและถูกตำหนิติเตียน จึงควรงดเว้นเสีย

*ในสมัยพุทธกาล นางสุชาดาบุตรีของธนัญชัยเศรษฐี ได้เป็นสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว คิดว่าตนเองมาจากตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่ง จึงมีความถือตัวเอาแต่ใจตนเอง และมีนิสัยหยาบกระด้างมักโกรธ ไม่ทำหน้าที่ของสะใภ้ที่ดี แต่เที่ยวด่าว่าคนรับใช้อยู่เสมอ

วันหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าภิกษุ เสด็จมารับบิณฑบาตในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ขณะกำลังแสดงธรรม ก็ได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทกัน พระบรมศาสดาทรงหยุดธรรมกถาตรัสถามว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดาสะใภ้ของข้าพระองค์เป็นคนมักโกรธ มีความถือตัว นางไม่ทำหน้าที่ของสะใภ้ และไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล วันหนึ่งๆ ได้แต่หาเรื่องกับคนรับใช้ ขอพระองค์ทรงโปรดสั่งสอนด้วยเถิด"
พระบรมศาสดาจึงทรงให้เรียกนางมา แล้วตรัสถามว่า "ดูก่อนสุชาดา ภรรยาของบุรุษมีอยู่ ๗ จำพวก เธอเป็นภรรยาพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น"
นางสุชาดากราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่ทราบความหมายของพระดำรัสที่พระองค์ตรัส ขอพระองค์ทรงโปรดขยายความนั้นด้วยเถิด" พระพุทธองค์จึงตรัสถึงภรรยาทั้ง ๗ จำพวกว่า

"ภรรยาเหล่าใด มีจิตคิดประทุษร้ายต่อสามี มิได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สามี ประพฤตินอกใจสามี ดูหมิ่นล่วงเกินสามี พยายามจะประหารสามี ภรรยานี้เรียกว่า วธกาภริยา คือ ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต

ภรรยาเหล่าใด เมื่อสามีได้ทรัพย์สินเงินทองมาด้วยอาชีพสุจริต แม้จะมากน้อยเพียงใด ก็มอบทรัพย์ให้ภรรยาเก็บรักษาไว้ แต่ภรรยานั้นกลับใช้ทรัพย์อย่างสิ้นเปลือง ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร

ภรรยาเหล่าใด ไม่ยอมทำการงาน เกียจคร้าน หยาบช้า ดุร้าย ปากคอเราะราน ประพฤติข่มเหงคนรับใช้ ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภรรยาที่วางตัวเหมือนนาย

ภรรยาเหล่าใด มีใจโอบอ้อมอารี ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีดุจมารดาตามรักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภรรยาเสมอเหมือนมารดา

ภรรยาเหล่าใด มีความเคารพสามี มีความละอายใจ ประพฤติตามความพอใจของสามี คล้ายกับน้องสาวที่มีความเคารพต่อพี่ชาย ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภรรยาเสมอเหมือนน้องสาว

ภรรยาเหล่าใด เมื่อเห็นสามีแล้วร่าเริงยินดี คล้ายกับเห็นมิตรสหายที่มาเรือนของตน เป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูล มีศีลมีวัตรปฏิบัติต่อสามี ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า สขีภริยา ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน

ภรรยาเหล่าใดมีลักษณะเช่นนี้ คือ เป็นคนไม่มีความโกรธ ถึงจะถูกขู่ฆ่าหรือถูกลงโทษ ก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย อดกลั้นต่อสามี ไม่โกรธ ยอมประพฤติตามอำนาจของสามี ภรรยาอย่างนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภรรยาเสมอเหมือนทาส

ดูก่อนสุชาดา ภรรยาในโลกนี้ที่เรียกว่า วธกาภริยา โจรีภริยา และอัยยาภริยา เป็นคนทุศีลหยาบช้า มิได้เอื้อเฟื้อ เมื่อละจากโลกแล้วย่อมไปสู่นรก ส่วนภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า มาตาภริยา ภคินีภริยา สขีภริยา และทาสีภริยา เป็นคนดำรงอยู่ในศีล สำรวมระวังด้วยดี เมื่อละจากโลกแล้วย่อมไปสู่สุคติ"

เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางสุชาดาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "สุชาดา บรรดาภรรยา ๗ จำพวกนี้ เธอเป็นภรรยาพวกไหน"
นางกราบทูลว่า "หม่อมฉัน ขอเป็นภรรยาเสมอด้วยทาส พระเจ้าข้า" แล้วได้กราบขอขมาพระบรมศาสดา

ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องของนางสุชาดา ที่พระบรมศาสดาทรงทรมานให้หายพยศ ด้วยพระพุทธโอวาทเพียงครั้งเดียว จนได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระบรมศาสดาจึงทรงนำเรื่องในอดีต มาแสดงให้พระภิกษุฟังว่า

เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าพรหมทัต พระมารดาของพระองค์เป็นผู้มักโกรธ ดุร้าย ชอบด่าบริภาษผู้อื่น พระโพธิสัตว์ประสงค์จะถวายโอวาทแก่พระมารดา ทรงดำริว่า การกราบทูลถ้อยคำที่ไม่มีเรื่องอ้างอิงไม่สมควร จะไม่เป็นผล จึงแสวงหาสิ่งเปรียบเทียบ เพื่อจะแนะนำพระมารดา

วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปในพระราชอุทยานพร้อมกับพระมารดา ได้ยินเสียงนกต้อยตีวิดกำลังส่งเสียงร้องดังรบกวนในระหว่างทาง ผู้ติดตามมากมายได้ยินเสียงนั้น จึงพากันปิดหู กล่าวว่า "เจ้านกมีเสียงหยาบช้า เจ้าอย่าได้ส่งเสียงร้อง" แล้ว ต่างขว้างปาก้อนดินใส่นกต้อยตีวิด เมื่อเสด็จต่อไป ก็พบนกดุเหว่าตัวหนึ่ง อยู่บนต้นสาละ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ คณะผู้ติดตามพากันหลงใหลในเสียงนั้น ต่างกล่าวขึ้นว่า "เจ้านกน้อย มีเสียงไพเราะอ่อนหวาน นุ่มนวล เจ้าจงร้องต่อไป เราอยากฟังเสียงของเจ้าอีก"

พระโพธิสัตว์เห็นเหตุการณ์ทั้งสองนั้นแล้ว จึงดำริว่า เราจะนำเหตุการณ์นั้นมาเปรียบเทียบให้พระมารดาฟัง จึงกราบทูลว่า "มหาชนได้ยินเสียงของนกต้อยตีวิด ต่างพากัน ปิดหูแล้วไล่ไปเสีย แม้นกนี้มีสีสันสวยงาม แต่มีเสียงหยาบกระด้าง เปรียบเสมือนคนมีวาจาหยาบคาย ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้อื่น
แต่นกดุเหว่าแม้มีสีดำไม่น่าดู ก็เป็นที่รักเพราะมีเสียงไพเราะอ่อนหวาน เปรียบเสมือนคนมีวาจาสุภาษิต มีวาจา สละสลวย คิดก่อนพูด ไม่ฟุ้งซ่าน มีถ้อยคำเป็นอรรถเป็นธรรม ย่อมเป็นที่รักของมหาชน" พระมารดาสดับแล้วก็รู้สึกพระองค์ และได้เป็นผู้มีวาจาไพเราะนุ่มนวล ด้วยพระโอวาทเพียงครั้งเดียว เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะให้เป็นที่รักของผู้อื่น ควรพูด ด้วยวาจาไพเราะ อ่อนหวาน สละสลวย นุ่มนวลน่าฟัง ก่อนพูดก็ควรคิดใคร่ครวญให้ดี พูดในสิ่งที่มีประโยชน์ มีสาระ โดยเฉพาะ คำพูดที่ชักชวนให้ทำความดี ให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ควรพูดบ่อยๆ เพราะเป็นถ้อยคำที่นำพาไปสู่สวรรค์นิพพาน ดังนั้นให้ทุกถ้อยคำของเราเป็นไปเพื่อบุญกุศลและเพื่อความหลุดพ้น
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. สุชาดาชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๔๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘