บทที่ 5.1 : สามัญญผลประการแรก

สามัญญผลเบื้องต้น

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลเล่าคำตอบของครูทั้ง 6 ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงกราบทูลถามปัญหาเรื่องสามัญญผลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซ้ำอีกคำรบ หนึ่ง

สามัญญผลประการแรก

ใน ครั้งแรกนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงใช้พุทธวิธีอันแยบยลชี้ให้ทุกคนที่อยู่ในที่ ประชุมนั้นเห็นว่า ความเห็นของครูทั้ง ๖ ล้วนเป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยที่พระองค์ไม่ต้องทรงตำหนิผู้ใดเลย ครั้นมาบัดนี้ ถึงเวลาที่จะทรงตอบปัญหา พระพุทธองค์ทรงเลือกใช้วิธีการทำนองเดียวกับครั้งแรก คือ ทรงใช้วิธีถามกลับ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์ เพื่อให้พระเจ้าอชาตศัตรูสามารถตระหนักในสามัญญผลเบื้องต้นด้วยพระองค์เอง โดยตรัสถามพระเจ้าอาชาตศัตรูว่า

มหาบพิตรในข้อนี้ตถาคตจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัยเถิด สมมุติว่าบุรุษผู้เป็นข้าทาสบริวารคนหนึ่งของมหาบพิตร เป็นผู้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อมหาบพิตรเสมอมา ทั้งปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่อง แต่บุรุษผู้นี้มีความเชื่อมั่นในเรื่องผลของบุญ เชื่อมั่นว่าถ้าตนตั้งหน้าตั้งตาทำบุญ ต่อไปในภายหน้าก็ย่อมจะได้เสวยผลบุญ เป็นผู้มีอำนาจวาสนา พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณ และ ข้าทาสบริวารมากมายเช่นเดียวกับมหาบพิตร คิดได้ดังนี้จึงปลงผมและหนวด นุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด เมื่อมหาบพิตรได้ทรงทราบเรื่องบุรุษผู้นี้ จะทรงมีบัญชาให้เขากลับมาเป็นข้าทาสของพระองค์อีกหรือไม่อย่างใด

พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทูลปฏิเสธว่า จะ ป็นเช่นนั้นไม่ได้เลยพระเจ้าข้า อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

จากคำตอบของพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ จะเห็นได้ว่าพระองค์ได้ทรงประจักษ์แก่พระทัยของพระองค์เองแล้วว่า ผลดีของการบวชเป็นสมณะในขั้นต้นคือ การยกสถานภาพของผู้บวชให้สูงขึ้นจากฐานะเดิม นั่น คือ แม้จะเป็นเพียงทาสหรือกรรมการ ซึ่งอยู่ในวรรณะศูทรอันเป็นวรรณะที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคม แต่เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว วรรณะกษัตริย์อย่างพระองค์ยังต้องให้ความเคารพกราบไหว้ และในขณะเดียวกัน พระเจ้าอชาตศัตรูยังสามารถตรองเห็นคำสอนที่แฝงอยู่ในคำถามสมมุติของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอีกว่า

๑. คุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บวชจะต้องมี คือ สัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจถูกต้อง บางทีใช้ว่าความเห็นถูก เช่น เห็นว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว โลกนี้โลกหน้ามีจริง บุญ-บาปมีจริง บุญให้ผลเป็นความสุข แต่บาปให้ผลเป็นความทุกข์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังนี้เป็นต้น

๒. ผู้บวชต้องเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของการบวช คือ การสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะบุญสามารถเอื้ออำนวยให้คนเราเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม ส่วนบาปนั้น ส่งผลให้ชีวิตคนเราตกต่ำลงเรื่อยๆ

๓. เมื่อบวชแล้วต้องสำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ปล่อยใจให้คิดในทางบาปอกุศล คิดแต่ในทางบุญกุศล ทำแต่บุญกุศลเท่านั้น

๔. เมื่อบวชแล้วต้องอยู่อย่างสันโดษ คือ พอใจในปัจจัยอันเป็นเครื่องดำรงชีวิตของสมณะตามมีตามได้ ไม่ปรารถนาความฟุ้งเฟ้อ ความสะดวกสบาย สุรุ่ยสุร่าย เยี่ยงชีวิตฆราวาส

๕. เมื่อบวชแล้วต้องรักชีวิตที่เงียบสงบ ไม่เอิกเกริก ครึกครื้น สนุกสนาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีโอกาสฝึกใจให้เป็นสมาธิได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น

เพียงเท่านี้ ก็ย่อมทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าพระทัยได้ในทันทีว่า พระเทวทัตที่พระองค์ทรงหลงคบหาสมาคมด้วยนั้น มิได้มีคุณลักษณะของความเป็นสมณะอยู่เลยแม้พียงน้อยนิด ฉะนั้น การหลงคบมิตรชั่วเช่นพระเทวทัต จึงเป็นเหตุชักนำให้พระองค์ทรงทำกรรมหนัก ถึงกับทรงปลงพระชนม์พระราชบิดา

ส่วนการที่เจ้าลัทธิทั้ง ๖ ไม่สามารถตอบพระองค์ได้ว่า ผลดีของการบวชมีอะไรบ้าง ก็ย่อมจะชี้ชัดถึงภูมิปัญญาของเจ้าลัทธิทั้ง ๖ ว่า

๑. ไม่รู้วัตถุประสงค์ในการบวชอย่างแท้จริง

๒. ไม่รู้คุณธรรมพื้นฐานของนักบวช

๓. ไม่รู้วัตรปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมของนักบวชแม้เบื้องต้น ดังนั้น จึงไม่ทราบถึงประโยชน์

ของการบวช คือ ไม่ทราบถึงสามัญญผลนั่นเอง

จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ทรงพบคำตอบหรือยังว่าผลของการบวชมีหรือไม่ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงตอบอย่างมั่นพระทัยว่า ผลของการบวชที่เห็นในปัจจุบันมีอยู่อย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่า นี้เป็นเพียงสามัญญผลข้อแรกเท่านั้น ยังมีข้ออื่นๆ อีกมาก เป็นการจุดประกายความกระหายใคร่รู้ของพระเจ้าอชาตศัตรูให้ลุกโพลงขึ้น จนอดไม่ได้ที่จะทูลถามถึงสามัญญผลข้ออื่นๆ อีกต่อไป

---------------------------------------------

การตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๔ แบบ คือ

๑. เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบปัญหาแง่เดียว ตอบโดยตรง

เช่น ถามว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงหรือ ตอบว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น

๒. วิภัชชพยากรณ์ คือ การตอบปัญหาโดยการจำแนกแก้ แจกแจง แยกแยะรายละเอียดให้ผู้ฟังเข้าใจชัด

๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ คือ การตอบปัญหาโดยการย้อนถาม

๔. ฐปนียพยากรณ์ คือ การงดตอบ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ควรตอบ

เบญจกามคุณ ได้แก่ สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)

สามัญญผลสูตร ที. ลี. ๙/๑๐๐/๓๘

คิลานปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยสำหรับคนไข้

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ แบ่งเป็น ๒ ระดับ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐาน (ขั้นโลกียะ) หมายถึง การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรมว่าการให้ทานมีผลดีจริง การบูชา

บุคคลที่ควรบูชามีผลดีจริง การต้อนรับแขกมีผลจริง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง มารดาบิดา

มีคุณ ต่อเราจริง สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (นรกสวรรค์มีจริง) สมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง

๒. สัมมาทิฏฐิขั้นสูง (ขั้นโลกุตระ) หมายถึง การเห็นถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิต คือ เห็นอริยสัจ เห็น

ปฏิจจสมุปบาท เห็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ตามความเป็นจริง ด้วยญาณทัสสนะอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘