บทที่ 5.6 : ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ

พระพุทธคุณ

๓. ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ

พระพุทธคุณข้อนี้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือ วิชชา และจรณะ

วิชชา ในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่กำจัดความมืดความ มืด หรืออวิชชา หมายถึงความมืดมนอยู่ด้วยกิเลส สรรพสัตว์ที่ยังมืดมนอยู่ด้วยกิเลส ย่อมดำเนินชีวิตผิดพลาด จึงต้องรับผลกรรม เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารโดยหาทางออกไม่ได้

ส่วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชา ๘ ประการ อันทำให้พระองค์รู้เห็นความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงทรงกำจัดความมืดมนได้อย่างสิ้นเชิง

วิชชา ๘ ประกอบด้วย

๑) วิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่ทำให้เข้าใจสังขารตามความเป็นจริง

๒) มโมยิทธิ คือ ฤทธิ์ทางใจ

๓) อิทธิวิธี คือ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ

๔) ทิพพโสต คือ หูทิพย์

๕) เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่ทำให้กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้

๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้

๗) ทิพพจักขุ คือ ตาทิพย์

๘) อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้กิเลสอาสวะหมดสิ้น

จรณะ คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชา มีองค์ ๑๕ ได้แก่

๑) ศีลสังวร คือ การสำรวมในพระปาฏิโมกข์

๒) อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้อารมณ์ส่วนที่จะชักนำไปทางชั่วเข้าติดอยู่ได้ สังวรเหล่านี้มีประจำพระองค์เป็นปรกติอยู่เสมอ ไม่จำต้องพยายามฝืนอย่างปุถุชนทั้งหลาย

๓) โภชเนมัตตัญญุตา คือ การรู้ประมาณในการบริโภคให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป เป็นจริยาที่เราควรเจริญรอยตามว่า การบริโภคอาหารถ้ามากเกินไป แทนที่จะเป็นคุณร่างกาย กลับเป็นโทษ

๔) ชาคิยานุโยค คือ การประกอบความเพียรที่ทำให้ตื่นอยู่เสมอ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้สึกพระองค์อยู่เสมอนิวรณ์เข้าครอบงำไม่ได้

๕) สัทธา คือ ความเชื่อมั่นในความจริงและความดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยสัทธาอย่างอุกฤษฎ์ ดังปรากฏในชาดกต่างๆ ที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมี โดยสละทั้งทรัพย์สินอันเป็นของนอกกาย สละทั้งเนื้อเลือด และสละได้แม้ชีวิตมาแล้วอย่างสมบูรณ์ เพื่อการทำงาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

๖) หิริ คือ ความละอายต่อความชั่ว

๗) โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป กลัวทุจริต และความชั่วต่างๆ คุณธรรมทั้ง ๒ ประการ คือ หิริและโอตตัปปะนี้เป็นจรณะประจำพระองค์อย่างสมบูรณ์

๘) พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้ฟังมาก เรียนรู้มาก คุณธรรมข้อนี้ มีประจำพระองค์มาตั้งแต่ครั้งยังสร้างบารมี ทรงเอาพระทัยใส่ฟังธรรมในสำนักต่างๆ เป็นลำดับมา ได้ศึกษาจนกระทั่งเจนจบศิลปะ ๑๘ ประการ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสิทธัตถะราชกุมาร

๙) วิริยารัมภะ คือ การทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ดังเช่นทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ เป็นประจำ คือ เวลาเช้าบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรม เวลาค่ำทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุ เวลาเที่ยงคืนทรงเฉลยปัญหาแก่เหล่าเทวดา เวลาใกล้รุ่งทรงพิจารณาเวไนยสัตว์ที่จะพึงโปรด

๑๐) สติ คือ การคุมใจไว้กับงานหรือ สิ่งที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เผลอหรือหลงลืม สติเป็นเครื่องกั้นความอยาก เป็นเครื่องระวังอารมณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีสติอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติที่ตรึกเข้าไปใน กาย เวทนา จิต ธรรม

๑๑) ปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร เพราะมองเห็นตามความเป็นจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีความรู้ความเห็นกว้างขวาง ทรงสามารถหยั่งรู้เหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่มีผิดพลาด

๑๒) ปฐมฌาน

๑๓) ทุติยฌาน

๑๔) ตติยฌาน

๑๕) จตุตถฌาน

รูปฌานทั้ง ๔ ข้อหลังนี้ คือ ภาวะที่จิตสงบ เป็นสมาธิ ประณีต ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นตามลำดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงอาศัยรูปฌาน ๔ นี้ ขยับขยายโลกียปัญญาไปสู่โลกุตตรปัญญา บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์อรหันตสัมมาสัมพุทโธ

ยิ่งกว่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงทราบว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไร้ประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจะทรงเลือกปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทรงถ่ายทอดคุณธรรมที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นให้แก่สาวกทั้งหลายด้วยพระมหา กรุณาอันยิ่งใหญ่อีกด้วย เพราะเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘