บทที่ 5.8 : ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก

พระพุทธคุณ

๕. ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โลกวิทู แปลว่า ผู้รู้แจ้งโลก คำว่า โลก ในที่นี้ มีความหมายเป็น ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ โลก หมายถึงชีวิตร่างกายของเรา ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

“... อาวุโส ในร่างกายซึ่งมีประมาณวาหนึ่ง มีพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจนี้แล เราบัญญัติโลกไว้ บัญญัติเหตุเกิดโลกไว้ บัญญัติความดับโลกไว้ และบัญญัติทางอันจะให้ถึงความดับโลกไว้

พระ สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาพอันแท้จริงของชีวิตคนเราว่า ต้องมีความแก่เฒ่า เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องกระทบกับความเย็น ร้อน หิว กระหาย ประสบกับสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ทรงบัญญัติเรื่องนี้ว่า ทุกขอริยสัจ

ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงเหตุแห่งการเกิดของชีวิต ซึ่งทรงบัญญัติว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงการหยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ซึ่งทรงบัญญัติว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงวิธีปฏิบัติ เพื่อหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งทรงบัญญัติว่า ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ หรือ มรรคอริยสัจ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียก นิโรธ ว่า ที่สุดแห่งโลก ณ ที่สุดแห่งโลกนั้น ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องตาย บุคคลที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ย่อมไม่สามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ที่สุดแห่งโลกนั้นไม่สามารถไปถึงได้ด้วยยวดยานใดๆ ทั้งยังไม่ปรากฏว่า มีบุคคลอื่นใดจะพึงทราบ พึงเห็น พึงถึงที่สุดของโลกเลย แต่พระองค์นั้นทรงทราบชัดด้วยญาณทัสสนะอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม และทรงถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ทรงอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทรงสงบด้วยประการทั้งปวง มิได้ทรงหวังโลกนี้และโลกหน้าอีกเลย เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า โลกวิทูคือ ทรงรู้แจ้งโลก

นัยที่ ๒ โลก หมายถึงโลก ๓ ซึ่งประกอบด้วย

๑) สังขารโลก หมายถึง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

๒) สัตวโลก หมายถึง สัตว์ผู้ไปเกิดมาเกิดโดยอาศัยขันธ์ ๕

๓) โอกาสโลก หมายถึง โลกภายนอก คือ แผ่นดิน มหาสมุทร จักรวาลทั้งปวง ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยขันธ์ ๕ ก็อาศัยอยู่ในโอกาสโลกนี้อีกชั้นหนึ่ง

ที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก จึงหมายถึงการที่พระองค์ทรงรู้ถึงจริต อัธยาศัย อินทรีย์ กรรม ทิฎฐิ ธรรมอันทำให้เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายอย่างกระจ่างแจ้ง ทรงรู้ถึงลักษณะของขันธ์ ๕ อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ และแม้โครงสร้าง องค์ประกอบแห่งจักรวาล โลกภายนอกที่ล้อมรอบตัวเราอยู่ พระองค์ก็ทรงรู้อย่างสิ้นเชิง

------------------------------------------

พระวิสุทธิมัคค์ เผดจ เล่ม ๒ หน้า ๕๗๖

ขจัดกิเลสอาสวะได้หมดสิ้นแล้ว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘