บทที่ 5.12 : ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม

พระพุทธคุณ

๙. ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ภควาศัพท์คำนี้มีความหมายหลายอย่าง คือ

) ผู้มีภาคย์

๒) ผู้หักกิเลส

๓) ผู้มีภคธรรม

๔) ผู้จำแนกธรรม

๕) ผู้คบวิหารธรรมฝ่ายดี

๖) ผู้คายตัณหาในภพ

๑) ผู้มีภาคย์

คำว่า ภาคย์ แปลว่า โชคดี หรือบุญกุศล ผู้มีภาคย์จึงมีความหมายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบริบูรณ์ด้วยกุศลธรรม ผลบุญจึงทำให้พระองค์ได้รูปกายที่เปี่ยมด้วยบุญลักษณะครบถ้วน ทรงได้รับความสุขอันประณีต ทั้งฝ่ายโลกียะและโลกุตตระ ทรงเป็นผู้ประสบแต่โชคดี ด้วยบุญบารมีของพระองค์

๒) ผู้หักกิเลส

หมายความ ว่า พระองค์ทรงกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อวิชชา ตลอดจนอกุศลธรรมทั้งปวงออกจากพระทัยได้เด็ดขาดแล้ว โดยสรุปก็คือ พระองค์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากอาสวะใดๆ ทั้งสิ้น จึงทรงพระนามว่า ภควา

๓) ผู้มีภคธรรม

ศัพท์ว่า ภคะหมายถึง คุณสมบัติ ๖ ประการ คือ

๑. อิสริยะ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ หรือความเป็นเจ้า

๒. ธัมมะ ได้แก่ โลกุตตรธรรม หรือเหนือโลก

๓. ยศ ได้แก่ ชื่อเสียง

๔. สิริ ได้แก่ มิ่งขวัญ หรือความสง่าผ่าเผย

๕. กาม ได้แก่ ความสำเร็จตามที่ปรารถนา

๖. ปยัตตะ ได้แก่ ความขะมักเขม้น หรือความตั้งใจ

ด้วย คุณสมบัติทั้ง ๖ ประการ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ตามความปรารถนาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของพระองค์เองหรือประโยชน์ของผู้อื่น เพราะเหตุนี้พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภควา

๔) ผู้จำแนกธรรม

หมายความ ว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู ทรงรู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวดด้วยญาณของธรรมกาย จึงทรงสามารถจำแนกแยกแยะธรรมส่วนที่ละเอียดๆ ให้เห็น เช่น ทรงจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ จิต อินทรีย์ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ เป็นต้น ทรงจำแนกอริยสัจออกเป็น “ทุกข์” มีความหมายว่า เป็นเครื่องบีบคั้น ปัจจัยปรุงแต่งให้เร่าร้อน แปรปรวน เป็น “สมุทัย” มีความหมายว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็น “นิโรธ” มีความหมายว่า เป็นสภาพที่ทุกข์ดับไป ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ยังผลให้ “หยุด” ตลอดไป เป็น “มรรค” มีความหมายว่า เป็นเหตุนำออกจากทุกข์ เมื่อทรงจำแนกธรรมแล้ว ก็ทรงนำไปสั่งสอนตลอดเวลาแห่งการประกาศพระศาสนา

อนึ่ง ภาวะที่พระองค์ทรงเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างกว้างขวาง การที่พระองค์ทรงบำบัดทุกข์ทางกายและใจให้แก่หมู่ชนที่เข้าไปเฝ้า การที่ทรงอุปการะชนเหล่านั้นด้วยอามิสทานและธรรมทาน ตลอดจนทรงพระปรีชาสามารถชักนำให้สัตว์ทั้งหลายประสบความสุข ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ คุณสมบัติเหล่านี้คือที่มาของพระนามว่า ภควา

๕) ผู้คบวิหารธรรมฝ่ายดี

หมายความ ว่า พระองค์ทรงเสพทิพยวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร ทรงเสพความสงัดทางกาย ทางใจ สงบอยู่ในธรรมกาย ทรงเสพรสแห่งอมตธรรมหรือนิพพาน เพราะเหตุนี้พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภควา

๖) ผู้คายตัณหาในภพ

หมายความ ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากอาสวกิเลสทั้งปวง ย่อมบรรลุนิพพาน ไม่มีการเวียนกลับไปสู่ภพ ๓ อีก เพราะเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า ภควา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘