มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน - พระทัพพมัลลบุตร (๕)



มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน
พระทัพพมัลลบุตร (๕)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ คือ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร และมีปัญญา เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระธรรมวินัยนี้

ชีวิตที่ปลอดกังวลเป็นชีวิตที่แจ่มใส สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่โลก เพราะสิ่งที่ดีงามจะเจริญในจิตใจที่งดงาม ชีวิตของสมณะเป็นชีวิตที่ปลอดกังวลจากเรื่องไร้สาระ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ฆราวาสเป็นชีวิตที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี มีแต่สิ่งที่จะคอยชักนำจิตใจให้ตกอยู่ในกระแสกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ส่วนชีวิตสมณะ เป็นชีวิตที่เหมาะสมแก่การฝึกฝนอบรมตนเอง ให้หลุดพ้นจากวังวนเหล่านี้ เป็นเส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายต่างดำเนินไป เป็นชีวิตสุดท้ายในสังสารวัฏ ผู้ที่มีโอกาสได้มาเป็นสมณะ จึงควรบำเพ็ญตนมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน

มีวาระแห่งพระบาลีที่ปรากฏใน ทุติยอคารวสูตร ความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ คือ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร และมีปัญญา เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระธรรมวินัยนี้Ž

ผู้ที่จะมีชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ จะต้องหมั่นฝึกฝนอบรมตน ทั้งกาย วาจา และใจให้สมบูรณ์พร้อม จึงจะเป็นที่รักที่เคารพบูชาของมนุษย์ และเทวาทั้งหลาย ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณร ก็จะเป็นเนื้อนาบุญ เป็นหัวใจของโลก และจักรวาล ฉะนั้นสมณะที่แท้จริง จะต้องหมั่นฝึกตัวตลอดเวลา ให้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๕ ประการ ดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ ตอนที่แล้วได้เล่าเรื่องของพระทัพพมัลลบุตร ที่ท่านพบเจอเรื่องราวต่างๆ มากมาย จนกระทั่งถูกเจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดมเหสีของตน แต่พอสอบสวนแล้ว พบว่าไม่เป็นความจริง คณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันควํ่าบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี

*วันรุ่งขึ้น พระอานนท์เถระได้ไปแจ้งเจ้าวัฑฒลิจฉวี ทันทีที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีรู้ข่าว พระองค์ถึงกับสลบล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อฟื้นขึ้นมา เหล่ามิตร อำมาตย์ ญาติสายโลหิตของพระองค์ ต่างพากันปลอบใจว่า อย่าได้เสียใจไปเลยท่านวัฑฒะ พวกเราจะทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์เลื่อมใสให้ได้Ž เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมด้วยบุตร และภรรยา ตลอดทั้งมิตร อำมาตย์ ญาติสายโลหิต จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า หมอบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ พลางทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์กระทำผิดด้วยความโง่เขลา ด้วยการกล่าวหาท่านพระทัพพมัลลบุตร นับว่าได้ทำความผิดอันใหญ่หลวง ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณายกโทษให้ข้าพระองค์ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด พระเจ้าข้าŽ

พระบรมศาสดาตรัสว่า เจ้าวัฑฒะ พระองค์ได้ทำผิดด้วยความโง่เขลา ด้วยอกุศล แต่ก็สำนึกผิดแล้ว ตถาคตจึงยกโทษให้Ž ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายให้สงฆ์หงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ให้คบหาสมาคมกับสงฆ์ได้เหมือนเดิม โดยให้เจ้าวัฑฒลิจฉวีห่มผ้าเฉวียงบ่า เข้าไปกราบขอขมา ขอให้สงฆ์ยกโทษ แล้วให้สงฆ์สวดประกาศหงายบาตร และได้ตรัสถึงองค์แห่งการหงายบาตรแก่อุบาสกไว้ ๘ ประการ ซึ่งมีข้อความตรงข้ามกับองค์แห่งการควํ่าบาตรที่ได้กล่าวไว้ในครั้งก่อน

เมื่อพระทัพพมัลลบุตรเถระพ้นมลทินแล้ว ท่านประสงค์จะประกาศคุณธรรมของท่าน จึงกล่าวขึ้นว่า ตนที่ฝึกหัดได้ยากอย่างไร ผู้มีปัญญาก็ได้ฝึกหัดด้วยการฝึกหัดอย่างดี ผู้มีปัญญาเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้ข้ามความสงสัยเสียได้ เป็น ผู้ชนะกิเลส เป็นผู้ปราศจากความกลัว ไม่มีภัยŽ

กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พระทัพพมัลลบุตรเถระ จะเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมต่างๆ และเป็นที่สรรเสริญของบุคคลทั้งหลาย แต่ที่ท่านได้มา เพราะท่านได้สั่งสมอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน อย่างเช่น **เมื่อย้อนกลับไป ๑๐๐,๐๐๐ กัปจากภัทรกัปนี้ ครั้งที่พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงมีพระอรหันต์จำนวนมากแวดล้อม ทรงประกาศสัจธรรม ทำให้เทวดา และมนุษย์มากมายหลุดพ้นจากห้วงวัฏทุกข์ได้

สมัยนั้น พระทัพพมัลลบุตรเถระเกิดเป็นบุตรเศรษฐี อยู่ในเมืองหงสวดี วันหนึ่ง ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าพระสาวก ทั้งหลาย ในฝ่ายจัดแจงแต่งตั้งเสนาสนะ ท่านมีใจยินดีต้องการจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้ถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ท่านทำอยู่ถึง ๗ วัน ในวันที่ ๗ ก็หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และตั้งความปรารถนาในตำแหน่งอันเลิศนั้นในอนาคตกาล

พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาด้วยอนาคตังสญาณ ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า กุลบุตรนี้จะได้เป็นพระสาวกของพระสมณโคดมพุทธเจ้า จะปรากฏชื่อว่า ทัพพะŽ และจะได้รับหน้าที่จัดแจงแต่งตั้งเสนาสนะแก่สงฆ์

ถัดจากชาตินั้นมา พระทัพพมัลลบุตรเถระได้ขึ้นไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชอยู่ในสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์นานถึง ๓๐๐ ชาติ ต่อมาได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ ชาติ เป็นพระราชาธรรมดา และพระราชาประเทศราชอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้เป็นผลแห่งความดีที่เคยถวายมหาทานไว้

ในกัปที่ ๙๑ ถอยจากภัทรกัปนี้ไป เมื่อพระวิปัสสีพุทธเจ้า เสด็จบังเกิดขึ้นในโลก ท่านได้เกิดในยุคนั้น ท่านได้ถวายสลากภัต นมสดแด่พระพุทธองค์พร้อมทั้งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ครั้นมาถึงภัทรกัปนี้ ในช่วงปลายพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระภิกษุ ๗ รูป เห็นเหตุที่แสดงถึงความสิ้นสูญของพระศาสดา จึงเกิดความสังเวชใจ และปรึกษาหารือกันว่า จะเข้าป่าปฏิบัติสมณธรรม เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา เมื่อเดินไปจนเห็นภูเขาศิลาอันสูงตระหง่านอยู่ในป่าใหญ่ จึงช่วยกันพาดบันไดขึ้นสู่ยอดภูเขานั้น จากนั้นได้ผลักบันไดทิ้ง ด้วยความตั้งใจว่า หากไม่บรรลุคุณวิเศษ จะไม่ยอมลงจากภูเขานี้เด็ดขาด

พระเถระผู้เป็นหัวหน้าได้สั่งสอนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติสมณธรรมว่า การเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการยาก เพราะกว่าที่พระองค์จะบำเพ็ญบารมีได้เต็มเปี่ยม ท่านต้องสั่งสมบารมีมายาวนาน โอกาสที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนาก็ยิ่งยาก ศรัทธาก็เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ในตอนนี้ พระศาสนาของเรามีอายุเหลือน้อยเต็มที หากเราทั้งหลายยังเป็นผู้ประมาทอยู่ ปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป ย่อมตกอยู่ในห้วงทุกข์แห่งวัฏสงสาร ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกหลายภพหลายชาติ เราควรจะทำความเพียรกันให้เต็มที่

ในที่สุดท่านทั้ง ๗ รูป ทำกติกากันว่า ตราบใดยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ พวกเราทั้งหลายจะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา จะไม่ยอมฉันอาหารตราบนั้น และยังมีการถามย้ำเพื่อความมั่นใจว่า ผู้ที่ยังมีความอาลัยในชีวิต ก็ให้รีบลงจากภูเขา แต่ไม่มีท่านใด ลงจากภูเขา หลังจากนั้น ต่างแยกย้ายไปปฏิบัติสมณธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ตัดความกังวลทั้งหลายออกจากใจ ไม่มีอาลัยในชีวิต มุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง

เราจะเห็นได้ว่า กว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่จะมีวันนี้ได้ ต่างมีเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ คือ การสั่งสมบุญบารมีมาอย่างเต็มที่ เต็มกำลังทั้งนั้น แต่ละท่านล้วนมีประวัติการสร้างบารมีที่งดงาม ไม่ใช่ว่า ปรารถนาจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ลงมือทำความดีใดๆ อย่างนี้ไม่สมหวังแน่นอน จะต้องมีบุญหนุนนำด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเรารู้เช่นนี้ ควรที่จะตั้งใจสั่งสมบุญให้มากๆ ให้ใจอยู่ในบุญ อยู่ในพระรัตนตรัยกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี เล่ˆม ๙ หน้า ๓๘
**มก. บุพจริยาของพระทัพพฯ เลˆ่ม ๗๒ หน้า ๒๕๕

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘