ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร 5. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสงสัยเป้าหมายของนักบวช

พระเจ้า อชาตศัตรูทรงประสบทุกข์แสนสาหัส ภายหลังจากพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ด้วยการกระทำของพระองค์เอง ประกอบกับทรงได้สดับคำติเตียนของชาวแว่นแคว้นในกรรมชั่วของพระเทวทัต เมื่อทรงครุ่นคิดไตร่ตรองดูด้วยปัญญาแล้ว พระองค์จึงทรงตระหนักว่า ความทุกข์และความเดือดร้อนที่พระองค์กำลังเผชิญอยู่นี้ ล้วนมีสาเหตุมาจากความหลงผิด หลงเชื่อและยกย่องบูชานักบวชอย่างเทวทัตโดยแท้ ขณะ เดียวกันก็ทรงพิศวงนักหนาว่า เหตุใดนักบวชเทวทัตที่พระองค์เห็นว่าเป็นผู้ทรงศีล มิหนำซ้ำยังเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย จึงได้ชักนำพระองค์ให้ก่อกรรมทำบาปอย่างอุกฤษฏ์ถึงปานนั้น

แม้จะทรงทราบดีว่า ในกลุ่มคนหมู่มากย่อมมีทั้งคนดีและเลว นักบวชก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งนักบวชที่ทรงศีลและนักบวชทุศีล แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านักบวชรูปใดที่ทรงศีลหรือทุศีล เพราะนักบวชมีอยู่มากมาย อีกทั้งศาสนาก็มีอยู่หลายศาสนา แต่ละ ศาสนายังแตกออกเป็นนิกายต่างๆ อีก แม้นักบวชในนิกายเดียวกัน ก็ยังมีความเชื่อ แนวคิด แนวการสั่งสอน ตลอดจนแนวปฏิบัติแตกต่างกันออกไปอีก สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ประชาชนสับสน ไม่รู้ว่าจะหาเกณฑ์มาตราฐานของความเป็นนักบวชที่ทรงศีลทรงธรรมได้อย่างไร

ความสงสัยดังกล่าวทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำตอบใน เรื่องนี้ให้ได้ ด้วยเกรงว่า อาณาประชาราษฎร์ในแว่นแคว้นของพระองค์ จะตกเป็นเหยื่อของนักบวชทุศีล จนทำให้ไร้สติปัญญาถึงกับก่ออนันตริยกรรม1 ดังเช่นพระองค์อีก

นอกจากนี้ยังทรงใคร่จะรู้อีกด้วยว่า นักบวชทั้งหลายออกบวชเพื่อประสงค์สิ่งใด และใช้ชีวิตนักบวชกันอย่างไร ดังนั้นพระองค์จึงพยายามตระเวนไปหาความจริงจากเจ้าลัทธิต่างๆด้วยพระองค์เอง พระเจ้า อชาตศัตรูทรงตระเวนไปพบบรรดาครูเจ้าลัทธิหลายสำนัก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอันเป็นที่พอพระทัย จนกระทั่งในที่สุด เมื่อได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงได้รับ คำตอบอันกระจ่างแจ้ง ทรงรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์เป็นล้นพ้น จึงได้ทรงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งหมดนี้คือที่มาของสามัญญผลสูตร

---------------------------------------------------------

1 อนันตริยกรรม คือ กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด เพราะตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน ผู้ก่อกรรมนี้ขณะที่ยังมี

ชีวิตอยู่ก็จะประสบแต่ความเดือดร้อนใจไม่มีว่างเว้น เมื่อตายไปแล้วก็ยังต้องเสวยวิบากรรมในนรกต่อไปอีก

อนันตริยกรรมมี 5 อย่างคือ

1. มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดาตนเอง

2. ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดาตนเอง

3. อรหันตฆาต คือ ฆ่าพระอรหันต์

4. โลหิตุปบาท คือ ทำร้ยพระพุทธเจ้าจนทำให้พระโลหิตห้อ ดังที่พระเทวทัตปีนขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏแล้ว

กลิ้งหินใหญ่ลงมา ด้วยหมายใจจะปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ขณะที่เสด็จจงกรมอยู่เบื้องล่าง แต่ก็ไม่สำเร็จ

เว้นแต่ว่ามีเพียงสะเก็ดหินชิ้นหนึ่ง กระเด็นมากระทบพระบาทของพระพุทธองค์ เกิดเป็นรอยห้อพระโลหิตขึ้นที่

พระบาทเท่านั้น

5. สังฆเภท คือ การทำสงฆ์ให้แตกกัน ได้แก่การยุแหย่หรือชักนำเหล่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาให้แตกความ

สามัคคีกันโดยแบ่งกันเป็นพวกหรือเป็นฝ่าย จนถึงมีการกำหนดว่า สงฆ์ที่ต่างฝ่ายกันจะไม่ทำ สังฆกรรม1 ไม่ทำ

อุโบสถ 2 ไม่ทำปวารณา 3 ร่วมกัน ตัวอย่างสังฆเภทในสมัยพุทธกาลคือ การกระทำของพระเทวทัต หลังจากที่

ประสบความล้มเหลวเกี่ยวกับการเสนอข้อปฎิบัติ 5 ประการ4 ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อแสดงว่าตนเคร่งครัด

กว่า แต่ถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ ครั้นต่อมาเมื่อถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตก็พยายามชักชวนนักบวชใหม่มาเป็นพวก

แล้วพาภิกษุเหล่านั้นแยกไปทำอุโบสถ ณ ตำบลคยาสีสะ

----------------------------------------------------

1 สังฆกรรม คือ กิจที่กระทำโดยที่ประชุมสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ภายในเขตสีมา (เขตโบสถ์) เช่น การอุปสมบท

เป็นต้น

2 การทำอุโบสถ คือ การลงฟังพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกๆกึ่งเดือน ในอุโบสถ

3 การทำปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน โดยในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือในวันขึ้น

15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเรียกว่า “วันมหาปวารณา”นั้น ภิกษุทุกรูปที่มาประชุมกันจะกล่าวปวารณา เปิดโอกาสให้ว่า

กล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน

4 ข้อปฏิบัติ 5 ประการ ที่พระเทวทัตทูลเสนอต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ

1. ให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ

2. ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ

3. ให้ถือผ้าบังสกุลตลอดชีวิต รับจีวรที่ชาวบ้านถวายมีโทษ

4. ให้อยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ

5. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถ้าฉันมีโทษ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘